การกลับมาของโควิด-19 ในสังคมไทย

หลังจากการมาถึงระลอกใหม่ของโควิด 19 ในประเทศไทย ก็ฟันธงได้เลยครับว่ารอบนี้เละกว่าเดิมมากมาย และสะท้อนจริงๆครับว่าทั้งรัฐและสังคมนั้นอ่อนแอเป็นอย่างมากในการจัดการกับปัญหาภัยพิบัติทางสุขภาพในรอบนี้

พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ การเข้ามาของไวรัสตัวนี้ ไม่ว่าจะรอบแรกหรือรอบหลัง (และรอบหลังนี้ท่าจะมากกว่าเดิม) มันไม่ได้เป็นเรื่องของโรคภัยไข้เจ็บที่มากับโรคนี้เท่านั้น แต่มันสะท้อนให้เห็นถึงโรคภัยไข้เจ็บในสังคมของเราที่มีมาก่อนหน้านั้น ที่เป็นเงื่อนไขสำคัญให้การรับมือกับโควิด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของระบบการเมืองที่ย่ำแย่ ระบบราชการที่ปรับตัวช้า ระบบเศรษฐกิจที่ไร้หัวใจ และสังคมที่แตกแยกรวมทั้งพร้อมที่จะถูกจูงไปทางใดทางหนึ่งได้ง่ายด้วยกระแสต่างๆ

ในวันนี้ผมอยากจะมาตั้งข้อสงสัยกับคำอธิบายจำนวนหนึ่งที่เกี่ยวกับโควิด19 และการบริหารจัดการโควิด-19 ที่ผ่านมา โดยมาเริ่มที่ประเด็น “ระลอก” หรือ “คลื่น” ของโควิดก่อน ซึ่งตั้งแต่การตั้งต้นของเรื่องโควิด 19 ใหม่นี้ เราก็พบว่าทางรัฐบาล โดยศูนย์บริหารสถานการณ์โควิดที่เรียกว่า ศบค. นั้นก็พยายามหลีกเลี่ยงที่จะเรียกว่าเป็นโควิดระลอกสอง อย่างแข็งขัน แต่ให้เรียกว่าโควิดระลอกใหม่แทน

คำถามก็คือทำไม? ผมเองไปลองค้นๆดูเรื่องการพูดถึงการระบาดระลอกสอง (Second Wave) และ การระบาดระลอกสองของโควิด ก็พบว่าในโลกนี้แม้ว่าจะใช้คำว่าการระบาดระลอกสองกันตลอด ซึ่งมันหมายถึงว่ามันมีช่วงที่ลดลงแล้วก็เพิ่มมาใหม่เท่านั้น แต่การใช้คำว่าระลอกสองนั้นมันแฝงความหวาดกลัวจากอดีตมาด้วย เพราะมันทำให้คนไปนึกถึงไข้สเปน (Spanish Flue) เมื่อสักร้อยปีก่อนซึ่งกลายเป็นว่าการระบาดรอบที่สองนี้รุนแรงและเสียชีวิตมากกว่ารอบแรก

Advertisement

อีกสิ่งหนึ่งที่น่าจะคั้งเป็นข้อสังเกตก็คือเมื่อมีการพูดเรื่องการระบาดรอบสองนั้น มันย่อมก่อให้เกิดคำถามว่า ตกลงแล้วรอบที่แล้วจัดการดีพอไหม หรือว่าไม่ได้ตรวจทุกคนจึงทำให้ไม่เจอ เรื่องนี้ยิ่งยอมรับว่าเป็นการระบาดระลอกหรือรอบที่สองมันก็แฝงไปด้วยประสิทธิภาพของภาครัฐเองที่อ้างผลสำเร็จจากการยอมรับระดับโรคในการจัดการกับโควิด19 ทั้งที่มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์มาตลอดว่า อาจเป็นเพราะเราไม่ได้ตรวจทุกคน และ การสูญเสียทางเศรษฐกิจและการเยี่ยวยาของสังคมที่ผ่านมาก็เต็มไปด้วยปัญหา ขณะที่โครงการที่พอจะเอามาตีปี๊บว่าประสบความสำเร็จนั้น หากถูกกลบด้วยการตั้งคำถามถึงความไร้ประสิทธิภาพของรัฐและระบบราชการเองในการควบคุมการระบาด ไอ้สิ่งที่เคยเอาดีเข้าตัวเอาชั่วไปโทษคนอื่นนั้นก็จะยิ่งชัดเจนมากขึ้น

แต่รัฐและระบบราชการที่ไร้ประสิทธิภาพในการจัดการทั้งปัญหาโควิด19 และเศรษฐกิจนั้นยังโชคดีที่มีสังคมที่แตกแยกและเชื่อในกระแสได้ไม่ยาก ที่พร้อมจะโทษแรงงานต่างด้าวและคนไร้จิตสำนึกไม่กี่คนที่ทำให้เกิดการแพร่ระบาดของโควิดระลอกใหม่นี้ ทั้งที่ไม่ได้ตั้งคำถามเลยว่าระบบการเข้าเมืองที่ผิดกฏหมายในทุกรูปแบบนั้นมันเกิดไม่ได้ถ้าไม่มีการมีส่วนร่วมของเจ้าหน้าที่รัฐ และ โครงสร้างการบริหารแบบเดิมๆ ทั้งระบบการจัดการชายแดนที่มีนายหน้า ฯลฯ ระบบการปล่อยให้มีบ่อนการพนัน

กล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือ ถ้าย้อนไปดูการระบาดใหญ่ในประเทศนี้หลายจุด ล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับระบบการบริหารจัดการของรัฐที่ย่อหย่อนและขาดการตรวจสอบเสียเป็นส่วนใหญ่ แต่สังคมนี้ก็พร้อมจะถูกลากจูงให้ไปสนใจแต่เรื่องเชิงศีลธรรม เช่นการเปิดเผยไทม์ไลน์ หรือการปล่อยให้หมอออกมาพูดว่าเมื่อทานสิ่งมึนเมาก็จะขาดสติ

ทั้งที่เรื่องใหญ่ที่เขายอมรับกันทั้งโลกก็คือเรื่องของการต้องเว้นระยะห่างทางสังคม ซึ่งเอาเข้าจริงมันเป็นคำที่อาจจะเข้าใจไม่ตรงกันเป็นอย่างมาก และมีปัญหาในการปฏิบัติเป็นอย่างยิ่ง เพราะเราเข้าใจคำว่าสังคมไม่ค่อยจะตรงกัน เอาเข้าจริงเราต้องเว้นระยะห่างจากทุกคน ไม่ใช่ทางสังคม ซึ่งมันก็เป็นไปไม่ได้ ในการศึกษาในอเมริกานั้นมีการค้นพบว่า การที่ใส่หน้ากากอย่างเดียวโดยไม่เว้นระยะห่างด้วยนั้นก็ไม่ปลอดภัยทั้งหมด หรือในสังคมไทยเมื่อมีคนเสนอให้ใช้ face shield ตอนแรกคนก็ไม่สนใจ ทั้งที่มันมีความสำคัญเป็นอย่างมาก เสริมไปจากการใส่หน้ากากอนามัย ขณะที่ความเป็นไปได้ในการเว้นระยะห่างทางสังคมนั้นเป็นไปได้ยากในบางชนชั้นและสภาพการใช้ชีวิต แต่เราก็ไม่ได้เอาจริงเอาจังที่จะแก้ปัญหาเรื่องนี้เท่าไหร่ และในรอบใหม่ของการระบาดนี้ การรักษาระยะห่างนั้นแทบจะไม่ถูกนำมาให้ความสำคัญอย่างจริงจังเลย โดยเฉพาะในเรื่องของการเดินทาง และในพื้นที่ต่างๆ เมื่อเทียบกับรอบที่แล้ว

เรื่องการรักษาระยะห่างนั้นเท่าที่ลองค้นคว้าดูเป็นเงื่อนไขที่เป็นไปได้มากที่สุดในการปฏิบัติในที่สาธารณะและควรจะถูกนำมาพัฒนาเป็นเงื่อนไขในการกำหนดนโยบายต่างๆ ขณะที่ในบ้านเรานั้นดูเหมือนว่าจะตั้งหลักไปที่การนับถอยหลังสู่การล็อกดาวน์เป็นหลัก แล้วก็มองไปแบบหลักคิดที่คิดว่ามันอยู่ตรงข้ามกันคือ จะล็อกดาวน์อย่างไรให้เกิดสมดุลย์ระหว่างสุขภาวะกับเศรษฐกิจ

ลองย้อนมาพิจารณาใหม่ว่าถ้าเราเอาเรื่องของการรักษาระยะห่าง มาเป็นตัวตั้ง เราก็จะกำหนดแนวทางต่างๆได้ง่ายขึ้น เช่นอุปกรณ์อะไรที่จะช่วยเสริมให้ปลอดภัยจากการรักษาระยะห่าง เช่น การใส่หน้ากาก ใส่ face shield การสัมผัส การใช้ของร่วมกัน เรื่องแบบนั้นมันก็ต้องยืดหยุ่นหนุนเสริมกับเรื่องของการรักษาระยะห่างทั้งสิ้น รวมทั้งการพิจารณามาตรการการเปิดปิด ควบคุมกิจการต่างๆ

ในหลายกรณีในโลกนั้น การมีการระบาดรอบสองนั้นเกิดขึ้นทั้งประเทศที่ผ่านรอบแรกมาอย่างประสบความสำเร็จ และแบบที่พังเพิ่มเติม แต่ทั้งหมดนั้นเขาก็ยอมรับร่วมกันว่ามันเกิดจากการตัดสินใจของภาครัฐในการเปิดกิจการต่างๆเร็วเกินไป แต่ประเทศที่เขาแก้ปัญหาสำเร็จในรอบแรกเขาก็จะปรับตัวและบริหารจัดการในรอบสองได้อย่างทันท่วงที

เรื่องนี้เหมือนจะง่าย แต่เอาเข้าจริงรัฐบาลและระบบราชการมีความสำคัญมากในการบริหารจัดการเรื่องนี้ ความสำคัญอยู่ที่การตอบสนองของภาครัฐที่มีต่อข้อมูลทางสุขภาพที่รัฐได้รับ ทั้งนี้เพราะธรรมชาติของเรื่องการระบาดของโควิด 19 นั้นมันส่งผลช้าเป็นสัปดาห์หรือสองสัปดาห์ในกรณีของผู้ที่ป่วยเริ่มต้น และอาจจะใช้เวลาเป็นเดือนในการที่จะแพร่กระจายไปสู่คนใกล้ตัว หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ เมื่อเริ่มเจอผู้ป่วยแล้ว ต่อให้เจอไม่กี่คน มันก็มีความเป็นไปได้ว่ามันย่อมแปลว่าการระบาดนั้นมันเริ่มก่อตัวขึ้นอย่างเงียบๆมาช้านานแล้ว

มายาคติที่สำคัญอีกสองประการที่สำคัญในเรื่องโควิด19 ที่เรามักจะเชื่อกันแต่การศึกษาอย่างจริงจังของคณะแพทย์ในสหรัฐอเมริกากลับพบว่าไม่จริง นั่นก็คือเรื่องของความสัมพันธ์ของจำนวนผู้ป่วยกับการตรวจ และ เรื่องของภูมิต้านทานหมู่

สำหรับเรื่องที่เราเชื่อกันว่า เอาเข้าจริงถ้าตรวจเยอะก็จะพบเยอะนั้น แม้ว่าโดยหลักการจะจริง แต่ในการระบาดระลอกสองนั้นพบว่าไม่จริง หมายความว่าในการระบาดระลอกสองนี้มันมีการพิสูจน์มาหลายประเทศว่ามันมีคนที่ติดเพิ่มจริงๆ ไม่ใช่แค่เพราะว่าไม่ตรวจเลยไม่เจอ และเอาเข้าจริงความสำคัญไม่ได้อยู่ที่ว่าไม่ตรวจก็เลยไม่เจอ แต่พบว่ามาจากทั้งการที่ประชาชนนั้นกลับมาใช้ชีวิตแบบปกติเร็วเกินไป และรัฐและราชการเองก็ย่อหย่อนในการควบคุมและป้องกันโรค ซึ่งสิ่งนี้จะมาอ้างหรือโทษแต่ประชาชนเท่านั้นไม่ได้ เพราะรัฐบาลนั้นมีหน้าที่จะต้องดูแลประชาชน การที่รัฐบาลย่อหย่อนและประชาชนกลับมาใช้ชีวิตตามปกตินั้น อาจเป็นเพราะรัฐบาลไม่ถูกตรวจสอบจากประชาชน หรือละเลยต่อข้อวิพากษ์วิจารณ์ และการที่ประชาชนไม่เชื่อฟังและเชื่อถือรัฐบาลอาจไม่ใช่ว่าประชาชนโง่ หรือถูกชักจูงจากผู้ไม่หวังดี แต่อาจเป็นเพระารัฐบาลไร้ประสิทธิภาพหรือขาดความชอบธรรมในการบริหารจัดการในช่วงที่ผ่านมา

ขณะที่เรื่องของภูมิต้านทางหมู่นั้นไม่มีการยืนยันทางการแพทย์ เว้นแต่สมมุติฐานที่เชื่อว่าภูมิต้านทานหมูนั้นจะเกิดขึ้นได้เมื่อมีคนที่มีภูมิต้านทานไปแล้วจำนวนไม่ต่ำกว่าร้อยละ 70 ในชุมชนนั้น

ดังนั้นในรอบการระบาดใหม่รอบนี้ (ไม่ว่าจะใหม่หรือรอบที่สอง) สิ่งที่เราต้องสนใจเป็นพิเศษก็คือ ทำไมระบบการวางมาตรการรักษาระยะห่างจึงไม่ชัดเจน แต่ไปเน้นแต่เรื่องของการขู่ว่าถ้าไม่ปฏิบัติตามสิ่งที่เคยทำนั้นก็อาจจะล็อกดาวน์ ทั้งที่การล็อกดาวน์รอบที่แล้วนั้น สร้างความฉิบหายทางเศรษฐกิจไว้ไม่น้อย จนกลายเป็นว่ารัฐบาลและราชการเอาความล้มเหลวของตัวเองมาเป็นฝันร้ายของประชาชนอีกครั้งว่าถ้าประชาชนทำตัวไม่ดี ทุกอย่างจะกลับไปแย่เหมือนรอบที่แล้วซึ่งก็คงไม่อยากจะให้เกิดขึ้นกัน แทนที่สังคมนี้จะเข้มแข็งพอที่จะตรวจสอบและจัดการกับความไร้ประสิทธิภาพของรัฐและราชการในรอบที่แล้ว ซึ่งบางประเทศนั้นจะพบว่าการเลือกตั้งในช่วงเวลาวิกฤตโควิด19 กลายเป็นส่วนสำคัญในการวัดผลงานและความเชื่อมั่นหรือไม่เชื่อมั่นต่อรัฐบาลที่ครองอำนาจมา

 

ในอีกด้านหนึ่ง เราจะพบว่ารัฐบาลพยายามจะสร้างภาพว่าในรอบนี้จะมีความยืดหยุ่นในการแก้ปัญหาโดยมอบอำนาจให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอตัดสินใจเองว่าจะปิดอะไรหรือจัดการอะไร แต่ห้ามน้อยกว่าสิ่งที่รัฐบาลกลางให้แนวทางไว้ เช่นจะปิดจังหวัด ปิดการเดินทางให้เป็นอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งในด้านหนึ่งก็น่าจะเป็นหลักการที่ถูกต้อง แต่ในอีกด้านหนึ่งก็ต้องคำนึงถึงธรรมชาติของระบบภูมิภาคมหาดไทย ด้วย ตัวผู้ว่าและนายอำเภอไม่ได้มาจากในพื้นที่นั้นเอง บางคนเพิ่งจะรับตำแหน่ง บางคนก็จะเกษียณอายุ บางคนก็ไม่ได้อยากไปอยู่ในพื้นที่ บางคนก็กำลังศึกษางาน แถมก็มีการแอบยอมรับกลายๆว่าที่ยังไม่ประกาศล็อกดาวน์โดยทันที ก็เพราะว่าหากล็อกดาวน์ทั้งประเทศ ย่อมแน่นอนว่าประชาชนจะต้องกดดันถึงมาตรการเยียวยาและช่วยเหลือ คำถามก็คือ ในเงื่อนไขที่เหมือนกับให้ดุลพินิจแก่ผู้ว่าราชการจังหวัดที่ถูกส่งไปในแต่ละพื้นที่นั้น แต่ไม่มีมาตราการเยียวยาและงบประมาณที่ตนเองจะทำอะไรได้ ใครจะกล้าไปใช้มาตรการที่เข้มงวดขนาดนั้นกับพื้นที่ของตนเอง ยิ่งตำแหน่งที่ได้มาไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชนอีกต่างหาก การใช้อำนาจไปเท่าไหร่ก็เข้าตัวมากขึ้นเท่านั้น ไม่นับว่ายังมีโครงข่ายอำนาจจริงในพื้นที่ที่ซ้อนทับอยู่อีก ทั้งตัวผู้มีอิทธิพล และสมาคมธุรกิจ งานนี้โครงสร้างระบบภูมิภาคเองก็ย่อมจะต้องเผชิญกับปัญหาร้อยแปด

อย่างในสหรัฐอเมริกานั้น ผู้ว่าการมลรัฐที่มาจากประชาชนเลือกนั้น บางแห่งเขาพยายามแก้ปัญหาโดยการล็อกดาวน์ หรือ แก้ปัญหาในด้านต่างๆเช่นจัดหาอุปกรณ์ แต่ในท้ายที่สุดก็มีการค้นพบว่ามาตรการต่างๆในระดับมลรัฐเองก็ไม่ได้สำเร็จเสมอไป อาจสำเร็จในบางช่วงเวลา แต่ถ้าเปิดเร็วเกินไปก็จะกลับมาระบาดใหม่ และสุดท้ายหลายฝ่ายก็ฟันธงไปที่ตัวระบบของรัฐบาลกลางนั่นแหละที่สำคัญที่สุดในการออกมาตรการต่างๆ

และหัวใจสำคัญในการออกมาตราการของรัฐบาลกลางนั้นมันก็ขึ้นอยู่กับว่าเรามองเห็นความกลัว มองเห็นความเข้าใจ มองเห็นอคติ และมองเห็นวิธีการเข้าใจความสัมพันธ์ของคนที่มีอำนาจกับคนที่ไม่มีอำนาจในสังคมนั้นๆอย่างไร การออกมาตรการที่ล่าช้า ไม่ทั่วถึง ส่วนหนึ่งทำให้เราเห็นว่ารัฐบาลอาจจะพยายามปฏิเสธความสำคัญของปัญหา หรือเขาอาจจะปฏิเสธความรับผิดชอบ รวมทั้งมาตรการที่นำมาแก้ปัญหามีไว้เพื่อแก้ปัญหาในระยะสั้น กลาง หรือ ยาว หรือเป็นการหาเสียงระยะสั้น หรือเป็นการเอื้อกับกลุ่มทุนบางกลุ่ม หรือสะท้อนความไม่เข้าใจอาจถึงระดับไม่เห็นหัวประชาชนกันเลยทีเดียว หรือบางเรื่องเช่นการตั้งศูนย์บริหารเพื่อรวมอำนาจขึ้นมาจากนักการเมืองคนอื่นๆในครม. แต่มาคราวนี้กลับกระจายอำนาจไปที่ตัวผู้ว่า แต่ไม่ได้กระจายเงินลงไป หรือไม่ได้แสดงให้เห็นระบบของการตัดสินใจ เช่นถ้าผู้ว่าต้องปิดกิจการการท่องเที่ยวภายในประเทศใครจะรับผิดชอบเยียวยาให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบ

อีกเรื่องที่เรายังไม่ได้ตรวจสอบก็คือเรายังไม่ได้ประเมินว่าตัวรัฐบาลและระบบราชการเองย่อหย่อนหรือการ์ดตกอย่างไรในช่วงเวลาที่ผ่านมา เราเห็นแต่ตัวแทนรัฐบาลพร่ำสอนประชาชนทุกวันในรูปการแถลงข่าวที่สาระน้อย แต่สั่งสอนมาก ราวกับว่าประชาชนคือผู้สร้างปัญหาทั้งหมดของโรคโควิด ทั้งที่ยังไงก็พิสิจน์กันมาตั้งแต่แรกแล้วว่าการตัดสินใจที่ล่าช้าและไม่ตรงจุดของรัฐบาลตั้งแต่รอบที่แล้วมีส่วนสำคัญยิ่งที่ทำให้การระบาดมันเกิดขึ้นและแพร่กระจาย และในระบบราชการเองก็มีคนที่ตั้งใจจะทำงานและพยายามแก้ปัญหา รวมทั้งได้รับผลกระทบจากโรคระบาดเหล่านี้มาโดยตลอดเช่นกัน

การแก้ปัญหาโควิด19 ไม่ใช่การทำรัฐประหารที่คิดว่าใครๆก็จะยอม หรือคิดว่าสามารถอ้างความชอบธรรมที่ยิ่งใหญ่ได้ การบริหารโควิด-19 เป็นตัวชี้วัดจริงๆว่ารัฐบาลนั้น “เอาอยู่” จริงไหม และกองเชียร์รัฐบาลเอาอยู่ด้วยไหม

ในส่วนสุดท้ายในส่วนของสังคมเองนั้น เราแทบไม่เห็นความช่วยเหลือซึ่งกันและกันท่ามกลางสังคมที่แตกแยกขนาดนี้ได้ และส่วนสำคัญไม่ใช่แค่การเรียกร้องให้สามัคคีและประเทศไทยต้องชนะ แต่หมายถึงนวตกรรมทางนโยบายและโครงการต่างๆที่ต้องช่วยกัน สิ่งที่เราเห็นคือการผ่านงบประมาณที่ตั้งคำถามกันมากมายในหลายเรื่องขณะที่ต้องมาขอบริจาคเงินเพื่อทดลองค้นคว้าวัคซีนโควิด หรือการเล่นข่าวตู้ปันสุขเหมือนตู้จับผิดคนจนกับความยากจนว่าจะมาเอาไปกี่ห่อ ถามว่าสังคมของเรามีนวัตกรรมใหม่ๆในการดูแลซึ่งกันและกันอย่างไรในรอบนี้ แต่เรากลับเห็นแต่ข่าวประชาชนยอมถูกจับหากต้องถูกปิดกิจการ

ผมไม่รู้จะจบบทความในสัปดาห์นี้อย่างไร คิดว่าประเทศที่พึ่งโชคลางอย่างบ้านเราจากนี้ก็คงจะเห็นข่าวการทำนายว่าโควิดจะหายไปเมื่อไหร่มากกว่าเรื่องการแก้ปัญหาในทางอื่นๆ

(หมายเหตุ: ข้อมูลบางส่วนจาก G.Packer. We are living in a failed state: The coronavirus didn’t break America. It revealed what was already broken. Theatlandtic.com. June 2020. G.Lopex. Everone failed on Covid-19. Vox.com. 2/1/21. Coronavirus second wave?: Why cases increase. Hopkinsmedicine.org. 17/11/20. และ J.Gallagher. Coronavirus: What is a second wave and is it coming? BBC.com. 24/6/20.)

(มติชนรายวัน อังคารที่ 5 ธันวาคม 2564 หน้า 16)
พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image