13 วันอันตรายกับเจ้าพ่อทวิตเตอร์! โดย สุรชาติ บำรุงสุข

การเมืองอเมริกันยังคงเป็นหัวข้อข่าวสำคัญในเวทีโลก เพราะในด้านหนึ่ง ข่าวการบุกรัฐสภาของพวกอเมริกันขวาจัดจะทำให้หลายคนต้องตกตลึงอย่างไม่คาดคิดว่า การเมืองสหรัฐในยุคของประธานาธิบดีโดนัล ทรัมป์จะทำให้ประชาธิปไตยมีภาพที่น่าอดสูเกิดขึ้น จนกลายเป็นประเด็นให้ฝ่ายอำนาจนิยมนำไปเยาะเย้ยถากถาง

แต่ในอีกด้านหนึ่ง เหตุการณ์ม็อบขวาจัดบุกสภาที่กรุงวอชิงตัน ดีซี. ซึ่งเป็นดังความพยายามในการทำ “รัฐประหารที่ล้มเหลวของทรัมป์” นั้น ทิ้งคำถามสำคัญว่า ในระหว่างเวลาอีก 13 วันที่เหลือ จนกว่าการสาบานตนเพื่อรับตำแหน่งของนายโจ ไบเดน จะเกิดขึ้น เพื่อทำให้การส่งมอบอำนาจของความเป็นประธานาธิบดีอเมริกันครบสมบูรณ์นั้น ทรัมป์ที่ยังมีสถานะของความเป็นประธานาธิบดีที่ถูกต้องตามกฎหมาย และจะสามารถสร้างเหตุการณ์ที่จะ “เขย่า” การเมืองอเมริกันได้อีกหรือไม่

ดังนั้นระยะเวลาจากวันศุกร์ที่ 8 มกราคม จนถึงวันอังคารที่ 20 มกราคม นี้ อาจจะต้องเรียกว่า “13 วันอันตราย”

ข้าศึกจากภายใน!

Advertisement

การเรียก “13 วันอันตราย” ในบริบทของความมั่นคงอเมริกันนั้น ทำให้อดคิดถึงเหตุการณ์ 13 วันในสมัยของประธานาธิบดีจอห์น เอฟ. เคนเนดี้ ที่เกิด “วิกฤตการณ์อาวุธนิวเคลียร์” ครั้งสำคัญในเวทีโลก เมื่อสหภาพโซเวียตรัสเซียตัดสินใจนำเอาขีปนาวุธหัวรบนิวเคลียร์พิสัยกลางมาติดตั้งที่คิวบาในเดือนตุลาคม 2505 หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า “วิกฤตการณ์จรวดที่คิวบา” (The Cuban Missile Crisis) ประธานาธิบดีเคนเนดี้ใช้ระยะเวลา 13 วัน ในการจัดการกับวิกฤตนี้ แต่ในวิกฤตการณ์ของยุคสงครามเย็นครั้งนั้น สังคมอเมริกันเผชิญกับภัยคุกคามที่เป็น “ข้าศึกจากภายนอก”

แต่ “13 วันอันตราย” ในเดือนมกราคม 2564 ที่ทรัมป์ยังมีสถานะเป็นประธานาธิบดีนั้น วิกฤตการณ์กลับเป็นเรื่องของการเมืองภายใน ที่เกิดจากการปลุกกระแสขวาจัด และเป็นขวาจัดที่เป็นคนผิวขาว หรือที่เรียกว่า “พวกชาตินิยมผิวขาว” (The White Nationalists หรือเป็นพวก White Supremacy)

คนเหล่านี้ถูกปลุกระดมโดยประธานาธิบดีของตนเอง จนตัดสินใจบุกเข้าไปในอาคารรัฐสภาอเมริกัน เพื่อหวังจะเปลี่ยนแปลงผลการเลือกตั้งประธานาธิบดี และกลายเป็นการใช้ความรุนแรงของพวกขวาจัดอย่างเปิดเผย อันเป็นดังการก่อ “การรัฐประหารของทรัมป์” หรือจะเรียกโดยเงื่อนไขทางกฎหมายว่า “กบฎทรัมป์” จนต้องถือว่า การบุกรัฐสภาครั้งนี้เป็นวิกฤตการเมืองอเมริกันครั้งสำคัญ และเห็นได้ชัดเจนว่า วิกฤตการณ์ครั้งนี้ สังคมอเมริกันกำลังเผชิญกับปัญหาที่เป็น “ข้าศึกจากภายใน”

Advertisement

แน่นอนว่า ในการจัดการกับปัญหาความมั่นคงนั้น การต่อสู้กับ “ข้าศึกจากภายใน” ยุ่งยากและซับซ้อนกว่า “ข้าศึกจากภายนอก” มาก สภาวะเช่นนี้กำลังชี้ให้เห็นถึงความแตกแยกที่เกิดขึ้นในสังคมอเมริกันอย่างรุนแรง และความยุ่งยากที่สำคัญในการจัดการปัญหาเช่นนี้คือ ความแตกแยกที่เกิดขึ้นนั้น เป็นผลมาจากการปลุกระดมของตัวประธานาธิบดีเสียเอง หรืออาจกล่าวได้ว่ากระแสความคิดแบบทรัมป์ ที่อาจจะต้องเรียกในทางรัฐศาสตร์ว่า “ลัทธิทรัมป์” (Trumpism) นั้น กลายเป็น “ตัวจุดกระแส” อเมริกันขวาจัด โดยมี “ทวิตเตอร์” เป็นตัวขับเคลื่อน

เจ้าพ่อทวีตเตอร์!

ในช่วงเวลาในตำแหน่ง 4 ปีที่ผ่านมา ทรัมป์ได้ใช้ทวีตเตอร์ในการแสดงออกและ/หรือสื่อสารทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง จนบางทีเราอาจจะต้องยกให้เขาเป็น “เจ้าพ่อทวิตเตอร์” ในยุคปัจจุบัน เป็นแต่เพียงสิ่งที่ทรัมป์โพสต์มักจะเป็นเรื่องที่ไม่สร้างสรรค์ หรือเป็นประเด็นที่มักจะก่อให้เกิดผลในเชิงลบมากกว่า แต่ก็ต้องยอมรับว่า ทรัมป์สามารถใช้เครื่องมือสื่อสารในโลกสมัยใหม่ในการสร้างคะแนนเสียงทางการเมืองได้อย่างมาก และผู้รับสารชาวอเมริกันส่วนหนึ่งได้สมาทานเข้าเป็น “สาวกของทรัมป์” และพร้อมจะเชื่อในสิ่งที่ “ศาสดาทรัมป์” ประกาศในทุกเรื่อง โดยไม่ต้องมีเหตุผลและข้อกังขาใดๆทั้งสิ้น

เมื่อทรัมป์ประกาศว่า ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีในเดือนพฤศจิกายน 2563 เป็น “การโกงการเลือกตั้ง” (เขาใช้คำว่า “stolen election”) บรรดาผู้ที่สมาทานทรัมป์ก็เชื่อทันที แม้จะมีคำยืนยันเพียงใดว่า การโกงการเลือกตั้งไม่ได้เกิดดังที่ทรัมป์กล่าวอ้าง และทั้งยังเป็นการกล่าวอ้างที่ไม่มีหลักฐานที่ชัดเจน แต่เขาเหล่านั้นได้พร้อมใจกันเชื่อทรัมป์ และพร้อมที่จะต่อสู้เพื่อให้ทรัมป์เป็น “ผู้ชนะ” การเลือกตั้ง… และทรัมป์ต้องชนะเท่านั้น คนเหล่านี้ไม่มีทางยอมรับชัยชนะของโจ ไบเดน ได้เลย เพราะสมมติฐานในเบื้องต้นเป็นคำตอบที่ชัดเจนในตัวเองว่า ชัยชนะของไบเดนเป็นการ “โกงการเลือกตั้ง”

ความเป็นนักสื่อสารการเมืองในแบบของทรัมป์ ทำให้สุดท้ายแล้วเขาได้สร้าง “ปีศาจร้าย” ตนหนึ่งขึ้นมาในสังคมอเมริกัน “ลัทธิประชานิยมขวาจัด” (Right-wing Populism) เป็นผลผลิตทางความคิดที่สำคัญของยุคปัจจุบัน และอาจไม่แตกต่างกันที่ การสื่อสารทางการเมืองของฮิตเลอร์ก็สร้างปีศาจสำคัญที่ชื่อ “ลัทธินาซี” ขึ้นในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 มาแล้ว จึงน่าสนใจว่า สุดท้ายแล้ว “ปีศาจร้าย” ที่ทรัมป์สร้างขึ้นมาจนกลายเป็นกลุ่มขวาจัดในการเมืองอเมริกันชุดนี้จะดำเนินต่อไปอย่างไรในยุคของประธานาธิบดีไบเดน อย่างน้อยแรงสนับสนุนจากทำเนียบขาวที่เคยมีจะหมดไปหลัง 20 มกราคม นี้ อย่างแน่นอน

ปลดประธานาธิบดี!

ในสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นครั้งนี้ จึงมีเสียงเรียกร้องอย่างมากให้ปลดทรัมป์ออกจากความเป็นประธานาธิบดี และมีความเห็นจากหลายฝ่ายว่า ควรนำเอามาตราที่ 25 (The 25th Amendment) ของรัฐธรรมนูญอเมริกันว่าด้วย “การถอดถอนประธานาธิบดี” (หรือ “impeachment” ซึ่งอาจจะเรียกว่า “การขับประธานาธิบดีออกจากตำแหน่ง” ก็ได้) เพื่อเป็นการแสดงออกว่า สังคมอเมริกันจะไม่อดทนและไม่อนุญาตให้ผู้นำสูงสุดสามารถกระทำการตามอำเภอใจได้อีกต่อไป และขณะเดียวกันก็เป็นตัวอย่างของการลงโทษผู้นำที่กระทำการเช่นนั้น

การถอดถอนเช่นนี้ จะต้องเริ่มด้วยการที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฏร หรือ “สภาล่าง” จะออกเสียงข้างมากเพื่อให้ประธานาธิบดีสิ้นสุดสถานะ และส่งเรื่องต่อมาเพื่อให้วุฒิสภา หรือ “สภาสูง” ลงเสียง “สองในสาม” เพื่อให้ประธานาธิบดีไม่มีคุณสมบัติที่อยู่ในตำแหน่งต่อไป

ในอีกส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ ก็เคยมีตัวอย่างถึงสามกรณีสำคัญในการใช้อำนาจของวุฒิสภาด้วยเสียงข้างมาก (ไม่ใช่เสียงสองในสาม) คือ ในปี 2405 (คศ. 1862) ในปี 2456 (คศ. 1913) และในปี 2479 (คศ. 1936) เพื่อปลดผู้พิพากษาออกจากตำแหน่ง ซึ่งก็น่าสนใจว่าตัวอย่างของการใช้อำนาจของวุฒิสภาเช่นนี้จะสามารถนำมาใช้กับการปลดทรัมป์ออกจากตำแหน่งได้หรือไม่ คือเป็นการปลดออกด้วยเสียงข้างมากของวุฒิสภา เพราะสภาสูงปัจจุบันเป็นเสียงของพรรคเดโมแครต

อย่างไรก็ตามทรัมป์อาจแก้ตัวว่า การแสดงออกด้วยการ “ปลุกระดม” (incite) กับฝูงชน ดังที่ปรากฏชัดในสื่อนั้น เป็นการใช้เสรีภาพในการแสดงออกตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ แต่การปลุกระดมเช่นนี้ไม่ได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญอย่างแน่นอน

แม้จะเหลือเพียง 13 วัน แต่หลายฝ่ายก็มองว่า เป็น “13 วันที่คาดเดาไม่ได้” เพราะทรัมป์อาจตัดสินใจทำเรื่องใดเรื่องหนึ่งโดยการใช้อำนาจของประธานาธิบดี แม้บางฝ่ายเชื่อว่า คำสั่งของประธานาธิบดีที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น จะไม่มีผู้ใดยอมรับเอาไปปฎิบัติตาม เช่น การสั่งเคลื่อนกำลังทหารเพื่อการการรัฐประหารอีกครั้ง หรือคำสั่งในการใช้กำลังเพื่อสร้างสถานการณ์สงคราม เป็นต้น

ดังนั้นเพื่อแก้ปัญหา “13 วันอันตราย” เช่นนี้ ทางออกที่ดีที่สุดจึงได้แก่ การเอาทรัมป์ออกจากตำแหน่ง ด้วยการประกาศว่า เขาไม่มีคุณสมบัติเพียงพอที่จะดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีอีกต่อไป เพราะการกระทำดังกล่าวจะปิดโอกาสไม่ให้เขากลับมาใช้อำนาจของทำเนียบขาวในการทำลายระบอบประชาธิปไตยและความเป็นนิติรัฐของสหรัฐอเมริกา!

13 วันของการเมืองอเมริกันจากนี้ จึงเป็นเวลาที่ต้องจับตามองอย่างยิ่ง พร้อมๆกับการระบาดของโควิด-19 ที่ยังมีความรุนแรง และสหรัฐมีอัตราการเสียชีวิตมากเป็นอันดับหนึ่งของโลก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image