สุจิตต์ วงษ์เทศ : เจ้านครอินทร์ เชื้อสายพระร่วงสุโขทัย จากรัฐสุพรรณภูมิ สถาปนารัฐอยุธยา

วัดราชบูรณะ อยุธยา เจ้าสามพระยาสร้างถวายเจ้านครอินทร์ ซึ่งเป็นพระราชบิดา มีกรุบรรจุเครื่องราชกกุธภัณฑ์สมเด็จพระนครินทราชาธิราช

เจ้านครอินทร์จากรัฐสุพรรณภูมิ ยึดอยุธยา เป็นเจ้าของเครื่องราชกกุธภัณฑ์ทองคำในกรุวัดราชบูรณะ อยุธยา

เจ้านครอินทร์ หรือสมเด็จพระนครินทราธิราช กษัตริย์รัฐสุพรรณภูมิ เป็น “หลาน” ขุนหลวงพ่องั่ว แล้วมีเชื้อสายราชวงศ์สุโขทัย ถือเป็นเชื้อสายพระร่วง สุโขทัย

เมื่ออยู่เมืองสุพรรณบุรี เคยไปเมืองจีน แล้วจักรพรรดิจีนมอบช่างทำเครื่องปั้นดินเผามาทำสังคโลก ที่เมืองสุโขทัย (เพราะเป็นกษัตริย์ครองสุโขทัยด้วย)

ต่อมาด้วยการอุดหนุนของจักรพรรดิจีน (อาจผ่านกองทัพเรือเจิ้งเหอ หรือซำปอกง) เจ้านครอินทร์ยึดครองกรุงศรีอยุธยาได้สำเร็จ

Advertisement

แต่เรื่องราวของเจ้านครอินทร์ถูกลดทอนความสำคัญจนถึงถูกบิดเบือนก็ไม่น้อย สมควรที่จะร่วมกันพิจารณาใหม่ โดยเริ่มจากคำอธิบายเก่า

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ มีพระอธิบายเรื่องในรัชกาลเจ้านครอินทร์ไว้ในหนังสือพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา จะคัดมาโดยจัดย่อหน้าใหม่ให้อ่านง่าย  ดังต่อไปนี้

อธิบายเรื่องในรัชกาลสมเด็จพระอินทราชาธิราชที่ 1

พระนิพนธ์ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

ในหนังสือพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขานี้ ว่าสมเด็จพระอินทราชาธิราชขึ้นเสวยราชย์เมื่อปีมะเส็ง จุลศักราช 763 พ.ศ. 1944 ครองราชสมบัติอยู่ 17 ปี สวรรคตเมื่อ ปีจอ จุลศักราช 780 พ.ศ. 1961

ในพระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐว่า ขึ้นเสวยราชย์เมื่อปีฉลู จุลศักราช 770 พ.ศ. 1951 ครองราชสมบัติอยู่ 16 ปีสวรรคตเมื่อปีมะโรง จุลศักราช 786 พ.ศ. 1967 ปีเสวยราชย์ช้ามา 7 ปี ปีรัชกาลน้อยกว่า 1 ปี ปีสวรรคตช้ามา 6 ปี

 

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ประทับภายในห้องทรงงาน กระทรวงมหาดไทย ที่ศาลาลูกขุน ในพระบรมมหาราชวัง
สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ประทับภายในห้องทรงงาน กระทรวงมหาดไทย ที่ศาลาลูกขุน ในพระบรมมหาราชวัง

 

ประวัติสมเด็จพระอินทราชาธิราชที่ 1

ได้ความตามจดหมายเหตุจีน ยุติต้องกับที่กล่าวในหนังสือพระราชพงศาวดารว่า สมเด็จพระอินทราชาธิราชพระองค์นี้ เป็นหลานเธอของสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 คือเป็นโอรสของน้องยาเธอที่ได้ครองเมืองสุพรรณบุรี

สมเด็จพระอินทราชาธิราชพระองค์นี้ ตามพระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเรียกพระนามว่า สมเด็จพระนครินทราธิราช

ความปรากฏตรงกันทั้งในหนังสือพระราชพงศาวดารและจดหมายเหตุจีน ว่าเมื่อก่อนเสวยราชย์ทรงพระนาม ว่าพระนครอินทร์ ข้าพเจ้าเข้าใจว่าเพราะได้ครองเมืองอินทบุรี ซึ่งตามกฎมนเทียรบาลว่าเป็นเมืองหลานหลวง เห็นสมกัน แต่เมื่อเข้ามาครองราชสมบัติในกรุงศรีอยุธยานั้นพระนครอินทร์เห็นจะได้ครองเมืองสุพรรณบุรีอยู่ ด้วยพระบิดาจะทิวงคตไปก่อนนั้น

ทางไมตรีกับเมืองจีน

สมเด็จพระอินทราชาธิราชพระองค์นี้ ตามความที่ปรากฏมาเป็นพระเจ้าแผ่นดินกรุงศรีอยุธยาพระองค์เดียวที่ได้เคยเสด็จไปเมืองจีน ได้เคยเสด็จไปถึงราชสำนักของพระเจ้ากรุงจีนในราชวงศ์เหม็ง ณ เมืองน่ำกิง แต่ยังเป็นพระนครอินทร์ เมื่อปีมะเส็ง จุลศักราช 739 พ.ศ. 1920

เมื่อได้ครองราชสมบัติกรุงศรีอยุธยาแล้ว ก็เป็นไมตรีสนิทกับพระเจ้ากรุงจีนมาก ได้แต่งราชทูตไปเจริญทางพระราชไมตรีถึงเมืองจีนหลายครั้ง พระเจ้ากรุงจีนก็แต่งราชทูตมาหลายครั้ง

จดหมายเหตุจีนเรียกพระนามเมื่อก่อนครองราชสมบัติกรุงศรีอยุธยาว่า เจียวลกควานอิน (เจ้านครอินทร์) เมื่อได้ราชสมบัติแล้วจดหมายเหตุจีนเรียกว่าเจียวลกควานอินตอล่อที่ล่า (เจ้านครอินทราธิราช) น่าจะเขียนพระนามในพระราชสาส์นว่าสมเด็จพระรามาธิบดีศรีนครินทราธิราช ดังนี้

 

ราชวงศ์พระเจ้าแผ่นดินกรุงศรีอยุธยา

ราชวงศ์พระเจ้าแผ่นดินที่ครองกรุงศรีอยุธยา ตามที่นิยมกันมาแต่ก่อน ว่าพระเจ้าแผ่นดินนับแต่สมเด็จพระรามาธิบดีอู่ทอง ลงมาจนสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ รวม 16 พระองค์ อยู่ในราชวงศ์เชียงราย โดยเนื่องในเชื้อวงศ์ของพระเจ้าแผ่นดินเชียงรายฝ่ายเหนือ

ถ้าพิเคราะห์ดูตามเหตุผลที่สอบได้ความในพระราชพงศาวดาร พระเจ้าแผ่นดินที่ควรจะนับว่าอยู่ในราชวงศ์เชียงรายมีแต่ 3 พระองค์ คือ สมเด็จพระรามาธิบดีอู่ทอง สมเด็จพระราเมศวร และสมเด็จพระรามราชาธิราช เท่านี้

นอกจากนี้อีก 13 พระองค์ นับแต่สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 เป็นต้น ลงมาจนสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ควรจะเรียกว่าราชวงศ์สุวรรณภูมิ เพราะเป็นราชวงศ์หนึ่งต่างหาก เกี่ยวเนื่องกับราชวงศ์เชียงรายเพียงในทางที่เป็นเขย ข้าพเจ้าเห็นว่าต่อไปควรจะกำหนดเป็นต่างราชวงศ์กันจึงจะถูกต้อง

เรื่องปราบจลาจลเมืองเหนือ

ในแผ่นดินสมเด็จพระอินทราชาธิราชพระองค์นี้ หนังสือพระราชพงศาวดารว่าพระมหาธรรมราชาเมืองพิษณุโลกทิวงคต และหัวเมืองเหนือเป็นจลาจล สมเด็จพระอินทราชา         ธิราชเสด็จขึ้นไปเมืองพระบาง พระยาบาลเมือง พระยารามมาถวายบังคม จึงเสด็จกลับคืนพระนคร

พิเคราะห์ตามเรื่องและนามบุคคล ข้าพเจ้าเห็นว่าเรื่องจะเป็นเช่นนี้ คือ

พระมหาธรรมราชาไสยลือไทยเมืองพิษณุโลกเห็นจะมีโอรส 2 องค์ ขนานนามตามจารีตสมเด็จพระร่วงศรีอินทราทิตย์ว่า พระยาบาลเมืององค์ 1 พระยาราม (คำแหง) องค์ 1

พระมหาธรรมราชาทิวงคต พระยาบาลเมืองกับพระยารามคำแหงเห็นจะชิงสมบัติกัน บางทีจะถึงเกิดรบพุ่งกัน เมืองเหนือเป็นจลาจล

ด้วยเหตุนี้สมเด็จพระอินทราชาธิราชจึงเสด็จยกทัพหลวงไปถึงเมืองพระบาง (เข้าใจว่าเมืองนครสวรรค์) พระยาทั้งสองเกรงพระเดชานุภาพ ลงมาเฝ้าด้วยกันทั้งสองพระองค์   จะทรงเกลี่ยไกล่จัดการอย่างใดอย่างหนึ่งซึ่งรู้ไม่ได้ การจลาจลเรียบร้อย จึงเสด็จกลับพระนคร ข้าพเจ้าเห็นว่าเนื้อเรื่องจะเป็นเช่นว่านี้

เรื่องตั้งลูกเธอครองเมือง

หนังสือพระราชพงศาวดารกล่าวต่อมาว่าสมเด็จพระอินทราชาธิราช ตั้งให้พระเจ้าลูกเธอไปครองเมือง 3 พระองค์ คือ เจ้าอ้ายพระยาครองเมืองสุพรรณบุรี เจ้ายี่พระยาครองเมืองสรรค์ เจ้าสามพระยาครองเมืองชัยนาท ที่เรียกพระนามว่า เจ้าอ้าย เจ้ายี่ เจ้าสาม เห็นจะเป็นพระนามตามที่เรียกกันอยู่เมื่อก่อนไปครองเมือง

เมื่อตั้งออกไปครองเมือง คงจะได้รับพระนามบัญญัติอย่างลูกหลวง มีหลักฐานที่จะรู้พระนามได้แต่เจ้าสามพระยาคงจะได้เป็นที่พระบรมราชา เพราะเมื่อมาได้ราชสมบัติภายหลัง ปรากฏพระนามว่าสมเด็จพระบรมราชาธิราช พระนามส่วนเจ้าอ้ายเจ้ายี่นั้นได้แต่เดา ข้าพเจ้าเข้าใจว่าเจ้าอ้ายคงเป็นพระราเมศวร เจ้ายี่เป็นพระอินทราชา เพราะพระนามสำหรับตั้งเจ้าครองเมืองไม่มีกี่พระนามนัก

การที่ตั้งลูกเธอออกไปครองเมืองครั้งนั้น อ่านในหนังสือพระราชพงศาวดาร ชวนจะให้เข้าใจว่าเมื่อสมเด็จพระอินทราชาธิราชเสด็จกลับลงมาจากเหนือคราวนั้นแล้ว ก็ตั้งลูกเธอทั้ง 3 พระองค์ให้ออกไปครองเมือง

แต่เมื่อคิดดูตามเหตุผล เห็นว่าความจริงจะไม่เป็นเช่นนั้น

เจ้าอ้ายพระยาเป็นลูกเธอพระองค์ใหญ่ คงจะได้ออกไปครองเมืองสุพรรณบุรี ซึ่งเป็นเมืองเดิมและเป็นเมืองสำคัญก่อนพระองค์อื่น ครั้นเมื่อสมเด็จพระอินทราชาธิราชระงับจลาจลทางเมืองเหนือเรียบร้อยแล้ว ทรงพระราชดำริเห็นว่าควรจะขยายอำนาจการปกครองขึ้นไปข้างเหนือโดยถึงเวลาโอกาส จึงตั้งให้เจ้ายี่พระยาซึ่งเป็นลูกเธอองค์ที่ 2 ขึ้นไปครองเมืองสรรค์ ซึ่งเวลานั้นเป็นเมืองใหญ่กว่าเมืองอื่นที่อยู่ใต้เมืองกำแพงเพชรและเมืองพิษณุโลกลงมาเพื่อให้กำกับราชการข้างเหนือ

แต่ที่ว่าให้เจ้าสามพระยาไปครองเมืองชัยนาทนั้น เมื่อข้าพเจ้าได้ไปตรวจดูภูมิประเทศไปเกิดสงสัยขึ้นด้วยเมืองชัยนาทเก่าว่ามีเป็น 2 เมือง

เมือง 1 อยู่ฝั่งตะวันออก ทุกวันนี้เป็นที่ดอนเสียแล้ว ได้ให้ไปตรวจพบแต่เชิงเทินดิน ไม่มีอะไรที่จะเข้าใจได้ว่าเป็นเมือง สงสัยว่าจะเป็นแต่ค่ายเก่า

เมืองชัยนาทอีกเมือง 1 ซึ่งมีพระมหาธาตุและวัดวาเก่าๆ อันควรเชื่อว่าเป็นเมืองได้ อยู่ฝั่งตะวันตกที่ปากน้ำเมืองสรรค์เดี๋ยวนี้ ดูเป็นเมืองใหม่กว่าและเล็กกว่าเมืองสรรค์มาก ประหลาดที่อยู่ใกล้เมืองสรรค์นักหนา ถ้าจะเดินบกทางเพียง 250 เส้น ไปทางน้ำด้วยเรือไฟหรือเรือยนต์ไม่ถึงชั่วโมง ภูมิประเทศทำให้เห็นว่าเมืองสรรค์กับเมืองชัยนาท จะเป็นเมืองมีอำนาจเสมอกันในคราวเดียวกันนั้นไม่ได้ ในศิลาจารึกโบราณก็ไม่ปรากฏชื่อเมืองชัยนาท มีแต่เมืองแพรกคือเมืองสรรค์ ข้าพเจ้าเห็นว่าเมืองชัยนาทจะเป็นเมืองใหม่ บางทีจะตั้งขึ้นเมื่อได้เมืองสรรค์เป็นอาณาเขตของกรุงศรีอยุธยาแล้ว

เพราะเมืองชัยนาทเป็นเมืองเล็ก และอยู่ใกล้ชิดกับเมืองสรรค์ดังกล่าวมานี้ ที่หนังสือพระราชพงศาวดารว่าเจ้าสามพระยาขึ้นไปครองเมืองชัยนาทนั้น ข้าพเจ้าเห็นว่าถ้าเจ้าสามพระยาครองเมืองมีอำนาจเหมือนเจ้ายี่พระยา จะครองเมืองอื่นมิใช่เมืองชัยนาท

แต่ข้อนี้ข้าพเจ้าไม่เถียงหนังสือพระราชพงศาวดาร เพราะทางที่จะสันนิษฐานยังมีอีกทางหนึ่ง ซึ่งมีเหตุผลประกอบดีกว่า คือเห็นว่าสมเด็จพระอินทราชาธิราช คงจะเตรียมให้ลูกเธอขึ้นไปครองเมืองพิษณุโลก แต่ในเวลานั้นเมืองเหนือยังไม่เรียบร้อยทีเดียว จึงให้เจ้าสามพระยาขึ้นไปพักทำราชการอยู่กับเจ้ายี่พระยา เป็นแต่ผู้รักษาเมืองชัยนาท คอยโอกาสเหมาะเมื่อใด ก็จะให้เจ้ายี่พระยาขึ้นไปครองเมืองพิษณุโลก ให้เจ้าสามพระยาครองเมืองสรรค์ หรือมิฉะนั้นก็ให้เจ้าสามพระยาขึ้นไปครองเมืองพิษณุโลก

ซึ่งเห็นเช่นนี้เพราะเหตุการณ์ภายหลังบ่งให้แลเห็น คือเมื่อเจ้าสามพระยาได้ราชสมบัติแล้ว ก็ให้พระราเมศวรขึ้นไปครองเมืองพิษณุโลก ข้อนี้เป็นพยานอยู่

อุบายทางราชการและวิธีแผ่พระราชอาณาจักรในครั้งนั้น สังเกตดูตามหนังสือพระราชพงศาวดาร ดูท่านวางทางพระราชดำริไว้เป็นยุติ ถึงพระเจ้าแผ่นดินจะเปลี่ยนพระองค์ วิธีการก็คงอยู่ในทางเดียวกันต่อๆ มาตั้งแต่สมเด็จพระรามาธิบดี มิได้เปลี่ยนแปลงตามแต่เหตุการณ์เป็นครั้งเป็นคราว

เมื่อสมเด็จพระอินทราชาธิราชสวรรคต ที่เจ้าอ้ายพระยาเจ้ายี่พระยาเข้ามาชิงราชสมบัติกันนั้น เข้าใจว่าเจ้าอ้ายพระยาถือว่าเป็นลูกเธอองค์ใหญ่ เป็นผู้ควรรับรัชทายาทก็ยกเข้ามาจะครองราชย์สมบัติ ฝ่ายข้างเจ้ายี่พระยาเมื่อขึ้นไปครองเมืองสรรค์ จะไปได้กำลังวังชาข้างฝ่ายเหนือตระเตรียมไว้สำหรับที่จะแผ่อาณาจักรขึ้นไปถึงเมือพิษณุโลก ครั้นเห็นว่าได้ท่วงที เชื่อว่ามีกำลังมากกว่าเจ้าอ้ายพระยา จึงเข้ามาแย่งราชสมบัติ จึงมาเกิดรบพุ่งจนสิ้นพระชนม์ไปด้วยกันทั้ง 2 พระองค์ กลับเป็นการดีแก่เจ้าสามพระยาที่ได้ผู้คนทั้ง 2 พวกเป็นกำลังต่อมา

 

[หมายเหตุ คำอธิบายชุดนี้ของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ปัจจุบันมีนักวิชาการค้นคว้าเพิ่มเติม แล้วอธิบายต่างไปหลายประเด็น]

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image