ไทยพบพม่า : การเลือกตั้งกับปัญหาที่เพิ่งเริ่ม

ไทยพบพม่า : การเลือกตั้งกับปัญหาที่เพิ่งเริ่ม : โดย ลลิตา หาญวงษ์
พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย (ขวา) ผู้บัญชาการทหารสูงสุดพม่า กับนายหวัง ยี่ (ขวา) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจีน ที่มาเยือนพม่าอย่างเป็นทางการ, 12 มกราคม 2021

การเลือกตั้งทั่วไปในพม่าเพิ่งจะจัดไปเมื่อ 8 พฤศจิกายน 2020 เวลาผ่านไปแล้วร่วม 2 เดือน แต่ดูเหมือนว่าข้อถกเถียงและปัญหาจากการเลือกตั้งนี้ยังไม่จบสิ้น แต่เหตุที่ทำให้การเลือกตั้งที่พรรค NLD ชนะแบบถล่มทลายเพิ่งจะกลับมาเป็นประเด็นเมื่อไม่นานมานี้ เพราะเกิดการระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกสองมานานตั้งแต่ก่อนการเลือกตั้ง เมื่อสถานการณ์ในประเทศเริ่มดีขึ้น ประเด็นร้อนทั้งการโกงเลือกตั้ง และความไม่ชอบมาพากลอื่นๆ ก็กลับมาอีกครั้ง เริ่มจากที่พรรค USDP ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านในปัจจุบัน และเป็นพรรคตัวตายตัวแทนของกองทัพพม่าออกมาเรียกร้องให้อู ที คุน มยัต (T Khun Myat) ประธานสภา นัดประชุมสภานัดพิเศษเพื่อพิจารณา “การโกงเลือกตั้ง” ซึ่งพรรค USDP และกองทัพพยายามกล่าวหาพรรค NLD มาตลอด แม้จำนวนผู้ที่เข้าชื่อให้มีการนัดประชุมสภานัดพิเศษนี้จะมีเพียงผู้แทนราษฎรจากพรรค USDP เพียง 36 คน ตัวแทนพรรค ANP หรือพรรคแห่งชาติอาระกัน 4 คน และพรรค NUDP (National United Democratic Party) อีกเพียง 2 คน และยังมีนายทหารที่ถูกแต่งตั้งไปอยู่ในสภาแบบอัตโนมัติอีก 160 นาย ที่ร่วมลงชื่อด้วย

เป็นที่ทราบกันดีว่ากองทัพพม่าเป็นไม้เบื่อไม้เมากับคณะกรรมการการเลือกตั้งของพม่า ที่ NLD แต่งตั้งมาเพื่อเตรียมความพร้อมการเลือกตั้งเมื่อปลายปี 2020 และพยายามบ่อนทำลายความน่าเชื่อถือของ กกต.ชุดนี้มาตลอด ตั้งแต่กล่าวหาว่า กกต.เป็นกระบอกเสียงให้ NLD จริงอยู่ว่า กกต.ชุดนี้ได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ค่อนข้างรุนแรง ไม่ใช่เฉพาะจากคนในกองทัพเท่านั้น แต่สาธารณชนก็มองว่า กกต.มีความลำเอียงเข้าข้าง NLD แต่ในขณะเดียวกันสังคมพม่าก็มองว่ากองทัพพยายามกล่าวหา กกต.และลดความน่าเชื่อถือของพรรค NLD แบบ “เกินงาม” เช่น การกล่าวหาว่ามีการโกงการเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งถึง 179 เมือง มีการร้องเรียนกับตำรวจและคณะอนุกรรมการการเลือกตั้งถึง 1,200 ครั้ง

อย่างไรก็ดี การร้องเรียนของพรรค USDP และกองทัพดูจะไม่เป็นผลนัก เพราะประธานสภาปฏิเสธไม่ยอมให้มีการนัดประชุมสภานัดพิเศษ เพราะเป็นไม่เกี่ยวข้องกับรัฐสภาโดยตรง หากแต่เป็นหน้าที่ของ กกต.ผลการเลือกตั้งเมื่อปลายปีชี้ให้เห็นว่า NLD ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น พรรคกุมชัยชนะ 396 จาก 476 ที่นั่ง หรือคิดเป็นร้อยละ 83 ของที่นั่งในสภาทั้ง 2 สภา ในขณะที่พรรค USDP ได้มาเพียง 33 ที่นั่ง หรือร้อยละ 7

ปัญหาที่ กกต.พม่าต้องพิจารณาต่อไปคือการเลือกตั้งในรัฐยะไข่ ที่ถูกยกเลิกไป โดย กกต.อ้างว่า “ผู้ก่อการร้าย” ในนามกองทัพอาระกัน หรือ AA (Arakan Army) ได้ก่อความไม่สงบ ที่กระทบชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนในหลายพื้นที่ทั่วรัฐยะไข่ ทำให้มีประชาชนในรัฐยะไข่กว่า 1.2 ล้านคน (จาก 1.6 ล้านคน) ที่ยังไม่ได้ไปเลือกตั้ง ความไม่ปกติในรัฐยะไข่ และท่าทีของรัฐบาลพม่าต่อกองทัพอาระกัน เป็นอีกเหตุการณ์หนึ่งที่ชี้ให้เห็นความแตกแยกอย่างรุนแรงระหว่างรัฐบาล NLD กับกองทัพพม่า จริงอยู่ว่าทั้งสองฝ่ายไม่กินเส้นกันมานานแสนนานแล้ว แต่โดยมากความไม่ลงรอยกันนั้นจะถูกเก็บซ่อนไว้ มากกว่าจะมาประกาศให้สาธารณชนรู้ว่าเกิดความขัดแย้งขึ้น

Advertisement

สงครามประสาทระหว่างผู้นำระดับสูงในกองทัพกับพรรค NLD ยิ่งเห็นเด่นชัดเข้าไปอีกในสัปดาห์ที่ผ่านมา พร้อมกับการมาเยือนของนายหวัง ยี่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของจีน ที่เพิ่งไปเยือนพม่าอย่างเป็นทางการไปหมาดๆ ในการหารือกับจีน พอเอกอาวุโสมิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ได้กล่าวถึงข้อกล่าวหาเรื่องการโกงเลือกตั้ง และยังกล่าวอย่างเปิดเผยว่า NLD อาจจะอยู่เบื้องหลังการเลือกตั้งที่ไม่บริสุทธิ์ยุติธรรมครั้งนี้ แต่ข้อกล่าวหานี้ก็ไม่ได้ทำให้ทางการจีนถอยห่างจากรัฐบาล NLD แต่อย่างใด ในทางตรงกันข้าม รัฐบาล NLD ยิ่งต้องพึ่งพาความช่วยเหลือจากรัฐบาลจีนมากขึ้น ในสถานการณ์ที่ออง ซาน ซูจี และรัฐบาล NLD กำลังถูกกดดันและบอยคอตจากกรณีโรฮีนจา การกล่าวถึงข้อหาโกงเลือกตั้ง ที่พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย นำไปร่วมหารือกับนายหวัง ยี่ นั้นยิ่งทำให้บรรยากาศทางการเมืองแย่ลงไปอีก มิพักต้องเจอ “ดราม่า” จากสังคมพม่า ที่ส่วนใหญ่เห็นว่าผู้บัญชาการทหารสูงสุดเพิ่งนำเรื่องละเอียดอ่อนภายในประเทศ ไปหารือกับ “ศัตรู” อย่างจีน ท่าทีของกองทัพพม่าช่างตรงข้ามกับสโลแกนที่กองทัพพยายามพร่ำบอกกับสังคมมาหลายสิบปีที่ว่า “ต่อต้านผู้ที่พึ่งพาแต่ต่างชาติ ทำตัวเป็นไส้ศึก และมีทัศนคติเป็นลบ”

ท่าทีของพลเอกอาวุโสมิน อ่อง หล่าย ต่อรัฐบาล NLD ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาดูจะแตกต่างออกไปจากเดิม แน่ล่ะ เราต่างรู้กันอยู่แล้วว่าความสัมพันธ์ระหว่างกองทัพกับรัฐบาลพลเรือน ภายใต้การครอบงำของกองทัพ ไม่มีทางเป็นความสัมพันธ์ที่ดีได้ แต่ท่าทีของผู้นำระดับสูงในกองทัพยิ่งทำให้ความสัมพันธ์กับทั้งพรรค NLD และประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศที่สนับสนุนด่อ ออง ซาน ซูจี อย่างเต็มที่ ย่ำแย่ลงไปอีกระดับ

กลับมาดูที่ฝั่ง NLD ที่เพิ่งออกแผนการสร้างสันติภาพไปหมาดๆ ก็ไม่ประสบความสำเร็จในการจัดการประชุมพบปะกับแกนนำของชนกลุ่มน้อยเพื่อหารือความเป็นไปได้ในการจัดตั้งสหสาธารณรัฐ (federal union) เป็นการหารือในเบื้องต้นที่ล้มเหลวเป็นครั้งที่ 2 เฉพาะในเดือนนี้ สาเหตุมาจากที่ทั้งสองฝ่ายไม่สามารถหาสถานที่จัดการประชุมได้ลงตัว ฝ่าย NLD พยายามหว่านล้อมให้ตัวแทนกลุ่มชาติพันธุ์เดินทางมาประชุมที่ที่ทำการพรรค NLD ในแต่ละรัฐของกลุ่มชาติพันธุ์ แต่กลุ่มชาติพันธุ์แต่ละกลุ่มก็อยากให้ NLD ไปประชุมในเขตของตน หรือสถานที่ที่เป็นกลางมากกว่า จะเห็นได้ว่าเกิดปัญหาความตึงเครียดระหว่าง NLD กับตัวแทนกลุ่มชาติพันธุ์ขึ้นแล้ว ตั้งแต่การเจรจาเรื่องการตั้งสหสาธารณรัฐยังไม่เกิด

Advertisement

ปัญหาทั้งหลายที่ได้บรรยายมาในสัปดาห์นี้ล้วนเป็นสิ่งที่เราต้องจับตามองตลอดปี 2021 นี้ เพราะการพัฒนาภายในพม่าพึ่งพาการขับเคลื่อนจากสามเหลี่ยมแห่งอำนาจนี้ อันประกอบไปด้วย NLD, กองทัพ และกลุ่มชาติพันธุ์ หากขาดกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งไป การพัฒนาต่อไปในภายภาคหน้าย่อมไม่สามารถประสบผลสำเร็จใดๆ ได้ นอกจากนี้ ความมึนตึงระหว่างผู้นำกองทัพและรัฐบาลพลเรือน ในห้วงเวลาที่พลเอกอาวุโสมิน อ่อง หล่าย กำลังจะเกษียณราชการภายในปีนี้ ก็ยิ่งชี้ให้เห็นความยากลำบากของ “ถนนสายการปรองดอง” ที่ NLD และภาคประชาสังคมพม่าวาดฝันไว้ ไม่นับรวมปัญหาจุกจิกอื่นๆ ทั้งการพิสูจน์สัญชาติโรฮีนจา และความขัดแย้งกับกลุ่มชาติพันธุ์กลุ่มใหม่ๆ ที่ยิ่งจะทวีความรุนแรงขึ้นตามลำดับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image