การศึกษาไทย ในวันวิกฤต โควิด รอบ 2

นับแต่วันแรกที่เมืองไทยพบการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 รอบสองในกลุ่มแรงงานต่างชาติที่สมุทรสาคร ต่อมาพบแหล่งใหม่จากบ่อนการพนันจังหวัดระยอง ลุกลามไปทั่วประเทศถึงขณะนี้ 57 จังหวัด ตัวเลขเพิ่มขึ้นเป็นหลักร้อย ยังไม่รู้วันจบสิ้นเมื่อไหร่

บทบาทของภาครัฐ คงให้น้ำหนักกับประเด็นวิกฤตด้านสาธารณสุข สุขอนามัยกับผลกระทบด้านเศรษฐกิจเป็นด้านหลักอยู่เช่นเดิม ส่วนด้านสังคมโดยเฉพาะการศึกษาเป็นไปอย่างเรื่อยๆ มาเรียงๆ ยังไม่ได้สะท้อนถึงอาการ ตระหนกตกใจเท่าที่ควรทั้งที่เป็นเรื่องสำคัญ มีผลในระยะยาวเป็นอย่างยิ่ง

ขณะที่สถานศึกษาทุกระดับรวมถึงศูนย์เด็กเล็กทุกแห่ง ถูกคำสั่งปิดในอันดับต้นๆ เพราะเสี่ยงที่จะเป็นแหล่งแพร่เชื้อ สัญญาณที่ส่งออกมา ก็แค่ว่าให้ปรับการเรียนการสอนเป็นแบบออนไลน์เท่านั้น

กระทั่งกลุ่มนักเรียนเลวออกมาจัดกิจกรรมหน้ากระทรวงศึกษาธิการสะท้อนภาพความเป็นจริงของการจัดศึกษาออนไลน์ว่าขาดประสิทธิภาพ

Advertisement

ศ.สมพงษ์ จิตระดับ คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ออกมาสำทับ แสดงความกังวลว่าคุณภาพการศึกษาในปี 2564 จะถดถอยลงอย่างมาก เพราะการสอนออนไลน์ทำได้จริงกับโรงเรียนขนาดใหญ่ในเมืองซึ่งมีความพร้อม ขณะที่โรงเรียนอื่นอีกนับหมื่นแห่งขาดความพร้อมจากปัญหาต่างๆ ทำให้ไม่สามารถสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ด้วยเหตุนี้ทำให้เกิดความไม่มั่นใจของสังคม พ่อแม่ ผู้ปกครอง ถึงความเป็นจริงของการเรียนการสอนออนไลน์ในสภาวะโควิดระบาดระลอกสองในภาพรวมเป็นอย่างไร มีประสิทธิภาพหรือขาดประสิทธิภาพเป็นส่วนใหญ่กันแน่

ประสบการณ์การจัดการศึกษา การเรียนการสอนออนไลน์เมื่อปีที่ผ่านมาจากการระบาดระลอกแรก พบประเด็นปัญหาความไม่พร้อมต่างๆ หลายด้าน ได้รับการแก้ไขให้ลุล่วงไปเพียงไร

Advertisement

โดยเฉพาะครอบครัวที่ขาดแคลน ไม่มีความพร้อม พ่อแม่ต้องออกไปประกอบอาชีพ ปล่อยให้ลูกหลานอยู่บ้าน กับปู่ ย่า ตา ยาย คนแก่คนเฒ่า ไม่มีเครื่องมือสื่อสาร หรือมีก็ขาดความรู้ ทักษะความสามารถในการใช้เทคโนโลยีต่ำ

ภายใต้ความกังวลของพ่อแม่ผู้ปกครองและสังคมโดยรวมเช่นนี้ จะเกิดความมั่นใจถึงคุณภาพการศึกษาของบุตรหลานได้อย่างไร จะให้ความร่วมมือในการจัดการศึกษาให้มีคุณภาพได้เพียงไร

ถึงแม้จะพยายามโน้มน้าวจูงใจให้มองด้านบวก ทำนองว่า ทุกวิกฤตเป็นโอกาส ทำให้นักเรียน ครู อาจารย์ ผู้บริหารได้ฝึกทักษะการใช้เทคโนโลยีให้พัฒนาขึ้น

ที่สำคัญเป็นช่วงเวลาการฝึกความรับผิดชอบ ความมีวินัย ความตรงต่อเวลา การกล้าแสดงออก ประเด็นบวกเหล่านี้ ล้วนเป็นความคาดหวัง ในความเป็นจริงเป็นเช่นนั้นหรือไม่ คำตอบอยู่ที่การติดตามประเมินผลการปฏิบัติจริง

เงื่อนไขความเป็นไปได้นอกจากอยู่ที่ตัวผู้เรียนแล้ว สำคัญที่ครู ผู้บริหารสถานศึกษา ผู้บริหารเขตพื้นที่การศึกษาทุกระดับ มีประสิทธิภาพ เสียสละ ทุ่มเท เอาใจใส่ ติดตาม ช่วยเหลือ สนับสนุนจริงจังมากน้อยแค่ไหน การแสดงออกของฝ่ายนโยบาย โดยการสื่อสารสาธารณะ เป็นอย่างไร

การทำให้สังคมเห็นภาพรวมอย่างเป็นทางการ เป็นเรื่องเป็นราว ในระดับเดียวกับการดำเนินงานด้านการแพทย์ การสาธารณสุขและด้านเศรษฐกิจ จึงเป็นความจำเป็นเร่งด่วนอย่างยิ่ง

เปิดเวทีตั้งโต๊ะแถลงครั้งใหญ่ และรับฟังเสียงสะท้อนความคิดความเห็นอย่างรอบด้าน การจัดการศึกษาในสถานการณ์โควิดระลอกสองความเป็นจริงเป็นอย่างไร จากนั้นจะจัดในโอกาสที่เหมาะสมหรือทำเป็นรายวัน รายสัปดาห์เลย ก็ไม่มีใครว่า

แนวทางการปฏิบัติอย่างทันสถานการณ์เช่นนี้เท่านั้น ที่จะหยุดยั้ง ความสับสน หวั่นไหว ไร้ความเชื่อมั่น เพราะทำให้เกิดความเข้าใจและพัฒนาเป็นความมั่่นใจจนให้ความร่วมมือ ให้ความสนใจการศึกษาเล่าเรียนของบุตรหลานอย่างจริงจังยิ่งขึ้น ไม่ฝากความหวังไว้กับโรงเรียน ครู และกระทรวงศึกษาเพียงฝ่ายเดียว

ตัวอย่างการสะท้อนกลับถึงข้อมูลที่แท้จริงของศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน (กศน.) อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ หลังเกิดกรณียูทูบเบอร์ชื่อดังไปช่วยเหลือเด็กในพื้นที่สูง ต่อมาพวกไม่รู้ความจริงในภาพรวมแต่บ้าแชร์จนเลยเถิด เป็นบทเรียนการชี้แจงที่ทำได้ทันต่อสถานการณ์ทีเดียว

ฉะนั้นในสภาวะหน้าสิ่วหน้าขวานยังไม่ผ่านพ้นวิกฤตเช่นนี้ การแก้ปัญหาโดยทำงานเชิงรุกอย่างเดียวไม่พอ ต้องควบคู่ไปกับการสื่อสารสาธารณะ จะช่วยปรับแว่นและทัศนคติของคนมองมุมเดียว มุมแคบ ให้กว้างขึ้น

สิ่งสำคัญ ต้องรับฟังเสียงสะท้อนที่ว่า การเรียนรู้ไม่ว่าหน้าจริง หรือหน้าจอก็ตาม หากยังอยู่ภายใต้บรรยากาศอำนาจนิยม สั่งการจากส่วนบนลงไปเป็นหลัก อะไรที่ไม่ตรงกับสิ่งที่ครูสั่ง ครูคิด ครูบอก เป็นความผิด ห้ามเห็นต่าง ปัญญาก็ไม่เกิด เพราะถูกอำนาจกดทับ นั่นเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image