คำขวัญส่งเสียงได้

“เด็กไทยวิถีใหม่ รวมไทยสร้างชาติ ด้วยภักดีมีคุณธรรม” คือคำขวัญวันเด็กแห่งชาติประจำปีพุทธศักราช 2564 ที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันได้มอบคำขวัญให้แก่เด็กและเยาวชนไทย (โดยรวมคำขวัญจากท่านประยุทธ์ทั้งสิ้น 7 ปี นับตั้งแต่ พ.ศ.2558) ซึ่งหากรวมคำขวัญวันเด็กแห่งชาติตั้งแต่ปรากฏขึ้นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2499 และเว้นการจัดงานวันเด็ก 2 ปี (พ.ศ.2500-2501 ที่ไม่มีคำขวัญวันเด็ก) จะนับรวมคำขวัญได้ทั้งหมด 63 คำขวัญ หรือ 63 แนวทางการดำรงชีวิตที่เด็กได้รับโอวาทจากผู้นำประเทศ

และคำขวัญวันเด็กในแต่ละปีจะประกอบไปด้วยคำคุณลักษณะ คำนาม คำคุณศัพท์ ข้อเสนอแนะที่เป็นคำสำคัญผสมกันไป ขึ้นอยู่กับวิสัยทัศน์ที่ผู้นำประเทศอยากให้คำแนะนำแก่เด็กและเยาวชน

ที่ผ่านมาหน่วยปฏิบัติการวิจัยเพื่อการพัฒนาด้านเด็กและเยาวชน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดทำแบบสำรวจเพื่อรับฟังเสียงสะท้อนเกี่ยวกับความต้องการ ความใฝ่ฝันและแรงบันดาลใจของเด็กในระบบการศึกษาในวันเด็กแห่งชาติเป็นประจำทุกปี แต่ในปีนี้เมื่อได้จัดทำแบบสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับวันเด็กแห่งชาติจากเด็กนอกระบบการศึกษา (เด็กนอกระบบการศึกษาหมายถึง เด็กและเยาวชนที่มีอายุตั้งแต่ 12-25 ปี ที่ไม่ได้รับการศึกษาสังกัด สพฐ.,อปท.,สอศ.,ตชด.,กศน.,สช.,กทม. และครอบคลุมถึงเด็กด้อยโอกาส อาทิ พิการ ออทิสติก เด็กยากจน เด็กในพื้นที่ห่างไกล เด็กกำพร้า เร่ร่อน เคยต้องคดี ลูกแรงงานต่างด้าว ไร้สัญชาติ เป็นต้น) กับคำถามว่า ถ้าหากได้เป็นนายกฯจะแต่งคำขวัญวันเด็กว่าอะไร ปรากฏว่าคำที่ได้รับคำนิยมมากที่สุดจากการรวบรวมคำตอบคือ

“เด็กไทย เด็กดี ตั้งใจศึกษา ใฝ่คุณธรรม สามัคคีร่วมใจสุจริตโปร่งใส พัฒนาคน พัฒนาชาติไทยให้ยั่งยืน”
คำเหล่านี้มาจากไหน เป็นไปได้ไหมว่า เกิดจากการได้ยิน ได้ฟังคำชี้แนะมาจากผู้ใหญ่ที่มีวัยวุฒิ คุณวุฒิสูงกว่าให้ไว้เป็นแนวทางแก่เด็กในสังคมไทยมาเนิ่นนาน แต่หากได้มองตามพาดหัวข่าวในแต่ละวัน จะพบว่าคำขวัญที่อยากให้เด็กพยายามเป็นเหล่านั้นขัดแย้งกับสังคมอันตรายที่เป็นอยู่ เช่น การใช้ความรุนแรงในครอบครัว การล่วงละเมิดทางเพศนักเรียน การใช้อำนาจในโรงเรียน การทุจริตคอร์รัปชั่น การติดสินบนเจ้าหน้าที่พนักงาน การอุ้มฆ่าทำร้ายร่างกาย ซึ่งแลดูเหมือนว่าคำขวัญที่กล่าวไว้เป็นแนวทางนั้นจะทำได้จริงเต็มศักยภาพมากน้อยแค่ไหน เด็กและเยาวชนต้องมีวิจารณญาณในการเลือกประพฤติตามทางที่เหมาะสมในแต่ละสถานการณ์ตามเหตุปัจจัยไป

Advertisement

เมื่อกล่าวถึงวิจารณญาณในการคิดตรึกตรองและการเลือกปฏิบัติตามสิ่งที่เห็นสมควรว่าดีนั้น มีโอกาสมากน้อยแค่ไหนที่ผู้ใหญ่จะให้เด็กและเยาวชนได้มีส่วมร่วมในการเลือกตั้งเป้าหมายให้แก่ตัวเอง ให้เด็กมีส่วนร่วมในการกำหนดสภาพแวดล้อมในการเติบโตอย่างที่พวกเขาอยากจะเป็น หรือสามารถส่งเสียงขอร้องให้ผู้ใหญ่และคนในสังคมช่วยให้ความกรุณาเอื้ออำนวยปัจจัยให้แก่เด็กในการเรียนรู้ ฝึกฝนทักษะอย่างที่พวกเขาอยากจะมี เพื่ออยู่ในโลกที่มีการหมุนเวียนของความหลากหลายทางสภาพสังคม ภาษา เทคโนโลยี การศึกษา และวัฒนธรรม ดั่งตัวอย่างคำขวัญจากกลุ่มเยาวชนในงานเครือข่ายการศึกษาเพื่อสร้างพลเมืองประชาธิปไตยชีวิต สเปซ 2564 จัดโดยกลุ่ม Thai Civic Education ที่กล่าวว่า

“ฝึกตั้งคำถาม มองหาคำตอบ เรียนรู้ในสิ่งที่ชอบ รู้ให้รอบและเท่าทัน” โดยสุกัญญา จันทร์โฉม

“เป็นพลเมืองดีในระบบประชาธิปไตย และเข้าใจสิทธิมนุษยชน” โดยภัทรินทร์ ยงยุทธ และ “การเรียนรู้ วัฒนธรรม ความหลากหลาย” โดยกรรณิการ์ คำแหงผล ซึ่งสอดคล้องกับเสียงของเด็กและเยาวชนนอกระบบที่ส่งเสียงออกมาในทิศทางเดียวกันว่า พวกเขาอยากจะตั้งคำถาม พิจารณาและส่งเสียง เพื่อขอร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อสถานการณ์และเหตุการณ์ในสังคมที่พวกเขาอยู่ เช่น อยากให้รัฐบาลจัดการกับยาเสพติด ขอให้เกิดความเสมอภาคทางการศึกษา ความเท่าเทียมและสิทธิที่ทุกคนพึงจะได้ อยากให้เปลี่ยนรถเมล์แบบเดิมให้เป็นรถปรับอากาศทั้งหมด และยังมีเสียงสะท้อนของเด็กอีกจำนวนมากที่อยากจะตั้งคำถามถึงการเมือง อาทิ ขอเห็นการทำงานที่โปร่งใส ตรวจสอบได้ ใช้กฎหมายในทางที่เป็นธรรมถูกต้องของรัฐบาล ขอให้มีระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย เช่น คำขวัญจากเด็กถึงผู้ใหญ่ของชวิศ ธรรมมงคล ประธานสภานิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกล่าวว่า “รับฟังลูกหลานอย่างเปิดใจ พร้อมปรับขยับตามสมัย ร่วมแรงกับคนรุ่นใหม่ สร้างอนาคตไทยให้รุ่งเรือง” นั่นแสดงให้เห็นว่า ทั้งเด็กในระบบและเด็กนอกระบบการศึกษาต้องการที่จะให้ชีวิตของเขาและประเทศที่อาศัยอยู่เกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นโดยการร่วมมือกันระหว่างเด็กและผู้ใหญ่

Advertisement

นอกจากนั้นเสียงสะท้อนที่เด็กกล่าวออกมายังเปิดเผยถึงโยงใยที่สัมพันธ์กันอย่างซับซ้อน เช่น หากรัฐบาลยังไม่สามารถจัดการกับแหล่งค้าขายสารเสพติดหรือแหล่งการพนันได้ บุพการีเด็กที่ติดสิ่งอบายมุขเหล่านั้นก็จะต้องหาเงินเพื่อใช้ไปกับมัน และเหตุการณ์จะทวีความรุนแรงมากขึ้น หากพ่อแม่ไม่สามารถควบคุมพฤติกรรมตนเองได้จนบันดาลโทสะทำร้ายร่างกายคนในครอบครัว ฆ่าตัวตายเนื่องจากการติดสารเสพติด ขายลูกหลานตัวเองให้เป็นแรงงานเร่ร่อน ค้าประเวณีเด็กเพื่อจะได้นำเงินไปจุนเจือครอบครัวและชำระหนี้สิน ซึ่งเหตุการณ์เหล่านี้ถูกพบเห็นได้จำนวนมากที่อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย และจังหวัดอื่นๆ
ทั่วประเทศไทย หรืองานวิจัยจากมหาวิทยาลัยลูบลิน (University of Lublin) ประเทศโปแลนด์ที่พบว่า หากสภาพแวดล้อมของสังคมรอบตัวเด็กมีตัวอย่างที่ไม่ดี เด็กก็สามารถลอกเลียนแบบพฤติกรรมเหล่านั้นได้ไม่ยากโดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีการแข่งขัน เช่น เด็กสามารถเรียนรู้พฤติกรรมการคดโกงได้มากกว่าพื้นที่ที่ไม่มีการโกงได้มากถึงสามเท่า (ผลการทดลองจากห้องสอบที่มีหน้าม้าแสร้งทำทุจริตข้อสอบและเด็กทำทุจริตด้วยวิธีเดียวกัน) ซึ่งนอกจากปัญหาตัวอย่างดังกล่าวแล้ว ยังมีปัญหาอีกจำนวนมากที่หากยังไม่ถูกแก้ไขให้สิ้นซาก เด็กและเยาวชนก็จะได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ตามปัจจัยรอบตัวเด็กที่เกิดขึ้น

ดังนั้น หากคำขวัญจากผู้นำประเทศที่เปรียบเสมือนพันธกิจที่มอบให้เด็ก เพื่อให้เด็กเติบโตเป็นผู้ใหญ่ในแบบที่สังคมต้องการ ลองเปลี่ยนธรรมเนียมจากการมอบโอวาทสูงลงล่าง ผู้มีอำนาจมอบแนวทางให้แก่ผู้น้อย ผู้ใหญ่มอบคำขวัญให้กับเด็ก เป็นการถามเด็กว่า เขาอยากจะเป็นอย่างที่ผู้ใหญ่ต้องการหรือเปล่า หรือชวนเด็กมาสร้างเป้าหมายร่วมกันเพื่อพัฒนาให้ชาติไทยก้าวไปข้างหน้า แต่หากเป็นไปได้ยาก

อย่างน้อยความหวังของกระบอกเสียงนี้ก็ขอให้ผู้ใหญ่ช่วยเกื้อหนุนสภาพแวดล้อมที่สนับสนุนให้เด็กได้เติบโตอย่างดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ และให้พื้นที่แก่เด็กเพื่อให้เขาเติบโตตามความสามารถที่พึงจะเป็น โดยไม่นำกรอบแว่นตาการมองโลกของตนมาใช้วัดประเมินหรือพิพากษ์กระบวนการเรียนรู้ที่แท้ของเด็ก โปรดรับฟังเสียงของเขา เพราะสุดท้ายเด็กในวันนี้ก็คือผู้ใหญ่ในวันหน้า หากวันนี้ผู้ใหญ่ยังไม่ปรับ ธรรมชาติและโลกใบนี้ก็จะผลักให้ผู้ใหญ่ต้องเปลี่ยนอยู่ดี

สมพงษ์ จิตระดับ สุอังควาทิน
ปัณฑารีย์ ทันตสุวรรณ
หน่วยปฏิบัติการวิจัยเพื่อการพัฒนาด้านเด็ก
และเยาวชน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image