“ฮิโรชิมา” ที่สวนสันติภาพในกรุงลอนดอน โดย พิพัฒน์ กระแจะจันทร์

ความตายของผู้บริสุทธิ์ที่ฮิโรชิมาและนางาซากิถือเป็นอาชญากรรมครั้งร้ายแรงในช่วงปลาย ของสงครามโลกครั้งที่สอง โมฮัมเหม็ด โกซบาร์ ผู้นำมุสลิมในลอนดอน กล่าวว่า “เหตุผลของการทำลายฮิโรชิมา เป็นการตัดสินใจทางการเมือง ไม่ใช่การตัดสินใจทางการทหาร เป้าหมายและผลที่ตามมาไม่ใช่ทหาร แต่เหยื่อคือประชาชนหลายแสนคน เราขอต่อต้านปรมาณูและอาวุธทุกอย่างที่เข่นฆ่ามนุษย์” เป็นสุนทรพจน์ที่เขากล่าวในงานรำลึกครบรอบ 71 ปี การทิ้งระเบิดปรมาณูที่เมืองฮิโรชิมาและนางาซากิ

โดยทุกวันที่ 6 สิงหาคมของทุกปี องค์กรรณรงค์การลดอาวุธนิวเคลียร์ (CND) และประชาชนจะช่วยกันจัดงานรำลึก ที่ใช้ชื่องานในภาษาอังกฤษว่า 71st Anniversary Hiroshima Day Ceremony ที่จัตุรัสทาวิสต็อก (Tavistock square) ใจกลางกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เพื่อรำลึกถึงผู้บริสุทธิ์ที่ตายจากระเบิดปรมาณูเมื่อ ค.ศ.1945

ความตายนับแสน

อย่างที่รู้กันว่าอังกฤษเป็น 1 ใน 4 ของแกนนำฝ่ายสัมพันธมิตร ดังนั้น การทิ้งระเบิดปรมาณูที่นับเป็นฆาตกรรมมนุษย์ผู้บริสุทธิ์ครั้งใหญ่ครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์โลก จึงเป็นเรื่องหนึ่งที่ชาวอังกฤษรู้สึกผิดและไม่อยากให้เกิดขึ้นอีกในอนาคต และต้องการให้โลกนี้ปราศจากอาวุธนิวเคลียร์

Advertisement

ย้อนกลับไปวันที่ 6 สิงหาคม 2488 ระเบิดปรมาณูลูกแรกได้ถูกทิ้งลงยังเมืองฮิโรชิมา มันมีชื่อว่า “หนูน้อย” (Little boy) ทำจากยูเรเนียม ประธานาธิบดีแฮร์รี่ เอส. ทรูแมน ยื่นคำขาดกับญี่ปุ่นให้ยอมแพ้ภายใน 16 ชั่วโมง พร้อมคำขู่ว่า ถ้าไม่ยอมแพ้จะได้รับความหายนะจากฟากฟ้าชนิดที่ไม่เคยเห็นในโลกใบนี้อีก แต่ญี่ปุ่นไม่ยอมแพ้ และแล้วในอีก 3 วันต่อมา (9 ส.ค.) ระเบิดลูกที่สองมีชื่อว่า “ไอ้อ้วน” (Fat man) ทำจากพลูโตเนียม ได้ถูกทิ้งลงที่เมืองนางาซากิ สร้างความเสียหายต่อพลเรือนอย่างมหาศาล

จำนวนตัวเลขของผู้เสียชีวิตในครั้งนั้นเท่าที่ประเมินกันที่ฮิโรชิมา คาดว่าตายมากถึง 146,000 คน ส่วนที่นางาซากิตัวเลขสูงสุดราว 80,000 คน ซึ่งที่เมืองนางาซากินี้มีทหารตายจากระเบิดเพียง 150 คนเท่านั้นเอง หลังจากการทิ้งระเบิดมีผู้ป่วยอีกนับหมื่นที่ได้รับสารกัมมันตภาพรังสี ซึ่งโดยมากป่วยเป็นมะเร็งตาย

ดังนั้น มันจึงยิ่งชัดเจนว่าระเบิดที่ทิ้งไปมีเป้าหมายทางการเมืองที่พลเรือนมากกว่าพุ่งเป้าไปที่ทหาร ถึงจะอธิบายว่าเมืองนางาซากินั้นสำคัญเพราะเป็นเมืองอุตสาหกรรมขนาดใหญ่และเมืองท่าสำคัญของญี่ปุ่นก็ตาม

Advertisement

นักข่าวหลายคนในตอนนั้นพยายามเข้าไปทำข่าวความเสียหายของเมืองทั้งสองที่เต็มไปด้วยผู้คนที่บาดเจ็บล้มตายจากระเบิด สภาพบ้านเมืองที่เสียหายย่อยยับ แต่ทั้งภาพ วิดีโอ สมุดบันทึกถูกสั่งห้ามเผยแพร่โดยรัฐบาลสหรัฐทั้งหมด กว่าจะได้รับการเปิดเผยก็ล่วงมาอีกหลายปี

ฮิโรชิมาคือการฆาตกรรมมนุษย์สุดเลวร้าย

กลับมาที่งานรำลึก เท่าที่สังเกตผู้คนที่มาร่วมเป็นคนแก่และวัยกลางคนมีทั้งชาวอังกฤษและญี่ปุ่น รวมๆ กันสัก 100 กว่าคน ทุกคนยืนล้อมวงกันใต้ร่มเงาของต้นเชอร์รี่ที่ปลูกเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม ค.ศ.1967 ที่โคนต้นมีแผ่นป้ายโลหะจารึกว่า “ปลูกขึ้นเพื่อจดจำต่อเหยื่อที่ฮิโรชิมา” โดยนางมิลลี่ มิลเลอร์ นายกเทศมนตรีเขตแคมเดน ในเวลานั้น และที่พิเศษในวันนี้คณะผู้จัดงานยังได้เอานกกระเรียนกระดาษร้อยเป็นพวงเข้าด้วยพันที่ลำต้นเชอร์รี่

ซึ่งนกกระเรียนนี้ก็คือนกที่ซาดาโกะ ซาซากิ เด็กหญิงที่ป่วยเป็นมะเร็งจากระเบิดปรมาณูที่ฮิโรชิมา พยายามพับให้ครบ 1,000 ตัว เพื่อหวังให้เธอหายป่วย แต่ก่อนเรามักเชื่อว่าเธอพับนกได้แค่ 644 ตัว แต่ความจริงแล้วพ่อของเธอบอกว่าเธอพับได้ถึง 1,400 ตัว

พิธีเริ่มต้นในเวลา 12.00 น. ดร.เคท ฮัดสัน เลขาธิการองค์กรรณรงค์การลดอาวุธนิวเคลียร์ (CND) ซึ่งเธอเป็นนักเคลื่อนไหวแถวหน้าคนหนึ่งในการต่อต้านปรมาณู กล่าวอย่างหนักแน่นว่า พวกเราโศกเศร้ากับการสูญเสียของผู้คนที่ถูกทำลายโดยระเบิดปรมาณู พวกเราขอย้ำว่าโลกควรปราศจากซึ่งอาวุธนิวเคลียร์ เพราะมันคือการฆาตกรรมต่อมนุษย์อย่างเลวร้าย สหรัฐอเมริกายังคงสะสมอาวุธนิวเคลียร์ ในเขตมหาสมุทรแปซิฟิกยังได้รับผลกระทบจากการทดลองอาวุธนิวเคลียร์จนถึงทุกวันนี้ และประเทศมหาอำนาจยังคงสะสมอาวุธนิวเคลียร์ต่อไป กระทั่งอังกฤษเอง ทั้งๆ ที่คนในประเทศต้องการงาน การศึกษา และอื่นๆ

จากนั้น นาเดีย ชาห์ นายกเทศมนตรีของเขตแคมเดน ได้กล่าวเปิดพิธีและชี้ให้คนเห็นความสำคัญของโลกที่ปราศจากสงครามและตระหนักถึงปัญหาของผู้อพยพจากภัยสงครามที่กำลังเป็นปัญหาใหญ่ในโลกนี้

ในขณะที่นายวอลเตอร์ วูลฟ์กัง ในวัย 93 ปี ชาวยิว ผู้ซึ่งเป็นผู้ลี้ภัยสงครามมาจากเยอรมันในสมัยที่ฮิตเลอร์ปกครอง ถือเป็นหัวหอกในการก่อตั้งองค์กรรณรงค์การลดอาวุธนิวเคลียร์ (CND) ได้ประกาศจุดยืนเช่นกันว่าโลกนี้ไม่ควรมีสงครามอีก ต้องไม่มีผู้บริสุทธิ์ที่ได้รับผลกระทบจากสงคราม และโลกต้องการสันติภาพ

พระเจ้าไม่ได้สอนมนุษย์ให้ทำสงคราม

ด้วยความที่ลอนดอนเป็นเมืองที่เคารพความแตกต่างทางศาสนาทำให้งานรำลึกนี้มีตัวแทนจากศาสนาคริสต์ อิสลาม และพุทธ เข้าร่วมด้วย

บาทหลวงโธมัส แมคมาฮอน มุขนายกกิตติคุณแห่งเบรนต์วูด ตัวแทนศาสนาคริสต์ เริ่มต้นด้วยการแสดงความเสียใจต่อความสูญเสียของผู้คนนับแสนที่ตายจากระเบิดที่ฮิโรชิมาและนางาซากิ พวกเขาคือผู้บริสุทธิ์ โลกทุกวันนี้ไม่ควรมีสงครามเกิดขึ้นอีก พระเจ้าไม่ได้สอนให้มนุษย์ต้องทำสงครามต่อกัน เราควรใส่ใจต่อปัญหาสังคม ช่วยเหลือคนที่ไร้บ้าน ไม่มีงานทำ และอื่นๆ นี่คือบทบาทของมนุษย์ที่ควรทำต่อกัน

ถัดมาพระเกียวโร นาเกเซะ จากเจดีย์สันติภาพที่สวนบัตเตอร์ซี ได้กล่าวว่า ขอบคุณที่ทุกคนมางานรำลึกให้กับผู้ที่ล่วงลับ พวกเขาคือผู้บริสุทธิ์ที่ตกเป็นเหยื่อของสงคราม โลกไม่ควรมีสงครามเช่นนี้อีก ขอให้โลกนี้จงมีสันติภาพ หลังจากพูดจบ ได้มีการตีกระดิ่ง และกลอง พร้อมกับบทสวดมนต์ของญี่ปุ่น เพื่ออุทิศให้กับผู้ล่วงลับตามหลักของศาสนาพุทธมหายาน ซึ่งทำให้บรรยากาศขลังขึ้นอย่างมาก

ในขณะที่ โมฮัมเหม็ด โกซบาร์ หัวหน้ามัสยิดสวนฟินส์บิวรี่ ได้ชี้เห็นว่า เงินจำนวนนับพันล้านที่รัฐบาลอังกฤษลงทุนไปกับอาวุธเพื่อปกป้องชาติ ความจริงแล้ว เราควรเอาเงินไปลงทุนกับการสร้างโอกาส การศึกษา การสร้างงาน บทเรียนจากฮิโรชิมาควรสอนให้เราตระหนักว่าจะไม่มีการใช้อาวุธที่น่าอับอายเช่นนี้กับประเทศไหน หรือใครก็ตามอีก สงครามมีแต่ความเสียหายดังเช่นชาวซีเรียนับล้านที่ต้องสูญเสียบ้านจากสงคราม มันไม่ต่างจากกรณีของฮิโรชิมาเลย

เรียกได้ว่า สงครามไม่ใช่เรื่องของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นเรื่องของคนทุกศาสนาและทุกเชื้อชาติ

คานธีและสันติภาพ

ราวบ่ายโมงเศษ ดร.ซาห์ราร์ อาลี รองหัวหน้าพรรคกรีน ได้พูดด้วยเสียงหนักแน่นว่า วันนี้ที่เขามาไม่ได้มาพูดในฐานะของนักการเมือง แต่พูดในฐานะของมนุษย์คนหนึ่ง วันนี้เรามายืนอยู่ในสวนที่เต็มไปด้วยสัญลักษณ์ของสันติภาพและความรุนแรง ในปี 2005 เกิดเหตุก่อการร้ายด้วยระเบิดพลีชีพบนรถบัสโดยมุสลิมหัวรุนแรง แต่ที่กลางสวนเรามีรูปปั้นของมหาตมะ คานธี ซึ่งเป็นบุคคลสำคัญที่หลีกเลี่ยงการใช้ความรุนแรง อันเป็นพลังสำคัญของการเปลี่ยนแปลงสังคม ดังนั้น สงครามจึงไม่ใช่ทางออกที่นำไปสู่สันติภาพแต่อย่างใด

สวนทาวิสต็อกมีชื่ออีกชื่อหนึ่งว่า “สวนสันติภาพ” (the peace park) ทั้งนี้ เพราะที่กลางสวนมีรูปปั้นของท่านมหาตมะ คานธี ผู้นำชาวอินเดียในการกู้เอกราชจากอังกฤษ และเคยเรียนกฎหมายที่มหาวิทยาลัยลอนดอน ซึ่งอยู่ใกล้กับสวนทาวิสต็อกนี้ รูปปั้นนี้มอบให้โดยข้าหลวงใหญ่ของอินเดียเมื่อ ค.ศ.1967 ปั้นโดยเฟรดด้า บริลเลียนต์ ซึ่งได้เลือกปั้นในท่านั่งขัดสมาธิ

รูปปั้นของคานธีได้ทำให้ความหมายของจัตุรัสหรือสวนแห่งนี้เปลี่ยนจากสถานที่พักผ่อนหย่อนใจธรรมดาไปเป็นสวนแห่งสันติภาพ ไม่นานนักจึงได้มีการสร้างสิ่งต่างๆ เพื่อรำลึกถึงสันติภาพตามมา ได้แก่ การปลูกต้นเชอร์รี่ในปีเดียวกันนั้น ต่อมาในปี ค.ศ.1986 สหพันธ์ผู้หญิงชาวยิวได้ปลูกต้นเมเปิล เพื่อเป็นการรำลึกถึงวันสันติภาพนานาชาติ และในปี ค.ศ.1994 ได้มีการนำหินภูเขาไฟแกะสลักข้อความเพื่อเป็นการรำลึกถึงผู้ชายที่ถูกเกณฑ์ทหารไปรบในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง

ก่อนจะปิดงานศิลปินแร็พชื่อ โพเทนต์ วิสเปอร์ ซึ่งเป็นนักร้องที่มีชื่อเสียงในการแต่งเพลงต่อต้านสงครามและเรียกร้องความถูกต้องในสังคม มีแร็พท่อนหนึ่งของเขาที่น่าประทับใจคือ “เลือกสันติภาพสิ ไม่ใช่ความรุนแรง เลือกสังคมสงเคราะห์สิ ไม่ใช่สงคราม (welfare not warfare) จงเลือกคน จงเลือกอนาคต”

ไทยเองเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับผลกระทบจากสงครามโลกครั้งที่สอง อาจไม่รุนแรงเท่ากับญี่ปุ่น และท้ายที่สุดเราได้กลับไปยืนข้างฝ่ายสัมพันธมิตรได้สำเร็จ ทำให้รอดพ้นจากประเทศผู้แพ้สงคราม กลายเป็นผู้ชนะสงคราม แน่นอนว่าไทยไม่ได้เกี่ยวข้องกับการทิ้งระเบิดในครั้งนั้น แต่ระเบิดปรมาณูทั้งสองลูกก็ได้ทิ้งบาดแผล ความกลัว และความหวาดระแวงให้กับทั้งคนไทยและคนทั่วโลกมาจนถึงทุกวันนี้

ความรุนแรง ความเกลียดชัง ไม่ใช่ทางออกของผู้เจริญแล้ว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image