ครู มิติแห่งความหวัง ความท้าทายกับปรากฏการณ์วิถีใหม่

ครู มิติแห่งความหวัง ความท้าทายกับปรากฏการณ์วิถีใหม่

เมื่อกล่าวถึงคำว่า “ครู” กับสังคมไทยจะพบว่าล้วนแล้วแต่มีความหมายไปในมิติที่หลากหลาย แต่หากมองในมุมของสังคมการศึกษา ครูหมายถึงผู้ที่มีหน้าที่ในการเป็นต้นแบบและถ่ายทอดองค์ความรู้ ทั้งด้านการเรียนและการดำเนินชีวิต หรือในนิยามแห่งความหมายที่เหล่านักการศึกษา นักวิชาการได้กำหนดไว้อย่างเป็นทางการ

ครูในมิติที่เกี่ยวข้องกับการสร้างคนมีมาตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย กรุงศรีอยุธยา กรุงธนบุรี จนล่วงสู่รัตนโกสินทร์ ครูกับบทบาทหน้าที่ในแต่ละยุคแต่ละสมัยจะมีความแตกต่างกันไปตามบริบทของห้วงเวลา ในขณะเดียวกันเมื่อส่องไปดูวิวัฒนาการของครูหรือผู้ประกอบวิชาชีพครู ที่เปลี่ยนผ่านมาจนถึงบริบทของสังคมแห่งวิถีใหม่ ภายใต้การเรียนการสอนในสถานศึกษาจะพบว่าวิชาชีพนี้มีการเริ่มต้นอย่างเป็นทางการเมื่อรูปแบบการศึกษาจากตะวันตกเผยแพร่เข้าสู่สังคมไทย

ด้วยสายพระเนตรที่ยาวไกลตลอดจนพระราชปณิธานหรือพระราชดำริของพระพระมหากษัตริย์ไทยในแต่ละยุคแต่ละสมัย ที่ทรงเห็นความสำคัญในการสร้างคนและสร้างชาติ โดยอาศัยมิติของการศึกษามาเป็นสื่อกลาง “ครู” จึงถือได้ว่าเป็นหนึ่งในฟันเฟืองที่สำคัญและความจำเป็นยิ่งสำหรับการพัฒนาสังคมและประเทศให้ทันกับนานาประเทศที่เจริญแล้ว

วิชาชีพครูในรัชสมัยของในหลวงรัชกาลที่ 9 และรัชกาลที่ 10 ถือได้ว่าวิชาชีพนี้เป็นหนึ่งในวิชาชีพที่ได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนจนทำให้เกิดการยอมรับมีผู้สนใจเดินเข้าสู่เส้นทางนี้กันอย่างล้นเหลือ แต่ในขณะเดียวกันด้วยการเปลี่ยนแปลงของโลกที่ไม่เคยหยุดนิ่งรูปแบบการพัฒนาหรือการสร้างครูในรั้วสถาบันการศึกษาที่เริ่มต้นในโรงเรียนฝึกหัดครูจนสู่สถาบันอุดมศึกษาดังเช่นทุกวันนี้เพื่อผลิตนักศึกษาหรือบัณฑิตที่จะออกไปรับใช้สังคมก็ต้องมีการปรับระบบและแนวทางให้เหมาะหรือสอดคล้องกับบริบทในแต่ละห้วงเวลาเช่นเดียวกัน

Advertisement

วันนี้ถือได้ว่าเป็นความโชคดีของสังคมไทยที่คนรุ่นใหม่ต่างสนใจที่จะเข้ารับการศึกษาในวิชาชีพครูมากขึ้นตามลำดับ ทั้งนี้ข้อมูลในเชิงประจักษ์จะพบว่าการรับสมัครนักศึกษาในแต่ละปีจะมีตัวเลขผู้สมัครสูงเป็นลำดับต้นๆ ในขณะที่สถาบันการศึกษาที่มีคณะหรือหลักสูตรสำหรับการจัดการศึกษาทางด้านครุศาสตร์ หรือศึกษาศาสตร์ ต่างมีเป้าประสงค์และแนวทางในการได้มาซึ่งตัวป้อนหรือผู้เรียนที่สอดคล้อง และเป็นไปในแนวทางเดียวกัน ทั้งนี้ก็เพื่อให้ผู้ที่จะเดินเข้าสู่วิชาชีพนี้จะได้เป็นครู หรือต้นแบบ ที่พึงประสงค์ของสังคมอย่างแท้จริง

อย่างไรก็ตามจากปรากฏการณ์การก้าวสู่โลกแห่งวิถีใหม่จำเป็นอยู่เองที่สถาบันการศึกษาซึ่งรับผิดชอบในการบ่มเพาะและสร้างครูพันธุ์ใหม่ ตลอดจนผู้เรียนจะต้องปรับกระบวนทรรศน์และรูปแบบเพื่อให้สามารถนำองค์ความรู้ตลอดจนนวัตกรรมใหม่ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาหรือรังสรรค์ทุนมนุษย์ที่จะเติบใหญ่และรับผิดชอบต่อสังคมในอนาคต

เมื่อกล่าวถึงการปะกอบวิชาชีพครูในยุคของการเปลี่ยนแปลงและการแข่งขันของโลกที่นับวันจะสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ถือได้ว่าผู้ที่อยู่ในวิชาชีพนี้จะต้องเผชิญกับโจทย์และความท้าทายที่หลากหลาย เหนือสิ่งอื่นใดเมื่อวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้ามาเกี่ยวข้องและเป็นปัจจัยที่สำคัญสำหรับการดำเนินชีวิตของคนในสังคมด้วยแล้ว ครูยิ่งต้องพัฒนาและยกระดับตนเองให้ก้าวทันนวัตกรรมและเทคโนโลยี ผสมผสานกับองค์ความรู้ด้านเศรษฐกิจสังคมและอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

Advertisement

หนึ่งในการบ้านหรือความท้าทายที่สะท้อนให้ครูต้องเดินเข้าสู่ครูแห่งโลกในอนาคต เพื่อให้นักเรียนเห็นว่าครูของเขาไม่ใช่ผู้ซึ่งมีแค่จิตวิญญาณหรือตัวตนของความเป็นครูภายใต้จรรยาบรรณที่กำหนดเท่านั้น แต่ครูของเขาคืออเวนเจอร์ผู้ที่พร้อมไปด้วยขุมกำลังแห่งองค์ความรู้และนวัตกรรมที่สามารถเสริมเติมเต็มให้ศิษย์ก้าวไปสู่ความเป็นคนดี คนเก่งของประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล

ในขณะเดียวกันผู้ที่ชื่อว่าครู ใช่ว่าจะเป็นผู้ที่พร้อมไปด้วยองค์ความรู้และประสบการณ์เท่านั้น คุณธรรม จริยธรรม หรือความรับผิดชอบต่อหน้าที่ถือได้ว่ามีความสำคัญและจำเป็นยิ่ง ซึ่งในประเด็นนี้สอดคล้องกับพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระผู้ทรงเป็นครูแห่งแผ่นดินที่พระราชทานแก่ผู้เข้าร่วมงานในวันการศึกษาสัมพันธ์ ณ วิทยาลัยวิชาการศึกษาประสานมิตร เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2512 ความตอนหนึ่งว่า “ผู้ที่เป็นครูจะต้องนึกถึงความรับผิดชอบ เพราะถ้าเป็นครูแล้วลูกศิษย์จะต้องนับถือได้ ต้องวางตัวให้เหมาะสมกับที่เป็นครู ไม่ใช่วางตัวอย่างหนึ่ง แล้วมาสอนอีกอย่างหนึ่ง”

วันนี้สังคมไทยกำลังเป็นหนึ่งในสังคมโลกที่จะก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ เมื่อช่วงวัยของคนรุ่นเก่าจะต้องถูกเปลี่ยนผ่านโดยเฉพาะการส่งต่อบทบาทหน้าที่ต่างๆ ให้คนรุ่นใหม่เข้ารับไม้ต่อในอนาคตด้วยแล้ว จำเป็นอยู่เองที่คนรุ่นเก่าจะต้องวางรากฐานหรือแนวทางที่เหมาะกับบริบทของสังคมและวัฒนธรรมไทยให้กับคนรุ่นใหม่ต่อยอดและสืบสาน แต่เมื่อมองไปที่ปรากฏการณ์บางมิติของสังคม ณ ห้วงเวลานี้ จะเห็นได้ว่าคนรุ่นใหม่ในโลกแห่งดิจิทัลส่วนหนึ่งกำลังมีแนวคิดที่แตกต่างไปจากสังคมที่คนรุ่นเก่าได้รังสรรค์

อย่างไรก็ตามต่อกรณีแนวคิดและความต้องการเพื่อการเปลี่ยนแปลงในบางส่วนของสังคมตามเป้าประสงค์ของคนรุ่นใหม่ (บางกลุ่ม) ผู้ที่จะเข้ามามีบทบาทหรือองค์รวมแห่งการตั้งต้นสำหรับส่องแสงแห่งปัญญาให้เด็กและเยาวชน ครูคงจะเป็นหนึ่งในต้นทางอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และที่สำคัญครูก็คงจะต้องหันกลับถามตนเองและเพื่อนผู้ร่วมวิชาชีพว่า จากนี้ไปจะต้องมีการทบทวนสาระสำคัญสำหรับความเป็นครูมากน้อยแค่ไหนและอย่างไร

จากปรากฏการณ์การก้าวสู่โลกแห่งวิถีใหม่จึงมักจะมีคำถามเกิดขึ้นบ่อยครั้งทั้งในสังคมชาวบ้านตลอดวงเสวนาทางวิชาการอยูบ่อยครั้งว่า การประกอบวิชาชีพครูวันนี้ยากหรือง่าย ซึ่งจากคำถามหรือโจทย์ดังกล่าวสอดคล้องกับพระราชดำรัสของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในโอกาสเสด็จฯไปทรงเป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ครั้งที่ 3 ความตอนหนึ่งว่า

“การเป็นครูนั้นไม่ง่าย การเป็นครูดีเด่นยิ่งไม่ง่าย เพราะการเป็นครูที่ยอดเยี่ยมตองใช้ความทุ่มเทเสียสละ ข้าพเจ้าก็เป็นครูมีความตั้งใจอยากเป็นครูตั้งแต่เด็กและเป็นครูมา 30 ปีแล้ว จึงเข้าใจว่าการเป็นครูที่ดีเด่นมีความยากอย่างไร การเป็นครูมีความรับผิดชอบหลายอย่างเพราะนอกจากการศึกษาแล้วยังต้องเตรียมเด็กปูอนาคต พวกเราในฐานะครูจะต้องให้ความรู้บ่มเพาะให้ความรักและเคารพกับเด็กของเราเพื่อให้เขาเชื่อมั่นในตัวเอง และเป็นคนดีเท่าที่เขาจะเป็นได้”

พร้อมกันนั้นพระองค์ยังพระราชทานแนวความคิดเพิ่มเติมว่า “จากประสบการณ์ของข้าพเจ้าที่ทำในเรื่องพัฒนาการศึกษามากกว่า 40 ปีจึงเข้าใจในบทบาทของครูที่มีความสำคัญมากต่อชีวิตเด็ก ครูมีบทบาทหลายอย่างโดยเฉพาะครูที่อยู่ในท้องถิ่นทุรกันดาร เช่น ครูเป็นทั้งพ่อเป็นทั้งแม่ หมอ พยาบาล คนสวน ช่างไม้ ช่างไฟ แม้แต่ผู้ให้คำแนะนำกับชุมชน บางครั้งก็เป็นผู้ไกล่เกลี่ยในชุมชน ข้าพเจ้าจึงให้การสนับสนุนเพื่อให้ครูทำงานอย่างเต็มที่เพื่อให้ครูได้ช่วยเด็กและชุมชน…” (ไทยรัฐ 23 ตุลาคม 2563 หน้า 8)

เมื่อกล่าวถึงความสำคัญของผู้ประกอบวิชาชีพครูปีนี้เป็นที่น่าเสียดายที่สังคมไทยกำลังเผชิญกับปรากฏการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 การจัดงานหรือกิจกรรมเนื่องในวันครูแห่งชาติทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคต้องปรับรูปแบบและไม่สามารถทำดังเช่นที่ผ่านมาได้ แต่อย่างไรก็ตามก็ขอให้ครูทั้งมวลที่กระจายอยู่ทั่วประเทศจงภาคภูมิใจในวิชาชีพและจงมุ่งมั่นในการเดินหน้าสำหรับการพัฒนาทุนมนุษย์ ซึ่งเป็นทรัพยากรของชาติให้พร้อมกับการเปลี่ยนแปลงและการแข่งขันดังปณิธานและองค์ความรู้ที่ได้ศึกษาเล่าเรียนมา

เหนือสิ่งอื่นใดวันนี้ถึงแม้โลกและสังคมจะเปลี่ยนแปลงเข้าสู่วิถีใหม่ภายใต้บริบทของดิจิทัลและปัญหานานาประการก็ตาม หากครูไทยตระหนักและเข้าใจในบทบาทหน้าที่ของความเป็นครูและจรรยาบรรณวิชาชีพอย่างแท้จริงแล้ว เชื่อว่าผู้ประกอบวิชาชีพนี้จะเป็นเรือทองประคองสังคม หรือหนึ่งในมิติของสะพานเชื่อมที่สำคัญสำหรับการตอบโจทย์ และเป็นความหวังให้กับสังคมและประเทศชาติได้อย่างยั่งยืนสืบไป

รัฐพงศ์ บุญญานุวัตร
ศูนย์นวัตกรรมการพัฒนาทุนมนุษย์
มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image