คุณภาพคือความอยู่รอด ตอน คุณภาพชีวิต…อยู่ที่ใคร?

คุณภาพคือความอยู่รอด ตอน คุณภาพชีวิต...อยู่ที่ใคร?

ทุกวันนี้ เราทุกคนต่างต้องการมี “คุณภาพชีวิต” ที่ดีขึ้น

ทั้งๆ ที่เราอาจจะไม่รู้ (อย่างชัดเจน) ว่า “คุณภาพชีวิตที่ดี” คืออะไร แต่เรามักจะยึดเอาคำว่า “คุณภาพ” เป็นหลัก จึงเข้าใจกันเองว่า อะไรที่มี “คุณภาพ” สิ่งนั้นมักจะเป็นของดีและมีราคาเสมอ

แม้ว่า “คุณภาพชีวิต” (Quality of Life) จะมีความหมายแตกต่างกันไปตามการรับรู้และความเข้าใจของแต่ละคน

แต่ก็พอจะสรุปได้ว่า “คุณภาพชีวิต” มักจะหมายถึง “การกินดีอยู่ดี” ซึ่งครอบคลุมถึงการมีรายได้ที่มั่นคง มีการงานที่ดี มีการศึกษาดี มีชีวิตครอบครัวที่อบอุ่น มีสุขภาพแข็งแรง มีเสรีภาพ และมีความปลอดภัยในการดำรงชีวิต เป็นต้น

Advertisement

แต่ผู้คนจำนวนไม่น้อยมักจะเอา “คุณภาพชีวิต” ไปผูกติดกับเรื่องของ “การ (มี) เงิน” หลายคนเชื่อว่าเมื่อมีรายได้มากขึ้น คุณภาพชีวิตก็จะดีขึ้น เพราะสามารถจับจ่ายใช้สอยได้มากขึ้น มีบ้าน มีเสื้อผ้า มีสิ่งอำนวยความสะดวก มีการศึกษาสูง ไปทานอาหารดีๆ ได้ ไปท่องเที่ยวได้ หาหมอดีๆ ได้ และอื่นๆ อีกมากมาย ที่ทำให้ชีวิตมีความสะดวกสบายขึ้น มีความสุขมากขึ้น และได้รับการยอมรับจากสังคมมากขึ้น ในขณะที่อีกหลายคนมองว่า การมีรายได้ดีต้องแลกกับงานที่หนักขึ้น เครียดขึ้น ทำให้เวลาที่อยู่กับครอบครัวน้อยลง อันเป็นเหตุให้คุณภาพชีวิตลดลง

เรื่องของคุณภาพชีวิตที่ว่านี้ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้ให้ความหมายของ “คุณภาพชีวิต” เมื่อ พ.ศ.2540 ว่า “คุณภาพชีวิต คือ การดำรงชีวิตของมนุษย์ในระดับที่เหมาะสมตามความจำเป็นพื้นฐานในสังคมหนึ่ง ในช่วงเวลาหนึ่งๆ องค์ประกอบของความเป็นพื้นฐานที่เหมาะสม อย่างน้อยก็น่าจะมีอาหารที่เพียงพอ มีเครื่องนุ่งห่ม มีที่อยู่อาศัยที่เหมาะสม มีสุขภาพกายและจิตใจดี ได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐาน มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน รวมทั้งได้รับการบริการพื้นฐานที่จำเป็น ทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม เพื่อประกอบการดำรงชีพอย่างยุติธรรม”

ส่วน UNESCO ได้ให้ความหมายของ “คุณภาพชีวิต” เมื่อ ค.ศ.1981 ว่า “คุณภาพชีวิตเป็นความรู้สึกของการอยู่อย่างพอใจต่อองค์ประกอบต่างๆ ของชีวิตที่มีส่วนสำคัญมากที่สุดของบุคคล”

Advertisement

โดยสรุปแล้ว “คุณภาพชีวิต” หมายถึง การดำรงชีวิตอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี มีความสุข มีความสมบูรณ์ ทั้งร่างกายและจิตใจ สามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมและสังคมที่ตนอยู่ได้อย่างดี ขณะเดียวกันก็สามารถเผชิญปัญหาต่างๆ ได้อย่างเหมาะสม รวมทั้งสามารถใช้ศักยภาพส่วนบุคคลสร้างสรรค์พัฒนาตนเองและสังคมให้อยู่ร่วมกันได้อย่างสันติสุข

ทั้งหมดทั้งปวงนี้ ผมเห็นว่า “คุณภาพชีวิต” สามารถแยกได้เป็น 2 ลักษณะ ลักษณะแรก คือ คุณภาพชีวิต (ภายใน) อันเกี่ยวกับการดำรงชีวิตส่วนบุคคลและครอบครัว ส่วนลักษณะที่สอง คือ คุณภาพชีวิต (ภายนอก) อันเกี่ยวกับการทำงาน (Quality of Work Life) และการดำรงชีวิตในสังคม

คุณภาพชีวิตส่วนบุคคล เกิดจาก “การเลือกและการตัดสินใจ” ของตัวเราเองที่เป็นเจ้าของชีวิต ส่วนคุณภาพชีวิตในการทำงานและสังคม มักจะเกิดจาก “การจัดสรรให้” หรือการบริหารจัดการให้เกิดขึ้นโดยเจ้าของกิจการหรือผู้บริหารจัดการโรงงาน (สำนักงาน)

ทุกวันนี้ แม้เราจะสามารถกำหนดคุณภาพชีวิตส่วนบุคคลได้ แต่เรื่องของคุณภาพชีวิตในการทำงานและสังคม (ซึ่งมีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตส่วนบุคคล) นั้น เราคงจะกำหนดเองไม่ได้ (ง่ายๆ) ครับผม !

วิฑูรย์ สิมะโชคดี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image