ความดี และคนดี

ผมชอบเพลง “หนึ่งในร้อย” โดยเฉพาะชอบเนื้อเพลงที่ขอยกมาดังนี้

“ความดี คนเรานี่ดีใด

ดีน้ำใจที่ให้แก่คนทั้งปวง

อภัย รู้แต่ให้ไปไม่หวง

Advertisement

เจ็บทรวง หน่วงใจให้รู้ทน”

วลี “น้ำใจที่ให้แก่คนทั้งปวง” ทำให้คิดถึงการทูลถามพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขณะทรงประทับในหมู่ประชาชน เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2563 โดยผู้ข่าวซี เอ็น เอ็น โจนาธาน มิลเลอร์ถามว่า “คนเหล่านี้จงรักภักดีต่อพระองค์ ทว่า พระองค์จะมีพระราชดำรัสอย่างไรต่อผู้ชุมนุมที่ออกมาบนท้องถนน เรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันฯ” พระองค์ทรงมีพระราชดำรัสตอบว่า “ข้าพเจ้าไม่มีความคิดเห็น เรารักพวกเขาทั้งหมดเช่นเดียวกัน (we love them all the same)” โดยเฉพาะวลีหลังนี้ มีดำรัสซ้ำกันถึงสามครั้ง เมื่อนักข่าวทูลถามต่อไปว่า “มีความเป็นไปได้ไหมที่จะมีการประนีประนอมกัน” มีพระราชดำรัสตอบว่า “ประเทศไทยเป็นดินแดนแห่งการประนีประนอม” ซึ่งมีความสอดคล้องกับวลีถัดไปของเนื้อร้องคือ “อภัย รู้แต่ให้ไปไม่หวง” ผมคิดว่าบทเพลงนี้ตอบคำถามที่เป็นวลีขึ้นต้น “คนเรานี่ดีใด” ได้อย่างชัดเจนทีเดียว

“ความดี” เป็นหัวข้อการถกเถียงกันมาช้านานในหมู่นักปรัชญา พลาโต (พ.ศ. 116-196) มีความเห็นว่า “นักการเมืองที่ดี ต้องมีความรู้ทั้งที่เป็นวิทยาศาสตร์และปรัชญาการเมือง … หากเชื่อพวกโซฟิสต์ ความดีคือความพึงพอใจของแต่ละคน ก็จะขาดมาตรฐานที่ใช้กำหนดว่าอะไรดี อะไรชั่ว ทำให้เราตัดสินความดีไม่ตรงกัน ดังนั้น ความดีควรมีรากฐานบนคุณลักษณะอันเป็นสากลของมนุษย์ นั่นคือเหตุผล คุณธรรมของสังคมจึงได้แก่ความดีที่ประกอบด้วยเหตุผล รัฐที่ดีมีการปกครองด้วยเหตุผล รัฐที่ดีรองลงมาปกครองด้วยกฎหมาย”

Advertisement

อริสโตเติล (พ.ศ. 160-222) ตั้งคำถามว่า เราควรมีชีวิตอยู่อย่างไร แล้วก็ตอบว่ามนุษย์ต้องทำให้ชีวิตเบิกบาน ใช้เวลาร่วมกับมิตรสหาย หากอยู่เพียงลำพังก็ไม่อาจบอกได้ว่าเป็นชีวิตที่ดี นอกจากความเบิกบานแล้ว อริสโตเติลยังเชื่อว่ามนุษย์แต่ละคนควรเลือกที่จะดำรงชีวิตที่เหมาะสมตามสภาพของตน พัฒนาลักษณะนิสัยที่จะควบคุมตนอย่างเหมาะสม ในเวลาที่เหมาะสม นั่นคือมีความพอดี เขาไม่คิดว่าความโกรธเป็นสิ่งบกพร่อง ส่วนความอดทนอดกลั้นเป็นสิ่งที่ดีงาม ทว่า เราควรรู้จักโกรธคนที่ควรโกรธให้ถูกเวลา หากไม่มีความโกรธ มนุษย์คงไม่ลุกขึ้นมาต่อสู้เรียกร้องเพื่อสิทธิของตัวเอง หรือเพื่อความชอบธรรมอื่น ๆ อริสโตเติลเห็นว่ามนุษย์เป็นสัตว์สังคม การเมืองมีวัตถุประสงค์ให้สังคมสามารถสร้างระบบคุณธรรมและความเป็นเลิศทางปัญญา มีพื้นฐานบนความเสมอภาคของพลเมืองและการมีส่วนร่วม ตลอดจนช่วยให้เกิดองค์กรที่เอื้อต่อการชอบมีสังคมของมนุษย์

ในยุคสมัยที่ศาสนาคริสต์เริ่มเติบโตในยุโรป นักบุญออกัสติน (พ.ศ. 897-973) ได้ตั้งคำถามที่ท้าทายให้ชาวคริสต์ตอบหลายข้อ เช่น เวลาพระเจ้าสร้างโลก พระองค์มี “รูปแบบ” อยู่ในใจหรือไม่ พระเจ้าตัดสินใจได้อย่างไรว่ามนุษย์คนไหนควรรอดพ้นจากนรก ถ้าทุกอย่างเป็นไปตามน้ำพระทัยของพระเจ้า มนุษย์จะมีเจตจำนงเสรีได้อย่างไร จริงหรือที่ประวัติศาสตร์คือการต่อสู้ระหว่าง “อาณาจักรของพระเจ้า” และ “อาณาจักรทางโลก” จริงหรือที่พระเจ้ากำหนดประวัติศาสตร์ของมนุษย์ไว้หมดแล้ว จริงหรือที่หลักศรัทธาในศาสนาไม่ขัดกับหลักเหตุผล เป็นต้น แต่สำหรับบราเดอร์ผู้มีพระคุณสั่งสอนผมที่โรงเรียนอัสสัมชัญ ดูเหมือนพวกท่านจะไม่มีข้อสงสัย ท่านสอนว่าความดีคือการทำตามคำสอนของพระเจ้าและการปฏิบัติศาสนกิจ เวลาเข้าห้องประชุมใหญ่ทุกสัปดาห์ นักเรียนจะเห็นคำสอนเขียนด้วยตัวอักษรตัวโตว่า “จงตื่นเถิดเปิดตาหาความรู้ เรียนคำครูคำพระเจ้าเฝ้าขยัน จะอุดมสมบัติปัจจุบัน แต่สวรรค์นั้นดีกว่าเราอย่าลืม” ที่ผมเติบโตและเอาตัวรอดมาได้ก็อาศัยคำสอนที่กระจ่างชัดเช่นนี้ แต่ส่วนที่ถเลถไหลออกนอกเส้นทางบ่อยครั้ง ก็เพราะไม่ทำตามคำสอนนั่นเอง

ขออ้างนักปราชญ์อีกสักคนในยุคสมัยที่ไม่นานนัก นั่นคือ แม็กซ์ เวเบอร์ (พ.ศ. 2407-2463) ผมขอสรุปความคิดของท่านโดยย่อดังนี้ เวเบอร์แบ่งพฤติกรรมของมนุษย์เป็นพฤติกรรม (1) ด้วยเหตุผลเพื่อบรรลุเป้าหมาย (2) ด้วยเหตุผลเพื่อคุณค่า (3) ด้วยอารมณ์ (4) โดยประเพณีนิยม ความสัมพันธ์เชิงสังคมอาจแบ่งเป็น (1) เชิงขัดแย้ง (2) เชิงชุมชน (3) เชิงภาคี ส่วนความสำเร็จในการสะสมโภคสมบัติอันเป็นหลักของระบบทุนนิยมก็ขึ้นอยู่กับระบบคุณค่าและความเชื่อทางจิตวิญญาณ ตรงนี้แหละที่ช่วยให้เห็นว่า ทุนนิยมอาจจะดี หรือไม่ดี ขึ้นอยู่กับว่าถูกกำกับโดยระบบคุณค่าที่เห็นมนุษย์เป็นมนุษย์หรือไม่

ขอกลับมาเรื่องของบ้านเราบ้าง ผมชอบคำสอนของท่านพุทธทาสที่เกี่ยวกับความดี คำสอนแรกมีชื่อว่า ดีให้ถูกต้อง ซึ่งมีข้อความดังนี้ “คำว่า “ดี” ในภาษาไทยมีความหมายสับปลับ กำกวม ไม่เหมือนคำว่า “กุสล” ในภาษาบาลี คำว่า “กุศล” หมายถึงฉลาด มีมูลมาจากปัญญา (มิได้มาจากศรัทธาเหมือนคำว่า “บุญ” หรือ”ดี”) ดังนั้น กุศลจึงเป็นสิ่งที่เมาไม่ได้ ส่วน ดี หรือ บุญ นั้นเมาได้” เราจึงเห็นคนเมาความดี คนแข่งเอาดีใส่ตนกันมากมายในสังคมการเมืองไทยมาเนิ่นนาน ส่วนอีกคำสอนหนึ่งที่คงจะคุ้นกันมากกว่าคือคำสอนให้มองคนในแง่ดี ท่านพุทธทาสเขียนเป็นกลอนไว้ดังนี้

เขามีส่วน เลวบ้าง ช่างหัวเขา

จงเลือกเอา ส่วนที่ดี เขามีอยู่

เป็นประโยชน์ โลกบ้าง ยังน่าดู

ส่วนที่ชั่ว อย่าไปรู้ ของเขาเลย

จะหาคนมีดี โดยส่วนเดียว

อย่ามัวเที่ยว ค้นหา สหายแอ๋ย

เหมือนเที่ยวหา หนวดเต่า ตายเปล่าเอย

ฝึกให้เคย มองแต่ดี มีคุณจริง

ผมเปิดวิกิพีเดียเกี่ยวกับหลักธรรมที่ใช้ในการปกครอง ก็ย่อมพบทศพิธราชธรรม หรือจริยวัตร 10 ประการที่พระเจ้าแผ่นดินทรงประพฤติเป็นหลักธรรม เพื่อยังประโยชน์สุขให้เกิดแก่ประชาชน แต่อันที่จริง ในยุคสมัยแห่งประชาธิปไตยนี้ ผู้ปกครองที่ควรมาจากการเลือกตั้ง ตลอดจนผู้บริหารที่ต้องปกครองให้คุณให้โทษแก่ผู้ร่วมงานในองค์กรของตน ก็น่าจะนำจริยวัตร 10 ประการนี้ไปประยุกต์ใช้ได้เช่นกัน จริยวัตร 10 ประการนี้ได้แก่ 1. การให้ (ทาน) 2. การประพฤติที่ดีงามทั้ง กาย วาจา ใจ (ศีล) 3. การบริจาค 4. ความซื่อตรง 5. ความอ่อนโยน 6. ความเพียร (ตปะ) 7. ความไม่โกรธ 8. การไม่เบียดเบียน (อวิหิงสา) 9. ความอดทนอดกลั้น (ขันติ) 10. ความเที่ยงธรรม

เมื่อพระเจ้าแผ่นดินเป็นผู้ทรงธรรม ธรรมย่อมคุ้มครองพระองค์ ผู้ปกครอง นักการเมืองก็เช่นกัน แต่คราวนี้ กลอนของท่านพุทธทาสบอกเราว่า อย่ามัวหาคนมีดีเพียงส่วนเดียว หาจนตายก็ไม่เจอ ผมจึงขอเสนออย่างนี้จะได้ไหม ประการแรกเราควรแยกบุคคลจากการกระทำของเขา ถึงอย่างไรเราก็ไม่ควรเกลียดผู้ปกครองที่มีจริยวัตรไม่ดีงาม หากควรวิจารณ์หรือปฏิเสธความไม่ดีงามเหล่านั้น อนึ่ง เราควรชั่งน้ำหนักดู ถ้าส่วนดีเขามีมากกว่าส่วนไม่ดี ก็ไม่ควรโค่นล้มหรือขับไล่ไสส่งให้พ้นจากอำนาจถ่ายเดียว หากควรหาทางให้เขาแก้ไขส่วนไม่ดี ให้เขายอมรับการเปลี่ยนแปลง ถ้าเขาทำไม่ได้หรือไม่อยากทำ จึงเพิ่มการปฏิบัติการไร้ความรุนแรงเพื่อให้เขายอมลงจากอำนาจ โดยใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์ในการแจกแจงเรื่องที่ควรมีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งต้องอาศัยการสร้างประสบการณ์ซึ่งกันและกันและอาศัยเวลา

ผมเคยไปเรียนหนังสือที่ฝรั่งเศส และสังเกตว่าจริยธรรมทางเพศของผู้นำทางการเมืองของฝรั่งเศสเข้มงวดน้อยกว่าอังกฤษ ประธานาธิบดีบางคนมีบุตรนอกสมรส บางคน “แอบ” นั่งมอเตอร์ไซค์ไปพบคู่รักกลางดึก บางคนหว่านเสน่ห์ไปทั่ว ในเรื่องเหล่านี้ สื่อมวลชนเสนอข่าวเพียงหอมปากหอมคอ พลเมืองก็ไม่ถือว่าเป็นเรื่องอื้อฉาวนัก ผมเดาว่าคนฝรั่งเศสถือเรื่องเพศเป็นเรื่องธรรมดาและเป็นเรื่องส่วนตัว และเราควรเคารพความเป็นส่วนตัวของทุกคน

ผมชอบคำสอนของท่านพุทธทาสที่เน้นเรื่องของกุศล (ฉลาด) ถ้าผู้นำมีเรื่องที่เป็นอกุศลด้วย โดยเฉพาะเรื่องอกุศลส่วนตัว ก็ควรชั่งน้ำหนักกับเรื่องที่เป็นกุศล หากผู้นำคนนั้นมี “น้ำใจที่ให้แก่คนทั้งปวง” ก็ถือเป็นกุศลและเป็นความดีดังที่บทเพลง “หนึ่งในร้อย” กล่าวถึง

โคทม อารียา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image