สัพเพเหระคดี : นช.ชนะคดีผบ.เรือนจำ

เช้าตรู่ของวันหนึ่ง ผู้ช่วยพัศดี เจ้าหน้าที่เวรรักษาการณ์ทุกแดน บุกเข้าจู่โจมตรวจค้นห้องนอนผู้ต้องขังห้องหนึ่ง ของแดนหนึ่ง เรือนจำแห่งหนึ่ง ผลการตรวจค้นพบโทรศัพท์เคลื่อนที่เครื่องหนึ่ง พร้อมหูฟังอันหนึ่ง
ซ่อนอยู่ในถุงผ้าที่แขวนไว้ที่ลูกกรงเหล็กด้านหลังห้องนอนของผู้ต้องขัง

ครั้นเมื่อสอบสวน นช.วิชัย รับว่าเป็นเจ้าของโทรศัพท์นั้น โดยซื้อต่อมาจากผู้ต้องขังที่ได้รับการปล่อยตัวพ้นโทษไปเมื่อ 2 เดือนก่อนในราคา 1 แสนบาท ตรวจสอบในโทรศัพท์พบรูปของ นช.โผงและผู้ต้องขังอื่นรวม
8 ราย ร่วมกันถ่ายรูปที่บริเวณห้องน้ำ มีรูปของ นช.โผงอยู่ 2 รูป เป็นรูปที่นักโทษแดนอื่นใช้โทรศัพท์เครื่องอื่นถ่าย แล้วส่งมายังโทรศัพท์เครื่องนี้

ผู้บัญชาการเรือนจำเห็นว่า การกระทำของ นช.โผงและ นช.กลุ่มนั้นทั้ง 8 คน เป็นความผิดทางวินัยผู้ต้องขัง จึงมีคำสั่งลงโทษทางวินัย ฐานร่วมกันมีสิ่งของต้องห้ามไว้ในเรือนจำ

นช.โผงถูกลดชั้นจากนักโทษเด็ดขาดชั้นเยี่ยม มาเป็นชั้นเลวมาก ตัดการอนุญาตให้ได้รับการเยี่ยมเยียนหรือติดต่อบุคคลภายนอก 2 เดือน และตัดจำนวนวันที่ได้รับการลดวันต้องโทษจำคุกมีกำหนด 30 วัน

Advertisement

นช.โผงมีหนังสืออุทธรณ์ แต่ผู้บัญชาการเรือนจำพิจารณาให้ยกอุทธรณ์

นช.โผงได้ยื่นฟ้องผู้บัญชาการเรือนจำและอธิบดีกรมราชทัณฑ์เป็นผู้ถูกฟ้องคดีต่อศาลปกครองชั้นต้น ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเพิกถอนคำสั่งเรือนจำซึ่งลงโทษทางวินัยนั้น

ผู้บัญชาการเรือนจำและอธิบดีกรมราชทัณฑ์ที่ถูกฟ้องคดีให้การต่อสู้ขอให้ยกฟ้อง

Advertisement

ศาลปกครองชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง!

นช.โผงอุทธรณ์คดี

ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า แม้โทรศัพท์เคลื่อนที่เป็นของต้องห้าม มิให้นำเข้ามาหรือเก็บรักษาไว้ในเรือนจำ แต่การที่ นช.โผงสมัครใจให้ถ่ายภาพโดยโทรศัพท์ดังกล่าว ยังรับฟังเป็นพยานหลักฐานไม่ได้ว่า เป็นเจ้าของหรือผู้ครอบครองหรือได้ร่วมกับ นช.วิชัยมีหรือเก็บรักษาโทรศัพท์เคลื่อนที่ไว้ในเรือนจำ และแม้ว่า นช.โผงสมัครใจยินยอมให้บุคคลอื่นใช้โทรศัพท์ถ่ายภาพตนเอง แต่ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า นช.โผงเป็นผู้ใช้โทรศัพท์ในการถ่ายภาพหรือเพื่อการอื่น จึงไม่อาจถือได้ว่าเป็นการกระทำอันเป็นการร่วมกันมีหรือสนับสนุนให้ นช.วิชัยมีโทรศัพท์ไว้ในเรือนจำตามระเบียบของกรมราชทัณฑ์ว่าด้วยการเลื่อนและลดชั้นนักโทษเด็ดขาด พ.ศ.2556

เมื่อพฤติการณ์และการกระทำของ นช.โผง ยังรับฟังไม่ได้ว่าเป็นการกระทำผิดวินัยผู้ต้องขังฐานร่วมกันมีสิ่งต้องห้ามไว้ในเรือนจำ การที่ผู้บัญชาการเรือนจำมีคำสั่งลงโทษ โดยให้ลดชั้นจากชั้นเยี่ยมเป็นชั้นเลวมาก
ตัดการอนุญาตให้ได้รับการเยี่ยมหรือติดต่อกับบุคคลภายนอกมีกำหนด 2 เดือน และตัดจำนวนวันที่ได้รับการลดวันต้องโทษจำคุกมีกำหนด 30 วัน คำสั่งดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

อุทธรณ์ของ นช.โผงฟังขึ้น

ส่วนกรณีที่ผู้บัญชาการเรือนจำและอธิบดีกรมราชทานแก้อุทธรณ์ว่า การที่ นช.โผงเต็มใจให้ผู้ต้องขังรายอื่นถ่ายภาพไว้ ย่อมพิจารณาได้ว่าเป็นการใช้ประโยชน์จากโทรศัพท์เคลื่อนที่แล้ว หากตีความกฎหมายอย่างเคร่งครัดตามตัวอักษรก็จะไม่สามารถลงโทษผู้ต้องขังซึ่งถูกถ่ายภาพได้เลย และการใช้และการบังคับใช้กฎหมายในเรื่องดังกล่าวก็จะไม่บรรลุผลสมดังเจตนารมณ์ ส่งผลให้การบริหารจัดการภาครัฐในเรื่องภัยอันตรายของการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ของผู้ต้องขังในเรือนจำล้มเหลว ไม่สามารถคุ้มครองสังคมได้นั้น

ศาลปกครองสูงสุดเห็นว่า การลงโทษทางวินัยผู้ต้องขังมีบทลงโทษที่มีผลให้ผู้ต้องขังถูกจำกัดสิทธิและ
เสียสิทธิบางประการ จึงต้องมีพยานหลักฐานให้รับฟังได้ว่า นช.โผงได้ทำความผิดหรือร่วมกันกระทำความผิดตามข้อกล่าวหาโดยชัดแจ้ง และกรณีนี้ไม่อาจนำเจตนารมณ์ของกฎหมายมาตีความให้เป็นผลร้ายกับผู้ฟ้องคดีได้

ศาลปกครองสูงสุดพิพากษากลับคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้น เป็นให้เพิกถอนคำสั่งของผู้บัญชาการเรือนจำที่ให้ลงโทษทางวินัย ที่ให้ลดชั้นจากชั้นเยี่ยมเป็นชั้นเลวมาก ตัดการอนุญาตให้ได้รับการเยี่ยมเยียนหรือติดต่อกับบุคคลภายนอกมีกำหนด 2 เดือน และตัดจำนวนวันที่ได้รับการลดวันต้องโทษจำคุกมีกำหนด
30 วัน โดยให้มีผลนับแต่วันที่ออกคำสั่ง

คุณโผงรอดกรณีนี้ไป สิทธิคืนมาเช่นเดิม ยังคงเป็นนักโทษชั้นเยี่ยมอยู่เหมือนเคย !!!

(เทียบคำพิพากษาศาลคลองสูงสุดที่ อ.921/2562)

++++++++++++++++++++++++

พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ พ.ศ.2560

มาตรา 76 บรรดากฎกระทรวง ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่งและมติคณะรัฐมนตรีที่ได้ออกตามพระราชบัญญัติราชทัณฑ์พุทธศักราช 2479 ที่ใช้บังคับอยู่ในวันก่อนที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้ยังคงใช้บังคับได้ต่อไปเพียงเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับพระราชบัญญัตินี้ จนกว่าจะมีกฎกระทรวง ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศหรือคำสั่งที่ออกตามพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ
การดำเนินการออกกฎกระทรวง ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศหรือคำสั่งตามวรรคหนึ่ง ให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 90 วัน นับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้มีผลใช้บังคับ หากไม่สามารถดำเนินการได้ให้รัฐมนตรีรายงานเหตุผลที่ไม่อาจดำเนินการได้ ต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบ

กฎกระทรวงมหาดไทย ออกตามความในมาตรา 58 แห่ง พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ พ.ศ.2479

ข้อ 127 สิ่งของต่อไปนี้ ห้ามมิให้นำเข้ามาหรือเก็บรักษาไว้ในเรือนจำ

(9)เครื่องคอมพิวเตอร์โทรศัพท์หรือเครื่องมือสื่อสารอื่นรวมทั้งอุปกรณ์สำหรับสิ่งของดังกล่าว

เมื่อปรากฏว่าผู้ต้องขังคนใดนำเข้ามาหรือเก็บรักษาไว้ในเรือนจำซึ่งสิ่งของต้องห้ามให้รายงานผู้บัญชาการเรือนจำพิจารณาสั่งการ

โอภาส เพ็งเจริญ [email protected]

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image