ไทยพบพม่า : อนาคตอันริบหรี่ของเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย

ไทยพบพม่า : อนาคตอันริบหรี่ของเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย
ถนนสองเลนที่เชื่อมกาญจนบุรีกับเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย

ข่าวใหญ่ในหน้าหนังสือพิมพ์ของหนังสือพิมพ์พม่าสัปดาห์ที่ผ่านมาเป็นเรื่องเกี่ยวกับเศรษฐกิจพิเศษที่ทวาย (Dawei Special Economic Zone) ที่คนไทยคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี แต่เมื่อถามคนส่วนใหญ่ว่าทราบหรือไม่ว่าความคืบหน้าของ “เมกะโปรเจ็กต์” ที่ทวายคืบหน้าไปถึงไหนแล้ว คงมีน้อยคนที่จะทราบ ในยุคนึง ทวายเคยเป็นแหล่งท่องเที่ยวในฝันของนักท่องเที่ยวไทย ที่ต้องการไปเห็นโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษ ที่มิได้มีเพียงการสร้างโรงงานอุตสาหกรรมเท่านั้น แต่ยังหมายถึงการสร้างถนนเชื่อมระหว่างทวายกับชายแดนไทย-พม่าที่จังหวัดกาญจนบุรี และยังหมายถึงการเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ทางเศรษฐกิจและสังคมในพม่าตอนใต้ทั้งหมด มีหลายคนใฝ่ฝันเห็นไทยกับพม่าที่ไร้พรมแดน และการพัฒนาพื้นที่ชายแดนที่จะสร้างความเจริญทางเศรษฐกิจครั้งสำคัญให้ภาคตะวันตกของไทย และเขตตะนาวศรีของพม่า และเมื่อสร้างเสร็จแล้วก็จะกลายเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ใหญ่กว่าเขตเศรษฐกิจติลาวาถึง 8 เท่า และใหญ่กว่าเขตเศรษฐกิจพิเศษที่เจ้าก์ผิ่ว 10 เท่า มีพื้นที่โดยรวมถึง 50,000 เอเคอร์ หรือ 200 ตารางกิโลเมตร

รัฐบาลไทยร่วมกับรัฐบาลพม่าเพื่อผลักดันโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายอย่างจริงจังมาตั้งแต่ปี 2008 ต่อมารัฐบาลญี่ปุ่นก็ได้เข้าไปลงทุนเป็นหุ้นส่วนพัฒนาโครงการ เพื่อพัฒนาเขตเศรษฐกิจตรงนี้ให้เป็นฐานอุตสาหกรรมใหม่ของโรงงานอุตสาหกรรมญี่ปุ่น เมื่อครั้งที่โครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษที่ทวายเริ่มต้นขึ้น พม่ากำลังอยู่ในยุคเปลี่ยนผ่านจากรัฐบาลทหารเต็มรูปแบบมาเป็นรัฐบาลพลเรือนภายใต้ พลเอก เตง เส่ง แม้จะมีเสียงทักท้วงจากคนในพื้นที่ เพราะการก่อสร้างได้สร้างผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและมลพิษให้กับชุมชนในเขตเศรษฐกิจแห่งนี้ อีกทั้งมีเสียงทักท้วงว่าเป็นโครงการที่ “ไม่เห็นหัวประชาชน” แต่โครงการเมกะโปรเจ็กต์ที่ทวายก็ยังดำเนินงานต่อมาได้ แม้ว่าบริษัทอิตาเลียน-ไทย ที่เป็นผู้รับเหมาโครงการนี้จะไม่สามารถส่งมอบงานได้ตรงเวลา

ตลอดช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา ตัวแทนของเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายอ้างว่าการก่อสร้างชะลอตัวลง ทางอิตาเลียน-ไทยยังไม่สามารถส่งมอบงานใดๆ ได้ การประกาศยกเลิกสัญญาก่อสร้างโครงการเศรษฐกิจพิเศษนี้ ไม่เพียงเป็นปัญหาใหญ่สำหรับบริษัทผู้รับเหมาอย่างอิตาเลียน-ไทยเท่านั้น แต่ยังกระทบความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับพม่า ที่แม้จะไม่หวือหวามาก ด้วยประวัติศาสตร์บาดแผลที่ทำให้ลึกๆ แล้ว ฝั่งไทยก็ยังมีทัศนคติที่ไม่ดีนักกับฝั่งพม่า แต่รัฐบาลทั้งสองฝ่ายก็พยายามรักษาความสัมพันธ์นี้ให้ “บัวไม่ให้ช้ำ น้ำไม่ให้ขุ่น” ต้องยอมรับว่าการยกเลิกสัญญาการก่อสร้างโครงการเมกะโปรเจ็กต์ที่มีรัฐบาลไทยเป็นผู้ลงทุนหลักนี้เท่ากับเป็นการตบหน้าไทยเข้าอย่างจัง จนรัฐบาลไทยต้องออกแถลงการณ์ว่าไทยยังจะเป็นโต้โผหลักในโครงการเมกะโปรเจ็กต์ที่ทวายต่อไป แม้ว่าทางการพม่าจะยกเลิกสัญญาก่อสร้างกับบริษัทอิตาเลียน-ไทยก็ตาม

ที่ผ่านมา โครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายพบกับอุปสรรคหลายอย่าง จนทำให้การส่งมอบงานล่าช้า และเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ทางพม่าประกาศยกเลิกข้อตกลงก่อสร้าง 7 จาก 8 โครงการในโครงการทวายกับทางอิตาเลียน-ไทย

Advertisement

ปัจจุบัน รัฐบาลไทยกำลังเจรจากับรัฐบาลพม่า ผ่านคณะกรรมาธิการร่วมไทย-เมียนมา (JHC) ที่มีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และประธานคณะกรรมการร่วมชุดนี้นั่งหัวโต๊ะเจรจา การประกาศสิ้นสุดสัญญากับอิตาเลียน-ไทย ไม่ได้เป็นปัญหากับบริษัทผู้รับเหมาหรือปัญหาภายในสำหรับอิตาเลียน-ไทยเท่านั้น แต่ยังเป็นปัญหาหนักอึ้งสำหรับรัฐบาลไทย กระทบไปถึงความน่าเชื่อถือของไทย และความสัมพันธ์กับพม่าด้วย เพราะรัฐบาลไทย ผ่านสำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (เนด้า) เคยอนุมัติเงินกู้ 4.5 พันล้านบาท (ดอกเบี้ย 0.1%) ให้รัฐบาลพม่า เพื่อดำเนินโครงการก่อสร้างถนนจากฝั่งไทยไปเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย ระยะทางเกือบ 140 กิโลเมตร แต่เดิมโครงการนี้จะสร้างถนนขนาดใหญ่กว้าง 8 เลน แต่เมื่อเนด้าได้สำรวจพื้นที่อย่างละเอียดแล้ว จึงออกมาเป็นแผนการสร้างถนน 2 เลน ที่มีแผนว่าจะสร้างเสร็จภายในปี 2023

อุปสรรคมากมายที่บริษัทอิตาเลียน-ไทยประสบ และการยกเลิกสัญญาก่อสร้างในครั้งนี้เปิดช่องให้ผู้ลงทุนจากประเทศอื่นๆ เข้ามาเติมเต็มช่องว่างนี้ เมื่อเดือนที่แล้ว รัฐบาลญี่ปุ่นดำริว่าจะเริ่มสำรวจความเป็นไปได้ที่จะเข้าไปลงทุนในโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย โดยเฉพาะเรื่องจำนวนงบประมาณที่ต้องใช้ ปัจจุบัน รัฐบาลพม่าพยายามเข้าหาญี่ปุ่นมากขึ้น เพราะต้องการให้รัฐบาลญี่ปุ่นเข้ามา “เทกโอเวอร์” โครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายต่อจากรัฐบาลไทยและอิตาเลียน-ไทย เพราะรัฐบาลญี่ปุ่นเพิ่งยื่นข้อเสนอว่าจะเข้ามาเป็นผู้ลงทุนหลักในโครงการทวาย

รัฐบาลพม่าเองก็รู้สึกดีกับรัฐบาลญี่ปุ่นเป็นพิเศษ เพราะโครงการเขตเศรษฐกิจที่ติลาวา ใกล้ย่างกุ้ง เป็นเขตเศรษฐกิจที่ดูจะเป็นรูปเป็นร่างมากที่สุด แม้จะมีขนาดไม่ใหญ่มาก แต่ก็กำลังไปได้สวยด้วยเม็ดเงินจากการลงทุนของรัฐบาลและภาคเอกชนของญี่ปุ่น

Advertisement

การสร้างเขตเศรษฐกิจที่ทวายนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนจากฝั่งไทยหรือญี่ปุ่น เพราะเป็นที่ทราบกันดีอยู่ว่าโครงสร้างพื้นฐานของพม่ายังคงมีอย่างจำกัด แต่ข้อจำกัดของอิตาเลียน-ไทยคือเรื่องของเงินลงทุน ที่ไม่ได้มีมากเท่ากับภาคเอกชนจากญี่ปุ่น เกาหลี หรือจีน และในช่วงหลังยังได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงในสังคมไทย เมื่อเกือบสิบปีก่อน ผู้เขียนเคยพูดคุยกับนักธุรกิจที่เข้าไปลงทุนในพม่ามายาวนาน ช่วงนั้นเป็นช่วงที่สังคมไทยเริ่มตื่นตัวกับโครงการท่าเรือน้ำลึกและเขตเศรษฐกิจพิเศษที่ทวาย นักธุรกิจผู้นั้นกระซิบให้ผู้เขียนฟังว่าในช่วงชีวิตของเขา คงไม่มีวันได้เห็นโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษที่ทวายเป็นรูปเป็นร่างขึ้นได้ ในตอนนั้น ผู้เขียนไม่อยากจะเชื่อนักธุรกิจท่านนั้น เพราะเห็นว่าทุกอย่างกำลังไปได้สวย และสังคมพม่าเองก็กำลังตื่นเต้นกับโครงการขนาดใหญ่นี้อยู่เช่นกัน แต่มาในวันนี้ เมื่อพม่ากลายเป็นส่วนหนึ่งของระเบียบโลกอย่างเต็มตัว ปัญหาเรื่องผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม การไล่ที่ชาวบ้าน ปัญหาที่เกิดจากการเวนคืนที่ดินที่ไม่เป็นธรรม และการสู้รบกับกลุ่มชาติพันธุ์ที่ยังมีอยู่ตามตะเข็บชายแดนไทย-พม่า ถูกขุดคุ้ยขึ้นมาบนพรม จนทำให้โครงการที่เคยมี “ความชอบธรรม” ในทุกมิติ กลายเป็นโครงการที่มีปัญหาและอุปสรรคใน
ทุกๆ ด้าน

เมื่อนึกถึงใจรัฐบาลพม่าภายใต้การนำทัพของด่อ ออง ซาน ซูจี ในปัจจุบัน พม่าก็จำต้องโน้มเอียงไปทางผู้ลงทุนใหญ่อย่างญี่ปุ่น ที่มีผลงานพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษที่ติลาวาให้เห็นเป็นที่ประจักษ์แล้ว และในสภาพที่ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับพม่าหยุดนิ่ง ไม่มีอะไรหวือหวามานานหลายปี โอกาสที่เราจะได้เห็นโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษที่ทวายเป็นรูปเป็นร่างขึ้นนั้นยังคงมี…แต่น่าจะเป็นผลงานชิ้นโบแดงของรัฐบาลญี่ปุ่นมากกว่าไทย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image