สู้กับโควิด-19 ในปี 2564

สู้กับโควิด-19 ในปี 2564

ในที่สุด โควิด-19 ก็เข้ามาต้อนรับคนไทยตั้งแต่ต้นปี 2564 และโอกาสที่เราจะได้รับวัคซีนก็จะอยู่ในช่วงกลางปี จึงค่อนข้างแน่ชัดแล้วว่าอย่างน้อยคนไทยก็ต้องตั้งการ์ดสู้และอยู่กับโควิด-19 ไปอีกหนึ่งปี ทำให้แต่เดิมที่คาดการณ์ว่าการท่องเที่ยวจะกลับมาดีดังเดิมก็ยิ่งเลือนรางและเลื่อนออกไปอีก เห็นทีจะเป็นปลายปี 2565 นั่นแล้วจึงจะหวังพึ่งการท่องเที่ยวจากต่างประเทศได้

คำถามใหญ่ก็คือว่าเราจะอยู่กับโควิด-19 ไปอีกหนึ่งปีได้อย่างไร เศรษฐกิจไทยจะทนทานโควิด-19 รอบ 2 ได้หรือไม่ โดยเฉพาะสำหรับผู้ที่มีรายได้น้อยหรือผู้ที่มีโอกาสตกงานจากการระบาดของโควิด-19 รอบ 2 นี้ รวมทั้งผู้ที่จบการศึกษาใหม่ซึ่งกำลังหางานทำอยู่เกือบ 3 แสนคนต่อปี ผู้เขียนเห็นว่ารัฐบาลควรมีมาตรการสำคัญที่จะต้องทำอยู่สองกลุ่มใหญ่ๆ คือ

กลุ่มมาตรการระยะสั้นที่เราจะต้องใช้ก็คือ

หนึ่ง บทเรียนจากโควิด-19 ก็คือ ชีวิตของเรานั้นไม่เป็นอิสระต่อกันอีกต่อไป การดำรงชีวิตตามสิทธิเสรีภาพของคนคนหนึ่งอาจไปกระทบกับชีวิตคนอื่นได้ รัฐบาลต้องยกเครื่องกระบวนการทั้งระบบให้ทำงานอย่างบูรณาการไม่ใช่พระเอกที่เป็นกระทรวงสาธารณสุขรายเดียวที่สู้กับโควิด-19 ในขณะที่ระบบกำกับอื่นๆ มีรูรั่วกันหมด เช่น ปัญหาสนามมวยในการระบาดรอบแรก การข้ามแดนผิดกฎหมาย และบ่อนการพนันในการระบาดรอบ 2 รัฐต้องเอาจริงกับ 3 ประเด็นนี้ ใครๆ ก็เข้าใจกันว่า กิจกรรมเหล่านี้มีผู้มีอิทธิพลในวงราชการอยู่เบื้องหลัง นายกฯต้องขุดรากถอนโคนให้ได้ไม่เช่นนั้นทั้งสังคมและเศรษฐกิจจะเดินหน้าต่อไม่ได้ การเอาบ่อนขึ้นบนดินไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหาโควิด-19 เพราะนักพนันก็จะมีการรวมตัวกันอย่างเดิม รัฐบาลจะต้องไม่หลงประเด็น ที่จริงโควิด-19 รอบ 2 มีต้นเหตุจากบ่อนบนดินนี่แหละเพียงแต่ไม่ใช่บ่อนบนดินในประเทศไทย

Advertisement

สอง เราจะพึ่งวัคซีนอย่างเดียวไม่ได้และจะต้องหาวิธีอยู่กับโควิด-19 ให้ได้เหมือนกับการที่คนไทยอยู่กับโรคหวัดและไข้หวัดใหญ่ นอกจากระบบการป้องกันตัวโดยวัคซีน การใส่แมสก์และการล้างมือแล้ว ต้องหาสูตรการรักษาพยาบาลที่มีประสิทธิผล ในขณะนี้ก็เริ่มมีงานวิจัยที่ให้เบาะแสบางประการว่า จะใช้ยาประเภทอะไรบ้าง มีขั้นตอนการรักษาอย่างไร และขยายระบบนี้ไปยังโรงพยาบาลทั่วไป ควรเตรียมยาที่ใช้รักษาให้พร้อม ถ้าผลิตในประเทศได้ก็ยิ่งดี เป็นที่น่าสังเกตว่าระยะหลังนี้มีผู้ติดเชื้อที่ตายด้วยโควิด-19 น้อยมากหากได้รับการรักษาพยาบาลแบบทันท่วงที โรงพยาบาลของรัฐซึ่งมีความพร้อมกว่าควรทบทวนบทเรียนที่ผ่านมาเพื่อให้ได้ระบบที่มีประสิทธิภาพมีต้นทุนต่ำสุด มีความเสียหายต่อสุขภาพน้อยที่สุด ควรมีการเผยแพร่และสร้างความร่วมมือระหว่างโรงพยาบาลรัฐและโรงพยาบาลเอกชน และคลินิกมากให้ขึ้น ในเมืองที่ไม่มี อสม. ควรมีระบบสายด่วนและแพลตฟอร์มตอบข้อข้องใจบุคลากรทางการแพทย์ด้วยกันแบบ Fast track นอกจากนี้ สำหรับบุคคลทั่วไปศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ยังจัดทำคู่มือประชาชนสำหรับโควิด-19 ที่ดี แต่เนื้อหายังยาวมากสำหรับคนไทยที่อ่านหนังสือ 2 บรรทัดต่อวัน ควรมีการเผยแพร่เป็นส่วนๆ ในลักษณะโปสเตอร์และคลิปวิดีโอออนไลน์มากขึ้น

สาม คนไทยเข้าสู่กระแสสังคมไร้เงินสดเร็วขึ้นเนื่องจากมาตรการสนับสนุนของรัฐในโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” และโครงการ “คนละครึ่ง” สมควรที่จะเอาข้อมูลจากแอพพลิเคชั่นเหล่านี้มาทำการวิเคราะห์ถึงลักษณะของการใช้จ่ายต่างๆ เพื่อให้มีความเข้าใจเกี่ยวกับพฤติกรรมการบริโภค การใช้จ่ายและการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวไทยมากขึ้น เพื่อที่จะสนับสนุนการใช้จ่ายและการท่องเที่ยวในประเทศ นอกจากนี้ ผลจากการเข้าร่วมโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” 7 ล้านคน “คนละครึ่ง” อีก 15 ล้านคน “ชิมช้อปใช้” 10 ล้านคน และผู้ประกอบการจำนวนมาก ควรต่อยอดแอพพ์เหล่านี้และแอพพ์ “เป๋าตัง” ให้เป็นแพลตฟอร์มดิจิทัลรวมบริการ e-commerce ท่องเที่ยวทุกประเภทอย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งในขณะนี้เราใช้แอพพลิเคชั่นของต่างประเทศเป็นหลัก

สี่ การจัดลำดับความสำคัญว่าใครควรจะได้วัคซีนก่อนหลังนั้น แน่นอนทุกคนคงจะเห็นตรงกันว่าบุคลากรทางการแพทย์ต้องเป็นชุดแรกที่ได้วัคซีน ถัดไปก็น่าจะเป็นบุคลากรที่อยู่ในอุตสาหกรรมขนส่ง รวมทั้งแท็กซี่ มอเตอร์ไซค์รับจ้าง กลุ่มดิลิเวอรีทั้งหลาย รวมทั้งบุคลากรขนส่งของร้านอาหาร ซุปเปอร์มาร์เก็ต บุรุษไปรษณีย์ ซึ่งจะต้องเอาของไปส่งตามบ้าน เพราะบุคลากรเหล่านี้จะเป็นบุคลากรที่แพร่เชื้อได้อย่างดี ในต่างประเทศนั้นให้ความสำคัญกับผู้สูงวัยก่อน แต่ผู้เขียนคิดว่าควรให้คนที่ทำงานและมีโอกาสแพร่เชื้อโรคได้ฉีดก่อน ส่วนผู้สูงอายุควรให้โอกาสผู้ที่มีโรคประจำตัว ไม่มีรายได้ และขาดแคลนที่พักส่วนตัวก่อน ส่วนผู้สูงอายุที่ไม่มีโรคประจำตัวก็ให้หลีกเลี่ยงการสัมผัสผู้ที่ทำงานข้างนอกไปก่อน ชุมชนอาจหาพื้นที่ที่จะให้ผู้สูงอายุที่แข็งแรงแต่ไม่มีที่พักแยกที่เป็นส่วนตัวออกมาอยู่ต่างหาก เพื่อความสะดวกในการดูแลและเฝ้าระวังผู้สูงอายุที่ยังไม่ป่วย

ควรเปิดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และโรงพยาบาลเอกชน ซื้อวัคซีนที่ได้รับการรับรองมาตรฐานจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จากต่างประเทศได้ ทั้งนี้ต้องมีระบบจัดซื้อที่โปร่งใส ไม่มีใต้โต๊ะ แต่ อปท. และโรงพยาบาลเอกชนอาจต้องรับผิดชอบดูแลผู้รับวัคซีนในกรณีที่เกิดผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนที่ตนเองจัดซื้อมา

ห้า ต้องสรุปบทเรียนเรื่องการกำกับและการใช้แรงงานต่างด้าว โดยให้แรงงานต่างด้าวที่มีอยู่ในประเทศซึ่งมีจำนวนมากแล้ว รวมถึงพวกที่เข้ามาแบบผิดกฎหมายมาขึ้นทะเบียนให้เป็นระบบและไม่ควรอนุญาตให้แรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายเข้ามาอีก โดยจะต้องลงโทษเครือข่ายที่นำเข้าแรงงานต่างด้าวอย่างสูงสุด ในฐานะบุคคลที่เป็นบ่อนทำลายประเทศชาติ ก็ต้องกำจัดคนเหล่านี้ให้หมดไป เพราะการระบาดรอบ 2 นี้เกิดจากพวกบ่อนทำลายเหล่านี้ที่นำแรงงานผิดกฎหมายติดโรคเข้ามา

หก ทบทวนมาตรการเพิ่มวันหยุดเพื่อใช้กระตุ้นการท่องเที่ยว การเพิ่มวันหยุดอาจจะเพิ่มรายได้จากการท่องเที่ยวบ้าง แต่ก็จะเพิ่มการระบาดของโรค เพิ่มต้นทุน และลดจีดีพีในภาคเศรษฐกิจอื่น ผลิตภาพการผลิตโดยรวมของประเทศอาจลดลง จึงควรมีการศึกษาและทบทวนนโยบายนี้ให้ชัดเจน ทุกวันนี้คนไทยก็มีวันหยุดมากอยู่แล้วและก็ยังหยุดทำงานที่บ้านได้อีก การเพิ่มวันหยุดในขณะที่ทุกคนก็ไม่มีเงิน ซ้ำโรคก็ยังระบาดอยู่ก็ไม่แน่ว่ามาตรการนี้จะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจท่องเที่ยวได้จริง ผลก็คือคนไทยจะขี้เกียจมากขึ้น นิสัยการออมจะลดลง บางคนตกงานก็จริงแต่ก็กู้เงินไปเที่ยวตามความฝัน

เจ็ด ควรเลิกรับชาวต่างชาติที่จะเดินทางเข้าประเทศไทยชั่วคราว เพราะขณะนี้ระบบสาธารณสุขของไทยใกล้ถึงขีดจำกัดแล้ว

มาตรการระยะยาว ก็คือรัฐบาลควรหามาตรการการลงทุนที่มีแต่ได้กับได้บ้าง คือกระตุ้นเศรษฐกิจและเพิ่มผลิตภาพในการผลิตได้ เช่น มาตรการออกแบบการผลิตและใช้เทคโนโลยีโลจิสติกส์เพื่อลดแรงงานต่างด้าว เช่น วิธีการจัดการตลาดสดแบบ Touchless เป็นต้น แต่มาตรการที่รัฐดำเนินการอยู่ทุกวันนี้ล้วนแต่เป็นการใช้จ่ายแบบสิ้นเปลืองที่ใช้แล้วหมดไป

ซึ่งอาจหมายความว่าหมดโควิด-19 แล้วศักยภาพการผลิตของประเทศก็ยิ่งถดถอยลงไปกว่าเดิมอีก!

มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด
มูลนิธิสถาบันศึกษานโยบายสาธารณะ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image