สุจิตต์ วงษ์เทศ : พระร่วงไปเมืองจีน คือ เจ้านครอินทร์ จากรัฐสุพรรณภูมิ ได้ช่างจีนทำเครื่องปั้นดินเผาเคลือบสังคโลก ที่สุโขทัย

เครื่องถ้วยชามสังคโลกได้จากแหล่งเรือจมซึ่งกรมศิลปากรได้ดำเนินงานโบราณคดีใต้น้ำเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2518

พ่อขุนรามคำแหง ไม่เคยไปเมืองจีน ตามที่มีบอกในตำราประวัติศาสตร์ไทย

หลักฐานมีในงานวิจัยเป็นภาษาอังกฤษของ ดร. สืบแสง พรหมบุญ ต่อมามีผู้แปลเป็นภาษาไทย ชื่อความสัมพันธ์ในระบบบรรณาการระหว่างจีนกับไทย

[กาญจนี ละอองศรี แปลจากวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก ของ สืบแสง พรหมบุญ เรื่อง Sino-Siamese Tributary Relation 1282-1853 บรรณาธิการโดย ชาญวิทย์ เกษตรศิริ สำนักพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2525 หน้า 76-77]

กระปุกสังคโลก (ภาพจาก www.facebook.com/พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ           สวรรควรนายก)
กระปุกสังคโลก (ภาพจาก www.facebook.com/พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สวรรควรนายก)

พระร่วงในตำนานที่เสด็จไปเมืองจีน ไม่ใช่พ่อขุนรามคำแหง แต่คือเจ้านครอินทร์ เจ้านายรัฐสุพรรณภูมิ เป็นงานศึกษาค้นคว้าของ พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ ผู้เชี่ยวชาญฯ กรมศิลปากร จะคัดโดยสรุปมาดังต่อไปนี้

Advertisement

พระร่วงไปเมืองจีน คือ เจ้านครอินทร์ รัฐสุพรรณภูมิ

เรื่องพระร่วงไปเมืองจีน เล่ากันเป็นตํานานว่าครั้งหนึ่งพระร่วงต้องการแสดงความยิ่งใหญ่ของตน จึงได้ลงเรือไปถึงเมืองจีนด้วยอํานาจวาจาสิทธิ์

พระเจ้ากรุงจีนเห็นเป็นเรื่องอัศจรรย์และชื่นชมในบุญญาธิการของพระร่วงเป็นอันมาก ถึงกับยกลูกสาวให้พระร่วง และให้ช่างจีนไปทําเครื่องสังคโลกในกรุงสุโขทัย

Advertisement

เรื่องพระร่วงไปเมืองจีนยังคงเป็นตํานานที่เชื่อถือกันในบุคคลบางส่วน จนกระทั่งมีการแปลจดหมายเหตุจีน ปรากฏว่าในจดหมายเหตุจีนก็มีข้อความกล่าวถึงเจ้าเมืองซึ่งเข้าใจกันว่าหมายถึงพ่อขุนรามคําแหงได้เคยเสด็จไปเมืองจีนจริงๆ

ตั้งแต่นั้นมาก็ยอมรับกันว่าพ่อขุนรามคําแหงได้เคยเสด็จไปเมืองจีน สมดังที่เล่าเป็นตํานานเรื่องพระร่วงไปเมืองจีน

ต่อมาได้มีการสอบสวนทวนอ่านและแปลทําความเข้าใจจดหมายเหตุจีนกันใหม่ ปรากฏว่าที่แปลและเข้าใจกันมาแต่เดิมนั้นผิดไปเสียแล้ว จดหมายเหตุจีนไม่ได้บอกว่า พ่อขุนรามคําแหงไปเมืองจีน เพียงแต่บอกว่าจีนให้ส่งลูกหรือส่งตัวแทนไปเมืองจีน

ซ้ำยังไม่มีความแน่นอนว่าเมืองที่ส่งทูตไปเมืองจีนนั้นจําเป็นจะต้องเป็นเมืองสุโขทัยหรือเมืองใดเมืองหนึ่งในรัฐสุโขทัยอีกด้วย

“มกรสังคโลก” เครื่องประดับสถาปัตยกรรมในสมัยสุโขทัย จัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ               สวรรควรนายก จ. สุโขทัย (ภาพจาก www.facebook.com/พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สวรรควรนายก)
“มกรสังคโลก” เครื่องประดับสถาปัตยกรรมในสมัยสุโขทัย จัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สวรรควรนายก จ. สุโขทัย (ภาพจาก www.facebook.com/พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สวรรควรนายก)

ในช่วงระยะเวลาการครองราชย์ของสมเด็จพระราเมศวรครั้งที่สอง ระหว่าง พ.ศ. 1931-1938 มีในจดหมายเหตุจีนว่าเจ้านครอินทร์ได้เคยเดินทางไปเมืองจีน

เจ้านครอินทร์นี้ก็คือสมเด็จพระนครินทราธิราช ซึ่งพงศาวดารกรุงศรีอยุธยากล่าวว่าเป็นหลานของขุนหลวงพ่องั่ว ที่พวกข้าราชการของกรุงศรีอยุธยาสนับสนุนให้ขึ้นสู่บัลลังก์กรุงศรีอยุธยา โดยปลดพระรามราชโอรสของสมเด็จพระราเมศวรออกจากตําแหน่ง

ดังนั้น ระยะเวลาที่เจ้านครอินทร์ไปเมืองจีนจึงเป็นสมัยที่ยังหนุ่ม ซึ่งจดหมายเหตุจีนกล่าวว่าเป็นลูกของเจ้าเมืองสุพรรณบุรี

เจ้านายของสยามประเทศที่ไปถึงเมืองจีนในช่วงเวลานั้นก็มีเพียงเจ้านครอินทร์นี้เพียงผู้เดียว ดังนั้น เรื่องพระร่วงที่ไปเมืองจีนจะมีเค้าที่มาจากเรื่องการไปเมืองจีนของเจ้านครอินทร์ก็ได้ เพราะเจ้านครอินทร์คือเจ้านายฝ่ายสุพรรณบุรีที่มีเชื้อสายทางราชวงศ์สุโขทัย

อย่างน้อยก็มีข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ว่าเจ้านครอินทร์ซึ่งภายหลังได้เป็นสมเด็จพระนครินทราธิราช มีพระชายาเป็นเจ้าหญิงสุโขทัย

และต่อจากนั้นเป็นต้นมากษัตริย์ในราชวงศ์สุพรรณภูมิที่ได้ขึ้นครองกรุงศรีอยุธยาล้วนมีเชื้อสายทางมารดาจากราชวงศ์สุโขทัยอีกทางหนึ่งด้วยทั้งสิ้น

มีเค้าจากหลักฐานและการศึกษาทางประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ของราชวงศ์สุพรรณภูมิและสุโขทัย ว่าเจ้านครอินทร์ก่อนที่จะครองเมืองสุพรรณบุรีแล้วไปครองกรุงศรีอยุธยานั้น ได้เคยครองเมืองกําแพงเพชรหรือเมืองใดเมืองหนึ่งในรัฐสุโขทัยมาก่อน

เช่นเดียวกับบิดาของท่านก่อนที่จะครองเมืองสุพรรณบุรีคงจะเคยเป็นเจ้าเมืองสุโขทัยมาก่อน เหมือนกันกับขุนหลวงพ่องั่วปู่ของเจ้านครอินทร์ก็เคยมีประวัติไปครองเมืองพิษณุโลกอยู่ชั่วระยะเวลาหนึ่ง

หากเป็นเช่นนี้ พระร่วงก็ต้องได้ไปเมืองจีนจริงๆ

เพราะเจ้านครอินทร์ รัฐสุพรรณภูมิ คือพระร่วงไปเมืองจีนในตํานาน

(คัดจากหนังสือ ศาสนาและการเมืองในประวัติศาสตร์สุโขทัย-อยุธยา ของ พิเศษ  เจียจันทร์พงษ์ สํานักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก 2545)

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image