กับดัก รธน. ระวังโรคเลื่อน Roadmap โดย สมหมาย ปาริจฉัตต์

แฟ้มภาพ

คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญส่งร่างรัฐธรรมนูญร่างแรกทันตามคำแถลงที่ประกาศไว้ วันที่ 29 มกราคมที่ผ่านมา เพื่อให้ทุกฝ่ายโดยเฉพาะแม่น้ำอีก 4 สายให้ความคิดเห็นก่อนนำมาปรับครั้งสุดท้ายเพื่อนำไปทำประชามติรับหรือไม่รับต่อไป

หากดูเนื้อหายังไม่สมบูรณ์ 100% เว้นว่างบางจุด ทำเป็นเส้นไข่ปลาไว้เพื่อให้ผู้ที่ประสงค์จะเพิ่มเติม เติมข้อความในช่องว่าง ดังใน มาตรา 269 ให้มีการปฏิรูปในเรื่องต่างๆ ดังต่อไปนี้ ควรจะปฏิรูปในเรื่องใด 1………. เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ในเรื่อง………..2……………….เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ในเรื่อง………..ฯลฯ

ยังไม่มีใครรู้ว่า แม่น้ำ 4 สาย และใครต่อใครจะเติมคำในเส้นไข่ปลาอีกมากน้อยแค่ไหน สุดท้ายแล้ว กรรมการร่างรัฐธรรมนูญและ คสช.จะให้เหลือเท่าไหร่

เพียงแค่กฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปเรื่องเดียวที่ยกมาเป็นน้ำจิ้มนี้ ก็ถกเถียงกันไม่จบแล้วว่าควรจะมีกฎหมายด้วยการปฏิรูปกี่ด้าน เพราะต่างล้วนเห็นว่าของตัวเองสำคัญกว่าทั้งสิ้น

Advertisement

ฉะนั้น นอกจากน่าติดตามว่าการลงประชามติจะผ่านหรือไม่ผ่านแล้ว จะทำให้การเลือกตั้งที่หัวหน้าคณะ คสช.ประกาศว่าจะเกิดขึ้นราวเดือนกรกฎาคม 2560 ต้องเลื่อนออกไปอีกนานแค่ไหน หรือเป็นปลายปี

ตามคำแถลงของนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ

เป็นไปตามบทเฉพาะกาล มาตรา 259 คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญต้องจัดทำร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญและกฎหมายอื่นที่จำเป็นรวม 10 ฉบับ ภายใน 8 เดือน นับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ

Advertisement

หากจัดทำไม่แล้วเสร็จ ให้หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติแต่งตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญคณะใหม่ เพื่อจัดทำร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญและกฎหมายตามวรรคหนึ่งให้แล้วเสร็จ ซึ่งฉบับหลังนี้คือกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐ

จากนั้นสภานิติบัญญัติแห่งชาติต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในเวลาหกสิบวัน

ก่อนดำเนินการต่อไปตามมาตรา 260 ให้ดำเนินการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และจัดให้มีการเลือกสมาชิกวุฒิสภาตามรัฐธรรมนูญนี้ให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งร้อยห้าสิบวัน นับแต่วันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติตามมาตรา 259 ทั้งหมดมีผลใช้บังคับแล้ว

ผลจากมาตราต่างๆ ดังที่กล่าวมานี้ นอกจากทำให้การเลือกตั้งเลยเวลาตามโรดแมปเดิมที่หัวหน้า คสช.ประกาศ และเวลาใหม่ที่ประธานกรรมการร่างบอก อาจต้องเลื่อนออกไปอีก หากการจัดทำกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญและกฎหมายอื่นที่จำเป็นไม่เสร็จ

ทั้งยังให้หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติแต่งตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญคณะใหม่ เพื่อจัดทำร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญและกฎหมายตามวรรคหนึ่งให้แล้วเสร็จ

เมื่อยกร่างเช่นนี้ จึงไม่มีหลักประกันว่าเวลาที่แน่นอนที่จะมีการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ โรดแมปที่วางไว้จะสิ้นสุดวันไหน

เฉพาะประเด็นโรดแมป การเลือกตั้งย่อมมีผลต่อการตัดสินใจของผู้ลงประชามติอย่างแน่นอน ต้องชั่งน้ำหนักระหว่างกระบวนการการเลือกตั้งตามคำสัญญาที่ให้ไว้กับเนื้อหาสาระ จะให้ความสำคัญตรงจุดไหนมากกว่า หรือรับไม่ได้ทั้งสองประเด็น

ฝ่ายหนึ่งให้ความสำคัญกับเนื้อหา ถ้าไม่เป็นประชาธิปไตย ให้อำนาจองค์กรอิสระและศาลรัฐธรรมนูญที่มาจากการสรรหาไม่เชื่อมโยงกับประชาชนเหนือกว่าองค์กรที่มีความเชื่อมโยงกับประชาชน ทำให้ฝ่ายบริหารและรัฐสภาทำงานยาก (มาตรา 241) ถึงเลือกตั้งทันตามโรดแมปก็ไร้ประโยชน์

อีกฝ่าย ให้น้ำหนักที่กระบวนการตามโรดแมป ต้องมีการเลือกตั้งตามสัญญาเพราะคิดอยู่แล้วว่าถึงอย่างไรหน้าตารัฐธรรมนูญก็ไม่เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ สู้ลงประชามติรับรองเพื่อให้มีการเลือกตั้งก่อนดีกว่า ส่วนจุดอ่อนของรัฐธรรมนูญค่อยแก้ไขกันต่อไป

ประเด็นหลังนี้ยังมีข้อที่ต้องคิดต่อว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เขียนไว้แก้ง่ายหรือแก้ยากล่ะ ต้องคิดถึงเรื่องนี้ด้วย

ย้อนกลับมามาตรา 241 เพื่อประโยชน์ในการระงับหรือยับยั้งความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นแก่การเงิน การคลังของรัฐ ให้ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินเสนอผลการตรวจสอบการกระทำที่ไม่เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐ และอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่การเงิน การคลังของรัฐอย่างร้ายแรง ต่อคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินเพื่อพิจารณา

ในกรณีนี้ คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินเห็นพ้องด้วยกับผลการตรวจสอบดังกล่าว ให้ปรึกษาหารือร่วมกับคณะกรรมการการเลือกตั้งและคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หากที่ประชุมร่วมเห็นพ้องกับผลการตรวจสอบนั้นให้ร่วมกันมีหนังสือแจ้งสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบโดยไม่ชักช้า และให้เปิดเผยผลการตรวจสอบดังกล่าวต่อประชาชนเพื่อทราบด้วย

หากมองผิวเผินอาจไม่มีอะไร แต่ถ้ามองให้ลึกลงไป หากเกิดการกระทำเข้าข่ายตามมาตรานี้ ถือว่าฝ่ายบริหารมีพฤติกรรมจงใจใช้หน้าที่และอำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายหรือไม่ ทำให้มีโอกาสถูกนำเรื่องขึ้นร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยสถานะของรัฐบาลได้

มาตรานี้จะทำให้เกิดการตีความแตกต่างกัน จนกลายเป็นความขัดแย้งไม่จบไม่สิ้น จึงเป็นกับดักของรัฐธรรมนูญอีกอันหนึ่งหรือไม่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image