ธุรกิจโฆษณา โดย วีรพงษ์ รามางกูร

ข่าวคราวเรื่องระเบิดที่เกิดพร้อมๆ กันหรือเวลาไล่เลี่ยกัน 17-18 จุด มีการวิพากษ์วิจารณ์ถึงผู้กระทำและสาเหตุของการกระทำไปต่างๆ นานา เพราะคนทำต้องมีศักยภาพอำนาจบังคับบัญชา มีเครือข่ายประสานงานที่กว้างขวาง มีผู้คนเกี่ยวข้องเป็นจำนวนมาก เป็นขบวนการที่คนธรรมดาคงจะทำไม่ได้หรือทำได้ยาก ดังนั้นเรื่องก็คงจะเงียบหายไปตามสายลม ไม่ควรจะไปสนใจอะไรมาก เพราะถึงแม้จะสนใจก็คงจะไม่รู้จริง เพราะไม่มีใครมีข้อมูลที่สมบูรณ์ รอฟังฝ่ายความมั่นคงชี้แจงดีที่สุด

ผลที่เกิดแน่ๆ ก็คือ ธุรกิจการท่องเที่ยว การยกเลิกการจองห้องพักในจังหวัดท่องเที่ยวเกือบทุกจังหวัด ทั้งๆ ที่ขณะนี้เป็นฤดูการท่องเที่ยว ก็สนใจได้พอประมาณ มาดูแลธุรกิจของเราให้ตลอดรอดฝั่งในยามเศรษฐกิจซบเซาทั่วโลกอย่างนี้เถิด

ในขณะที่เศรษฐกิจกำลังเป็นขาลง ความต้องการซื้อสินค้าและบริการมีน้อย หรือต่ำกว่าความต้องการที่จะผลิตเพื่อจะขาย การลงทุนไม่มี การส่งออกหดตัว การบริโภคของครัวเรือนหดตัว ราคาสินค้าเกษตรลดลงอย่างรุนแรง รายได้ของเกษตรกรลดลงอย่างที่เห็นอยู่ในขณะนี้

ธุรกิจการโฆษณา ซึ่งเป็นทั้งตัวสร้างความต้องการซื้อสินค้าและบริการ เป็นสื่อกลางการให้ข้อมูลระหว่างผู้ที่ต้องการขายกับผู้ต้องการซื้อ ซึ่งได้แก่ผู้บริโภคและผู้ลงทุน ค่าใช้จ่ายในการโฆษณาเป็นต้นทุนของการขายสินค้าและบริการ ส่วนจะสามารถผลิตไปให้กับผู้บริโภคได้บางส่วนหรือผลิตให้กับผู้บริโภคทั้งหมด ก็สุดแท้แต่ว่าผู้บริโภคหรือผู้ซื้อมีความอ่อนไหวต่อราคามากน้อยเพียงใด ซึ่งอาจจะโยงไปถึงลักษณะของสินค้าว่าจำเป็นต้องซื้อต้องใช้แค่ไหน หรือสินค้านั้นมีคู่แข่งที่มีความสามารถแข่งขันแค่ไหน โฆษณาเป็นกิจกรรมที่ช่วยให้ข้อมูลข่าวสารของตลาดที่ไม่สมบูรณ์มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น

Advertisement

ในยามเศรษฐกิจรุ่งเรือง การโฆษณาสามารถสร้างความต้องการสินค้าและบริการได้มาก ราคาสินค้ามีน้ำหนักในการตัดสินใจน้อย แต่ในยามเศรษฐกิจซบเซาโฆษณาสินค้าไม่สามารถสร้างความต้องการเพิ่มขึ้นได้มาก ผลตอบแทนต่อค่าใช้จ่ายของการโฆษณาก็จะต่ำลง ราคาที่เอเยนซี่จะคิดเอากับผู้ต้องการโฆษณาจะต่ำลง เพื่อจูงใจให้มีการซื้อโฆษณาให้มากขึ้น

ธุรกิจสื่อมวลชนหรือสื่อสาธารณะเกือบทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นโทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ทั้งที่เป็นกระดาษ โทรศัพท์ วิทยุ มือถือ เครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ ที่ใช้เป็นเครื่องมือสื่อสารมวลชน ธุรกิจเหล่านี้จะอยู่ได้หรือไม่ได้ ไม่ได้อยู่กับปริมาณการขายหนังสือพิมพ์หรือค่าโทรศัพท์แบบเดิมต่อไป แต่ขึ้นอยู่กับรายได้จากการโฆษณา ขณะเดียวกันค่าโฆษณาของธุรกิจต่างๆ ก็ขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจและจำนวนคนที่จะได้เห็นภาพหรือคำโฆษณา

สถานการณ์เศรษฐกิจในขณะนี้ บริษัทห้างร้านต่างๆ ต้องคิดตัดค่าใช้จ่ายของตนลงเพื่อความอยู่รอด ค่าใช้จ่ายที่ตัดได้ง่ายและตัดก่อนก็คือค่าใช้จ่ายในการโฆษณาขายสินค้า ก่อนที่จะไปตัดค่าใช้จ่ายอื่นที่ตัดได้ แต่จะกระทบกระเทือนการทำงานของบุคคลากรบ้าง เช่น ตัดค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า ค่าโทรศัพท์ น้ำมันรถยนต์ รวมทั้งประหยัดโดยการใช้วัตถุดิบหรือชิ้นส่วนในการผลิตอย่างประหยัดมากยิ่งขึ้น แม้จะกระทบต่อคุณภาพของสินค้าและบริการที่ผลิตให้กับลูกค้าบ้างก็ตาม

Advertisement

ด้วยเหตุนี้ ธุรกิจที่พึ่งรายได้จากงบโฆษณาของบริษัทอื่นๆ หรือหน่วยราชการ ซึ่งได้แก่ธุรกิจสื่อสารมวลชน ไม่ว่าจะเป็นวิทยุ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ วารสาร สื่อออนไลน์ต่างๆ ขณะนี้ล้วนได้รับความเดือดร้อนกันทั่วหน้า

นอกจากภาคเอกชน บริษัทห้างร้านต่างๆ ที่พากันตัดงบประมาณโฆษณาประชาสัมพันธ์แล้ว เมื่อมีรัฐบาลจากการทำรัฐประหาร รัฐบาลก็ตัดงบประมาณโฆษณาประชาสัมพันธ์ลงอีก จึงกลายเป็นเหมือนโรคซ้ำกรรมซัดสำหรับธุรกิจสื่อสารมวลชน

นอกจากนั้น นิสิตนักศึกษาที่เรียนด้านสื่อสารมวลชน ไม่ว่าจะเป็นหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ รวมทั้งการละคร ก็คงจะถูกกระทบกระเทือนกันถ้วนหน้า เพราะเรียนจบแล้วอาจจะหางานทำไม่ได้หรือได้ก็เงินเดือนน้อย

การเข้าประมูลคลื่นความถี่ของโทรทัศน์วิทยุของ กสทช. ที่ผ่านมานั้น สร้างความประหลาดใจเป็นอันมากว่าธุรกิจประเภทนี้จะเติบโตสวนทางกับภาวะเศรษฐกิจมหภาคได้อย่างไร แต่ก็ไม่กล้าติติง เพราะบางทีผู้ที่อยู่ในวงการอาจจะมีข้อมูล “ทีเด็ด” อะไรที่เราไม่ทราบก็ได้ ผลปรากฏว่าไม่มีอะไรเป็นทีเด็ด ผู้ที่ประมูลได้กลายเป็นผู้ได้รับทุกขลาภ ไปตายเอาดาบหน้าทุกคน ไม่รู้อนาคตว่าตนเองจะลงเอยอย่างไร

เมื่อสถานการณ์เป็นอย่างนี้ กสทช.ควรจะได้ทบทวนว่าจะดำเนินการอย่างไร เพราะเศรษฐกิจภาคสื่อสารมวลชนแม้จะกลายเป็นธุรกิจที่เคยรุ่งเรือง แต่บัดนี้ก็มิได้เป็นอย่างนั้นแล้ว คงมีฐานะเหมือนๆ กับธุรกิจนอกภาคเกษตร เป็นภาคบริการ เหมือนๆ กับธุรกิจโรงแรม ธุรกิจธนาคารพาณิชย์ ธุรกิจการให้บริการอื่นๆ ที่ธุรกิจมีขึ้นมีลง มีกำไรมีขาดทุน และที่สำคัญก็เป็นภาคเศรษฐกิจที่เป็นส่วนสำคัญในการสร้างขวัญและกำลังใจให้กับผู้คนในสังคม เหมือนๆ กับธุรกิจอย่างอื่น

รัฐบาลที่เป็น “รัฐบริการ” หรือ “service state” ย่อมต้องมีหน้าที่ดูแลทุกภาคส่วนของเศรษฐกิจในยามที่ประสบความลำบาก ความจริงปัญหาของธุรกิจชนิดนี้มิใช่การ “คาดการณ์ภาวะเศรษฐกิจ” ไม่ถูกต้องอย่างเดียว แต่เป็นเพราะช่วงเวลาขณะนี้เป็นช่วงเวลาของการเปลี่ยนเทคโนโลยี “technological change” ของอุตสาหกรรมสื่อสารมวลชน เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยี ทุกฝ่ายก็ต้องทำการปรับตัวแต่การปรับตัวก็ต้องมีค่าใช้จ่าย ขณะที่การแข่งขันก็มีมากขึ้นเพราะผู้เล่นมีจำนวนมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกับภาครัฐที่มุ่งแต่การหารายได้เข้าคลังให้มากที่สุด

จุดมุ่งหมาย objective หรือเป้าหมาย target การหารายได้เข้ารัฐเป็นจุดมุ่งหมายและเป้าหมายที่ง่ายที่สุด ไม่ต้องอธิบายประชาชน หรือไม่เสี่ยงต่อการถูกกล่าวหาว่าไม่กระทำการเพื่อผลประโยชน์สูงสุดทางการเงินให้กับรัฐ แต่อาจจะไม่ใช่จุดมุ่งหมายที่ถูกต้องเสมอไป และถ้าธุรกิจกำลังซบเซาไม่สามารถมีรายได้ค่าโฆษณาได้ตามเป้าหมาย ธุรกิจสื่อสารมวลชนก็ย่อมไม่อาจจะรับภาระจ่ายเงินค่าสัมปทานที่ตนเองไปประมูลมาก็ได้ แทนที่จะปล่อยให้ธุรกิจประเภทนี้มีปัญหาเพราะรับภาระค่าสัมปทานไม่ได้ ก็น่าจะลองพิจารณาทบทวน

จริงอยู่ธุรกิจชนิดนี้มีการแข่งขันสูง ไม่ว่าจะเป็นวิทยุ โทรทัศน์ เว็บ หนังสือพิมพ์ การแทรกแซงของรัฐอาจจะถูกกล่าวหาว่าทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างกันก็ได้ แต่การแข่งขันกันอย่างรุนแรงก็เป็นจุดอ่อนของระบบทุนนิยมเหมือนกัน บางทีบทบาทของรัฐในการทำให้การแข่งขันไม่ทำให้เกิดการทำลายตนเอง การแทรกแซงของรัฐอย่างระมัดระวังจึงอาจจะมีความจำเป็น เช่น การ “ชดเชย” ให้ผู้เสียประโยชน์และเก็บค่าธรรมเนียมผู้ที่ได้ประโยชน์ จากการเปลี่ยนแปลงนโยบาย เพื่อความอยู่รอดของอุตสาหกรรมโดยส่วนรวม

รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง อาจจะทำงานประเภทที่ต้องอาศัยบทบาทของรัฐ เข้าไปแทรกแซงเพื่อสร้างเสถียรภาพ ลดความเสียหาย ชดเชยเพื่อความอยู่รอดนั้นทำได้ยาก เพราะสังคมไม่ไว้ใจ แต่รัฐบาลทหารอาจจะทำได้โดยไม่มีใครครหา ถ้าทำตรงไปตรงมา ผลตอบแทนต่อเศรษฐกิจคุ้มค่ากับงบประมาณที่ใช้ไป

ค่าใช้จ่ายในการโฆษณา ซึ่งเป็นรายได้หลักของอุตสาหกรรมสื่อสารมวลชน กำลังหดหายไปอย่างรวดเร็ว ถ้าจะต้องใช้นโยบายประชานิยมบ้างก็อาจจะเป็นประโยชน์ เพราะภาคธุรกิจทุกภาคต่างก็มีความสำคัญ ต่างสนับสนุนส่งเสริมภาคธุรกิจอื่นๆ เหมือนๆ กัน

ในยามนี้อะไรๆ ก็ล้วนแต่มีปัญหาและต้องการความช่วยเหลือกันทั้งนั้น แม้แต่สื่อ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image