เจาะเวลาหาอดีต กับการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.

ในปีนี้การเลือกตั้งท้องถิ่นน่าจะเป็นสนามการเลือกตั้งที่มีความน่าสนใจอยู่ไม่ใช่น้อย แม้ว่าจะไม่ใช่สนามการต่อสู้หลักทางการเมืองสนามเดียวที่จะเกิดขึ้นจากห้าสนามใหญ่ที่สอดประสานกัน

1.สนามการต่อสู้บนท้องถนน

2.สนามการต่อสู้ในโลกออนไลน์

3.นิติสงครามที่จะมีศูนย์กลางอยู่ในเรื่องของมาตรา 112

Advertisement

4.สนามการต่อสู้ในสภาที่จะสอดประสานกับสนามที่ 1 2 3 นั่นคือเรื่องของการอภิปรายไม่ไว้วางใจ และเรื่องสำคัญที่จะต้องมีการอภิปรายก็คือเรื่องที่มากกว่ามาตรการการจัดการโควิดในด้านสาธารณสุขและเศรษฐกิจ เพราะจะต้องมีเรื่องของประเด็นเรื่องวัคซีนที่แน่นอนว่าจะต้องมีเรื่องที่เกี่ยวกับประเด็นที่ 3 เป็นพิเศษ และคงจะต้องรอดูว่าสุดท้ายแล้วเรื่องนี้จะได้พูดไหม และจะมีรอยร้าวกันเองในหมู่ฝ่ายค้านหรือไม่ โดยเฉพาะท่าทีของเพื่อไทยเองที่จะเกี่ยวโยงกับมิติที่สามและมิติในเรื่องวัคซีน

5.การเลือกตั้งท้องถิ่นซึ่งโดยภาพรวมแล้วเรื่องของการปกครองท้องถิ่นนั้นจะมีเรื่องย่อยอยู่ 2 เรื่อง คือ

5.1 การเลือกตั้งท้องถิ่นในรูปแบบการปกครองท้องถิ่นต่างๆ ซึ่งจะมีอยู่ 5 รูปแบบใหญ่ๆ นั่นก็คือ 1.นายกและสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) 2.นายกเทศมนตรีและสมาชิกสภาเทศบาล 3.นายกและสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) 4.นายกและสมาชิกสภาเมืองพัทยา และ 5.ผู้ว่าราชการและสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (กทม.)

โดยจะเห็นได้ว่าในตอนปลายปีที่แล้วมีการเลือกตั้งนายกและสมาชิกสภา อบจ.ไปแล้ว และในเดือนมีนาคมที่จะถึงนี้จะมีการเลือกตั้งนายกเทศมนตรีและสมาชิกสภาเทศบาล ส่วนเรื่องของ อบต. เมืองพัทยา และ กทม.นั้นยังไม่มีการประกาศใดๆ

แต่กระนั้นในส่วนของ กทม.ก็มีข่าวการเคลื่อนไหวในเรื่องของการเลือกตั้งจากว่าที่ผู้สมัคร กทม.หลายๆ คน และจากพรรคการเมืองต่างๆ ที่เริ่มขยับในเรื่องนี้ ซึ่งจะเป็นประเด็นหลักที่จะกล่าวถึงในสัปดาห์นี้

5.2 การปรับแก้กฎหมายที่เกี่ยวเนื่องกับการปกครองท้องถิ่นและการกระจายอำนาจ หมายถึงว่าในเรื่องการเมืองการปกครองท้องถิ่นนั้น นอกเหนือจากเรื่องของการเลือกตั้งซึ่งเป็นประเด็นที่มักเป็นที่สนใจในวงกว้างแล้ว ยังมีเรื่องของการพูดถึงการเคลื่อนไหวในเรื่องของการปฏิรูปการปกครองท้องถิ่น ทั้งในเรื่องขององค์กร โครงสร้างหน้าที่ ตลอดจนความสัมพันธ์กับองค์กรอื่นๆ โดยเฉพาะกับการบริหารราชการแผ่นดินส่วนกลาง และการคลัง ซึ่งทั้งหมดนี้อยู่ในรูปของการเคลื่อนไหวในสภาเพื่อร่างกฎหมาย อาทิ เรื่องของร่างพระราชบัญญัติกำหนดกรอบและเป้าหมายการจัดทำบริการสาธารณะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือการที่ยังไม่มีการเคลื่อนไหวในเรื่องของการปรับปรุงพระราชบัญญัติการบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2528 โดยเฉพาะในส่วนของการหาโครงการองค์กรที่จะมาทดแทนสภาเขตที่ถูกยุบเลิกไปจากคณะกรรมการที่ตั้งโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

แม้ว่าการเลือกตั้งในท้องถิ่น อาจจะไม่ใช่สนามหลักในการต่อสู้ของการเมืองระดับชาติที่ชัดเจนเหมือนสนามทั้ง 4 ที่ผมได้กล่าวไปแล้ว แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าหากพิจารณาจากอดีตสู่ปัจจุบันนั้นการเมืองในระดับท้องถิ่น โดยเฉพาะการเมืองในระดับท้องถิ่นของกรุงเทพมหานครนั้นมีความเกี่ยวเนื่องกับการเมืองระดับชาติ
ในขณะที่ความเห็นของนักวิชาการส่วนใหญ่มักสรุปว่า การเลือกตั้ง อบจ.ที่ผ่านมานั้น การเมืองระดับชาตินั้นไม่ค่อยมีผลต่อการเลือกตั้งท้องถิ่นมากนัก (เมื่อเทียบกับเครือข่ายบ้านใหญ่ บ้านเล็ก) และพรรคการเมืองไม่ได้ส่งตัวแทนของตนลงไปครบทุกพื้นที่ อันเนื่องมาจากโดยกรอบกติกาการเลือกตั้งนั้น ไม่ได้บังคับว่าผู้สมัครทั้งผู้บริหารและสมาชิกสภาท้องถิ่นจะต้องสังกัดพรรคการเมือง ซึ่งแตกต่างจากการเลือกตั้งในระดับชาติที่มีความต่อเนื่องยาวนานของข้อบังคับว่า ผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจะต้องสังกัดพรรคการเมือง และมีกฎระเบียบมากมายที่เกี่ยวเนื่องกับพรรคการเมือง นับตั้งแต่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2521 2534 2540 2550 และ 2560

แต่กระนั้นก็ตาม ก็มีทั้งหลักฐานและข่าวลือ ข่าวอ้างกันมากมายว่าแม้พรรคบางพรรคไม่ประกาศส่งผู้สมัครใน อบจ. แต่ก็มีการอ้างอิงสัญลักษณ์หรือนำเอาบุคลากรของบางพรรคการเมืองเข้ามาสนับสนุนและเชื่อมโยงกับการเลือกตั้ง อบจ.ที่ผ่านมา

การพิจารณาประเด็นเรื่องของข้อบังคับว่าด้วยการ (ไม่มีการ) สังกัดพรรคการเมืองในการเลือกตั้งท้องถิ่น โดยเฉพาะในการเลือกตั้งระดับท้องถิ่นในกรุงเทพมหานคร ยิ่งในระดับของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครนั้นทำให้ได้พิจารณาเรื่องของการเมืองไทยมากกว่าเรื่องของการเลือกตั้งของ อบจ. ไม่ใช่แค่เรื่องของความสำคัญของกรุงเทพมหานครในฐานะเมืองหลวง เมืองโตเดี่ยว (primate city) และเมืองใหญ่ในฐานะเครือข่ายเมืองระดับโลก (global city) ที่มีประชากรมากที่สุด และมีอิทธิพลทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองมากที่สุดในประเทศเท่านั้น แต่มันทำให้เราย้อนกลับไปพิจารณาหนึ่งใน “ธรรมชาติ” ของการเมืองไทยที่ไม่ค่อยได้พูดกันมากนักเพราะเราถูกปิด/กลบ/ครอบไปด้วยความเชื่อว่าการเมืองประชาธิปไตยนั้นจะต้องถูกขับเคลื่อนโดยพรรคการเมือง

ทั้งที่เรามักจะเห็นเสมอว่าการเมืองที่ขับเคลื่อนโดยคุณลักษณะและบารมีของตัวบุคคลนั้นเป็นอีกมิติที่สำคัญของการเมืองไทยไม่น้อยกว่าเรื่องของพรรคการเมือง หรือคำว่าผู้นำทางการเมือง และความเป็นผู้นำทางการเมือง (political leadership) นั้นมีทั้งสองมิติที่เชื่อมโยงกัน นั่นก็คือตัวผู้นำรายบุคคล และตัวพรรคการเมือง เพราะผู้นำทางการเมืองนั้นมักจะเชื่อมโยงตัวเองกับพรรคการเมืองในระดับหนึ่ง และความเติบโตและเสื่อมความนิยมลงของพรรคการเมืองก็เชื่อมโยงกับเรื่องของตัวผู้นำทางการเมืองด้วย

ใ นกรณีของกรุงเทพมหานครนั้น การเมืองท้องถิ่นของกรุงเทพมหานครโดยเฉพาะในส่วนของการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครนับจากปี 2518 ในกฎหมายเก่า และในปี 2528 ภายใต้ พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานครในปัจจุบันนั้น มีมิติของความเป็นผู้นำทางการเมืองทั้งจากการที่ผู้สมัครลงสมัครในนามพรรคและลงในนามอิสระ และแม้ว่าจะลงสมัครในนามอิสระ ก็จะต้องมีการตั้งกลุ่มขึ้นมาสนับสนุน และแม้พรรคบางพรรคจะไม่ส่งผู้สมัครแต่ก็เป็นที่รับทราบกันอยู่ว่า บางทีการที่พรรคไม่ส่งผู้สมัครนั้นไม่ได้แปลว่าจะไม่มีการหลีกทาง หรือแอบสนับสนุน/สนับสนุนทางอ้อมให้กับผู้สมัครคนใดคนหนึ่ง

มากไปกว่านั้น บางทีการไม่ส่งผู้สมัครลงสมัคร แต่แอบช่วย หรืออาจจะส่งผู้สมัครก็อาจจะเป็นเพราะเรื่องของการต้องการถล่มด้วยความหมั่นไส้พรรคบางพรรคที่ได้รับความนิยมในยุคนั้น

ทั้งนี้ ด้วยบริบทที่ว่า การเลือกตั้งท้องถิ่นในกรุงเทพมหานครนั้น มันอยู่ในระนาบเวลาที่อาจจะอยู่หลังการเลือกตั้งระดับชาติก่อนหน้านั้น (หรืออาจจะหมายถึงการเลือกตั้งซ่อมที่มีก่อนหน้านั้น) และการเลือกตั้งระดับชาติที่อาจจะเกิดจากนั้นอีกไม่นาน เมื่อคาดเดาจากการดำรงตำแหน่งของรัฐบาลในสมัยนั้นว่าอาจจะเหลือเวลาอีกไม่นาน หรือผ่านครึ่งเทอมไปแล้ว

อย่าลืมว่าการเลือกตั้งท้องถิ่นในกรุงเทพมหานครนั้นนับตั้งแต่มีการประกาศใช้ พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2528 ไม่เคยมีครั้งไหนที่การเลือกตั้งนั้นมีการสะดุดหยุดชะงักลง ไม่ว่าจะผ่านการรัฐประหารมาถึงสองครั้ง คือ พ.ศ.2534 และ 2549 ก็จะมีแต่การรัฐประหารเมื่อปี 2557 ของ คสช.โดยการนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นี่แหละครับที่กล้าปลดผู้ว่าฯกทม. คือ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร และไม่ได้เปิดให้มีการเลือกตั้ง แต่ไปตั้งเอา พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง มาดำรงตำแหน่งแทน โดยไม่ได้ให้เป็นแค่รักษาการผู้ว่าฯ ซึ่งการกระทำนี้เป็นการทำลาย พ.ร.บ.กทม.2528 โดยปริยาย และละเมิดธรรมเนียมของการเมืองท้องถิ่นใน กทม. รวมทั้งยังไปยกเลิกสภาเขต และยุติการปฏิบัติหน้าที่ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ขณะที่ในต่างจังหวัดส่วนมากจะใช้วิธีให้ ส.อบจ. สท. และ ส.อบต. ที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในตำแหน่งต่อไป แม้จะหมดสมัยแล้ว และแม้สุดท้ายตัวผู้ว่าฯสุขุมพันธุ์เองไม่ได้มีความผิดตามข้อกล่าวหา แต่ก็ไม่ได้กลับเข้ามารับตำแหน่งต่อ และไม่มีการเลือกตั้งทดแทน

ในการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ครั้งแรกตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2518 เมื่อวันที่ 10 ส.ค.2518 นายธรรมนูญ เทียนเงิน จากพรรคประชาธิปัตย์ ได้รับการเลือกตั้งเป็นผู้ว่าฯกทม. ด้วยคะแนน 99,247 คะแนน ต่อมาเมื่อ 29 เมษายน 2520 ผู้ว่าฯกทม.ก็ถูกปลดโดยรัฐบาลหอย หรือรัฐบาลของนายธานินทร์ กรัยวิเชียร ที่มาจากรัฐประหาร 2519 และให้กลับไปใช้รูปแบบการแต่งตั้งเช่นเดิม

ต่อมาอีก 10 ปี จึงมี พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2528 ที่นำไปสู่การเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ครั้งที่ 2 เมื่อ 14 พ.ย.2528 โดย พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ในนาม “กลุ่มรวมพลัง” ได้รับการเลือกตั้งเป็นผู้ว่าฯกทม. ด้วยคะแนนเสียง 408,237 คะแนน

เกร็ดสำคัญในการเลือกตั้งครั้งนั้นก็คือก่อนที่การเลือกตั้งจะเกิดขึ้น การผลักดัน พ.ร.บ.นี้เป็นไปอย่างล่าช้า ด้วยว่าฝ่ายรัฐบาลเองก็กลัวว่าถ้า พ.ร.บ.นี้ผ่านออกมา ฝ่ายรัฐบาลซึ่งเป็นรัฐบาลผสมภายใต้การนำของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ นั้นจะเกิดการแตกแยกกันเอง เพราะต่างฝ่ายต่างต้องการที่จะครองชัยชนะให้ได้ในเขตกรุงเทพมหานคร เพราะในยุคสมัยนั้นการเลือกตั้งยังเป็นระบบที่เลือกเป็นเขตย่อย ไม่มีระบบบัญชีรายชื่อ ดังนั้น ตำแหน่งผู้ว่าฯกทม.จึงทรงอิทธิพลมาก เพราะเป็นการเลือกตั้งทางตรงที่เขตการเลือกตั้งที่กว้างที่สุด

ข ณะที่ในยุคนั้น เขตเลือกตั้งธรรมดาอาจจะประมาณ 1 แสน 5 หมื่นคน แต่ประชากร กทม. นั้นมีหลายล้านคน ยิ่งเมื่อนายกรัฐมนตรีนั้นไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แต่มาจากอิทธิพลทางการเมืองของทหารและถูกเชิญมาโดยนักการเมืองในสภาพที่ไม่ค่อยจะเต็มใจนัก การจะมีการเลือกตั้งที่มาจากประชาชนโดยตรงในยุคที่ยังมีข้อเสนอมาเสมอๆ ให้มีการเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีทางตรง (สมัยนั้นยังไม่มีนายก อบจ.ที่มาจากการเลือกตั้ง แต่ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดจากส่วนกลางนั่งเก้าอี้นี้ไปด้วยโดยตำแหน่ง)

นอกจากนั้น มีการเคลื่อนไหวของกลุ่มอาสาพัฒนา กทม.ของ พล.อ.มานะ รัตนโกเศศ มีการจับตามองอย่างมาก เชื่อกันว่าตัว พล.อ.มานะมีความเชื่อมโยงถึงระดับสูงของวงการรัฐบาล นอกจากนี้ย้อนกลับไป 2 ปีก่อนการผ่านพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานครในปี 2528 นั้น มีการจัดตั้งกลุ่มกรุงเทพก้าวหน้าโดยนักวิชาการและนักบริหารวิชาชีพจำนวนหนึ่งเริ่มอภิปรายในเรื่องของกรุงเทพฯ ในจำนวนนั้นรวมทั้ง นายมงคล สิมะโรจน์ อดีตรองผู้ว่าฯสมัยปี 2518 และอดีตสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ อยู่ในทีมนั้นด้วย และต้องย้อนกลับไปพิจารณาบริบททางการเมืองที่สำคัญอีก  2 เรื่อง ก็คือในช่วงก่อนหน้านั้นมีการพยายามเคลื่อนไหวการต่ออายุราชการของนายทหารระดับสูงและเป็นการแสดงออกซึ่งการขยายอำนาจของกองทัพ ซึ่ง พล.ต.จำลองในเวลานั้นในฐานะเป็นอดีตนายทหาร จปร.7 ที่สนับสนุน พล.อ.เปรมเข้าสู่อำนาจ และเป็นเลขาฯของนายกฯเปรม ก็ออกจากตำแหน่งและแสดงความไม่เห็นด้วยในเรื่องนี้ อีกทั้งเมื่อย้ายไปส่วนราชการอื่นก็ยังเป็นที่รู้จักของประชาชนในฐานะนายทหารที่เชื่อมั่นในแนวทางประชาธิปไตย (เรื่องราวเหล่านี้อาจจะเป็นคนละคนกับ พล.ต.จำลองในการรับรู้ของคนรุ่นใหม่ๆ)

อย่างไรก็ตาม ในช่วงแรกของการเปิดตัวผู้ที่สนใจลงสมัครรับเลือกตั้ง ก็ไม่มีใครแข่งบารมีของ พล.อ.มานะได้ จนพรรคอื่นๆ ก็ต่างไปเฟ้นหาตัวผู้สมัครที่มีภูมิหลังเป็นนายทหารหรือตำรวจ โดยพรรคประชาธิปัตย์มีข่าวจะส่ง พล.อ.หาญ ลีนานนท์ และพรรคประชากรไทยก็ส่ง พล.ต.ต.หม่อมราชวงศ์เจตจันทร์ ประวิตร จนกระทั่งเมื่อ พล.อ.มานะมีข้อมูลใหม่บางอย่าง (สมัยนั้นหมายถึงว่ามีคนที่มีอำนาจกว่าสั่งให้เปลี่ยนหรือยกเลิกในการตัดสินใจ) จึงมีการเริ่มขยับกันใหม่ โดย พล.ต.จำลองซึ่งเป็นที่รู้จักและชื่นชอบของประชาชนในวงกว้างจากความเป็นนายทหารที่เชื่อมั่นในหลักการประชาธิปไตย กล้าง้างกับการแผ่อำนาจของกองทัพ และมีภาพลักษณ์ของความสมถะ ก็ได้รับการโหวตจากพรรคกิจสังคมให้เป็นผู้สมัครของพรรค

แต่สุดท้าย พล.ต.จำลอง ก็ตัดสินใจลงอิสระ พรรคประชาธิปัตย์ส่ง ชนะ รุ่งแสง ผู้มีประสบการณ์ในภาคธุรกิจ ประชากรไทย ส่ง ม.ร.ว.เจตจันทร์ กลุ่มก้าวหน้าส่ง นายมงคล สิมะโรจน์ และพรรคมวลชนของ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ส่งนายชิงชัย ต่อประดิษฐ์

น อกเหนือจาก พล.ต.จำลองแล้ว ที่เหลือนั้นเป็นคนที่เชื่อมโยงกับพรรคประชาธิปัตย์ทั้งสิ้น (นายสมัคร หัวหน้าพรรคประชากรไทย และ ร.ต.อ.เฉลิม ก็เป็นศิษย์เก่าของพรรค ปชป.) และมีข่าวว่าการแข่งขันในครั้งนี้ก็คือการรุมกินโต๊ะพรรคประชาธิปัตย์ เพราะเพิ่งชนะในการเลือกตั้งซ่อมเขตสามเมื่อก่อนหน้านั้นไม่นาน และถ้าไม่ลงมาแข่งพรรคประชาธิปัตย์อาจจะครองความนิยมใน กทม.ต่อไปในการเลือกตั้งครั้งหน้า สุดท้าย พล.ต.จำลองก็ชนะ ตามมาโดยนายชนะ รุ่งแสง แห่งพรรคประชาธิปัตย์ (241,002) ม.ร.ว.เจตจันทร์ ประวิตร แห่งพรรคประชากรไทย (140,190) นายมงคล สิมะโรจน์ แห่งกลุ่มก้าวหน้า (63,557) และ นายชิงชัย ต่อประดิษฐ์ แห่งพรรคมวลชน (12,042) (ส่วนข้อมูลนี้มาจากงานวิจัยของอาจารย์สมบัติ จันทรวงศ์ (2530). การเมืองเรื่องการเลือกตั้ง : ศึกษาเฉพาะกรณีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร และสมาชิกสภาเขต พ.ศ.2528. มูลนิธิเพื่อการศึกษาประชาธิปไตยและการพัฒนา. ซึ่งผมถือว่าเป็นงานที่ให้รายละเอียดบริบทก่อนการเลือกตั้งในครั้งนั้นได้ชัดเจนและลึกซึ้งที่สุด)

ในการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ครั้งที่ 3 เมื่อ 7 มกราคม 2533 พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ได้ตัดสินใจตั้งพรรคพลังธรรมขึ้นมาก่อนหน้านั้นและลงสมัครในนามพรรคพลังธรรม ได้รับเลือกตั้งอีกครั้งหนึ่ง ด้วยคะแนนเสียง 703,672 คะแนน จะเห็นได้ว่าครั้งนี้ พล.ต.จำลองเอาชนะ นายเดโช สวนานนท์ จากพรรคประชากรไทย (283,895) นายประวิทย์ รุจิรวงศ์ จากพรรคประชาธิปัตย์ (60,947) นายนิยม ปุราคำ จากพรรคมวลชน (25,729) โดยมี นายวรัญชัย โชคชนะ ผู้สมัครในนามอิสระมาเป็นอันดับสี่ (13,143) และเป็นผู้สมัครอิสระที่มีคะแนนเสียงเกินหนึ่งหมื่นคะแนน

จากนั้นไม่นานในบรรยากาศทางการเมืองระดับชาติที่เข้มข้น หลังการรัฐประหารโดย รสช.ในปี 2534 และก่อนเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 พล.ต.จำลองนั้นยังไม่ครบวาระผู้ว่าฯ ก็ตัดสินใจลาออกจากตำแหน่ง และให้ ร.อ.กฤษฎา อรุณวงษ์ ณ อยุธยา รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในทีมเดียวกัน ลงสมัครในนามพรรคพลังธรรม เมื่อ 19 เมษายน 2535 (การเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ครั้งที่ 4) และได้รับเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียง 363,668 คะแนน เฉือนชนะ ดร.พิจิตต รัตตกุล แห่งพรรคประชาธิปัตย์ (305,740) ตามมาด้วย นายสมมต สุนทรเวช แห่งพรรคประชากรไทย (70,058) นายมติ ตั้งพานิช
แห่งพรรคความหวังใหม่ (3,685) และนายบุญเทียม เขมาภิรัตน์ ในนามอิสระ (2,943)

ก ารเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ครั้งที่ 5 มีขึ้นเมื่อ 3 มิถุนายน พ.ศ.2539 โดย ดร.พิจิตต รัตตกุล ซึ่งพ่ายแพ้ในคราวที่แล้วออกจากพรรคประชาธิปัตย์มาลงอิสระในนามกลุ่มมดงาน ได้รับเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียง 768,994 คะแนน ขณะที่อันดับสองคือ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ในนามพรรคพลังธรรม (514,401) อันดับสามคือ ร.อ.กฤษฎา อรุณวงษ์ ณ อยุธยา ที่ย้ายไปสังกัดพรรคประชากรไทย (244,002) และนายอากร ฮุนตระกูล ในนามอิสระ (20,985) โดยในครั้งนี้พรรคประชาธิปัตย์งดส่งผู้สมัคร และจะเห็นว่า ดร.พิจิตต ในนามอิสระ (ที่ ปชป.ไม่ลงแข่ง) เอาชนะอดีตผู้ว่าฯทั้งสองคนคือ พล.ต.จำลอง และ ร.อ.กฤษฎา และถ้ารวมคะแนนของสองคนนี้เข้าด้วยกันก็ยังแพ้ ดร.พิจิตตอยู่ดี

การเลือกตั้งผู้ว่ฯกทม.ครั้งที่ 6 มีขึ้นเมื่อ 23 กรกฎาคม พ.ศ.2543 โดยในครั้งนี้ นายสมัคร สุนทรเวช อดีตหัวหน้าพรรคประชากรไทยได้รับเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียง 1,016,096 คะแนน ซึ่งเป็นครั้งแรกที่คะแนนเสียงของตัวผู้ว่าฯแตะ 1 ล้านคะแนน ต่อจากนั้นคือ นางสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ แห่งพรรคไทยรักไทย (521,184) นายธวัชชัย สัจจกุล แห่งพรรคประชาธิปัตย์ (247,650) นายวินัย สมพงษ์ ในนามอิสระ (145,641) ซึ่งแต่เดิมก็อยู่กับพรรคพลังธรรม ดร.กัลยา โสภณพนิช   ในนามอิสระ (132,608) และนางปวีณา หงสกุล แห่งพรรคชาติพัฒนา (116,750) พึงสังเกตว่าในครั้งนั้นคุณหญิงสุดารัตน์อดีตเคยอยู่พรรคพลังธรรม ลงสมัครในนามพรรคไทยรักไทย ภายใต้การนำของ พ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งเคยเป็นหัวหน้าพรรคพลังธรรม ก่อนมาตั้งพรรคใหม่ และยังไม่ถึงการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อ 6 มกราคม 2544 ที่พรรคไทยรักไทยได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งทั่วไปและได้จัดตั้งรัฐบาล

การเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ครั้งที่ 7 มีขึ้น เมื่อนายสมัคร สุนทรเวช ดำรงตำแหน่งครบ 4 ปี จึงมีการเลือกตั้งผู้ว่าฯคนใหม่เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม พ.ศ.2547 โดยนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน จากพรรคประชาธิปัตย์ ได้รับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าฯกทม.ด้วยคะแนนเสียง 911,441 คะแนน (นายสมัครย้ายไปลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ว.กรุงเทพมหานคร) ความน่าสนใจอยู่ที่ในการเลือกตั้งครั้งนี้ เว้นนายอภิรักษ์นั้นทุกคนลงสมัครในนามอิสระ
โดยคะแนนลำดับต่อมาได้แก่นางปวีณา หงสกุล (619,039) ซึ่งมีข่าวลือว่าไทยรักไทยหนุนแต่มีการปฏิเสธข่าว นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ (334,168) ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง (165,761) ร.ต.อ.นิติภูมิ
นวรัตน์ (135,369) และอดีตผู้ว่าฯกทม. ดร.พิจิตต รัตตกุล แห่งกลุ่มมดงาน (101,220) ขณะที่นายกอบศักดิ์ ชุติกุล ในนามอิสระ แต่รับการสนับสนุนจากนายสมัคร ได้คะแนนเพียง (3,196) และการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นจุดเริ่มต้นของการครองอำนาจอันยาวนานของพรรคประชาธิปัตย์ในการเลือกตั้ง
ผู้ว่าฯกรุงเทพมหานครจนถึงการปลด ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ เมื่อ 18 ตุลาคม พ.ศ.2559 พึงสังเกตว่าการเลือกตั้งครั้งนี้เกิดขึ้นเมื่อความนิยมของพรรคไทยรักไทยและรัฐบาลของ พ.ต.ท.ทักษิณใน กทม.เสื่อมความนิยมและมีการชุมนุมของเสื้อเหลืองก่อนการทำรัฐประหารโดย คมช.เมื่อ 19 กันยายน 2549

การเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ครั้งที่ 8 จัดขึ้นในวันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ.2551 เมื่อนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ดำรงตำแหน่งครบวาระ 4 ปี และนายอภิรักษ์ในนามของพรรคประชาธิปัตย์ ก็ได้รับชัยชนะอีกครั้งหนึ่ง (991,018) ตามมาด้วยนายประภัสร์ จงสงวน แห่งพรรคพลังประชาชน (543,488) นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ในนามอิสระ (340,616) และ ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ ในนามอิสระ (260,051) พึงสังเกตว่าในช่วงระยะเวลาการหาเสียงนั้นยังอยู่ในช่วงที่รัฐบาลของพรรคพลังประชาชน ซึ่งเชื่อมโยงกับไทยรักไทยและ พ.ต.ท.ทักษิณนั้นอยู่ในสภาวะที่ถูกท้าทายอย่างหนัก มีม็อบเสื้อเหลืองในรอบสอง ปิดสนามบิน มีการปลดนายสมัคร และนายสมชาย  วงศ์สวัสดิ์ ขึ้นมาแทนแต่ก็ไม่เคยได้เข้าทำเนียบ อาจกล่าวได้ว่าการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ครั้งที่ 7 และ 8 อยู่ในช่วงขาลงของเครือข่าย พ.ต.ท.ทักษิณ ทั้งสองครั้ง

การเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ครั้งที่ 9 จัดขึ้นในวันที่ 11 มกราคม พ.ศ.2552 เนื่องจากนายอภิรักษ์ได้ลาออกจากตำแหน่ง หลังจากถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิดในคดีทุจริตจัดซื้อรถ-เรือดับเพลิง (ต่อมาศาลยกฟ้องในปี 2556) ในครั้งนั้น ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร จากพรรคประชาธิปัตย์ ได้รับชัยชนะ (934,602) ตามมาด้วย นายยุรนันท์ ภมรมนตรี จากพรรคเพื่อไทย (611,669) ม.ล.ณัฏฐกรณ์ เทวกุล ในนามอิสระ (334,846) และนายแก้วสรร อติโพธิ ในนามอิสระ/กลุ่มกรุงเทพฯใหม่ (ซึ่งสนับสนุนโดย พล.ต.จำลอง ศรีเมือง) (144,779) ในยุคนั้นเป็นยุคของรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ แห่งพรรคประชาธิปัตย์

ก ารเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ครั้งที่ 10 จัดขึ้นเมื่อ 3 มีนาคม พ.ศ.2556 หลัง ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ลาออกก่อนครบวาระเพียงหนึ่งวัน โดย ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ในนามพรรคประชาธิปัตย์ได้รับการเลือกตั้งเป็นสมัยที่สอง (1,256,349) ตามมาด้วย พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ จากพรรคเพื่อไทย (1,077,899) พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส (166,582) และนายสุหฤท สยามวาลา (78,825) โดยครั้งนี้มีการแข่งขันที่สูสีและมีคะแนนสูงของทั้งสองพรรคหลักในยุคการขัดแย้งสีเสื้อ และอยู่ในช่วงที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จากพรรคเพื่อไทยเป็นนายกรัฐมนตรี และผลคะแนนสะท้อนในระดับหนึ่งถึงคะแนนนิยมในกรุงเทพมหานครของการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อ 3 กันยายน 2554 ที่ทั้งพรรคประชาธิปัตย์และพรรคเพื่อไทยมีคะแนนสูสี โดยประชาธิปัตย์มีคะแนนนำเล็กน้อย

ที่กล่าวมาทั้งหมดนั้น (ข้อมูลตัวเลขทั้งหมดมาจากวิกิพีเดีย “การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร”) ชี้ให้เห็นว่าข้อมูลส่วนเล็กๆ นี้ยังเสนอความซับซ้อนของการเลือกตั้งท้องถิ่นในกรุงเทพมหานครในส่วนของการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. นี่ยังไม่นับรวมไปถึงการเลือกตั้ง ส.ก.และ ส.ข. แต่ข้อถกเถียงเรื่องการลงในนามพรรค หรืออิสระ หรือพรรคกับตัวบุคคลอันไหนสำคัญกว่ากันนั้นไม่ใช่ข้อถกเถียงที่ชี้ขาดทั้งหมด เพราะการเมืองระดับชาติและความรู้สึกนึกคิดของประชาชนในกรุงเทพมหานครมีส่วนสำคัญในการกำหนดการตัดสินใจการลงสมัครผู้ว่าฯและการตัดสินใจเลือกผู้ว่าฯ

ดังนั้น ในรอบนี้ผมคิดว่ายังเร็วเกินไปที่จะตัดสินฟันธงว่าใครจะได้เป็นผู้ว่าฯกรุงเทพมหานคร เพราะคนที่จะลงยังไม่เปิดตัวอีกมาก และคนที่เปิดตัวอาจจะถอยได้ และพรรคแต่ละพรรคอาจจะส่งลงเอง หรือไม่ส่งแต่ช่วยผู้สมัครอิสระบางท่านก็ได้

ที่สำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ การเคาะเลือกตั้งในครั้งนี้ยังอยู่ในมือผู้มีอำนาจซึ่งยังไม่ตัดสินใจเคาะ และเอาเข้าจริงไม่มีความชอบธรรมใดๆ ในการหน่วงรั้งการเลือกตั้งท้องถิ่นในกรุงเทพฯทั้งสิ้น เพราะในอดีตการเลือกตั้ง กทม.นับจากการมี พ.ร.บ.2528 นั้นไม่เคยสะดุดหยุดชะงักลง ผู้เล่นแต่ละคนแม้จะลาออกหรือจะอยู่ในช่วงความขัดแย้งทางการเมือง และการรัฐประหาร ก็ไม่เคยเข้ามาก้าวก่ายการดำเนินไปของการบริหาร กทม.ในฐานะองค์กรที่สะท้อนความเป็นประชาธิปไตยในระดับท้องถิ่น

มีแต่รัฐบาลเผด็จการสมัย ธานินทร์ กรัยวิเชียร และ ประยุทธ์ จันทร์โอชา เท่านั้นแหละครับ ที่ปลดผู้ว่าฯและแต่งตั้งคนที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งเข้ามาบริหารและไม่เปิดให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ไปตามครรลองของมัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image