เหนือความงามคือ‘ชีวิต’ บ้านขุนพิทักษ์รายา ปัตตานี บันทึกประวัติศาสตร์ที่ไม่อาจเปิดข้าม

บ้านขุนพิทักษ์รายา เลขที่ 251 ถนนปัตตานีภิรมย์ ตำบลอาเนาะรู อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี

“อาคารหลังนี้ คือสถานที่เกิดของ คุณแม่ศรีสุมาลย์ สุวรรณมงคล ทำให้ผมมีความรู้สึกผูกพันกับบรรพบุรุษที่ได้ก่อสร้างและอยู่อาศัยในบ้านหลังนี้ จึงตั้งใจที่จะบูรณะ ฟื้นฟูและอนุรักษ์สถาปัตยกรรมทั้งภายนอกและภายในให้คงไว้เหมือนเดิม เพื่อแสดงความกตัญญูกตเวทิตาต่อบรรพบุรุษ และทดแทนพระคุณแม่ในโอกาสอายุมงคลครบ 7 รอบ 84 ปี ของท่าน และเพื่อให้ทายาทรุ่นต่อไปได้สืบทอดอาคารแห่งนี้ไว้เป็นแหล่งเรียนรู้ของผู้ที่สนใจ เกิดประโยชน์สูงสุดแก่จังหวัดปัตตานี แผ่นเดินเกิดของคุณแม่”

คือคำกล่าวของ อนุพาสน์ สุวรรณมงคล กรรมการผู้จัดการกลุ่มอีซูซุหาดใหญ่ ผู้ริเริ่มการบูรณะฟื้นฟู บ้านขุนพิทักษ์รายา อันเป็นที่พักอาศัยของผู้คนในตระกูลสืบต่อมาถึง 4 รุ่นในห้วงเวลา 1 ศตวรรษ นับแต่ก่อสร้างขึ้นในย่านการค้าของชุมชนชาวจีนในปัตตานีเมื่อราวพุทธศักราช 2460 กระทั่งทรุดโทรมลงตามกาลเวลา

เป็นข้อความที่เปี่ยมไปด้วยอารมณ์ความรู้สึก บ่งบอกเจตนารมณ์ พร้อมๆ กับสะท้อนแนวคิดการอนุรักษ์ในความหมายสมัยใหม่ที่เน้นการ ‘คงไว้ให้เหมือนเดิม’ ไม่ใช่ทุบ รื้อ สร้างใหม่ ซึ่งทั้งง่ายดาย และใช้ทรัพยากรน้อยกว่าอย่างเทียบกันไม่ได้

การบูรณะสถาปัตยกรรมแห่งนี้แล้วเสร็จเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2562 ด้วยความร่วมแรงร่วมใจของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ด้วยความสามารถและทุ่มเทสุดกำลังของสถาปนิกและนายช่าง อีกทั้งทีมงานที่มีรายชื่อยาวเหยียดปรากฏในหนังสือ ‘บ้านขุนพิทักษ์รายา ปัตตานี’ ซึ่งบอกเล่าความเป็นมานับแต่อิฐก้อนแรกถูกก่อขึ้นเป็นรากฐานอาคาร เรื่องราวของชีวิตผู้คนที่เคยอาศัยอยู่ และที่สำคัญยิ่งคือขั้นตอนการบูรณะที่ผ่านการค้นคว้าอย่างลึกซึ้ง และดำเนินงานอย่างรอบคอบ จนกลับมางดงามบนความร่วมสมัยโดยไม่ทอดทิ้งประวัติศาสตร์อันทรงคุณค่าไว้เบื้องหลัง

Advertisement
ห้องบรรพบุรุษ ภาพตรงกลางคือ นางวไล (ซุ่ยเอี้ยน) วัฒนายากร บุตรสาวขุนพิทักษ์รายา มารดาของ
คุณศรีสุมาลย์ สุวรรณมงคล ขนาบด้วยภาพนางพิทักษ์รายา (เซ่งขิ้ม) และขุนพิทักษ์รายา(บั่นซิ่ว)

เรือนแถว ‘หัวตลาด’ ในย่านจีน
บนถนนสาย ‘ปัตตานีภิรมย์’

บ้านขุนพิทักษ์รายาตั้งอยู่ท่ามกลางชุมชนหัวตลาด บนถนนสายเล็กๆ ชื่อว่า ปัตตานีภิรมย์ ขนานกับแม่น้ำปัตตานี ย่านการค้าและพักอาศัยของชุมชนชาวจีนกลุ่มแรกๆ ที่เข้ามายังเมืองแห่งนี้ จึงนับเป็นพื้นที่สำคัญของประวัติศาสตร์การตั้งถิ่นฐานของผู้คน

ขุนพิทักษ์รายา ที่มาของชื่อบ้าน มีนามภาษาจีนว่า บั่นซิ่ว เป็นบุตรของ พระจีนคณานุรักษ์ (จูล่าย ตันธนวัฒน์) กับ นางเบ้งซ่วน แซ่จุ่ง เกิดเมื่อวันจันทร์ เดือน 10 ปีมะแม ตรงกับ พ.ศ.2413 ในแผ่นดิน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

Advertisement

ตัวอาคารเป็นเรือนแถว 2 ชั้น 2 คูหา 2 ช่วงเสา รูปแบบผสมผสานระหว่างสถาปัตยกรรมท้องถิ่นและสถาปัตยกรรมจีน ชั้นล่าง มีโครงสร้างเป็นผนังรับน้ำหนักโดยใช้อิฐก่อและฉาบ

ด้วยปูน ชั้น 2 เป็นโครงสร้างเสาคาน เสาไม้เชื่อมต่อลงมาถึงชั้นหนึ่งของบ้าน หลังคาส่วนหน้าเป็นทรงจั่ว ส่วนหลังเป็นทรงปั้นหยา ทั้งหมดมุงด้วยกระเบื้องดินเผามุงหลังคาแบบปลายแหลม การวางผังแบ่งออกเป็น 2 ส่วนหลัก โดยยังยึดถือคติความเชื่อแบบดั้งเดิม คือ ด้านหน้าเป็นพื้นที่กึ่งส่วนตัว ด้านหลังและชั้นสองใช้สำหรับพักผ่อน โดยพื้นที่ทั้งสองถูกเชื่อมด้วยลานกลางหาว หรือ ‘ฉิมแจ้’ ลานโล่งกลางบ้านตามหลักฮวงจุ้ย เป็นที่ตั้งของบ่อน้ำและช่วยถ่ายเทอากาศให้หมุนเวียน เย็นสบาย

ไม่เพียงสำคัญต่อประวัติศาสตร์ครอบครัว ตระกูลและบ้าน หากแต่ยังเป็นส่วนสำคัญของประวัติศาสตร์เมือง ปรากฏภาพถ่ายเก่าครั้งคณะผู้แทนตรวจเยี่ยมราษฎรหน้าบ้านขุนพิทักษ์รายา เมื่อปี 2484 รวมถึงในภาพถ่ายในช่วงเหตุการณ์ยกพลขึ้นบกของกองทัพญี่ปุ่นในปีเดียวกัน ย้อนไปไกลกว่านั้นคือสมัยรัชกาลที่ 5 มีการกล่าวถึงตำแหน่งบ้านหลังนี้คราวเสด็จประพาสปัตตานี

ด้านข้างของบ้าน ยังเคยเป็นท่าเรือขนาดเล็กสำหรับส่งผู้โดยสารและสินค้าไปยังเรือภาณุรังษี ของบริษัทอีสต์เอเชียติก ซึ่งเดินเรือระหว่างกรุงเทพฯกับสิงคโปร์ โดยแวะรับผู้คนและข้าวของตามเมืองท่าต่างๆ ธิดาขุนพิทักษ์รายา นามว่า วไล (ซุ่ยเอี้ยน) วัฒนายากร ยังเคยพาบุตรสาวลงเรือลำนี้เดินทางจากปัตตานีไปเรียนตัดเย็บเสื้อผ้าที่โรงเรียนลิฟวิ่ง กรุงเทพฯ

กระเบื้องมุงหลังคามีอักษรอาหรับ เขียนว่า ‘ดิน กระเบื้อง ที่ กรือเซะ’

ค้นเอกสาร ขุดฐานราก
คุย ‘ประจักษ์พยาน’ ในห้วงศตวรรษ

ด้วยความยาวนานของการอยู่อาศัย ตัวบ้านถูกเปลี่ยนแปลงลักษณะทางกายภาพหลายครั้ง การค้นคว้าเพื่อใช้ประกอบการบูรณะจึงต้องมี เพื่อเชื่อมร้อยรูปแบบในอดีตกับการใช้งานในปัจจุบันให้รองรับซึ่งกันและกัน โดยมีการสำรวจตัวอาคารเดิมอีกทั้งลงพื้นที่สัมภาษณ์ผู้คนในชุมชนซึ่งเป็นประจักษ์พยานของประวัติศาสตร์ระยะใกล้ พบว่าในช่วงท้ายๆ มีการให้เช่าทำเป็นโรงกลึง ผนังและพื้นจึงเสียหายจากเครื่องจักรซึ่งมีน้ำหนักมาก ทั้งยังถูกต่อเติมบางส่วนของอาคาร การผุกร่อนและความชื้น ยังคงเป็นปัญหาพื้นฐานที่พบได้ทั่วไป

การเริ่มต้นบูรณะโดยขุดสำรวจฐานราก ยังนำมาซึ่งการค้นพบหลักฐานทางโบราณคดี อย่างภาชนะดินเผาหลายรูปแบบไม่ว่าจะเป็น เครื่องถ้วยจีนเขียนลวดลายสีน้ำเงิน จนถึงเครื่องปั้นดินเผาจากแหล่งเตาท้องถิ่นที่บ้านดี ตำบลบราโหม อำเภอเมืองปัตตานี สะท้อนความเชื่อในการ ‘ฝังของมงคล’ ลงเสาเอก โดยในพิธีกรรมการสร้างบ้านของคนจีนจะนำถ้วยชามและแผ่นป้ายมงคลวางลงในหลุมเสา

ชั้นล่างของบ้าน แม้ทรุดโทรมแต่ยังโดดเด่นด้วยกระเบื้องพิมพ์ลายซึ่งสันนิษฐานว่านำเข้าจากยุโรปมาในปีนัง มาเลเซียซึ่งปัตตานีเป็นคู่ค้า เมื่อบูรณะจึงสั่งผลิตใหม่ให้ใกล้เคียงที่สุดจากบริษัทกระเบื้องงาม เชียงใหม่

ปักหมุด 2480 คืนความทรงจำแห่งยุคสมัย

สำหรับแนวทางการบูรณะ เน้นการอนุรักษ์เพื่อย้อนกลับไปยังยุคสมัยที่ ศรีสุมาลย์ สุวรรณมงคล มารดาของ อนุพาสน์ สุวรรณมงคล เจ้าของโครงการ เติบโตภายในบ้านหลังนี้ นั่นคือช่วงปี 2480 คณะทำงานจึงยึดสภาพดั้งเดิมของบ้านในยุคดังกล่าวเป็นหลักโดยพิจารณาเลือกวัสดุสำหรับบูรณะซึ่งเป็นวัสดุเดิมภายในบ้าน ร่วมยุคกับอาคาร มาจากแหล่งผลิตในพื้นที่เดิม มีการผลิตแบบเดิม หรือเป็นวัสดุทดแทนที่ใกล้เคียงวัสดุเดิมแม้ใช้เทคโนโลยีการผลิตในรูปแบบใหม่ เน้นย้ำความประณีตในทุกรายละเอียด

เริ่มจากการสร้างหลังคาชั่วคราวคลุมพื้นที่บ้าน เพื่อป้องกันแดด ลม ฝนระหว่างการรื้อหลังคากระเบื้องดินเผาเดิมออก ขนย้ายลงเพื่อทำความสะอาด โดยผู้บริหารและพนักงานกลุ่มอีซูซุหาดใหญ่ร่วมกันขัดล้างและเซ็นชื่อลงบนกระเบื้องคนละ 1 แผ่น เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2560 ทาน้ำยาเคลือบกันความชื้น แล้วซ่อมโครงหลังคาที่เสียหาย จากนั้นปรับระดับอาคารที่ทรุดลง เสริมฐานราก ปูกระเบื้องตามแบบเดิมทั้งซีเมนต์พิมพ์ลายสีเหลืองสดใส และกระเบื้องดินเผาหน้าวัวเรียบง่าย ให้ความรู้สึกอบอุ่น กะเทาะผนังปูนชั้นล่างที่ผุกร่อน เผยให้เห็นอิฐก่อภายใน ส่วนผนังชั้นบนที่เป็นไม้ฝา ถูกรื้อแล้วขัดสีเก่า เติมไม้ที่มีรูปพรรณใกล้เคียงไปทดแทนส่วนที่ชำรุด อาทิ ไม้ตะเคียน ไม้หลุมพอ และไม้เคี่ยม

ประตูจีนแบบฮกเกี้ยน บานเฟี้ยมหน้าบ้าน และหน้าต่างโดยรอบ ได้รับการปรับเปลี่ยน ซ่อมแซมให้ฟื้นคืนจากความเสียหายด้วยไอทะเลจนเกิดสนิม

สีน้ำเงิน ฟ้า ครีม ถูกระบายลงบนวัสดุภายในตัวบ้านโดยอ้างอิงอย่างเคร่งครัดจากภาพถ่ายเก่า บทสัมภาษณ์ และการขูดสีเพื่อเทียบเคียงโทนให้ถูกต้อง

ภาพมุมสูงย่านหัวตลาด มีถนนปัตตานีภิรมย์ตัดเลียบแม่น้ำปัตตานี บริเวณใกล้เคียงเป็นที่ตั้งศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว

ความทรงจำของบ้าน ประวัติศาสตร์ของเมือง

การบูรณะให้เป็นไปตามหลักวิชาการทั้งยังสอดรับกับการใช้งานปัจจุบัน ไม่ใช่เรื่องง่าย ทว่า ด้วยความทุ่มเทของทุกฝ่าย ย่อมไม่มีสิ่งใดยากจนเกินไป

อดิศักดิ์ วัฒนะตันทะ กล่าวในนามทีมสถาปนิก ว่าความรู้สึกที่แปลกใหม่บังเกิดขึ้นจากการได้รับรู้ความรู้สึกของผู้อยู่อาศัยที่ถ่ายทอดผ่านรอยยิ้มและแววตา ขณะเจ้าของบ้านบอกเล่าความหลังของบ้านผ่านเรื่องราวในอดีตให้ลูกหลานและแขกผู้มาเยี่ยมเยือนได้ฟัง

“ปกติแล้วผู้คนมักชื่นชมความงามจากรูปลักษณ์ภายนอกของอาคารเสียส่วนมาก แต่องค์ประกอบทั้งหลายของอาคารนี้ ตั้งแต่ความเป็นมา ประวัติเจ้าของบ้าน ความเชื่อ ตลอดจนปัจจัยทางภูมิศาสตร์ในลุ่มแม่น้ำปัตตานี ห่างจากทะเลเพียง 3 กิโลเมตร ส่งผลให้คณะปฏิบัติงานต้องศึกษาข้อมูลอย่างรอบคอบตั้งแต่ก่อนเริ่มงาน นำมาสู่การวิเคราะห์ และพัฒนาวิธีที่ก่อให้เกิดความคงทน แต่ยังคงไว้ซึ่งความที่ชัดเจนดังเดิม”

หลังการบูรณะ ห้องหับต่างๆ ภายในบ้านกลับฟื้นคืนชีวิต แม้กระทั่งมุมเล็กๆ อย่างครัวเตาถ่าน ซึ่งอ้างอิงจากบ้านชาวเปอนารากัน ในรัฐปีนัง มาเลเซีย ทั้งยังเผยประวัติศาสตร์การอนุรักษ์ ดังเช่น ห้องบรรพบุรุษและโถงต้อนรับแขกซึ่งปรากฏผนังไม้เจาะช่องให้เห็นผนังก่ออิฐเดิม

นอกจากนี้ ยังมีห้องนิทรรศการ จัดแสดงเรื่องราวการบูรณะ ไม่ว่าจะเป็นภาพก่อน-หลัง ชิ้นส่วนถ้วยชาม กระเบื้องซีเมนต์เก่า ตะปูชุบ ตีนเสา และอีกมากมาย พื้นห้องยังเป็นของเดิมที่จงใจเก็บรักษาไว้เป็นอย่างดี

100 ปีของบ้านขุนพิทักษ์รายา เปรียบเสมือนบันทึกเล่มใหญ่ในประวัติศาสตร์เมืองปัตตานีอันเป็นส่วนหนึ่งในประวัติศาสตร์ชาติที่คนไทยไม่อาจเปิดข้าม


 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image