สุจิตต์ วงษ์เทศ : ย่านสำเพ็ง มาจากเจ๊กบางจีน

ริมแม่น้ำเจ้าพระยา กรุงเทพฯ ตั้งแต่ราวท่าพระจันทร์ ถึงท่าเตียน เคยมีชุมชนคนจีนทำมาค้าขายตั้งแต่ยุคอยุธยา เรียก บางจีน

เมื่อจะสร้างวังหลวงกรุงรัตนโกสินทร์ ย้ายชุมชนบางจีนไปอยู่ย่านสำเพ็งสืบจนทุกวันนี้

พบหลักฐานสำคัญชื่อย่านบางจีนอยู่ในกลอนเพลงยาวของหม่อมภิมเสน (กวีสมัยพระเจ้าเอกทัศน์) พรรณนาการเดินทางจากพระนครศรีอยุธยา จะไปเมืองเพชรบุรี แวะค้างคืนเมืองธนบุรี มีกลอนตอนหนึ่ง บอกว่า

ถึงบางจีนชื่อเช่นเหมือนชื่อพี่ ชื่อสิมีนึกหน้าแล้วแฝงหน้า

Advertisement

ท่านบอกบทกำหนดสักวามา จะถึงท่าประทับที่บุรีธน

หม่อมภิมเสน เป็นกวีมีชีวิตอยู่ในราชสำนักยุคปลายอยุธยา กลอนเพลงยาวเรื่องนี้ อ.ล้อม เพ็งแก้ว เรียกนิราศเมืองเพชรบุรี เพราะเพลงยาวคือนิราศ หรือนิราศหมายถึงเพลงยาว แต่งด้วยกลอนเพลงยาว

เพลงยาวหม่อมภิมเสน ถือเป็นต้นแบบนิราศ ส่งแรงบันดาลใจให้สุนทรภู่แต่งนิราศต่างๆ แล้วเรียกตนเองว่า “อาลักษณ์นักเลงทำเพลงยาว”

เรือหม่อมภิมเสนจากอยุธยา จอดพักค้างคืนหน้าวัดแจ้ง รุ่งขึ้นออกเรือเข้าคลองบางกอกใหญ่ (จะแยกไปคลองด่าน ออกมหาชัย เมืองสมุทรสาคร แล้วไปเมืองเพชรบุรี) มีกลอนเพลงยาวเอ่ยนามชัดเจนว่า

พลกรรเชียงเขาก็ตีกรรเชียงคล่อง ลอยล่องเข้าคลองบางกอกใหญ่

คลองบางกอกใหญ่ ได้ชื่อตั้งแต่ยุคอยุธยา แต่ด้วยเหตุสับสนกลใด ยังหาคำอธิบายได้ไม่ชัด สมัยหลังคนบางกลุ่มเรียกชื่อซ้อนว่า คลองบางหลวง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image