ไทยพบพม่า : อนาคตของกลุ่มชาติพันธุ์ในพม่าตอนล่าง

ไทยพบพม่า : อนาคตของกลุ่มชาติพันธุ์ในพม่าตอนล่าง
ซอ มูทู เซ โป (Saw Mutu Say Po) ผู้นำ KNU คนปัจจุบัน (ซ้าย) กับอดีตประธานาธิบดีเต็ง เส่ง (ขวา)

หลังพม่าได้รับเอกราชในปี 1948 พม่าตอนล่างกลายเป็นศูนย์กลางความขัดแย้ง หรือเรียกว่าเป็น “แหล่งบ่มเพาะ” (hotbed) สงครามกลางเมือง เป็นความขัดแย้งของกลุ่มชาติพันธุ์หลากหลายกลุ่มกับรัฐบาล/กองทัพพม่ามาจวบจนปัจจุบัน กลุ่มชาติพันธุ์ในพม่าตอนล่างที่มีบทบาทอย่างสูงต่อการกำหนดทิศทางการเมืองพม่าในยุคแรกๆ คือกลุ่มกะเหรี่ยง ไม่ว่าจะเป็นชาวกะเหรี่ยงพุทธหรือคริสต์ ที่มี KNU หรือ Karen National Union เป็นองค์กรทางการเมืองหลัก และมี KNLA (Karen National Liberation Army) และ KNDO (Karen National Defence Organisation) เป็นกองกำลังที่สนับสนุนการดำเนินงานของ KNU อีกต่อหนึ่ง หน่วยงานทั้งหมดนี้มีบทบาทมาอย่างต่อเนื่อง และยังคงแอ๊กทีฟมาจวบจนปัจจุบัน

ภายใต้การปกครองของรัฐบาลทหาร นับแต่ยุคนายพลเน วิน ที่ตั้งคณะปฏิวัติ (RC) ขึ้นมาในปี 1962 จนถึงรัฐบาลทหารภายใต้การบริหารของ SLORC และ SPDC การสู้รบระหว่างกองกำลังฝ่ายรัฐบาลพม่า และกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ก่อให้เกิดปัญหาผู้อพยพจำนวนนับแสนคนในหลายๆ รัฐของพม่า แต่ที่เป็นปัญหามากที่สุดคือชาวกะเหรี่ยงที่หลบหนีสงครามเข้ามาลี้ภัยในฝั่งของไทย ปัจจุบันก็ยังมีค่ายผู้ลี้ภัย (พื้นที่พักพิงชั่วคราว) 9 แห่งตลอดเขตชายแดนไทย-พม่า

เมื่อยุคเผด็จการทหารสิ้นสุดลง (อย่างน้อยก็ในทางพฤตินัย) เมื่อรัฐบาลนายพลเต็ง เส่งขึ้นมาบริหารในปี 2011 หนึ่งในภารกิจหลักของรัฐบาลเตง เส่งคือการเร่งให้เกิดสันติภาพ หลังจากพม่ามีสงครามกลางเมืองมาแล้วกว่า 60 ปี ดังนั้น รัฐบาลเต็ง เส่งจึงออกกระบวนการสันติภาพมาในปี 2011 และนำไปสู่การลงนามในข้อตกลงยุดยิงทั่วประเทศ (National Ceasefire Agreement หรือ NCA) อีก 4 ปีต่อมา เมื่อรัฐบาลพลเรือนภายใต้การนำของ NLD เข้ามารับไม้ต่อจากรัฐบาลเต็ง เส่ง แน่นอนว่าวาระหลักของของด่อ ออง ซาน ซูจี และคณะรัฐมนตรีของเธอคือการเดินหน้าเจรจาสันติภาพ เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าที่ผ่านมาความขัดแย้งทางชาติพันธุ์นี้ทำให้พม่าเสียโอกาสการพัฒนาและการลงทุนไปมากมาย และยังทำให้พัฒนาการทางการเมืองของพม่าเป็นไปได้ช้ามาก

การประชุมสันติภาพแห่งสหภาพ (Union Peace Conference) หรือที่เรียกด้วย “ชื่อเล่น” ว่า “การประชุมปางหลวงแห่งศตวรรษที่ 21” จึงถือกำเนิดขึ้นในปี 2016

Advertisement

การนำชื่อ “ปางหลวง” มาใช้ เพื่อฟื้นคืนจิตวิญญาณปางหลวง หรือข้อตกลงที่นายพลออง ซานลงนามร่วมกับผู้นำกลุ่มชาติพันธุ์อีกเพียง 3 กลุ่ม ได้แก่ ฉาน กะฉิ่น และฉิ่น ทำให้ “จิตวิญญาณปางหลวง” ที่ว่านี้เต็มไปด้วยปัญหา และการกันกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ ออกไปแบบกลายๆ แม้รัฐบาลพลเรือนพม่าจะประสบความสำเร็จดึงองค์กรและกองกำลังของกลุ่มชาติพันธุ์ 10 กลุ่ม รวมทั้ง KNU และสภาสันติภาพร่วมระหว่าง KNU กับ KNLA มาร่วมลงนามได้ตั้งแต่ปี 2015 แต่การปะทะกันระหว่างกองกำลังทั้ง 2 ฝ่ายก็ยังเกิดขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะเมื่อมีโครงการการพัฒนาในเขต KNU เรียกว่าเป็นการปะทะจากการ “ทับไลน์” กันก็คงไม่ผิดนัก ยกตัวอย่างในปี 2018 กองทัพพม่าเริ่มสร้างถนนเข้าไปในเขตของกะเหรี่ยง ใกล้เมืองพะปัน (Hpapun) ที่ห่างจากพะอัน (Hpa-an) เมืองเอกของรัฐกะเหรี่ยงไปทางตอนใต้ราว 176 กิโลเมตร เกิดกรณีพิพาทมีชาวบ้านที่ส่วนใหญ่เป็นกะเหรี่ยงราว 3,000 คนต้องอพยพออกจากหมู่บ้านของตน ซึ่งอยู่ในพื้นที่ก่อสร้าง

แน่นอนเหตุการณ์นี้สร้างความไม่พอใจให้กับกองกำลังฝั่งกะเหรี่ยง และเกิดการปะทะกันเรื่อยมาตั้งแต่ 2018-2019 แม้กะเหรี่ยงจะลงนามในข้อตกลงหยุดยิงกับรัฐบาลพม่าแล้วก็ตาม เวลาผ่านไปเกือบปี ในที่สุด กองทัพและ KNU ก็ไปพบกันที่เนปิดอว์และตกลงกันเพื่อหยุดยิงชั่วคราว จากการหารือเบื้องตน KNU กล่าวหาว่ากองทัพแอบใช้โดรนสอดแนมเข้าไปในหมู่บ้านชาวกะเหรี่ยงในเขตพะปันหลายสิบครั้งจนทำให้ชาวบ้านตื่นตกใจ จนทำให้ KNLA ต้องไปยื่นเรื่องประท้วงกับกองทัพภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่เมาะละแหม่ง เมืองเอกของรัฐมอญ และที่กองทัพภาคใต้ที่เมืองตองอู ในเขตพะโค ฝั่งกองทัพพม่าก็โต้ตอบว่าตนจำเป็นต้องยิงโต้ตอบทหารฝ่าย KNLA ที่มีพฤติกรรม “ก้าวร้าว”

ผู้นำของ KNU และกองกำลังกะเหรี่ยงเชื่อว่ากองทัพพม่าอาจแค่ต้องการสร้างถนนบังหน้า แต่วาระซ่อนเร้นที่แท้จริงคือต้องการเข้าไปสอดแนมในเขตอิทธิพลของ KNU ข่าวคราวการปะทะกันระหว่างกองกำลังกะเหรี่ยงกับกองทัพพม่าเงียบหายไปนาน อาจเป็นเพราะมีกองกำลังฝ่ายอื่น โดยเฉพาะกองทัพอาระกัน หรือ AA และกองกำลังกลุ่มชาติพันธ์อื่นๆ ที่ตั้งอยู่ในรัฐฉานทางตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ดูจะแอคทีฟกว่า KNU มากในช่วงไม่กี่ปีมานี้ แต่เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ก็เกิดความตึงเครียดที่แถบเมืองพะปันขึ้นอีกครั้ง เมื่อกองทัพพม่าจุดไฟเผาบ้านของคนกะเหรี่ยงในหมู่บ้านแม่วิน (Mae Win) ใกล้เมืองพะปัน

Advertisement

เหตุการณ์นี้เป็นเหตุการณ์ใหญ่ที่ทำให้นักสิทธิมนุษยชนหลายคนต้องออกมาประณามการกระทำของทั้งกองทัพและรัฐบาลพม่า ที่ปล่อยให้กองพันทหารราบเบาที่ 339 เข้าโจมตีหมู่บ้านของประชาชนธรรมดา

นักสิทธิมนุษยชนพม่ารายหนึ่งถึงกับเขียนลงเฟซบุ๊กของตนเองว่า “กองทัพพม่าก่ออาชญากรรมสงครามอีกครั้งหนึ่ง โดยได้งบประมาณสนับสนุนจากรัฐสภา NLD” ขิ่น โอมาร์
(Khin Omar) นักสิทธิมนุษยชนชื่อดัง กล่าวประณามเหตุการณ์ความรุนแรงในครั้งนี้ว่า “กองทัพพม่ากำลังก่ออาชญากรรมสงครามครั้งแล้วครั้งเล่า กองทัพยังใช้ความรุนแรงอยู่ โดยที่รัฐบาล (รัฐบาล NLD-ผู้เขียน) ยังปกปิดอาชญากรรมนี้ต่อไป…คณะรัฐมนตรีทั้งกะบิยังโกหกโลกต่อไปเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนในพม่า”

KNLA ไม่ลงรอยกับรัฐบาลและกองทัพพม่ามาเนิ่นนานแล้ว แต่ความเกลียดชังดังกล่าวถูกปกปิดไว้ในฐานะที่ KNU และ KNLA เป็นหนึ่งในผู้ลงนามในข้อตกลงหยุดยิงทั่วประเทศ เมื่อเกิดการโจมตีหมู่บ้านชาวกะเหรี่ยงขึ้น กองกำลังที่ 5 ของ KNLA ก็ไม่ยอมเปลี่ยนสถานที่จัดงานวันปฏิวัติกะเหรี่ยง (Karen Revolution Day) ในวันที่ 31 มกราคม ก่อนหน้านี้ กองทัพส่งจดหมายไปให้สำนักงานประสานงานของ KNU ที่เมืองพะอันเพื่อขอให้กองกำลังกะเหรี่ยงทั้งหมดจัดงานฉลองวันปฏิวัติกะเหรี่ยงที่ฐานที่มั่นใหญ่ของ KNU ที่เด ปู โน (Day Pu Noh) แทนที่จะเป็นที่เมืองที ลอ เท ทา (Htee Law Thay Htah) ไม่ปรากฏชัดว่าเหตุใดกองทัพพม่าจึงต้องการให้ KU/KNLA จัดงานรำลึกวันปฏิวัติกะเหรี่ยงที่เด ปู โนเท่านั้น

ความพยายามเข้าไปแทรกแซงกิจการภายในของ KNU นี้สร้างความไม่พอใจให้กับผู้นำ KNU และกองกำลังอื่นๆ ทั้งหมด เพราะถือว่าตลอดหลายปีที่ผ่านมา ข้อตกลงหยุดยิงทั่วประเทศเป็นเพียงลมปาก หรือเป็นพิธีกรรม ที่จะให้รัฐบาล NLD นำไป “ขาย” ในวงการการเมืองโลกเพื่อชี้ให้เห็นว่าพม่าจริงจังจริงใจกับการเดินหน้าสู่ความปรองดองและการพัฒนาสู่ประชาธิปไตยที่แท้จริง

แต่ในความเป็นจริง กองทัพพม่ายังสู้รบกับกองกำลังติดอาวุธของกลุ่มชาติพันธุ์หลายกลุ่มพร้อมๆ กัน และไม่มีทีท่าว่ากลุ่มชาติพันธุ์จะยอมถอย ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาล NLD กับกองทัพเองก็แย่ลงตามลำดับ ไม่ว่า NLD จะเปลี่ยนแนวทางการเจรจาสันติภาพไปในทิศทางใด แต่การได้เห็นสันติภาพที่แท้จริงในพม่าในช่วงชีวิตของเรานี้คงเป็นเรื่องที่ยากมาก

ลลิตา หาญวงษ์
[email protected]

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image