โรงเรียนยกกำลังสอง

สภาผู้แทนราษฎรประชุมสัปดาห์ที่แล้ว มีมติให้ตั้งกรรมาธิการวิสามัญติดตามการดำเนินงานตามแผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา เป็นการสร้างกลไกใหม่เพิ่มเติมขึ้นมาจากเดิม ซึ่งมีกรรมาธิการสามัญด้านการศึกษาอยู่แล้ว

ถามว่าบทบาท อำนาจ หน้าที่ของกรรมาธิการทั้งสองชุดนี้แตกต่างกันอย่างไร ไม่เข้าข่ายทำงานซ้ำซ้อนกันหรือ

คำตอบจากมุมมองของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรก็ว่า ไม่ซ้ำซ้อน แต่กลับเป็นการเสริมซึ่งกันและกัน โดยกรรมาธิการวิสามัญที่ตั้งขึ้นมาใหม่มีภารกิจจำเพาะเจาะจง พุ่งเป้าไปที่ติดตามความคืบหน้าของการปฏิรูปการศึกษาเป็นหลัก ขณะที่กรรมาธิการสามัญทำเรื่องทั่วๆ ไป แล้วแต่จะมีมติให้หยิบยกเรื่องใดขึ้นมาศึกษา ก่อนทำความเห็นเสนอไปยังรัฐบาล

ที่ผ่านมาการติดตามความคืบหน้าการปฏิรูปการศึกษา โดยสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาก็มีมาตามลำดับ โดยคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษาและด้านอื่นๆ จะนำเสนอรายงานความคืบหน้าทุก 3 เดือน ซึ่งถูกตั้งคำถาม วิพากษ์วิจารณ์ตลอดมา ในทำนองเดียวกันว่า คืบหน้าช้ามาก หรือไม่ก็ไม่คืบหน้าเท่าที่ควร

Advertisement

ประเด็นสำคัญจึงมีว่า เหตุใดการดำเนินการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษาและด้านอื่นๆ ไม่คืบหน้าเท่าที่ควรในสายตาของสมาชิกรัฐสภา ความไม่คืบหน้าดังกล่าวเกิดขึ้น เพราะเหตุใด ใครควรเป็นเจ้าภาพในการปฏิบัติให้เกิดความคืบหน้า

ถ้าติดตามความเคลื่อนไหวเฉพาะด้านการปฏิรูปการศึกษามาตามลำดับจะพบว่า มีข้อเสนอต่างๆ มากมาย ตั้งแต่บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ การเกิดขึ้นของคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) จนมาถึงคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา

ส่งไปให้รัฐบาลดำเนินการ เวลาผ่านไปเกิดความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเรื่อยมา เสียงวิจารณ์ยังมีเนื้อหาคงเดิม คือ ไม่คืบหน้าเท่าที่ควร

Advertisement

ข้ออ้างของฝ่ายบริหารผู้กำหนดนโยบายก็เป็นไปแบบแผ่นเสียงตกร่อง การศึกษาเป็นเรื่องใหญ่ ละเอียดอ่อน การเปลี่ยนแปลงต้องใช้เวลา ไม่ใช่วันนี้พรุ่งนี้ เป็นคำอธิบายอมตะทุกยุคทุกสมัย

แต่หากพิจารณาถึงความเป็นจริงที่เกิดขึ้น สาเหตุประการหนึ่งทำให้การปฏิรูปเกิดความล่าช้า เพราะมุมมองต่อประเด็นที่ควรปฏิรูปก่อนหลังของฝ่ายรัฐบาลกับฝ่ายนำเสนอแผนปฏิรูปแตกต่างกัน

โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐบาลเห็นว่า อำนาจการตัดสินใจในการเลือกเรื่องใดขึ้นมาดำเนินการก่อนหลังเป็นบทบาท หน้าที่ของตน ในฐานะฝ่ายบริหาร นั่นเอง

ทั้งๆ ที่ปากก็ว่าเห็นด้วย ยอมรับกับสิ่งที่กรรมการปฏิรูปเสนอแทบทุกอย่าง แต่ในทางปฏิบัติกลับกลายเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

ฉะนั้น จำเลยหลักของกรรมาธิการฯทั้งสองสภาจึงหนีไม่พ้นรัฐบาล รัฐมนตรีต้นสังกัดของกระทรวงนั้นๆ หาใช่ฝ่ายข้าราชการประจำซึ่งต้องปฏิบัติตามนโยบาย คำสั่งการของฝ่ายการเมือง ซึ่งตกที่นั่ง หนังหน้าไฟมาตลอด

เรื่องใดที่ฝ่ายการเมืองขานรับ รับซื้อสิ่งที่คณะกรรมการปฏิรูปเสนอขายการปฏิบัติก็อาจเห็นความคืบหน้าอยู่บ้าง แต่หากเรื่องใดที่ฝ่ายการเมืองเห็นต่าง เพราะเห็นว่านโยบายของตนดีกว่า สำคัญกว่า ขายได้มากกว่า สร้างคะแนนนิยมได้สูงกว่า ก็จะผลักดันแนวทางของตัวเองก่อน ข้อเสนอต่างๆ ของกรรมการปฏิรูปก็ถูกวางเฉย หรือเก็บไว้ก่อน ค่อยเอามาว่ากันภายหลัง

ตัวอย่างรูปธรรมที่ผมกล่าวถึงเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว กรณีแนวทางปฏิรูปครู การผลิตและพัฒนาครู เป็นต้น

ขณะที่ฝ่ายนโยบายพยายามเสนอแนวทางใหม่ โรงเรียนยกกำลังสอง นักเรียนยกกำลังสอง และครูยกกำลังสอง คำถามคือ แล้วการปฏิบัติเพื่อรองรับนโยบายยกกำลังสองดังกล่าว คืออะไร

กล่าวเฉพาะโรงเรียนยกกำลังสองก็คือ สิ่งที่กระทรวงศึกษาธิการพยายามผลักดันอยู่ขณะนี้ คือ การยกระดับคุณภาพโรงเรียน ในรูปของโรงเรียนดีสี่มุมเมือง โรงเรียนคุณภาพประจำชุมชน การควบรวมโรงเรียนแบบยกแผงทีเดียวหลายโรง ให้เกิดการทำงานร่วมกันระหว่างผู้จัดการศึกษาทุกระดับ และทุกประเภท

ขณะที่ที่ผ่านมา กรรมการอิสระเพื่อปฏิรูปการศึกษาเสนอแนวทางโรงเรียนนิติบุคคล เพื่อให้มีอิสระในการบริหารและจัดการศึกษา จะทำให้การปฏิรูปการศึกษาเป็นจริง

ประเด็นมีว่า ระหว่างโรงเรียนดีสี่มุมเมือง โรงเรียนคุณภาพประจำชุมชน ควบรวมโรงเรียนแบบยกแผงทีเดียวหลายโรง กับการยกฐานะโรงเรียนเป็นนิติบุคคล สัมพันธ์กันอย่างไร ไปด้วยกันได้อย่างกลมกลืนหรือไม่

จุดต่างทางนโยบายระหว่างเร่งกระจายอำนาจ ยกระดับโรงเรียนให้เป็นนิติบุคคลแก่โรงเรียนที่มีความพร้อม กับควบรวมยกแผงก่อนแล้วค่อยยกระดับเป็นโรงเรียนนิติบุคคลภายหลัง ควรวางน้ำหนักไปที่แนวทางใดถึงจะมีโอกาสเป็นไปได้มากกว่า เพราะเกิดปัญหาน้อยกว่าและส่งผลต่อการปฏิรูปการศึกษาเร็วกว่า

ผู้ชี้ขาดการตัดสินใจเลือกแนวทางใดก่อนหลัง ก็คือรัฐบาล โดยเฉพาะเจ้ากระทรวงนั้นๆ เป็นหลัก

ทั้งๆ ที่ข้อเสนอให้ยกฐานะโรงเรียนเป็นนิติบุคคลเกิดขึ้นมานานแล้ว แต่ไม่เป็นจริง ทำให้การปฏิรูปการศึกษาคืบหน้าล่าช้า ไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงถึงระดับปฏิรูป จนต้องตั้งกรรมาธิการฯติดตามคณะแล้วคณะเล่า

ข้อเสนอแนวทางยกฐานะโรงเรียนเป็นนิติบุคคล ที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้มีตั้งแต่เมื่อไร สาระเป็นอย่างไร สัปดาห์หน้าจะว่ากันครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image