มาเตรียมรับมือ นักท่องเที่ยวเศรษฐีจีนรุ่นใหม่กันเถอะ! โดย มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด

หลังจากผ่านครึ่งปีแรกไป ผู้ว่าการ ททท.ได้ออกมาให้สัมภาษณ์เมื่อปลายเดือนกรกฎาคมว่า จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาไทยถึง 16.67 ล้านคน สร้างรายได้กว่า 8.24 แสนล้านบาท หากรวมกันกับค่าใช้จ่ายนักท่องเที่ยวไทยอีก 4.16 แสนล้านบาท จาก 75 ล้านทริป กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาคาดว่าจะได้รายได้ท่องเที่ยวรวม 1.24 ล้านล้านบาท จนการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ต้องปรับตัวเลขจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่คาดหมายเป็น 34 ล้านคนแล้ว และรายได้เป้าหมายจาก 2.3 ล้านล้านบาท เป็น 2.56 ล้านล้านบาท รายได้จากการท่องเที่ยวนับว่าเป็นเสาหลักของเศรษฐกิจไทยในช่วงที่บรรยากาศเศรษฐกิจด้านอื่นๆ ยังอึมครึม

ถึงแม้ข้อมูลของสถาบันวิจัยนักท่องเที่ยวของจีน (COTRI) จะระบุว่าอัตราการเจริญเติบโตที่นักท่องเที่ยวจีนออกต่างประเทศจะเริ่มชะลอลงแล้ว และจุดหมายปลายทางเช่นฮ่องกงและมาเก๊าเริ่มลดลง ทำให้ส่วนแบ่งการตลาดของ 2 เขตเศรษฐกิจนี้ที่เคยสูงถึงร้อยละ 59 เหลือเพียงร้อยละ 51 แต่ไทยก็ยังมีการขยายตัวอยู่ถึงร้อยละ 9.8 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน

แน่นอนละค่ะว่านักท่องเที่ยวจากประเทศจีนเป็นกลุ่มหลักในการสร้างรายได้แต่ ททท.และกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาก็ยืนยันว่าจำนวนนักท่องเที่ยวไม่ใช่เป้าหมายหลักแต่เป็นค่าใช้จ่ายต่อหัวต่างหาก

แต่ในเรื่องค่าใช้จ่ายต่อหัวคนจีนก็ไม่เบาเหมือนกัน โดยทั่วไปค่าใช้จ่ายต่อหัวของคนจีนจะสูงกว่าค่าเฉลี่ยของทุกๆ ชาติ ยิ่งเป็นเศรษฐีก็ยิ่งจ่ายมาก ลองมาดูการสำรวจดังต่อไปนี้

Advertisement

การสำรวจ The Chinese Luxury Travel 2016 เศรษฐี Gen Y (อายุ 18-36 ปี) ซึ่งมีทรัพย์สินในระดับ 200 ล้านบาทขึ้นไปของรายงานใน Marriott International ให้ข้อมูลที่น่าสนใจสำหรับการทำตลาดระดับไฮโซ เศรษฐี Gen Y นี้มีค่าใช้จ่ายครอบครัวสำหรับการท่องเที่ยวถึง 420,000 หยวน หรือ 2 ล้านบาทต่อปี เถ้าแก่และเถ้าแก่เนี้ยน้อยเหล่านี้มีรายได้จากการลงทุนร้อยละ 42 จากค่าจ้างร้อยละ 23 และจากมรดกร้อยละ 20 จากกลุ่มนี้ ร้อยละ 77 แต่งงานแล้ว ประมาณร้อยละ 75 แต่งงานแล้วมีบุตร 1 คน สำหรับกลุ่มหลังนี้เวลาท่องเที่ยวก็ต้องสะพายลูกไปด้วย

การสำรวจนี้ให้เสนอว่า WeChat เป็นแหล่งข้อมูลที่สำคัญที่สุดของกลุ่มนี้ แบบแผนพฤติกรรมของกลุ่มนี้เปลี่ยนจากการเดินทางเพื่อพักผ่อนไปเป็นการสำรวจโลก การท่องเที่ยวแบบผจญภัย เช่น การเดินทางโดยรถยนต์และครุยซ์มากขึ้น ส่วนลักษณะการท่องเที่ยวที่กลุ่มนี้สนใจน้อยลงจะเป็นการไปชมเทศกาลงานอีเวนต์ การไปตีกอล์ฟ ด้วยกระแสที่เปลี่ยนไปนี้ ประเทศกลุ่มตะเกียบ ได้แก่ ประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงที่เป็น short haul destination เช่น ญี่ปุ่น เกาหลี ฮ่องกง มาเก๊า ไต้หวัน จะเริ่มมีอัตราขยายตัวที่ลดลงสำหรับกลุ่ม Luxury การเดินทางระยะไกล เช่น อเมริกา หมู่เกาะแปซิฟิก และ Oceania แอฟริกา จะเริ่มมีอัตราขยายตัวที่ดีขึ้น ราคาของการท่องเที่ยวระยะไกลไม่ใช่ปัญหา เพราะกลุ่มนี้จ่ายถึง 500,000 บาทต่อการเดินทาง 1 ครั้ง

ในจีน บริษัททัวร์ที่เศรษฐีจีนใช้ได้มากที่สุด 10 อันดับแรกในปี 2016 ได้แก่ My Tour, Ctrip, 8 Continents, HH Travel, Zenadu, Imperial Tour, CITS, CITS Amex, Diadema CYTS, Wild China และ CTS ในขณะที่ American Express ยังถูกยกย่องว่าเป็น Outbound เอเยนต์ที่ดีที่สุดสำหรับการท่องเที่ยวในมาเก๊าและไต้หวัน

Advertisement

คำแนะนำสำหรับบริษัททัวร์ที่ต้องการรับนักท่องเที่ยวจีนก็คือ ต้องสามารถให้บริการเฉพาะกลุ่ม (personalized services) มีทักษะและความสามารถสูงในการติดต่อ online หรือดิจิตอล อินเตอร์แอ๊กชั่น และสามารถเสนอจุดหมายปลายทางที่น่าตื่นตาตื่นใจ น่าผจญภัย

ประเทศไทยโชคดีที่ยังเป็นประเทศที่มีวัฒนธรรมแตกต่างไปจากจีนมากกว่าประเทศกลุ่มตะเกียบดังที่กล่าวมาแล้ว จึงเป็นประเทศที่ยังมีความน่าพิศวง (amazing) สำหรับจีนมากกว่าประเทศกลุ่มตะเกียบ และมีความน่าสนใจเรื่องอาหาร รวมทั้งราคาอาหารทะเลไทยก็ถูกกว่าจีนมาก

นักท่องเที่ยว Gen Y ก็เหมือนนักท่องเที่ยว Hiso รุ่นใหม่ของไทยที่นิยมชมชอบการดำน้ำดูปะการัง ซึ่งไทยนับว่าเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ให้บริการด้านนี้ดีที่สุดแห่งหนึ่ง แม้ฟิลิปปินส์และอินโดนีเซียจะมีแหล่งที่บริสุทธิ์กว่า แต่การรองรับกลุ่ม Hiso จะทำไม่ได้ดีเท่ากับเรา เราจึงมีภาษีดีกว่า ปัญหาหลักก็คือ ทรัพยากรปะการังมีความเปราะบาง การดึงราคาขึ้นและรับแต่ผู้มีความสนใจพิเศษจึงเป็นแนวทางที่ถูกทาง นอกจากดำน้ำดูปะการังแล้ว อาจทำ trip ขี่ช้างไปดูพระอาทิตย์ตกดินบนยอดเขา

ในขณะเดียวกันเราก็ต้องเฝ้าระวังสิ่งแวดล้อมเพราะอาจเกิดผลกระทบจากการมีนักท่องเที่ยวจำนวนมาก ผู้เขียนขอปรบมือให้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ได้จับนายโจว หงจี นักท่องเที่ยวชาวจีนที่ฝ่าฝืน พ.ร.บ.ส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเล เป็นการประเดิมมาตรา 17 เป็นคนแรกเมื่อ 26 พฤษภาคม 2558 ที่เกาะไข่นอก จ.พังงา ที่จริงควรต้องปรับไกด์และบริษัทด้วย

ผู้เขียนเคยไปเกาะไข่และเห็นไกด์ให้ถุงพลาสติกนักท่องเที่ยวเพื่อนำปลาที่นักท่องเที่ยวล่อให้เข้ามากินขนมปังใส่ถุงเพื่อนำกลับไป ทั้งๆ ที่รู้ว่าไม่นานปลาก็จะตายบนรถทัวร์ ลูกชายผู้เขียนเป็นนักดำน้ำก็เคยเห็นนักท่องเที่ยวจีนเอาฉมวกไปยิงปลา อยากให้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งจับไปเรื่อยๆ ค่ะ อย่าเพิ่งเหนื่อย

ต้องขอย้ำว่า แม้เราอยากได้รายได้จากการท่องเที่ยวก็จริง แต่เราก็จะไม่เอาทรัพยากรท่องเที่ยวไม่ว่าจะเป็นธรรมชาติหรือวัฒนธรรมที่มีค่าไปแลกกับเงินจากนักท่องเที่ยว จึงต้องมีมาตรการรุกเพื่อสร้างรายได้และมาตรการรับเพื่อป้องกันความเสื่อม การสูญเสียทรัพยากร ถ้าอยากรู้ว่ามาตรการรับที่ดีเป็นอย่างไร ก็ให้ดูตัวอย่างของวัดร่องขุ่นและมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) หลังจากได้อึดอัดกับนักท่องเที่ยวจีนจนแทบจะปิดวัดไปก็ปรับใหม่ โดยเก็บค่าเข้าชมนำเงินที่ได้มาจ้าง รปภ.เฝ้าระวังไม่ให้นักท่องเที่ยวมือบอนทุกจุดสำคัญ อบรมไกด์ (แบบเฉลิมชัย) และจัดไกด์และบริษัทให้คุมนักท่องเที่ยวให้เป็นระบบ ส่วน มช.ก็ไม่ให้นักท่องเที่ยวจีนเดินเพ่นพ่านอีกต่อไป จัดให้ไปซื้อตั๋วรถไฟฟ้าชมมหาวิทยาลัยพร้อมฟังคำบรรยายภาษาจีน ผลกระทบที่เคยมีก็เริ่มควบคุมได้ แถมยังสร้างรายได้ให้แก่มหาวิทยาลัยเพิ่มอีกด้วย จะเห็นได้ว่าผลประโยชน์จากการท่องเที่ยวจะได้เป็นกอบเป็นกำเป็นกำไรสุทธิก็ต่อเมื่อมีการจัดการที่ดี มีระบบ มีกติกา มีการตั้งรับที่ดี

ถ้าตั้งรับไม่พร้อม ความเสียหายจะตกแก่ลูกหลานตลอดไปนะคะ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image