ซักฟอก ‘บิ๊กตู่’-9 รมต. ร้อนแรง สุ่มเสี่ยง ตั้งแต่ยื่นญัตติ

ซักฟอก ‘บิ๊กตู่’-9 รมต. ร้อนแรง สุ่มเสี่ยง ตั้งแต่ยื่นญัตติ

ต้องยอมรับว่าการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลรอบนี้ ดุเดือดกันตั้งแต่ยื่นญัตติ

เมื่อวันที่ 25 มกราคมที่ผ่านมา นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) พร้อมแกนนำและสมาชิกพรรคร่วมฝ่ายค้าน 6 พรรค ยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล

นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้รับญัตติ

มีรัฐมนตรีที่อยู่ในข่ายถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจรวม 10 คน

Advertisement

1.พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม 2.พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ 3.นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข 4.นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ 5.พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย

6.นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย 7.นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน 8.นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ 9.นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และ 10.ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

ญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้มี ส.ส.ร่วมลงชื่อในญัตติจำนวน 208 คน

Advertisement

นอกจากพรรคฝ่ายค้านแล้ว ยังมี ส.ส.พรรคเศรษฐกิจใหม่ และพรรคไทยศรีวิไลย์ ร่วมลงชื่อด้วย

ญัตติดังกล่าวเขียนกล่าวหารัฐมนตรีอย่างดุเดือด

กล่าวหา พล.อ.ประยุทธ์ ว่า บริหารราชการแผ่นดินล้มเหลว ผิดพลาดบกพร่องอย่างร้ายแรง ไร้ประสิทธิภาพ ไร้คุณธรรม จริยธรรม ไร้ภาวะผู้นำ ไร้จิตสำนึกและความรับผิดชอบ มีพฤติการณ์ฉ้อฉล ทุจริต ปล่อยปละละเลยให้มีการทุจริตเพื่อสร้างความร่ำรวย มั่งคั่งให้กับตนเองและพวกพ้อง ก่อให้เกิดความเสียหายต่อประเทศทั้งระบบเศรษฐกิจ สังคม และกระบวนการยุติธรรมอย่างร้ายแรง

กล่าวหา พล.อ.ประวิตร ทำตัวเป็นผู้มีอิทธิพล ใช้งบประมาณของรัฐเพื่อสร้างความร่ำรวย มั่งคั่งให้กับตนเอง แสวงหาประโยชน์อันมิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองและพวกพ้อง

กล่าวหา นายอนุทิน ไม่ควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลให้มีการแพร่ระบาดในรอบสองอย่างกว้างขวางและรวดเร็ว สร้างความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ

กล่าวหา นายจุรินทร์ ลอยตัวหนีปัญหา เลือกปฏิบัติ พูดอย่างทำอย่าง ไม่ยึดถือหลักธรรมาภิบาล และไม่ปฏิบัติตามหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี

กล่าวหา พล.อ.อนุพงษ์ ใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่แสวงหาผลประโยชน์ เพื่อตนเองและพวกพ้อง ใช้กลไกทางกฎหมายเพื่อวางแผนในการทุจริตอย่างเป็นระบบและแยบยล ปล่อยปละละเลยให้องค์กรในกำกับมีการทุจริตอย่างกว้างขวาง

กล่าวหา นายณัฏฐพล ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ไม่เคารพหลักการสิทธิมนุษยชน ละเว้นและบกพร่องในการปฏิบัติหน้าที่

กล่าวหา นายสุชาติ ปล่อยปละละเลยให้มีการแสวงหาประโยชน์จากผู้ใช้แรงงาน ไม่กำกับควบคุมผู้ใช้แรงงานต่างด้าวให้เป็นระบบ จนเกิดแรงงานผิดกฎหมายจำนวนมาก

กล่าวหา นายศักดิ์สยาม เอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุนผูกขาด เพื่อให้มีสิทธิดำเนินงานในกิจการของรัฐ โดยไม่รักษาผลประโยชน์ของรัฐ

กล่าวหา นายนิพนธ์ ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ขาดคุณธรรมและจริยธรรม ใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่แสวงหาผลประโยชน์ให้ตนเองและพวกพ้อง

และกล่าวหา ร.อ.ธรรมนัส ทำตัวเป็นผู้มีอิทธิพลกร่างเถื่อน และสร้างอิทธิพลให้กับบริวารและพวกพ้องเสนอให้แต่งตั้งคู่สมรสที่อยู่กินฉันสามีภรรยาเป็นข้าราชการการเมือง เป็นต้น

ในบรรดาข้อกล่าวหาทั้งหมด มีข้อกล่าวหา พล.อ.ประยุทธ์ ว่าแอบอ้างสถาบันรวมอยู่ด้วย

เมื่อเป็นเช่นนี้ วันต่อมาพรรคพลังประชารัฐได้เปิดเกมรุกกลับ โดยเสนอให้พรรคร่วมฝ่ายค้านไปแก้ญัตติ พร้อมกับขู่ว่าหากไม่แก้ไข จะประท้วงจนการอภิปรายไม่ไว้วางใจล่มลง

ทั้งนี้ พรรคพลังประชารัฐได้ยื่นเรื่องให้พรรคร่วมฝ่ายค้านแก้ญัตติ โดย นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้เรียกประชุมเพื่อหารือ โดยที่ประชุมเสนอให้พรรคร่วมฝ่ายค้านไปปรับแก้ถ้อยคำบางคำ

อย่างไรก็ตาม เมื่อ นายสุทิน คลังแสง ประธานวิปฝ่ายค้านนำข้อเสนอดังกล่าวเข้าไปประชุมกับพรรคร่วมฝ่ายค้านอีกครั้ง

ปรากฏว่าพรรคร่วมฝ่ายค้านยืนยันว่า ไม่มีข้อความใดที่ละเมิดรัฐธรรมนูญ และขัดข้อบังคับ

พรรคฝ่ายค้านจึงไม่ขอแก้ไขญัตติ และขอให้ นายชวน บรรจุวาระภายใน 7 วัน

รุ่งขึ้นหลังจากพรรคฝ่ายค้านปฏิเสธที่จะแก้ญัตติ นายสิระ เจนจาคะ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ ประกาศแจ้งข้อหาพรรคฝ่ายค้าน กระทำผิด ม.112

ประเด็นร้อนแรงดังกล่าวได้เพิ่มอุณหภูมิในการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้

ความจริงแล้ว การอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งที่จะถึงนี้มีความร้อนแรงอยู่แล้ว

ประการแรก รัฐบาลบริหารราชการแผ่นดินมาระยะหนึ่ง ได้ปรากฏแผลจากการบริหารหลายแห่ง ขณะเดียวกัน กระแสความไม่พอใจต่อผลการบริหารของรัฐบาลก็เพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ

ประการที่สอง ในห้วงเวลาปัจจุบัน รัฐบาลที่เคยใช้การป้องกันโรคโควิด-19 มิให้ระบาดได้เป็นผลงานเด็ด แต่เมื่อเกิดกรณี “การ์ดตก” และเกิดการระบาดจากบ่อนการพนันขนาดใหญ่ รวมไปถึงการเปรียบเทียบการฉีดวัคซีนให้คนไทยกับนานาชาติ

ย่อมส่งผลให้ฝ่ายรัฐบาลต้องตอบคำถามมาก

ประการที่สาม ด้านพรรคฝ่ายค้านเองก็ต้องเอาจริงเอาจังกับการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้ เพราะการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งที่ผ่านมาเกิดข้อผิดพลาด

ทำให้ พล.อ.ประวิตร พล.อ.อนุพงษ์ ไม่ถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจ เนื่องจากกรณี “ผิดคิว”

ดังนั้น หากครั้งนี้พรรคฝ่ายค้านเกิด “ผิดคิว” จนถูกกล่าวหาว่า “มวยล้มต้มคนดู” อีกหน ย่อมไม่ใช่เรื่องที่น่าพอใจ

และเมื่อความร้อนแรงเดิมที่มีอยู่ ผนวกกับประเด็นญัตติที่กำลังแรงร้อนอยู่ในขณะนี้

ยิ่งทำให้อุณหภูมิการเมืองปะทุขึ้น

อย่างไรก็ตาม แม้การเมืองจะร้อนแรงปานใด แต่เมื่อทุกฝ่ายเข้ามาอยู่ในกติกาประชาธิปไตย ทุกคนต้องดำเนินไปตามครรลอง

น่าสังเกตว่า การอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้ได้สะท้อนภาพความเคลื่อนไหวนอกสภาของกลุ่มคนรุ่นใหม่เข้ามาผนวกด้วย

อาจจะมองได้ว่า ข้อข้องใจ แนวคิด และความสงสัยที่ออกนอกสภา กำลังขยับเข้ามาอยู่ในสภา

ดังนั้น การอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้ อาจจะเป็นอีกเวทีในการตอบคำถาม และสร้างความเข้าใจให้เกิดขึ้นได้

แต่ขณะเดียวกันก็สามารถขยายผลบานปลายกลายเป็นไฟลุกไหม้การเมืองได้เช่นกัน

ทุกอย่างยังคงอยู่ที่ข้อมูล ข้อเท็จจริง และวุฒิภาวะของบรรดาผู้ที่เกี่ยวข้อง

แม้ตามข้อมูล จาก “บันทึกประเทศไทย ปี 2563” ของ สำนักพิมพ์มติชน ที่ระบุว่า ผลการลงมติการอภิปรายไม่ไว้วางใจวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ปี 2563 จำนวน 6 คน รัฐมนตรีแต่ละคนจะผ่านฉลุย

แต่เสียงโหวตก็ไม่เท่ากัน วนเวียนอยู่ระหว่าง 269-277 คะแนน

แสดงว่าข้อมูลจากพรรคฝ่ายค้านมีส่วนทำให้เกิดผลแตกต่าง

เช่นเดียวกับครั้งนี้ที่การอภิปรายไม่ไว้วางใจ แม้เสียงออกมาว่าผ่านฉลุย

แต่ในความ “ฉลุย” ก็จะมี “ความแตกต่าง” ที่เกิดขึ้นจากประสิทธิภาพของข้อมูล

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image