แล้วก็ยึด! รัฐประหารในเมียนมา : สุรชาติ บำรุงสุข

แล้วก็ยึด! รัฐประหารในเมียนมา  บทความโดย ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

หนึ่งในความกังวลของนักสังเกตการณ์ทางการเมืองต่อปัญหาการพัฒนาประชาธิปไตยในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็คือ หลังจากชนะของพรรคฝ่ายค้านในการเมืองเมียนมาคือ พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (The National League for Democracy หรือพรรค NLD) ที่ชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลายในปี 2015 (พศ. 2558) จนสามารถจัดตั้งรัฐบาลพลเรือนได้สำเร็จแล้ว ผู้นำทหารเมียนมาที่ควบคุมการเมืองของประเทศมาอย่างยาวนาน จะยอมทนกับ “การเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย” ที่กำลังถูกผลักดันให้เดินไปข้างหน้า ได้อีกนานเพียงใด

การเลือกตั้งในปี 2015 ถือเป็นการเลือกตั้งครั้งที่ 2 นับจากการเข้าควบคุมประเทศของผู้นำทหารตั้งแต่ปี 1960 (พศ. 2503) การเลือกตั้งครั้งนั้นจึงมีนัยสำคัญกับการเมืองของประเทศ และของภูมิภาคอย่างมาก เพราะในตอนกลางปี 2014 รัฐประหารเพิ่งเกิดขึ้นอีกครั้งที่กรุงเทพฯ การเลือกตั้ง 2015 ของเมียนมา จึงเป็นสัญญาณว่า ประชาธิปไตยในภูมิภาคที่แม้จะดูมืดมนลงจากการรัฐประหารของผู้นำทหารไทย แต่ยังคงมีแสงสว่างเล็กๆ ที่เมียนมา แม้แสงสว่างนี้พอจะทานกับกระแสลมรัฐประหาร ที่เป็นข่าวเกิดขึ้นมาเป็นระยะได้บ้าง

ความน่ากังวลของชัยชนะในครั้งนั้น มาจากการพ่ายแพ้อย่างมากของ “พรรคทหาร” (หรือในความหมายคือ พรรคที่ได้รับความสนับสนุนจากระบอบทหาร) เพราะพรรคฝ่ายค้านที่นำโดยนางอองซาน ซูจี ได้รับเสียงสนับสนุนมากถึงร้อยละ 86 ของที่นั่งในรัฐสภา แม้กองทัพจะออกแบบรัฐธรรมนูญที่ไม่ให้เป็นสากล ด้วยการที่ทหารมีหลักประกันที่จะมีที่นั่งในสภาร้อยละ 25 … แต่การออกแบบรัฐธรรมนูญเช่นนี้ก็ไม่ช่วยให้ผู้นำทหารชนะในการเลือกตั้ง

ผลการเลือกตั้งคือ พรรคสันนิบาตได้รับ 255 จาก 440 ที่นั่งในสภาผู้แทนราษฏร และได้รับ 135 จาก 224 ที่นั่งในสภาชนชาติ ในขณะที่พรรคทหารได้เสียง 30 ที่นั่งในสภาผู้แทนราษฏร และได้ 11 เสียงในสภาชนชาติ ผลการเลือกตั้งครั้งนี้ต้องถือว่าเป็นชัยชนะของพรรคฝ่ายค้านอย่างถล่มทลายในแบบที่ไม่เคยเห็นมาก่อน และในทางกลับกัน กองทัพก็แพ้อย่างไม่อาจโต้แย้งได้เลย คือ พรรคของนางซูจีได้ 390 ที่นั่ง พรรคทหารได้ 41 ที่นั่ง … ชัดเจนแล้วว่า ไม่มีใครอยากเลือกทหารมาเป็นผู้บริหารประเทศ

Advertisement

แน่นอนว่า การได้อำนาจรัฐมาจากระบอบเก่าที่กองทัพดำรงความเข้มแข็งทางการเมืองอย่างมากมาก่อน จึงไม่ใช่เรื่องง่ายในการบริหารประเทศ อีกทั้งหลังจากการเป็นรัฐบาลของปีกฝ่ายค้านของนางซูจี รัฐบาลใหม่ยังต้องเผชิญกับปัญหาสำคัญในทางเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นการลดลงการส่งสินค้าออกของประเทศ การลดลงของรายได้จากภาคพลังงานของประเทศ และที่สำคัญประเทศต้องเผชิญกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบอย่างมากต่อสถานะทางเศรษฐกิจและสังคม อีกทั้งยังเผชิญกับปัญหาความขัดแย้งภายในด้านชาติพันธุ์ในกรณีของชาวโรฮิงญา ที่ส่งผลต่อฐานะในเวทีสากลของนางซูจีเองอย่างมากด้วย

ภาพของศาลาว่าการเมืองย่างกุ้ง เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ (รอยเตอร์)

นอกจากนี้ รัฐบาลเองมีความพยายามอย่างมากที่จะทำการปฏิรูปรัฐธรรมนูญ เพื่อที่จะลดบทบาทของทหารที่มีอำนาจตามรัฐธรรมนูญลง ดังเป็นที่ทราบกันว่า กองทัพจะมีที่นั่งในรัฐสภาร้อยละ 25 เพื่อเป็นหลักประกันว่า อำนาจของกองทัพจะไม่ถูกรัฐบาลพลเรือนยกเลิกไปหมด แต่ความพยายามเช่นนี้ไม่ประสบความสําเร็จ เพราะจะต้องได้รับเสียงสนับสนุนร้อยละ 75 ในขณะที่กองทัพเองมีเสียงอยู่แล้วถึงร้อยละ 25 ในมือ อันทำให้กระบวนการการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่อาจประสบความสำเร็จได้จริง

อย่างไรก็ตาม สภาพเช่นนี้ทำให้เกิดข่าวลือมาเป็นระยะถึง ปัญหาความไม่ลงรอยระหว่างรัฐบาลพลเรือนกับกองทัพ แต่กระนั้นก็มีความหวังว่า ผู้นำทหารจะไม่หวนกลับไปทำรัฐประหารอีก เพราะรัฐบาลทหารจะถูกกดดันอย่างมาก ซึ่งเป็นประสบการณ์เดิมของกองทัพเมียนมา หรืออย่างน้อยในอีกด้าน ก็เห็นจากตัวแบบของรัฐบาลทหารที่กรุงเทพฯ ซึ่งไม่เป็นที่ยอมรับในเวทีสากล

Advertisement

แต่กระนั้นก็ไม่มีใครมั่นใจว่า สุดท้ายแล้ว ผู้นำทหารเมียนมาจะไม่หันกลับไปเดินบนเส้นทางเก่าของการจัดตั้งรัฐบาลทหารอีก … แน่นอนว่า ไม่มีใครไว้ใจทหารที่เคยยึดอำนาจมาแล้ว เพราะในที่สุดแล้วไม่มีใครเชื่อว่า พวกเขาจะยอมอดทนอยู่กับการเปลี่ยนผ่านทางการเมือง ที่อำนาจของทหารกำลังถูกจำกัดลง

แรงกระตุ้นสำหรับผู้นำทหารมีความชัดเจนมากขึ้น เมื่อมีการเลือกตั้งในปลายปี 2020 (พศ. 2563) และผลที่ออกมาคือ พรรคฝ่ายค้านที่ได้รับการสนับสนุนจากทหารคือ “พรรคสหภาพเอกภาพและการพัฒนา” (The Union Solidarity and Development Party หรือพรรค USDP) ต้องพ่ายแพ้อีกครั้ง และเป็นการแพ้อย่างมากด้วย เพราะพรรคสันนิบาตแห่งชาติของนางซูจีได้ที่นั่งมากถึง 346 เสียง (ตามรัฐธรรมนูญแล้ว พรรคต้องการ 322 เสียงในการจัดตั้งรัฐบาลใหม่)

ผู้นำพรรคไม่เพียงประกาศไม่ยอมรับผลการเลือกตั้ง แต่ผู้นำกองทัพก็ออกมาประกาศในทิศทางเดียวกันว่า มีการโกงการเลือกตั้ง โดยเฉพาะในการลงเสียงล่วงหน้า (คล้ายคลึงกับข้อกล่าวหาของประธานาธิบดีทรัมป์ในการเลือกตั้งอเมริกัน) แม้คณะกรรมการการเลือกตั้งของเมียนมา (The Union Election Commission) จะออกมายืนยันถึง การเลือกตั้งที่เกิดขึ้นว่ามีความ “เสรีและเป็นธรรม” ในขณะเดียวกันพรรคฝ่ายทหารและผู้นำกองทัพไม่สามารถแสดงให้เห็นถึงหลักฐานการโกงการเลือกตั้งอย่างที่ได้กล่าวหาไว้

กระแสความขัดแย้งในการเมืองเมียนมา เริ่มค่อยๆ ก่อตัวขึ้น แต่ก็ยังคงพอเหลือความหวังอยู่บ้าง เมื่อบรรดาประเทศประชาธิปไตยตะวันตกพยายามออกมาแสดงท่าทีคัดค้านการรัฐประหาร หากในอีกด้านกลับเริ่มเห็นความชัดเจนในช่วงปลายเดือนมกราคม ที่ผ่านมา ผู้นำทหารเมียนมาแสดงออกอย่างชัดเจนด้วยการประกาศไม่รับผลการเลือกตั้ง ซึ่งก็อาจเรียกได้ว่าเป็นดัง “รัฐประหารเงียบ” ในการเมืองพม่า และเท่ากับเป็นสัญญาณว่า กองทัพจะไม่ยอมรับการจัดตั้งรัฐบาลของนางซูจี

ในที่สุดเช้าวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ก็มีความชัดเจนอีกครั้งด้วยการประกาศภาวะฉุกเฉิน ตามมาด้วยการจับกุมนางซูจีและผู้นำของพรรคสันนิบาต พร้อมกับการประกาศที่จะอยู่ในอำนาจด้วยการเป็นรัฐบาลเป็นเวลา 1 ปี อันเป็นการยุติการนำของผู้นำสตรีคนสำคัญของเมียนมา … รัฐประหารหวนคืนสู่การเมืองเมียนมาอีกครั้ง และไม่มีทางที่ใครเลยจะเชื่อว่า ทหารเมียนมาจะอยู่ในการเมืองเพียงแค่ 1 ปีเท่านั้น เพราะผู้นำทหารในประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียงก็อยู่ในอำนาจจนเข้าปีที่ 8 แล้ว

Myanmar military vehicles are seen inside Myanmar’s national television office in Yangon, Myanmar February 1, 2021. REUTERS/Stringer REFILE – CORRECTING LOCATION

ในทางการเมืองระหว่างประเทศ เห็นชัดเจนว่าประชาธิปไตยตะวันตกมีท่าทีไม่ตอบรับอย่างแน่นอน โดยเฉพาะเพิ่งเราเห็นการการเปลี่ยนอำนาจที่วอชิงตัน ที่สหรัฐฯ มีท่าทีที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น รัฐประหารครั้งนี้จึงน่าสนใจว่า ผู้นำทหารเมียนมาจะพาประเทศกลับไปสู่ความใกล้ชิดกับจีนอีกหรือไม่ และถ้านโยบาย “กลับไปจีน” เกิดขึ้นแล้ว จีนจะได้รับผลตอบแทนอะไรจากรัฐบาลทหาร แต่ในอีกด้านก็อาจทำให้การแข่งขันระหว่างสองมหาอำนาจในภูมิภาคทวีความเข้มข้นขึ้นด้วย

การเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยในเมียนมาปิดฉากลงอีกครั้งในปี 2021 (พศ. 2564) ไม่ต่างกับรัฐประหารที่มีการล้มรัฐบาลของนายกรัฐมนตรีหญิงที่กรุงเทพฯ ในปี 2014 (พศ. 2557) ไม่ต่างกับการรูดม่านปิดฉากอาหรับสปริงที่อียิปต์ด้วยการรัฐประหารในปี 2013 (พศ. 2556)

อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดนี้ตอบเราอย่างชัดเจนว่า การเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยมีความเปราะบางอย่างยิ่ง และกองทัพเป็นพลังอนุรักษนิยมของการต่อต้านประชาธิปไตยที่ทรงพลังที่สุด และพร้อมที่สุดที่จะใช้เป็นเครื่องมือในการล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง … การคิดถึงเรื่องของบทบาททหารในกระบวนการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยจึงเป็นเรื่องที่มีความละเอียดอ่อนเป็นอย่างยิ่ง และเป็นหนึ่งในโจทย์ทางการเมืองที่ยากที่สุดของประเทศที่กำลังเดินไปบนถนนสายประชาธิปไตย ที่ถนนสายนี้อาจมี “รถถัง” ขวางอยู่ข้างหน้าอีกหลายคัน!

People line up outside a bank branch in Yangon, Myanmar February 1, 2021. REUTERS/Stringer
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image