ครบรอบ 1 ปีการเปิดเจรจารอบใหม่กับ บีอาร์เอ็น

เมื่อวันที่ 20 มกราคมของปีที่แล้ว พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้ไปเยือนนราธิวาส ในวันเดียวกันนั้นที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ มีการเปิดประชุมพูดคุยสันติภาพ ระหว่างพล.อ.วัลลภ รักเสนาะ หัวหน้าคณะฝ่ายรัฐบาลไทย กับนายอนัส อับดุลเราะห์มาน หัวหน้าคณะฝ่ายบีอาร์เอ็น โดยมีนาย ตัน สรี อับดุล ราฮิม บิน โมฮัมหมัด นูร์ ตัวแทนรัฐบาลมาเลเซียร่วมประชุมในฐานะผู้อำนวยความสะดวก อันที่จริง การเปิดประชุมพูดคุย (dialogue) กับตัวแทนบีอาร์เอ็นที่มาครบรอบ 1 ปีพอดีในเดือนมกราคมปีนี้ ไม่ใช่ครั้งแรก หากเป็นรอบที่สอง

เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2556 ได้มีการลงนามใน “เอกสารฉันทามติทั่วไปว่าด้วยกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพ” ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ โดยมีเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติมาเลเซียเป็นสักขีพยาน เอกสารนี้เปิดทางให้มีการพูดคุยระหว่างตัวแทนรัฐบาลไทย ได้แก่พล.ท. ภราดร พัฒนถาบุตร กับตัวแทนฝ่ายบีอาร์เอ็น ได้แก่อุสตาซฮัสซัน ตอยิบ ทั้งนี้ เพื่อแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ภายใต้กรอบของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (มาตรา 1 บัญญัติว่าประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียว จะแบ่งแยกมิได้) ฝ่ายรัฐบาลยังไม่ทันตั้งตัว บีอาร์เอ็นก็มีข้อเสนอ 5 ข้อ ซึ่งตีความประวัติศาสตร์ว่า นครรัฐปาตานีที่เคยรุ่งเรืองในอดีต ได้ถูกรุกรานและยึดครองโดย “เจ้าอาณานิคมสยาม” การพูดคุยจึงทำท่าจะไปยาก แต่ก็พอมีโอกาสที่ฝ่ายรัฐบาลจะรับข้อเสนอดังกล่าวให้เป็นประเด็นการพูดคุยโดยจะรับหลักการหรือไม่ก็ได้

หลังจากเกิดรัฐประหารวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 กระบวนการพูดคุยก็ต้องรอ

ก่อนจะเล่าเรื่องต่อ ขอย้อนกลับไปสักหลายปี เพื่อจะได้เข้าใจกันว่า ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ (จชต.) ที่คิดว่าเริ่มเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2547 เมื่อเกิดเหตุการณ์ปล้นปืนครั้งใหญ่ 413 กระบอกจากกองพันพัฒนาที่ 4 ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ หรือค่ายปิเหล็ง และถือเป็นวันปืนแตกสำหรับเหตุการณ์รุนแรงใน จชต. นั้น มันไม่เชิงเป็นเช่นนั้น เพราะการต่อสู้และความรุนแรงมีมากว่าศตวรรษแล้ว เพียงแต่รุนแรงน้อยกว่าครั้งล่าสุดที่เริ่มในปี 2547 และมีคนตายไปกว่า 7,000 คน การพูดคุยสันติภาพก็เช่นกัน ได้เกิดขึ้นอย่างไม่เป็นทางการหลายปีก่อนที่จะเริ่มต้นอย่างเป็นทางการในปี 2556

Advertisement

เพื่อให้เครดิตแก่ความพยายามยุติความรุนแรงครั้งแล้วครั้งเล่าที่มีมาตลอดนั้น ขอแสดงไทม์ไลน์ของการพูดคุยอย่างไม่เป็นทางการที่มีขึ้นก่อนจะเริ่มอย่างเป็นทางการในปี 2556 ดังนี้

ภายหลังการรัฐประหารของ คสช. ประมาณ 6 เดือน จึงมีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 230/2557 เรื่องการจัดตั้งกลไกขับเคลื่อนกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุข จชต. ลงวันที่ 28 พฤศจิกายน 2557 โดยกลไกมีสามระดับคือ ระดับนโยบาย ระดับคณะพูดคุยและระดับพื้นที่ มีการแต่งตั้ง พล.อ. อักษรา เกิดผล เป็นหัวหน้าคณะพูดคุย ขณะเดียวกันมีการเปลี่ยนแปลงคณะพูดคุยฝ่ายเห็นต่าง คือเปลี่ยนจากบีอาร์เอ็นเป็นการรวมตัวของ 6 องค์กร และใช้ชื่อว่า มารา ปาตานี (ย่อมาจาก Majlis Syura Patani) มีนายอาวัง ญาบัต เป็นประธาน และนายสุกรี ฮารี เป็นหัวหน้าคณะพูดคุย ผู้อำนวยความสะดวกฝ่ายมาเลเซียยังเป็นคนเดิมคือ ดาโต๊ะ ซัมซามิน ฮาซิม กระนั้น ภายหลังจากที่นายนาจิบ ราซัคพ่ายแพ้การเลือกตั้ง และนายมหาธีร์ โมฮาหมัดขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีของมาเลเซีย จึงได้แต่งตั้ง ตัน อับดุลราฮิม นูร์ เป็นผู้อำนวยความสะดวกในการพูดคุยแทนดาโต๊ะซัมซามินเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2561

Advertisement

พล.อ.อักษราถูกปลดออกจากตำแหน่งและแทนด้วย พล.อ. อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2561 ในช่วงเวลาที่ พล.อ. อักษราดำรงตำแหน่งหัวหน้าคณะพูดคุย มีความคืบหน้าคือ การทำข้อตกลงทางเทคนิคเกี่ยวกับวิธีการพูดคุย หรือที่เรียกกันว่า TOR แต่ไม่มีการลงนาม เพียงแต่บันทึกไว้ในรายงานการประชุม ส่วนเรื่องการจัดให้อำเภอเจาะไอร้องเป็นพื้นที่ปลอดภัยนั้น ได้จัดทำร่างข้อตกลงไว้ แต่เมื่อหัวหน้าคณะพูดคุยฝ่ายรัฐบาลไม่ลงนาม เรื่องก็หยุดอยู่แค่นั้น เมื่อ พล.อ. อุดมชัยมาเป็นหัวหน้าคณะพูดคุย จึงล้มเลิกเรื่องพื้นที่ปลอดภัยเสีย ช่วงที่ พล.อ. อุดมชัยมาทำหน้าที่ แทบไม่มีการพูดคุยอย่างเป็นทางการ หลังจากมีความขัดแย้งในเรื่องการนัดหมายพูดคุยกันเล็กน้อย ฝ่ายมารา ปาตานีประกาศคว่ำบาตรการประชุม จนในที่สุดรัฐบาลก็ปลด พล.อ. อุดมชัยและตั้ง พล.อ. วัลลภ มาทำหน้าที่แทน ในเดือนตุลาคม 2562

พล.อ. วัลลภเปลี่ยนทิศทางการพูดคุยโดยหันกลับมาคุยกับบีอาร์เอ็นใหม่ ด้วยเหตุผลว่าบีอาร์เอ็นเป็นฝ่ายคุมกำลังส่วนใหญ่ บีอาร์เอ็นส่งนายอนัสมาเป็นตัวแทน การพูดคุยครั้งแรกระหว่างทั้งสองฝ่ายได้เริ่มเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2563 ดังที่กล่าวมาแล้ว และมีการพูดคุยครั้งที่สองเมื่อวันที่ 2-3 มีนาคม 2563 ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ภายหลังการประชุมครั้งที่สอง มีการแถลงว่า

1.บรรยากาศโดยทั่วไปเป็นไปอย่างสร้างสรรค์ ทั้งสองฝ่ายคุยกันในเรื่องเทคนิคและการบริหารจัดการกระบวนการพูดคุย

2.มีการอภิปรายในประเด็นเนื้อหาด้วย รวมถึงการลดระดับความรุนแรง เพื่อสร้างสภาวะแวดล้อมที่เอื้อต่อการพูดคุย

3.ประเด็นเนื้อหาต้องใช้เวลาในการพูดคุย ต้องการความต่อเนื่องและการสนับสนุนจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งสองฝ่ายตกลงที่มาพบกันและอภิปรายในรายละเอียดของทุกประเด็นในโอกาสอันควร

เวลาผ่านไปหนึ่งปีแล้ว พอสอบถามเรื่องความคืบหน้าก็ได้รับคำตอบทำนองว่า มีการพูดคุยระดับคณะทำงาน หมายถึงการพูดคุยทางเทคนิคและการสร้างความคุ้นเคยกัน อย่างไรก็ดี ขณะนี้ติดขัดเรื่องการระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้เดินทางไปมาเลเซียไม่สะดวก

กระนั้น มีหลายปัจจัยที่ช่วยทำให้ความรุนแรงใน จชต. ลดลงอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งพอวิเคราะห์ได้ว่า ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการดำเนินงานอย่างรัดกุมยิ่งขึ้นของฝ่ายรัฐ มีการใช้กระบวนการยุติธรรมมาช่วยแก้ไขปัญหาความไม่เป็นธรรมได้ดีขึ้น ตลอดจนการเคารพในสิทธิมนุษยชนอย่างจริงจังขึ้น ในส่วนของขบวนการฯที่ต่อสู้กับรัฐ มีความเห็นว่า ขบวนการฯมีความเข้มแข็งด้านอุดมการณ์แต่ขาดทรัพยากรและกองกำลัง นานเข้าอาจเกิดความล้า รวมทั้งประชากรส่วนใหญ่แม้จะเริ่มชาชินกับความรุนแรงแต่ก็อยากให้ความรุนแรงลดลง

ในระหว่างปีที่ผ่านมานี้ บีอาร์เอ็นได้ดำเนินการฝ่ายเดียวเพื่อที่จะลดความรุนแรงดังนี้

1.เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2563 บีอาร์เอ็นมีคำแถลงว่า “เพื่อทำตามข้อผูกพันของ Geneva Call ในเรื่องการคุ้มครองเด็กจากผลของความขัดแย้งที่ใช้อาวุธ บีอาร์เอ็นจะไม่ใช้เด็กในการสู้รบ พร้อมทั้งจะปฏิบัติตามหลักมนุษยธรรม โดยเฉพาะจะปฏิบัติตามกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ (IHL) และให้การเคารพสิทธิมนุษยชน”

2.เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2563 บีอาร์เอ็นมีถ้อยแถลงว่า “เพื่อให้หน่วยงานสาธารณสุขได้ปฏิบัติหน้าที่ในการป้องกันและยับยั้งการระบาดของโคโรนาไวรัส บีอาร์เอ็นจะยุติกิจกรรมทั้งหมดตั้งแต่วันที่ 3 เมษายนเป็นต้นไป ตราบเท่าที่ไม่ถูกฝ่ายรัฐบาลโจมตี”

การพูดคุยเพื่อแก้ปัญหาความรุนแรงใน จชต. ได้เริ่มอย่างไม่เป็นทางการในปี 2534 เวลาได้ล่วงเลยมาประมาณสามสิบปีแล้ว หรือถ้าจะนับจากการเริ่มพูดคุยอย่างเป็นทางการ เวลาได้ล่วงเลยมาประมาณแปดปีแล้ว หลายฝ่ายฝากความหวังไว้แก่กระบวนการพูดคุย ถึงเวลาแล้วที่ พล.อ. วัลลภและนายอนัส จะทำความหวังแห่งสันติภาพให้เป็นจริง มิใช่ปล่อยเวลาให้ผ่านไป โดยดูเหมือนว่าไม่พร้อมที่จะมีปณิธานการยุติความรุนแรงใน จชต. เอาเสียเลย

โคทม อารียา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image