วิเคราะห์การเลือกตั้ง ส.ส.กทม. 2554

ในปี 2554 มีการเลือกตั้ง ส.ส. เป็นการแข่งขันระหว่าง 2 พรรคใหญ่ คือพรรคเพื่อไทย และพรรคประชาธิปัตย์ ผลการเลือกตั้งเป็นที่ทราบดีอยู่แล้วคือพรรคเพื่อไทยได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล แต่ประชาธิปัตย์ชนะในเขตกรุงเทพมหานคร ผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งสิ้น 4.3 ล้านคน ผู้มาลงคะแนนจริง 3.1 ล้านคน จำแนกเป็น 33 เขตเลือกตั้ง ในโอกาสนี้ขอนำผลเลือกตั้งมาวิเคราะห์เฉพาะเขตกรุงเทพมหานครเป็นกรณีศึกษา กกต บันทึกทุกรายและได้ประมวลเป็นรายเขตเลือกตั้งนำมาวิเคราะห์ โดยใช้เทคนิคกราฟเพื่อการสื่อสาร เชื่อว่าผู้อ่านอย่างน้อยจำนวนหนึ่งสนใจอยากจะฟื้นความหลัง และอาจได้ข้อคิดเป็นประโยชน์โดยเฉพาะกลางปี 2564 จะมีเลือกการเมืองท้องถิ่นทั่วประเทศตามคำแถลงของ กกต.

คณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) จัดการกระบวนการลงคะแนนเสียง ได้ประมวลข้อมูลของผู้โหวตทุกราย กรณีนี้หมายถึง กทม. จำแนกรายเขตเลือกตั้ง 33 เขต คือ โซนศูนย์กลาง โซนรอบกลาง และโซนรอบนอก นักวิจัยพิจารณาข้อมูลแล้วเห็นว่ามี 2 ประเด็นที่น่าสืบค้น หนึ่ง บัตรเสียและการลงคะแนนโนโหวตมีจำนวนเท่าใด? คิดเป็นสัดส่วนเท่าใด แยกเป็นรายเขต ในรูปกราฟแรกแสดงร้อยละของบัตรเสีย และคะแนนโนโหวต (ค่าเฉลี่ย 5.3% และ 6.1%) สองส่วนรวมกันถึง 11% นับว่าไม่น้อยทีเดียว (จากผู้มีสิทธิ 4.3 ล้านคน)

รูปกราฟที่ 1 การโหวต-บัตรเสีย-คะแนนโนโหวต (ร้อยละของผู้มีสิทธิ)

Advertisement

สอง เราสนใจผลชนะแพ้ระหว่าง 2 พรรคใหญ่ สร้างตัวแปรใหม่ขึ้นมาเรียกว่า margin ค่าบวก-หมายถึงประชาธิปัตย์ชนะในเขตนั้น ค่าลบหมายถึงเพื่อไทยชนะในเขตนั้น และแยกแยะกรณี A หมายถึง การชนะอย่างท่วมท้น (หลายพันหรือหลักหมื่นในแต่ละเขต หรือกรณี B ชนะแบบฉิวเฉียด (กำหนดนิยามว่าการชนะหรือแพ้กันไม่เกิน
2 พันคะแนน)

รูปกราฟที่ 2 ขวามือแสดงอาณาเขตที่ประชาธิปัตย์ชนะ ซ้ายมือเพื่อไทยชนะ รูปภาพนี้สะท้อนความไม่สมมาตร (asymmetry) ในกรณีนี้น้ำหนักด้านขวามือ > น้ำหนักด้านซ้ายมือ ตัวเลขในรูปภาพหมายถึง “เขตเลือกตั้ง” (1-33 ตามลำดับ) เขตที่ประชาธิปัตย์ชนะท่วมท้นได้แก่เขต 1-2-3 ส่วนเพื่อไทยชนะอย่างท่วมท้นในเขต 13, 20 นอกจากนี้มีจำนวน 6 เขตที่แพ้ชนะแต่กันไม่มาก (2,000 คน คือ เขต 16 32 17 18) อาจจะนำไปสู่ข้อสันนิษฐานการเกิดสะวิงโหวต (swing vote) หรือพลิกผันได้

รูปกราฟที่ 2 การชนะแพ้ระหว่างสองพรรคใหญ่ ระบุเขตเลือกตั้ง

Advertisement

นักวิเคราะห์ทางการเมืองในบริบทของไทย อ้างอิงทฤษฎีสองนคราประชาธิปไตย โดย ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ คำอธิบายคือ มีความแตกต่าง (หรือความไม่สมมาตร) ระหว่างความต้องการของผู้โหวตในต่างจังหวัด และผู้โหวตในคนกรุง (หรือคนเมือง) หากคิดตามนี้จะพยากรณ์ว่า ชาวกรุงเทพฯเทคะแนนให้พรรคประชาธิปัตย์ และคนต่างจังหวัดเทคะแนนเลือกพรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์ควรจะชนะทุกเขตเลือกตั้งในเขต กทม. แต่นั่นไม่ใช่ของจริง หลักฐานเชิงประจักษ์คือเขตเลือกตั้งชั้นในตกเป็นของประชาธิปัตย์ แต่พื้นที่รอบนอกพรรคเพื่อไทยชนะ จากหลักฐานเช่นนี้นักวิจัยของตีความว่า ผู้โหวตชาวกรุงเทพฯมิได้เป็น “เนื้อเดียวกัน” แท้จริงแล้วคนกรุงเทพฯที่อยู่รอบใน-รอบกลาง-รอบนอก มีวิธีคิดและความต้องการ (ส.ส.) แตกต่างกัน คนชั้นสูงและชั้นกลางซึ่งมีฐานะเศรษฐกิจดีเลือก ส.ส. เพื่อไปผลักดันกฎหมายเพื่อผลประโยชน์ของตน แต่คนชั้นล่างหรือรายได้น้อยเลือก ส.ส. เพื่อช่วยทำงานบริการสาธารณะ เน้นความรู้จักมักคุ้นกัน พึ่งพาอาศัยกันได้ ดังนั้น ตีความทฤษฎีสองนคราประชาธิปไตยว่า คนกรุงเทพฯไม่ใช่เนื้อเดียวกัน เป็นกรุงเทพฯเมือง-และกรุงเทพฯชนบท อีกนัยหนึ่งทวิกรุงเทพฯ (dual Bangkokian) ถ้าตีความเช่นนี้ ทฤษฎีสองนคราประชาธิปไตยยังอธิบายปรากฏการณ์การเลือกตั้ง ส.ส.กทม. ได้เป็นอย่างดี

ทฤษฎีการเลือกตั้งที่สองอิงแบบจำลองเศรษฐศาสตร์ ว่าด้วยการแข่งขันเชิงพื้นที่ (spatial competition) เป็นทฤษฎีเก่าแก่อธิบายว่าการแข่งขันมิติพื้นที่ ลองนึกถึงผู้ขายน้ำดื่มบริเวณสนามหลวง เจ้าเก่าดั้งเดิม A ทำมาค้าขายนานยึดทำเลด้านใต้ใกล้บริเวณพระบรมมหาราชวัง ต่อมามีคู่แข่ง B เขาวางแผนการตลาดอย่างไร? แนวโน้มคือ B จะเลือกพื้นที่ห่างไกลออกไป คือสนามหลวงตอนเหนือใกล้กับโรงแรมรัตนโกสินทร์ วิธีเลือกเช่นนี้สมเหตุผลคือให้ความสะดวกแก่ลูกค้าตอนเหนือ ไม่ต้องเดินทางไกล (ค่าโสหุ้ย) โอกาสประสบความสำเร็จสูงกว่าที่จะไปเปิดร้านค้าติดกับ A เมื่อนำมาประยุกต์กับกรณีนี้เขตเลือกตั้งชั้นใน/ชั้นกลาง เป็น “อาณาจักรของพรรคประชาธิปัตย์” ดังนั้น เจาะยาก พรรคเพื่อไทยหรือพรรคที่สาม-สี่จึงกำหนดกลยุทธ์ไปแข่งขันรอบนอกจะมีโอกาสมากกว่า

การเลือกตั้ง ส.ส. หรือการเมืองท้องถิ่น มีความสำคัญเสมอมา เพียงแต่หลังรัฐประหารปี 2557 คนไทยร้างโอกาสการลงคะแนนมาหลายปี ในอดีตการวิเคราะห์การเลือกตั้งมักใช้ตาราง สถิติ และพรรณนาโวหารประกอบ ในบทความสั้นๆ นี้เราเสนอวิธีมุมมองใหม่ โดยเทคนิควิเคราะห์ด้วยรูปกราฟ ซึ่งสามารถให้ข้อมูลสนเทศได้เช่นเดียวกัน แต่สั้นกระชับ ลดพรรณนา เพราะว่าคนรุ่นใหม่ที่ชอบดูรูปภาพมากกว่า ภาพที่เหมาะสมช่วยให้เข้าใจเรื่องราวต่างๆ ภายในเวลาไม่กี่นาที

พิชิต รัชตพิบุลภพ
ดิเรก ปัทมสิริวัฒน์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image