สุจิตต์ วงษ์เทศ : เจ้านครอินทร์ รัฐสุพรรณภูมิ ในเอกสารฝรั่งและเอกสารจีน

แนวคูเมืองและกําแพงเมืองสุพรรณ จากด้านตะวันตกเฉียงเหนือ

 

เจ้านครอินทร์ หรือสมเด็จพระนครินทราธิราช กษัตริย์รัฐสุพรรณภูมิ เป็น “หลาน” ขุนหลวงพ่องั่ว แล้วมีเชื้อสายราชวงศ์สุโขทัย ถือเป็นเชื้อสาย “พระร่วง”
เมื่ออยู่เมืองสุพรรณบุรี เคยไปเมืองจีน แล้วจักรพรรดิจีนมอบช่างทําเครื่องปั้นดินเผามาทําสังคโลก ที่เมืองสุโขทัย (เพราะเป็นกษัตริย์ครองสุโขทัยด้วย)
ต่อมาด้วยการอุดหนุนของจักรพรรดิจีน (อาจผ่านกองทัพเรือเจิ้งเหอ หรือ ซําปอกง) เจ้านครอินทร์ยึดครองกรุงศรีอยุธยาได้สําเร็จ แล้วสถาปนาราชอาณาจักรสยามแห่งแรก (ศรีศักร วัลลิโภดม อธิบายไว้ในหนังสือกรุงศรีอยุธยาของเรา)

สําเนียงหลวงจากสุพรรณ

ประชากรรัฐสุพรรณภูมิในตระกูลไทย-ลาว เคลื่อนย้ายไปอยู่ ในอยุธยาเป็น เจ้านาย, ขุนนาง, ข้าราชการ, ไพร่พล และประสมประสานตระกูลมอญ-เขมร, ฯลฯ ที่มีมาแต่เดิม
นับแต่นี้ไป สําเนียงพูดจากสุพรรณก็กลายเป็นสําเนียงหลวงอยุธยา

ผังเมืองสุพรรณบุรี
ผังเมืองสุพรรณบุรี

สุพรรณภูมิเป็นสุพรรณบุรี

เจ้านครอินทร์ยึดอํานาจได้เป็นพระเจ้าแผ่นดินกรุงศรีอยุธยาอย่างสมบูรณ์เมื่อหลัง พ.ศ. 1900 ทําให้รัฐสุพรรณภูมิสลายตัวเป็นเพียงเมืองสุพรรณบุรีของกรุงศรีอยุธยา ในราชอาณาจักรสยาม ราวหลัง พ.ศ. 2000
แต่เมืองสุพรรณบุรียังดํารงความสําคัญในฐานะราชธานีเก่า แล้วมีเชื้อวงศ์สืบสายตระกูลต่อมา โดยมีกําแพงและป้อมปราการแข็งแรง
ผู้คนจากที่ต่างๆ ยังตั้งบ้านเรือนอยู่อู่ทอง จึงมีวัดวาอารามสถูปเจดีย์ และปูชนียวัตถุสมัยอยุธยาเหลืออยู่มาก เช่น พระปรางค์วัดมหาธาตุศาลาขาว หรือพระธาตุสวนแตง ริมแม่น้ำท่าว้า ต. สวนแตง อ. เมือง จ. สุพรรณบุรี เป็นต้น

Advertisement

พระนครอิน (Nae-choon In)
พระเจ้าแผ่นดินองค์ที่ 7 ของสยาม
เสวยราชย์อยู่ 20 ปี

เจ้าเมืองสุพรรณบุรีตามที่ได้กล่าวมาแล้ว (พระราชโอรสของเจ้าขุนหลวงพ่องั่ว และพระเชษฐาของพระทองลัน) ได้เป็นพระเจ้าแผ่นดินเมื่อพระชนมายุได้ 70 พรรษา ทรงพระนามว่า พระนครอิน ทรงเป็นพระเจ้าแผ่นดินที่เฉลียวฉลาด รอบคอบ มีเมตตา
พระองค์รักความก้าวหน้า และเอาใจใส่ดูแลทหาร ข้าราชบริพาร และสวัสดิภาพกรุงศรีอยุธยาเป็นอย่างดี พระองค์เป็นเจ้าชายที่สนใจในทางโลกและไม่ค่อยจะเคร่งศาสนานัก
พระองค์รักอาวุธมาก จนถึงขนาดส่งเรือสําเภาไปซื้ออาวุธจากประเทศอื่น ในรัชสมัยของพระองค์ ประเทศแบกภาระสงครามกลางเมืองไว้หลายครั้ง พระองค์ก็ประนีประนอมทั้งสองฝ่ายได้
หลังจากเสวยราชย์อยู่ 20 ปี พระองค์ก็สิ้นพระชนม์อย่างสงบ รัชสมัยของพระองค์เป็นสมัยที่บ้านเมืองเจริญรุ่งเรืองและไม่มีเหตุการณ์ยุ่งยาก
(คัดจากหนังสือ พงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับวันวลิต พ.ศ. 2182 สํานักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งที่สาม 2548)

พระนครศรีอยุธยา ภาพเขียนสีน้ำมันฝีมือชาวฮอลันดา ในพุทธศตวรรษที่ 23 สันนิษฐานว่าวาดขึ้นตามคำสั่งของนายโยส เซาเต็น ผู้จัดการบริษัทการค้าฮอลันดา ประจำกรุงศรีอยุธยา ปัจจุบันเก็บรักษาอยู่ที่ Rijks museum, กรุงอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ (ภาพจาก From Japan to Arabia : Ayutthaya’s Maritime Relation with Asia)
พระนครศรีอยุธยา ภาพเขียนสีน้ำมันฝีมือชาวฮอลันดา ในพุทธศตวรรษที่ 23 สันนิษฐานว่าวาดขึ้นตามคำสั่งของนายโยส เซาเต็น ผู้จัดการบริษัทการค้าฮอลันดา ประจำกรุงศรีอยุธยา ปัจจุบันเก็บรักษาอยู่ที่ Rijks museum, กรุงอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ (ภาพจาก From Japan to Arabia : Ayutthaya’s Maritime Relation with Asia)

เจ้านครอินทร์ แห่งเมืองสุพรรณบุรี
คือ เจาลู่ฉินอิง ในเอกสารจีน

(พ.ศ. 1917) (ค.ศ. 1374) ปีที่ 7 ในรัชกาลหงหวู่ เดือน 11
เจาลู่ฉินอิง (เจียวลกคุ่งเอง) (เจ้านครอินทร์) รัชทายาทเจ้าผู้ปกครองเมืองสุพรรณบุรี ส่งทูตมาถวายพระราชสาส์นแก่มกุฎราชกุมารพร้อมด้วยถวายของพื้นเมือง พระราชทานเลี้ยงต้อนรับที่วังตะวันออก1 และประทานสิ่งของแล้วให้ส่งกลับ2

 

Advertisement

(พ.ศ. 1920) (ค.ศ. 1377) ปีที่ 10 ในรัชกาลหงหวู่
เจาลู่ฉินอิงได้รับคําสั่งจากพระราชบิดา3 ให้เดินทางมาถวายเครื่องราชบรรณาการจักรพรรดิ-ทรงพอพระทัย มีรับสั่งให้หวังเหิน (เฮ่งฮั้ง) อําามาตย์ผู้ใหญ่ในกระทรวงพิธีการ อัญเชิญพระบรมราชโองการ4 และดวงตราไปให้ (ดวงตรานั้น) จารึกว่า “ดวงตาของกษัตริย์ประเทศเสียนหลอ” และได้พระราชทานเสื้อ เงิน ทอง และค่าเดินทางแก่รัชทายาท ต่อแต่นั้นมา ประเทศนั้นจึงปฏิบัติตามพระบรมราชโองการ โดยเริ่มใช้ชื่อ (ประเทศ) เสียนหลอ (สยาม) ส่งเครื่องราชบรรณาการทุกปี หรือ (บางครั้ง) ก็ส่งปีละสองครั้ง หลังจากรัชกาลพระเจ้าเจิ้งถ่ง (เจี้ยท่ง) (พ.ศ. 1979-1992) จึงถวายเครื่องราชบรรณาการหลายๆ ปีต่อครั้ง5

 

(พ.ศ. 1938) (ค.ศ. 1395) ปีที่ 28 ในรัชกาลหงหวู่
เจาลู่ฉินอิงส่งราชทูตมาถวายเครื่องราชบรรณาการและกราบทูลให้ทรงทราบว่าพระราชบิดาสวรรคต6 (จักรพรรดิ) โปรดให้ขันทีชื่อ เจ้าต๋า (เตี้ยตั๊ก) และ ซุ่ง ฝู (ซ่งฮก) นําพระบรมราชโองการแต่งตั้งองค์รัชทายาทให้ดํารงตําาแหน่งกษัตริย์ต่อไปและพระบรมราชโองการยังมีข้อความต่อไปว่า “นับตั้งแต่วันที่เรา (จักรพรรดิ) เถลิงราชสมบัติได้ส่งราชทูตไปยังประเทศต่างๆ ทุกทิศทางถึง 36 ประเทศ และมีการติดต่อกับอีก 31 ประเทศ และถ้าเปรียบเทียบกับประเทศใหญ่ 18 ประเทศ และประเทศเล็กทั้ง 149 ประเทศ ซึ่งมีประเพณีและขนบธรรมเนียมแตกต่างกัน สยามเป็นประเทศที่สนิทสนมคุ้นเคยมากที่สุด เราได้ทราบจากราชทูตสยามเมื่อไม่นานมานี้ว่า กษัตริย์พระองค์ก่อนสวรรคต กษัตริย์พระองค์ใหม่ควรดําเนินนโยบายตามอย่างกษัตริย์พระองค์ก่อนและปกครองประเทศในทางที่ถูกที่ควร ข้าราชการและประชาชนจะได้ปลื้มปีติและพร้อมกันนี้ เราได้ส่งราชทูตอัญเชิญพระบรมราชโองการ (มายังกษัตริย์สยาม) ความว่า ‘ขอให้กษัตริย์สยาม จงตั้งอยู่ในธรรม อย่าลุ่มหลงในความสุขสําราญ เพื่อศักดิ์ศรีของราชวงศ์ หวังว่าจะปฏิบัติตาม’ ของประทานได้แก่ แพรดอก 4 พับ แพรโล่ 4 พับ แพรย้อมสี 40 พับ”7

เชิงอรรถ

1 วังมกุฎราชกุมาร
2 จดหมายเหตุราชวงศ์เหม็ง บทที่ 94
3 เจ้าเมืองสุพรรณบุรี
4 พระบรมราชโองการนั้นมีความว่า
“พลเมืองของท่านมีความสุขมิใช่โดยประกาศิตแห่งสวรรค์แต่เพียงอย่างเดียว แต่โดยพระมหากรุณาธิคุณขององค์จักรพรรดิด้วย ชาวจีนกับชาวต่างประเทศแม้จะมีความแตกต่างกัน แต่ก็ได้รับพระพรจากสวรรค์และพระมหากรุณาธิคุณเหมือนกัน ถ้าทุกคนซาบซึ้งในความเอ็นดูมนุษย์ของสวรรค์ มีความสามัคคีต่อเทพเจ้าและมนุษย์ ความสุข ลาภยศจะยั่งยืนสืบไปถึงบุตรหลานเป็นแน่แท้ ท่านสมเด็จพระบรมราชาธิราช นับแต่ได้ครองราชย์สืบต่อมา และปกครองชาวเสียนให้มีความสุขและมีพันธไมตรีอันดีกับประเทศใกล้เคียงและถวายเครื่องราชบรรณาการ ซึ่งถ้าจะเปรียบเทียบกับประเทศอื่นแล้วย่อมถือว่าท่านมีความรับผิดชอบอย่างสูง จึงสมควรที่จะยกย่องท่านให้ปรากฏอยู่ในประวัติศาสตร์ ในฤดูใบไม้ร่วงนี้ ได้ถวายช้างเป็นเครื่องราชบรรณาการ จึงถือโอกาสนี้สงทูตไปเยี่ยมและได้ประทานดวงตราจารึกว่า ‘ดวงตาของกษัตริย์ประเทศเสียนหลอ’ พร้อมด้วยเสื้อ 1 ชุด ท่านจงปกครองประชาชนของท่านให้มีความสุขมากหลาย” (จดหมายเหตุราชวงศ์เหม็ง บทที่ 115)
5 พงศาวดารราชวงศ์เหม็ง (พิมพ์ใหม่)
6 เจ้าผู้ครองเมืองสุพรรณมิใช่เจ้าผู้ครองอยุธยา แต่จีนเข้าใจผิดถึงกับส่งทูตมาเคารพพระศพและแต่งตั้งให้เจาลู่ฉินอิงเป็นกษัตริย์แทน ซึ่งไม่ถูกต้อง
7 พงศาวดารราชวงศ์เหม็ง (พิมพ์ใหม่) เล่มที่ 324 สําหรับมเหสีประทานแพรดอก 4 พับ แพรโล่ 4 พับ แพรย้อมสี 12 พับ

[จากหนังสือ ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทย-จีน พ.ศ. 1825-2395 (แปลจากเอกสารทางราชการของจีน) จัดพิมพ์โดย คณะกรรมการสืบค้นประวัติศาสตร์ไทยเกี่ยวกับจีนในเอกสารภาษาจีน สําานักนายกรัฐมนตรี 2523]

พรุ่งนี้ อ่าน จีนส่งกองเรือเจิ้งเหอ-ซำปอกง อุดหนุนเจ้านครอินทร์ ยึดอยุธยา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image