แรงงานข้ามชาติ โควิด-19 และการพัฒนาที่ไม่ทอดทิ้งใครไว้ข้างหลัง

แรงงานข้ามชาติ โควิด-19 และการพัฒนาที่ไม่ทอดทิ้งใครไว้ข้างหลัง

ปัจจุบัน ประเทศไทยมีประชากรผู้สูงอายุเฉียด 12 ล้านคน ถือว่าได้ก้าวเข้าสู่การเป็นสังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ นั่นคือ มีประชากร 1 ใน 5 เป็นผู้สูงอายุ และการมีผู้สูงอายุในบ้าน สำหรับครอบครัวที่มีฐานะทางเศรษฐกิจระดับกลางบนขึ้นไป ก็มักจะตามมาด้วยการจ้างผู้ดูแล ซึ่งนอกเหนือจากการดูแลผู้สูงอายุ ผู้ป่วย หรือเด็กในบ้านแล้ว ยังอาจพ่วงด้วยการทำงานบ้าน และทำอาหารพ่วงไปด้วย

เดิมอาชีพผู้ดูแลมักจะเป็นผู้หญิงไทยจากชนบทห่างไกล ทั้งจากภาคเหนือ ภาคอีสาน เหตุผลส่วนใหญ่ก็คือ สำหรับคนที่มีการศึกษาไม่มาก งานผู้ดูแลน่าจะได้รับผลตอบแทนค่อนข้างสูง แต่งานเหล่านี้ก็มักจะควบคู่มากับเวลาทำงานที่ยาวนาน มีเวลาพักและวันหยุดที่ไม่ชัดเจน หลายคนต้องนอนเฝ้าผู้ป่วยติดเตียง แม้มีห้องพักแยกเป็นสัดส่วน ก็แทบไม่มีพื้นที่ส่วนตัวในบ้านของนายจ้าง ปัจจุบัน สถานการณ์อาชีพผู้ดูแลที่อยู่ตามบ้านก็ดูเหมือนจะไม่เปลี่ยนแปลงจากเดิมเท่าไหร่นัก ที่เปลี่ยนไปคือ จากแรงงานไทยกลายเป็นแรงงานข้ามชาติแทน อาจกล่าวได้ว่า งานรับจ้างดูแลผู้สูงอายุและงานรับจ้างทำงานบ้านของครัวเรือนไทยตกอยู่ในมือของแรงงานข้ามชาติมาเนิ่นนานแล้ว และไม่ถูกนับเป็นส่วนหนึ่งของจีดีพี

ขยับออกจากบ้านมาดูพื้นที่ในเมือง ร้านก๋วยเตี๋ยว ร้านข้าวแกง ร้านอาหารจานเดียว ซึ่งเป็นที่พึ่งของคนทำงานรายได้น้อยในเมืองจำนวนมาก ก็ล้วนแล้วแต่มีลูกจ้างแรงงานข้ามชาติ ว่ากันว่า เมื่อเมืองไทยพบกับวิกฤตโรคระบาดโควิดระลอกแรก เมื่อยุติการล็อกดาวน์ ร้านอาหารบางร้านยังขายบางเมนูไม่ได้ เพราะคนผัดกะเพรา หรือคนลวกเส้นก๋วยเตี๋ยว ยังติดด่านตรวจโควิดอยู่ชายแดน กลับเข้ามาไม่ได้

ในช่วงการระบาดของโควิด นอกเหนือจากกิจการส่งอาหารตามบ้านที่ยังได้รับอนุญาตให้ดำเนินการได้ ยังมีกิจการก่อสร้างในเมือง รั้วสูงล้อมรอบเขตพื้นที่ก่อสร้างแม้ว่าจะช่วยปกปิดทรรศนะอุจาด

Advertisement

แต่ขณะเดียวกันก็ปิดกั้นการมองเห็นความเป็นไปในนั้น แต่หากมองเฉพาะช่วงเวลาที่คนงานเข้าออกตรงประตูใหญ่ ก็จะพบได้ว่า คนทำงานส่วนใหญ่เป็นแรงงานข้ามชาติ

การระบาดของโควิดในกลุ่มแรงงานข้ามชาตินับหมื่นรายในจังหวัดสมุทรสาคร และในภาพรวม ผู้ติดเชื้อโควิดเป็นแรงงานข้ามชาติเสียราวร้อยละ 80 ของผู้ติดเชื้อในประเทศ ทำให้แรงงานข้ามชาติถูกมองว่าเป็นแหล่งเชื้อโรค และหลายคนก็ตกอกตกใจว่าทำไมตัวเมืองสมุทรสาครถึงมีประชากรแรงงานข้ามชาติอยู่ราวครึ่งหนึ่งของจำนวนประชากรทั้งหมด ทั้งที่จังหวัดสมุทรสาครเป็นแหล่งอุตสาหกรรมอาหารขนาดใหญ่ของประเทศ และขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศอันดับต้นๆ ผ่านยอดส่งออกสินค้าอาหารแปรรูปที่เพิ่มสูงในช่วงโควิดระบาด

นี้ย่อมหมายความว่า สังคมไทยไม่ค่อยรับรู้ว่า กิจกรรมสำคัญทางเศรษฐกิจของประเทศไทย ทั้งงานผู้ดูแลและทำงานบ้านในครัวเรือน ทั้งในร้านอาหาร ทั้งในไซต์ก่อสร้าง รวมถึงในรั้วโรงงาน มีแรงงานข้ามชาติเป็นส่วนสำคัญ การที่แรงงานข้ามชาติถูกมองไม่เห็น (Invisibility) ในพื้นที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจเหล่านี้ รวมทั้งการไม่มีแนวนโยบายช่วยเหลือเยียวยาผลกระทบของโควิดอย่างครอบคลุมเช่นเดียวกับแรงงานสัญชาติไทย สะท้อนให้เห็นภาวะการมองไม่เห็นแรงงานข้ามชาติในพื้นที่นโยบายเช่นกัน

Advertisement

ทั้งที่ประเทศไทยมีสัดส่วนประชากรข้ามชาติราวร้อยละ 10 ของประชากรแรงงานทั้งหมด และมีอยู่อย่างต่อเนื่องยาวนานมากกว่าสามทศวรรษแล้ว

การที่แรงงานข้ามชาติกลายเป็นกลุ่มที่มองไม่เห็น ไร้ตัวตน และถูกหลงลืม สาเหตุหลักก็คือ ลัทธิที่ถือความเป็นชาติเหนือสิ่งอื่น (Nationalism) ควบคู่กับความเกลียดกลัวคนต่างชาติ (Xenophobia) ที่กีดกันผู้ไม่มีสัญชาติไทยออกไปจากการคุ้มครองเชิงนโยบายและรวมถึงเหตุเลือกปฏิบัติต่อแรงงานข้ามชาติในสังคมไทย อคติทางเชื้อชาติดังกล่าวทำให้แรงงานข้ามชาติถูกมองว่าเป็น คนต่างด้าว เสียมากกว่า แรงงาน และลุกลามไปกระทั่งว่า ต่อให้ทำงานหนัก บาดเจ็บจากการทำงาน หรือป่วยจากโรคระบาดในประเทศไทย แรงงานกลุ่มนี้ก็ไม่ควรจะได้รับสิทธิประโยชน์จากบริการทางสังคมซึ่งจัดขึ้นมาด้วยภาษีของพลเมืองสัญชาติไทย กระทั่งความกังวลต่อการว่างงานเนื่องจากวิกฤตเศรษฐกิจ ก็ทำให้มองว่าแรงงานข้ามชาติจะมาแย่งงานคนไทย

ทั้งที่หากพิจารณาดูให้ดี งานที่แรงงานข้ามชาติทำ ล้วนเป็นงานที่คนไทยเลือกที่จะไม่ทำแล้ว เพราะเป็นงานสกปรก อันตราย และลำบาก (dirty,dangerous and demeaning)

นอกจากนี้ การที่แรงงานข้ามชาติส่วนหนึ่งไม่มีเอกสารประจำตัว (undocumented) ก็ถูกตราว่าเป็นพวกผิดกฎหมาย (illegal) ทั้งที่เขา/เธออาจจะผิดแค่ไม่มีเอกสาร แต่ไม่ได้ประกอบอาชญากรรมร้ายแรงใด และการไม่มีเอกสารประจำตัวนี้แหละ ที่เป็นความเปราะบางหลักของแรงงานข้ามชาติ ถึงขนาดที่หลายคนบอกว่า แรงงานข้ามชาติที่ไม่มีเอกสารเป็นเสมือนตู้เอทีเอ็มของเจ้าหน้าที่รัฐ และพยายามทุกวิถีทางให้แรงงานข้ามชาติไม่มีเอกสารอยู่นอกความคุ้มครองของระบบกฎหมายอย่างต่อเนื่อง การทำให้แรงงานข้ามชาติไม่มีเอกสารกลับเข้าสู่ระบบ หรือ “ขึ้นมาอยู่บนดิน” จึงเป็นความท้าทายต่อวัฒนธรรมคอร์รัปชั่น และอุตสาหกรรมค้ามนุษย์ ที่ใช้ชาตินิยมมาเป็นเกราะกำบัง และมีความเกลียดกลัวคนต่างชาติเป็นแรงหนุน

อย่างไรก็ดี สังคมไทยมีทุนทางวัฒนธรรมจากประสบการณ์อยู่ร่วมกับแรงงานข้ามชาติเชื้อสายจีนมายาวนาน หากพิจารณาดูให้ดี สี่ห้าตระกูลที่เป็นผู้ครอบครองมั่งคั่งร้อยละ 1 ของประเทศไทย ก็ล้วนแล้วแต่มีบรรพบุรุษเป็นแรงงานข้ามชาติด้วยกันทั้งนั้น ยุคเสื่อผืนหมอนใบของแรงงานข้ามชาติเชื้อสายจีน ก็ไม่ได้ต่างกับสถานะของแรงงานข้ามชาติเพื่อนบ้านอาเซียนในปัจจุบันเท่าใดนัก การดำรงอยู่ของแรงงานข้ามชาติเชื้อสายจีน ในฐานะกำลังแรงงานทางเศรษฐกิจที่สำคัญ จนกระทั่งกลายมาเป็นพลเมืองสัญชาติไทย และมีโอกาสได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์เป็นเกียรติยศ ก็อาจตีความได้ว่า

สังคมไทยพร้อมต้อนรับแรงงานข้ามชาติที่เป็นผู้มีความหมั่นเพียรขยันขันแข็ง และพร้อมมอบสัญชาติไทยให้กับผู้คนเหล่านี้ เมื่อเขาเธอปรากฏซึ่งความซื่อสัตย์ เรียนรู้ภาษาไทย เคารพวัฒนธรรมไทย และปฏิบัติตามกฎหมายของประเทศไทย

ภัยพิบัติสึนามิและน้ำท่วมใหญ่ที่ผ่านมา มีแรงงานข้ามชาติได้รับผลกระทบไม่น้อย แต่เป็นประเด็นที่ยังมองเห็นไม่เด่นชัด ภัยพิบัติโรคระบาดโควิด-19 จึงมีคุณูปการสูง ไม่เพียงเปิดเผยโครงสร้างความเหลื่อมล้ำ ยังเปิดเผยให้เห็นอคติทางเชื้อชาติที่ซ่อนอยู่ภายใต้ลัทธิเชิดชูชาติ ถือเป็นความท้าทายสำคัญของการพัฒนาที่ยั่งยืนที่มุ่งหมายจะไม่ทอดทิ้งใครไว้ข้างหลัง นั่นคือ ปฏิเสธแนวทางการเอาตัวเองให้รอดฝ่ายเดียว โดยนัยยะนี้ การพัฒนาจึงจะมีความศิวิไลซ์ มีความกล้าหาญทางจิตวิญญาณและความเกื้อกูล
มา

กว่าการพัฒนาที่มุ่งตัวเลขทางเศรษฐกิจอย่างเดียว

ชลนภา อนุกุล
www.thaissf.org, twitter.com/jitwiwat
สนับสนุนโดย มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image