จ้างวาน ระเบิด กลุ่ม 17 นปป.กับ BRN ‘เชื่อม’ อย่างไร

ทั้งๆ ที่ศาลทหารอนุมัติ “หมายจับ” 17 ผู้ต้องหากระทำภายใต้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 209 กระทำผิดอั้งยี่ และฝ่าฝืน

คำสั่ง คสช.ที่ 3/2558 ว่าด้วยการชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน

แต่ทำไมมีการโยงไปยังคดีวินาศกรรม 17 จุด 7 จังหวัด

ทั้งๆ ที่ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ก็ออกมายืนยันอย่างหนักแน่นและจริงจัง

Advertisement

“ไม่มีความเชื่อมโยงกับเหตุระเบิดและเหตุเพลิงไหม้ เป็นคนละเรื่องกัน”

ทั้งยังระบุด้วยว่า คดีวินาศกรรม 17 จุด 7 จังหวัดมีการออกหมายจับไปเพียง 1 รายเท่านั้น คือ นายอาหะมะ เลงฮะ”

เท่ากับหมายความว่า นายศักรินทร์ คฤหัสถ์ ก็ไม่ใช่

Advertisement

แล้วเหตุใด “พาดหัว” หน้า 1 ของสื่อด้านหลักยังเน้นอย่างอึกทึกครึกโครมว่า “หมายจับ 17 นปป. / กลุ่มซ้ายตกขอบ เพื่อปฏิวัติ / ดึง BRN แตกแถว บึ้ม 7 จังหวัด”

นั่นก็เพราะ “แหล่งข่าว” จาก “หน่วยงานความมั่นคง”

ดำเนินไปเหมือนกับการโพสต์ข้อความของ นายอาทิตย์ อุไรรัตน์ เหมือนกับการแถลงของ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เหมือนกับการแถลงของบรรดา “โฆษก” หลังเสียงระเบิดเพียง 1 วัน

นั่นก็เพราะ ปฏิบัติการด้าน “การข่าว” หรือที่เรียกว่า “IO”

กราฟิก-col01200859p1 (1)

 

แม้ทางด้านเจ้าหน้าที่ตำรวจยังเน้นอย่างมั่นคงในข้อเท็จจริงว่า “คดีระเบิดยังไม่พบความเชื่อมโยงกับกลุ่มการเมืองใดทั้งนั้น”

แต่ “แหล่งข่าว” จาก “หน่วยงานความมั่นคง”

ระบุถึงพฤติกรรมของ 17 ผู้ต้องหาที่ถูกออก “หมายจับ” ว่าร่วมมือกับกลุ่มหัวรุนแรงที่มีความเห็นต่าง รวมทั้งขบวนการ BRN ที่แตกมารับงานจ้างก่อเหตุ เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม ชุดสืบสวนพบความเคลื่อนไหวเตรียมพร้อมที่จะก่อเหตุหลังประกาศผลประชามติใน

วันที่ 7 สิงหาคม

ขณะเดียวกัน การจัดการกับ “พรรคแนวร่วมปฏิวัติประชาธิปไตย” (นปป.) ทั้ง 17 คนนี้ก็ดำเนินไปในระยะใกล้เคียงกับสถานการณ์วินาศกรรม 17 จุด 7 จังหวัด เมื่อวันที่ 11-12 สิงหาคม

โดยการเข้าควบคุมตัวตั้งแต่วันที่ 13 สิงหาคม

เริ่มจากนนทบุรี ไปยังสะพานสูง ในพื้นที่ กทม. รวมถึงที่ตรัง นครศรีธรรมราช พัทลุง เรื่อยมายังหนองคาย สกลนคร ร้อยเอ็ด และอ่างทอง

17 คน ถูกรวบไปอย่างดุษณีภาพ ณ มทบ.11

เหมือนกับแสดงให้เห็นว่า 17 คนนี้เกี่ยวพันกับสถานการณ์หลังประชามติ เกี่ยวพันกับเหตุวินาศกรรมระหว่างวันที่ 11-12 สิงหาคม แม้มิได้แสดงออกโดยตรงแต่ก็แสดงออกอย่างที่ “แหล่งข่าว” จาก “หน่วยงานความมั่นคง” ต้องการ

สถานการณ์ดำเนินไปอย่างเดียวกับที่นายศักรินทร์ คฤหัสถ์ ประสบ

สภาพการควบคุมตัว นายศักรินทร์ คฤหัสถ์ ประสบจากการบุกเข้ารวบตัวบนแท่นขุดเจาะสำรวจน้ำมันกลางอ่าวไทยในวันที่ 13 สิงหาคมนั้น

สร้างความงุนงง สงกา เป็นอย่างสูง

เจ้าหน้าที่ตำรวจอ้างว่าเป็นไปตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญและดำเนินการโดยเจ้าหน้าที่ทหาร แต่ภายหลังเด่นชัดยิ่งว่า ทหารเสมอเป็นเพียง “รับฝาก”

รับฝากตามคำขอจาก “ตำรวจ”

ขณะที่กรณี 17 ผู้ต้องหาแห่งพรรคแนวร่วมปฏิวัติประชาธิปไตย (นปป.) เริ่มต้นมาจาก “ทหาร” และ “ตำรวจ” ทำหน้าที่เป็นสะพาน

คำถามอยู่ที่ว่าเป็นสะพาน “เชื่อม” ไปยัง “อะไร”

กรณีของ นายศักรินทร์ คฤหัสถ์ เมื่อพ้นจากข้อกล่าวหาว่าลอบวางเพลิง ก็กำลังจะตกเป็นผู้ต้องหาในคดีครอบครองวัตถุระเบิด

กรณีของ 17 ผู้ต้องหาอาจเริ่มต้นจากประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 209 ว่าด้วยการกระทำผิดอั้งยี่ซ่องโจร ประสานเข้ากับการฝ่าฝืนคำสั่ง คสช.ฉบับที่ 3/2558 ว่าด้วยการชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน แต่จะไปลงเอยที่อยู่ในลักษณะ “ประสานงาน” หรือไม่

ขึ้นอยู่กับว่าพวกเขาประสานกับ “ผู้บงการหรือหัวหน้า” และ “ขบวนการลอบวางระเบิด ก่อวินาศกรรม” อย่างไร

เรื่องนี้จึงมีความจำเป็นต้อง “พิสูจน์” จาก “ความเป็นจริง”

เบื้องต้นอาจเป็นความริเริ่มของ “ทหาร” แต่นับจากนี้เป็นต้นไปก็เป็นงานของ “ตำรวจ”

 

ความเชื่อมโยงระหว่าง 17 ผู้ต้องหาไปยัง “ผู้บงการ” ไปยังขบวนการ BRN จึงมีความสำคัญเป็นอย่างสูง

ต้องตอบให้ได้ว่า “ผู้บงการ” เป็นใคร มีกระบวนการทำงานอย่างไร ต้องตอบให้ได้ว่า 17 ผู้ต้องหามีศักยภาพอย่างเพียงพอที่จะติดต่อไปยัง BRN ได้อย่างไร

เรื่องใหญ่โต มโหระทึกระดับนี้กล่าวหาลอยๆ คงไม่ได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image