ทางโล่งคนนอก โดย จำลอง ดอกปิก

แฟ้มภาพ

การหารือร่วมระหว่าง สนช.เจ้าของคำถามพ่วง และคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ นำโดย มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน ว่าด้วยเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อเพิ่มเติมคำถามพ่วงที่ผ่านประชามติ ให้ ส.ส.และ ส.ว.ร่วมกันเลือกนายกรัฐมนตรีใน 5 ปี ยังไม่มีข้อยุติ

สนช.มีข้อเสนอต่อ กรธ.ประเด็นเกี่ยวกับมาตรา 272 สรุปย่อๆ อาทิ (1) ในระหว่าง 5 ปีแรกนับตั้งแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรก ให้รัฐสภาเป็นผู้แต่งตั้งนายกฯตามมาตรา 88 และมาตรา 159 วรรคหนึ่งและวรรคสองภายใน 30 วันนับแต่วันเสนอรายชื่อต่อรัฐสภา ซึ่งกรณีดังกล่าวหมายความว่าวุฒิสภาเข้าไปมีส่วนร่วมในการได้มาซึ่งนายกรัฐมนตรีในขั้นตอนเพื่อลงมติให้ความเห็นชอบหรือไม่ให้ความเห็นชอบในนามรัฐสภาเท่านั้น ส.ว.ไม่มีสิทธิในการเสนอรายชื่อบุคคลที่สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีต่อรัฐสภา

2.ในกรณีที่ไม่สามารถแต่งตั้งนายกฯได้ภายในระยะเวลาที่กำหนด ตามข้อ (1) ให้รัฐสภาเป็นผู้ดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งนายกฯ ซึ่งกรณีดังกล่าวนี้หมายความว่าให้วุฒิสภาเข้าไปมีส่วนร่วมในการได้มา ตั้งแต่เริ่มกระบวนการ โดย ส.ว.มีสิทธิเสนอรายชื่อบุคคลให้สมควรเป็นนายกรัฐมนตรีได้ และจะเป็นรายชื่อผู้อยู่ในบัญชีที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88 หรือไม่ก็ได้ ตลอดจนถึงขั้นตอนการลงมติให้ความเห็นชอบหรือไม่ให้ความเห็นชอบบุคคลผู้สมควรเป็นนายกรัฐมนตรี

ปมที่มานายกรัฐมนตรี เป็นอีกหนึ่งหัวข้อใหญ่ มีข่าววงในเล็ดลอดออกมาแต่แรก ก่อนการร่าง-การจัดทำรัฐธรรมนูญร่างแรก ฝ่ายอำนาจยืนยัน ต้องเปิดทางเลือกไว้สำหรับคนนอก เป็นทางออกฉุกเฉิน บันไดหนีไฟกรณีเดดล็อก ระหว่างการร่าง การรับฟังความคิดเห็น ฝ่ายการเมือง นักวิชาการได้ทักท้วง เนื่องจากไม่สอดคล้องหลักการประชาธิปไตย แต่ก็มีการยืนยัน ถึงความจำเป็นที่ต้องเปิดทางไว้

Advertisement

ในมุมมองฝ่ายคัดค้าน มีข้อโต้แย้งว่า หากเขียนกฎหมายแม่บทการปกครองประเทศสูงสุดดี มีมาตรฐาน ปัญหาต่างๆ สามารถแก้ไขได้อยู่แล้ว ไม่มีทางตัน และเมื่อถึงที่สุด อาจใช้กระบวนการเลือกตั้งตามกติกาเป็นทางออกได้

ข้อหวั่นเกรงบางประการ นอกจากการขัดต่อหลักการ ก็คือ หากเขียนไว้ อาจมีผู้ใช้ช่องทางนี้ สืบทอดอำนาจเหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วเมื่อปี 2535

การมีทางออก ทางเลือกนั้นดีก็จริง แต่ปัญหาการเมืองไทย เป็นปัญหาที่มีการจัดตั้ง บริหารจัดการ สร้างปัญหา มุ่งหวังผลอย่างใด อย่างหนึ่งในทางการเมือง มิใช่ปัญหาที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติของบริหารราชการแผ่นดิน ที่มีได้ เกิดได้ และแก้ได้โดยตัวมันเองอย่างเป็นเรื่องปกติ

Advertisement

ความพยายามของฝ่าย สนช. ที่ไม่เพียงแต่ให้อำนาจ ส.ว.แต่งตั้ง ที่งอกเพิ่มมาทีหลังโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี แต่ยังสามารถเสนอชื่อบุคคลต่อรัฐสภาได้อีกต่างหาก

มองเป็นอื่นได้ยาก

นอกเสียจากต้องการให้การเลือกตั้ง การเปลี่ยนผ่าน เป็นกระบวนการสร้างความชอบธรรมอยู่ในควบคุมเท่านั้น โดยที่เนื้อแท้ ยังคงรูปแบบการปกครองไม่ต่างจากวิธีพิเศษ

หาก ส.ว.เสนอชื่อนายกฯได้

เราอาจได้เห็นวิธีการบริหารจัดการ กระทั่งกระบวนการโหวตเลือกนายกฯในขั้นตอนแรกสะดุดหยุดอยู่ ไปต่อไม่ได้ ต้องใช้บันไดหนีไฟ เปิดช่องให้คนอื่นเข้ามา

และเมื่อพรรค ส.ว.เสนอชื่อได้ การมีเสียงสนับสนุนที่มาจากการแต่งตั้งเป็นทุนเริ่มต้นสูงถึง 250 คน เก็บเล็กผสมน้อยจาก ส.ส.อีกแค่ 126 คน เสียงก็จะเกินกึ่งหนึ่งของ 750 คน วางใครเสนอใครเป็นนายกฯก็ได้

เมื่อเป็นเช่นนี้ พรรคการเมือง ที่ได้รับฉันทานุมัติจากประชาชน กวาดที่นั่ง ส.ส.

ได้เป็นเสียงส่วนใหญ่ ก็จะไม่มีความหมาย

ตัวแทนปากเสียงประชาชน ไม่มีที่อยู่ที่ยืน อย่างที่ควรจะเป็น!?

เห็นผีชัดเจนขึ้นเป็นลำดับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image