เห็นและเป็นไป : ฝากไว้ที่ ‘ฝ่ายค้าน’

เห็นและเป็นไป : ฝากไว้ที่ ‘ฝ่ายค้าน’

เหลืออีก 1 สัปดาห์การอภิปรายไม่ไว้วางใจจะเริ่มขึ้น 4 วัน 4 คืน ระหว่าง 16-19 กุมภาพันธ์ เช้าวันที่ 20 กุมภาพันธ์ ลงมติ

มีรัฐมนตรีที่ถูกยืนซักฟอก 10 คน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม, พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ, พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย, นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข, นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์, นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย, นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน, นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ, นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม, ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

เป็นอีกครั้งที่มีรัฐมนตรีถูกอภิปรายจำนวนมาก กระทั่งแทบจะเรียกได้ว่าเป็นการอภิปรายรัฐมนตรีทั้งคณะก็ว่าได้

มีการประชุมร่วมกันแล้ว ทั้ง 4 วันจะอภิปรายตั้งแต่เวลา 09.00-01.00 น. หรือวันละ 16 ชั่วโมง ฝ่ายค้านได้วันละ 10-12 ชั่วโมง รวม 4 วัน 40-48 ชั่วโมง ที่เหลือให้ฝ่ายรัฐบาลชี้แจง

Advertisement

40-48 ชั่วโมง อภิปรายรัฐมนตรี 10 คน

แน่นอนบางคนจะเน้นที่บางคน ส่วนใหญ่จะแค่พาดพิงประกอบ

เพราะอภิปรายหลายคนในเวลาจำกัด ทำให้มีการประเมินกันแล้วว่าการซักฟอกครั้งนี้ไม่ต่างจากที่ผ่านมา คือในที่สุดก็ผ่านไปโดยไม่มีอะไรเกิดขึ้น บาดแผลที่ฝากไว้อาจจะมีบ้างแต่ไม่ทำให้อยู่ไม่ได้ หรืออะไรทำนองนั้น

Advertisement

ที่ประเมินกันเช่นนี้ก็เพราะอารมณ์ความรู้สึกต่อความล้มเหลวในการบริหารงานของรัฐบาลอยู่ที่ความเสียดายด้านเศรษฐกิจ

ประชาชนมีความทุกข์ในเรื่องการทำมาหากิน รายได้ที่ลดลง มองไม่เห็นความหวังว่าจะมีอะไรดีขึ้นในอนาคต

แต่กลับกลายเป็นว่า “รัฐมนตรีที่ดูแลเรื่องเศรษฐกิจ” กลับไม่มีใครถูกอภิปราย

ยกเว้นแค่นายกรัฐมนตรีที่เป็นหัวหน้าทีม ซึ่งหากจะโยงถึงรายละเอียดที่เป็นในการปฏิบัติคงไม่ง่ายนัก เพราะเป็นงานของรัฐมนตรีผู้รับผิดชอบโดยตรงมากกว่า

ที่เป็นเช่นนี้อาจจะเนื่องจากทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลเพิ่งมีการปรับเปลี่ยนได้ไม่นาน ฝ่ายค้านต้องให้เวลาในการทำงาน และเมื่อทำงานได้ไม่นานนักหลักฐานที่สะท้อนให้เห็นความล้มเหลวยังไม่น่าจะชัด จึงไม่เอามาซักฟอกในครั้งนี้

แต่นั่นยิ่งทำให้เกิดความเชื่อกันไปใหญ่ว่าน่าจะเป็นแค่การซักฟอกตามธรรมเนียม ตามวาระเท่านั้น หวังผลให้แตกหักคงไม่ได้

อย่างไรก็ตาม เพราะ “พล.อ.ประยุทธ์” และคณะที่สืบทอดมาจาก คสช.บริหารประเทศมา 7 ปีเต็ม โดยที่ในความเป็นจริงไม่เพียงไม่มีอะไรดีขึ้น ซ้ำยังเกิดวิกฤตศรัทธามากมายกระทั่งกลายมีการชุมนุมใหญ่เพื่อเรียกร้องให้ลาออกครั้งแล้วครั้งเล่าจากประชาชน โดยเฉพาะเยาวชนคนรุ่นใหม่ กระทั่งส่งผลต่อเสถียรภาพของรัฐบาลอยู่ไม่น้อย

และตรงนี้แหละที่เป็นประเด็น

ขณะที่ประชาชนกลุ่มหนึ่งรู้สึกสิ้นศรัทธาต่อรัฐบาล

หากฝ่ายค้านทำหน้าที่ไม่ได้สมกับอารมณ์ของประชาชนที่คาดหวัง ไม่สามารถตรวจสอบ หรือชี้ให้เห็นความล้มเหลว ไร้ความสามารถของรัฐบาลได้

ศรัทธาต่อการเมืองในระบบจะไม่เกิดขึ้น

และหากอาการหมดหวังกับการเมืองในระบบนั้นแปรไปเป็นความเบื่อหน่าย มองเห็นแก่การประนีประนอมผลประโยชน์ในกันและกันของนักการเมือง

ย่อมเป็นความน่าห่วง เพราะนั่นหมายถึงความสิ้นหวังกับนักการเมือง ที่จะทำให้คนซึ่งคาดหวังกับผู้มีอำนาจนอกระบบมีมากขึ้น

หากนักการเมืองไม่ช่วยกันทำให้ความหวังในระบบยังคงอยู่

ความชอบธรรมของการเมืองนอกระบบจะมีมากขึ้นในความรู้สึกของประชาชน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image