เทคโนโลยี การเปลี่ยนแปลง และคุณภาพ โดย วิฑูรย์ สิมะโชคดี

เมื่อเร็วๆ นี้ บริษัท KPMG ซึ่งเป็นบริษัทผู้เชี่ยวชาญด้านการตรวจสอบบัญชี ภาษี และการให้คำปรึกษาทางธุรกิจได้เปิดเผยผลสำรวจ KPMG’s 2016 Global CEO Outlook ที่ได้จาก CEO จำนวน 1,268 รายใน 10 ประเทศ ว่า “ดิจิตอลดิสรัพชั่น” (Digital Disruption) หรือการปรับตัวด้านเทคโนโลยีที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงหรือส่งผลกระทบทางธุรกิจเดิมนั้น ทำให้ CEO ส่วนใหญ่กว่า 65% มีความกังวลว่าจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจและการดำเนินงานในอนาคต แต่ในขณะเดียวกันยังมี CEO อีกกว่า 53% มองว่าจะสามารถเดินหน้าธุรกิจต่อไปได้ โดยคิดว่าดิจิตอลดิสรัพชั่นจะไม่สร้างผลกระทบมากนัก

ผู้บริหารจำนวนมากที่เชื่อว่า ความก้าวหน้าอย่างรวดเร็วด้านเทคโนโลยี อาจจะทำให้คนตกงาน ธนาคารใหญ่เจ๊ง ห้างใหญ่ล้ม ในอนาคตอันใกล้อีกไม่กี่ปีข้างหน้านี้ (ดังเห็นได้จากการปิดกิจการของห้างใหญ่หลายแห่งในประเทศอเมริกาและยุโรป) ก็จะมีวิธีการบริหารจัดการที่ต่างกันออกไป

ผู้บริหารจึงจำเป็นต้องทำความเข้าใจกับพัฒนาการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ และระบบดิจิตอลหลายๆ อย่างที่กำลังจะเกิดขึ้น เพื่อเตรียมพร้อมที่จะรับมือกับผลกระทบต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น

การทำความเข้าใจนี้จะช่วยทำให้เราสามารถเลือกใช้เทคโนโลยีได้เหมาะสมยิ่งขึ้น ทั้งเพื่อการเพิ่มประสิทธิภาพและความสามารถในการแข่งขัน แต่สิ่งที่สำคัญที่สุด ก็คือ การเพิ่ม “คุณภาพในการเรียนรู้” (คุณภาพของพนักงาน) รวมถึง “การบริหารจัดการความรู้” (Knowledge Management) ขององค์กรด้วย

Advertisement

ทุกวันนี้ นวัตกรรมต่างๆ ที่เกิดจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสารสนเทศ จะทำให้องค์กรสามารถกระจายอำนาจออกไปและควบคุมสิ่งต่างๆ ได้มากขึ้น โดยพนักงานไม่จำเป็นต้องนั่งทำงานอยู่ในที่ทำงานอีกต่อไป เพื่อนร่วมงานสามารถทำงานกันอย่างใกล้ชิดโดยไม่เคยพบหน้ากันเลยก็ได้ เพราะพนักงานทุกคนสามารถเชื่อมต่อถึงกันจากที่ไหนๆ ในโลกได้แล้ว ในขณะที่บริษัทต่างๆ มีได้ทั้งการร่วมมือกันและแข่งขันกันไปในเวลาเดียวกัน ถึงขนาดที่บางองค์กรอาจจะว่าจ้างผู้บริหารระดับสูง ในลักษณะของ Part-time CEO ก็ได้

แต่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม “ลูกค้า” ยังคงเป็นคนกำหนดชะตากรรมของทุกองค์กรอยู่ดี เพราะลูกค้าจะเป็นผู้อยู่เบื้องหลังที่คอยกำหนด หรือควบคุมการผลิตและการบริการที่องค์กรควรจะต้องทำ หรือต้องมีในตลาด (คือ ผลิตสินค้า และให้บริการ ตามที่ลูกค้าต้องการ) เพื่อจะได้ขายได้และมีกำไร

ดังนั้น ตราบใดที่ “ลูกค้า” ยังคงมีความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ ขององค์กรต่างๆ ทั้งภาคเอกชน และภาครัฐ ตราบนั้น “คุณภาพ” จะยังมีความหมายเสมอ ไม่ว่าเทคโนโลยีจะเปลี่ยนแปลงและพัฒนาไปมากน้อยเพียงใดก็ตาม

Advertisement

ยิ่งเป็นเรื่อง “คุณภาพของคน” ซึ่งจำเป็นต่อ “การเรียนรู้” (ได้เร็ว) เพื่อการพัฒนาองค์กรด้วยแล้ว ยิ่งเท่ากับตอกย้ำว่า “คุณภาพคือความอยู่รอด” ครับผม !

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image