ถั่งเช่าในรัฐเวชกรรมไทยสมัยใหม่

ข่าวคราวเรื่องการดำเนินคดี และกระแสดราม่าเรื่องของถั่งเช่า น่าจะทำให้เราต้องมาพิจารณากันมากขึ้นว่าเรื่องของดราม่า และเรื่องราวความต้องการข้อเท็จจริงของผลกระทบจากถั่งเช่าในสังคมไทยนั้น มันอยู่ตรงไหน โดยที่ผมอยากนำเสนอข้อสังเกตในเรื่องนี้ออกเป็นสองประเด็น นั่นคือเรื่องของประเด็นด้านการแพทย์ และเภสัชศาสตร์ หมายถึงว่าตกลงเจ้าถั่งเช่านี้มันใช้ได้ผลจริงไหม กับประเด็นที่สองก็คือ นัยยะที่ไม่ใช่การแพทย์และเภสัชศาสตร์ แต่เป็นนัยยะในเรื่องของสังคม เศรษฐกิจ การเมืองของถั่งเช่า

1.มิติด้านการแพทย์และเภสัชศาสตร์ของถั่งเช่า: ถ้าเราลองค้นหาข้อมูลในเรื่องของถั่งเช่า ก็จะพบว่ามีการพูดถึงเรื่องที่เป็นมุมมองด้านการแพทย์ และเภสัชศาสตร์อยู่มาก ในแง่ของคำถามที่ว่า ตกลงถั่งเช่านั้นรักษาโรคได้หรือไม่
คำตอบที่ดูจะปลอดภัยที่สุดก็คือ มันมีผลสร้างปฏิกิริยาบางอย่างที่ทางการแพทย์ และเภสัชก็สามารถนำไปพิจารณาในการรักษาอาการของโรคได้ ดังที่มีการรองรับจากผลการวิจัยจำนวนไม่น้อย ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเรื่องนี้มีการทำวิจัยกันมาจากหลายที่ทั่วโลก และมีตีพิมพ์ในวารสารวิชาการที่น่าเชื่อถือ

ผมขอย้ำว่า เราไม่น่าจะพูดได้ว่าถั่งเช่ามันรักษาโรคได้ แต่มันอาจจะลดอาการบางอย่างได้ โดยงานวิจัยที่รองรับก็ไม่ค่อยจะพูดว่ามันลดอาการอะไร แต่มันจะไปทำปฏิกิริยากับสาร หรือเงื่อนไขบางอย่างที่มันเป็นส่วนหนึ่งของสาเหตุการเกิดอาการทางร่างกายของเรา ย้ำนะครับว่า จะไปพูดว่าอะไรมันรักษาโรคได้ มันเป็นเรื่องที่หมอกับนักเภสัชจริงๆ เขาระมัดระวังที่จะพูดอะไรแบบนี้

ในมุมทางเภสัชศาสตร์ เขามองว่า ถั่งเช่าเป็นสมุนไพรที่ประกอบด้วยสองส่วน ตือ ส่วนที่เป็นตัวหนอน (ผีเสื้อ) และส่วนที่สองก็คือ บนตัวหนอนผีเสื้อจะมีเห็ดชนิดหนึ่ง โดยที่หนอนชนิดนี้ฤดูหนาวจะฝังตัวจำศีลอยู่ใต้ดินภูเขาหิมะ เมื่อน้ำแข็งเริ่มละลายสปอร์เห็นจะพัดไปกับน้ำแข็งที่ละลาย แล้วไปตกที่พื้นดิน จากนั้นตัวหนอนเหล่านี้จะกินสปอร์ และเมื่อฤดูร้อนสปอร์ก็เริ่มเจริญเติบโตเป็นเส้นใยโดยอาศัยการดูดสารอาหารและแร่ธาตุจากตัวหนอนนั้น เส้นใยงอกออกจากท้องของตัวหนอน และงอกออกจากปากของมัน เห็ดเหล่านี้ต้องการแสงอาทิตย์มันจึงงอกเงยขึ้นสู่พื้นดิน โดยรูปลักษณะภายนอกคล้ายไม้กระบอก ส่วนตัวหนอนก็จะค่อยๆ ตายไป อยู่ในลักษณะของหนอนตายซาก หรือเรียกง่ายๆ ถั่งเช่าก็คือตัวหนอนและเห็ดที่แห้งแล้วนี่เอง (พนมาศ สุนทรเจริญ และธิดารัตน์ จันทร์ดอน “ถั่งเช่า” ช่วยเพิ่มสมรรถภาพ จริงหรือ? (สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสคร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และดูผลการทดลองได้ที่ K.Jiraungkoorskul and W.Jiraungkoorskul. 2016. Review of Naturopathy of Medical Mushroom, Ophiocordyceps Sinensis, in Sexual Dysfunction. Phamacognosy Reviews. 10: 1-5)

Advertisement

พอจะสรุปง่ายๆ ว่าในทางการแพทย์ มองว่าเจ้าถั่งเช่า เป็นยาบำรุงร่างกายพอจะได้ เพราะมีสารที่เป็นประโยชน์ ซึ่งจะมีฤทธิ์ในทางบวกต่อเรื่องราวอาการต่างๆ เช่น การเพิ่มปริมาณสเปิร์มในอสุจิ การลดการสร้างสารที่จะทำให้เกิดอาการอักเสบ ลดระดับน้ำตาลในเลือด ลดความดันโลหิต ลดระดับโปรตีนในปัสสาวะเพิ่มสารอนุมูลอิสระ (ซึ่งมีผลต่อการทำงานของระบบการทำงาน
ของไต) (อ้างแล้ว)

แต่ในอีกด้านหนึ่งมีการค้นพบว่า ถั่งเช่าที่นิยมนำมาบริโภคกันนั้น มีปริมาณสารหนูอยู่มากเกินมาตรฐาน และนี่จึงเป็นสาเหตุที่ในประเทศจีน มีการถอดถั่งเช่าออกจากบัญชียาเมื่อ พ.ศ.2559

กล่าวโดยสรุป (ซึ่งก็สรุปมาหลายทีแล้ว) เราพอจะพูดได้ว่าในทางการเแพทย์และเภสัชศาสตร์ ถั่งเช่ามีสรรพคุณไม่ใช่น้อย แต่ไม่ใช่ยาสารพัดโรค และที่พอจะส่งผลบวกได้ก็จะต้องใช้ด้วยความระมัดระวัง และต้องคู่ขนานไปกับการแพทย์สมัยใหม่ และอยู่ในคำปรึกษาของแพทย์ ส่วนในบางโรค หรืออาหารนั้นก็ยังไม่มีหลักฐานอะไรยืนยัน แต่โดยสรุปแล้วยาสมุนไพรนั้น ปัญหาใหญ่มักจะอยู่ที่ว่า มันอาจจะมีคุณภาพไม่คงที่ เพราะเก็บมาจากแหล่งที่ต่างกัน และ การเก็บรักษายังไม่ดีพอ

Advertisement

2.มิติด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมวัฒนธรรมของถั่งเช่า ในส่วนนี้เป็นข้อสังเกตบางประการที่ผมคิดว่ายังไม่ค่อยมีการพูดกันมากนัก แต่เป็นประเด็นที่น่าขบคิดต่อ และก็อยากจะเห็นมุมมองของนักมานุษยวิทยาการแพทย์ ที่จะศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจัง

แทนที่จะพิจารณาแค่มิติทางการแพทย์ว่า ถั่งเช่ามีสรรพคุณแค่ไหน จริงหรือไม่จริง เราอาจเริ่มตั้งข้อสังเกตใหม่ๆ จากปรากฏการณ์ทางสังคม และเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับถั่งเช่า อาทิ ทำไมโฆษณาถั่งเช่ามันเต็มบ้านเต็มเมืองไปหมด และแทบจะเป็นโฆษณาหลักของโทรทัศน์ในวันนี้ ในหลายๆ ช่อง และดราม่าการไล่จับผิดถั่งเช่าก็เป็นเรื่องใหญ่เรื่องหนึ่งในบ้านเมืองของเรา

เกิดอะไรขึ้นในสังคมที่มีสวัสดิการทางสุขภาพ และมีระบบการสาธารณสุขอันดับ 6 ของโลก ที่เต็มไปด้วยโฆษณาถั่งเช่าแบบที่เป็นอยู่

เราอาจจะตั้งหลักจากเรื่องหลายเรื่องที่อาจจะยังกระจัดกระจายอยู่ แต่ผมอยากจะชวนกันคิดในเรื่องเหล่านี้

หนึ่ง ธุรกิจขายถั่งเช่านั้นสร้างเม็ดเงินมหาศาล แต่เงื่อนสำคัญของสรรพคุณของถั่งเช่าอาจจะเป็นรองจาก “เรื่องราว” ในเรื่องของถั่งเช่าที่มันสร้างความหมายและนัยยะสำคัญบางอย่างให้กับผู้คนในสังคม

อธิบายอย่างนี้น่าจะทำให้เราเริ่มคิดกันว่า มันมีอะไรอยู่ในตัวเรื่องราวที่ถูกนำเสนอในโฆษณาต่างๆ ของถั่งเช่าในสังคมไทย มากกว่าสนใจแค่ตัวสรรพคุณทางการแพทย์และเภสัชศาสตร์ อาทิ เรื่องของการอ้างอิงกับความเป็นสมุนไพรจีน การอ้างอิงกับเรื่องราวทางภูมิศาสตร์ ว่ามาจากพื้นที่ที่เป็นที่รู้จักในแง่ภูมิปัญญา การอ้างถึงกระบวนการที่ยุ่งยากในการได้มา

นอกจากนั้น ยังมีการอ้างอิงกับงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ เช่น ผลทางการทดลอง แต่ก็เหมือนที่กล่าวไปแล้วว่า ตัวคุณภาพของสมุนไพรนั้นมักจะไม่คงที่ ในห้องทดลองอาจจะทำได้ แต่คุณภาพจริงและมาตรฐานนั้นอาจจะไม่เหมือนกัน และทำให้ในโลกของสมุนไพรนั้น การแยกแยะ “คุณภาพ” และ “ราคา” ของสมุนไพรนั้นเป็นสิ่งที่รับได้ แต่ในทางการแพทย์สมัยใหม่นั้น ถ้าคุณภาพไม่ถึงอาจจะขายไม่ได้ และไม่ได้รับการรับรอง

นอกจากนี้แล้ว เราอาจจะพิจารณาเรื่องของผู้ที่รับสารและผู้ซื้อ จะเห็นว่าเป้าหมายของถั่งเช่ามักจะอยู่ที่คนสูงอายุ และคนในวัยทำงานที่ไม่ใช่คนรุ่นใหม่ทั้งหมด ซึ่งอาจจะพิจารณาได้จากเรื่องราวหลายๆ เรื่อง

1.ผู้สูงอายุ และแม่บ้านนั้นอาจจะเป็นผู้ชมหลัก ในภูมิทัศน์ของสื่อโทรทัศน์ในวันนี้ สิ่งที่ควรสนใจต่อก็คือว่า เป้าหมายของการมีสุขภาพดีที่ถูกถ่ายทอดในเรื่องราวการโฆษณานั้นคืออะไร เช่น การได้ไปท่องเที่ยว การได้มีชีวิตที่ปกติไม่เป็นภาระใคร

2.ลักษณะของพฤติกรรมผู้บริโภคคือ การเชื่อมโยงกับกาแฟ ซึ่งจากตลาดกาแฟทั่วไปนั้น กาแฟจะไม่เคยถูกมองว่าเกี่ยวพันกับสุขภาพ และในยุคใหม่ๆ กาแฟถูกมองว่าเป็นเรื่องของคนรุ่นใหม่มากขึ้น และใส่นัยยะทางวัฒนธรรมเข้าไปว่ากาแฟนั้นเป็นสื่อในการส่งต่อความห่วงใยระหว่างกันมากขึ้น ดังนั้นการนำเอาถั่งเช่าเข้ามาเพิ่มเรื่องราวให้กับกาแฟสุขภาพ จึงน่าจะเป็นอีกเงื่อนไขหนึ่งที่ทำให้กาแฟผสมถั่งเช่านั้นเข้าคอกับกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการขายได้ และแตกต่างไปจากกลุ่มตลาดการชงกาแฟของคนหนุ่มสาว หรือตลาดกาแฟตามร้านที่ขยับไปเป็นกาแฟสดที่มีคุณภาพ และเรื่องราวที่ซับซ้อน ทั้งในแง่ของแบรนด์ และในแง่ของคุณภาพกาแฟ

3.การตลาดแบบที่เน้นผู้นำเสนอ (presenter) ที่เป็นที่รู้ไม่จัก แต่ไม่ใช่คนที่ต้องดังที่สุดในวันนี้ กล่าวได้ว่า พรีเซ็นเตอร์ของกาแฟผสมถั่งเช่า หรือผลิตภัณฑ์อื่นๆ จะให้ความสำคัญกับเรื่องราว ที่คล้ายๆ กับกึ่งศาสนา/ความเชื่อ ผสมกับเรื่องของความคุ้นเคยเพื่อสร้างเครดิตให้กับสินค้า เช่น การอธิบายว่าสินค้าเหล่านี้นั้นทำให้ตัวผู้ใช้ หรือครอบครัวที่เขารักนั้นหายเจ็บป่วยจากโรคภัย หรืออาการบางอย่างได้ และการใช้พรีเซ็นเตอร์ที่เป็นที่รู้จัก เคยเป็นที่นิยม กลับมาเล่าเรื่องราวว่าพวกเขาหายเจ็บป่วยได้อย่างไร จะพบว่าโลกของการซื้อขายผลิตภัณฑ์เหล่านี้ มีลักษณะเป็นชุมชนที่ใช้การบอกเล่า และความน่าเชื่อถือแบบปากต่อปากกันไปในวงกว้าง

หากย้อนไปที่จุดตั้งต้นของความนิยมของถั่งเช่าในทางวัฒนธรรมใหม่ พบว่า สืบเนื่องมาจากเมื่อปี ค.ศ.1993 เมื่อนักกีฬาประเทศจีนได้แสดงผลงานในการแข่งขันโอลิมปิก โดยโค้ชเปิดเผยว่า เคล็ดลับมาจากการทานถั่งเช่า (จะเห็นได้ว่าไม่ใช่เรื่องเดียวกับการที่ถ่ายทอดมาในสังคมไทยที่กลับไปสู่เรื่องของผู้สูงอายุ และคนในวันทำงาน ไม่ใช่วงการกีฬา) (E.Young. 2018. The World’s Most Valuable Parasite is in Trouble: And so are the livelihoods of the People Who Depend on It. Theatlantic.com/ 23 October)

ในบางส่วนของเรื่องราว ผมพบว่าถั่งเช่ามีลักษณะคล้ายการเห่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์บางอย่างในสังคมไทยที่มีขึ้นและลง บางยุคก็เห่อเรื่องบางเรื่องขึ้นมา แล้วอีกสักพักก็เงียบลง และยิ่งน่าสนใจว่าทำไมสมุนไพรตัวอื่นที่มาก่อนหน้านั้น เช่น โสม กลับไม่ได้รับความนิยมในปัจจุบัน หรือการอิงกับวิทยาศาสตร์ไปเลย เช่น เครื่องดื่มยาชูกำลังบางอย่างที่ผสมวิตามิน หรือสารบางอย่างเข้าไปก็ไม่เห็นจะฮือฮาเท่ากับเจ้าซากหนอนผสมเห็ดตัวนี้

ในแง่ทางเศรษฐกิจนั้น มูลค่าของการขายถั่งเช่าในประเทศไทยนั้นมีอย่างมหาศาล และวิธีการขายมักจะเน้นให้ซื้อเยอะแล้วลดราคา แบบว่าคนที่ซื้อน่าจะต้องมีกำลังซื้อในระดับหนึ่ง ต้องชมโทรทัศน์ และโทรศัพท์สั่งซื้อ มีเลขบ้านที่แน่นอน หรือบางเจ้าที่ขายในร้านสะดวกซื้อก็ย่อมจะชี้ให้เห็นว่าต้องอยู่ในพื้นที่ที่ร้านสะดวกซื้อเข้าถึง หมายถึงต้องอยู่ในย่านที่มีมูลค่าพอสมควร การมีมิติด้านการเป็นตัวแทนจำหน่ายก็จะเพิ่มเข้ามาให้การขยายความมั่งคั่งของเครือข่ายการค้าและจัดจำหน่ายแข็งแรงมากขึ้น

ในอีกด้านหนึ่งเราก็กำลังตื่นเต้นทั้งกับการบริโภคถั่งเช่ากันจนไม่ได้สนใจว่า ข้อถกเถียงเรื่องถั่งเช่าในระดับนานาชาตินั้นไม่ได้มีแค่ว่ามันจริงหรือไม่จริง แต่การเร่งเก็บเกี่ยวถั่งเช่าในทิเบต และพื้นที่อื่นๆ นั้นเกี่ยวพันกับระบบนิเวศวิทยาของพื้นที่ และนิเวศวิทยาเศรษฐกิจในพื้นที่คือ ถั่งเช่าสร้างอาชีพให้คนมีรายได้ในพื้นที่เหล่านั้นมีงานทำในการเก็บเกี่ยว แต่สภาพการทำงานก็ยากลำบาก ต้องใช้ความระมัดระวัง (เหมือนรังนกนั่นแหละครับ) รวมทั้งมีเครือข่ายการซื้อขายที่ต้องพึ่งพานายหน้าหลายขั้นตอน กว่าจะถึงย่านศูนย์กลางการค้าหลักของจีนและฮ่องกง ในปี 1997-2012 พบว่าราคาถั่งเช่าในตลาดเพิ่มขึ้นร้อยละ 20 ทุกปี และราคาก็จะมีหลากหลายแบบที่แพงมากก็แพงมหาศาล เพราะไปเกี่ยวโยงว่าเป็นไวอาก้าจากหิมาลัย แต่ในมุมของแรงงานเกษตรที่ต้องขุดพวกนี้ พวกเขาได้เงินน้อย และเมื่อของเริ่มหมดเขาก็ไม่มีทางอื่นในการทำมาหากิน รวมทั้งการเร่งเก็บเกี่ยวได้ทำลายระบบนิเวศวิทยาในภาพรวม และระบบที่จะทำให้ระบบวงจรชีวิตของถั่งเช่านั้นไม่ยั่งยืน รวมทั้งความแปรผันของระบบอากาศที่มีผลในระยะยาวในการเก็บเกี่ยว และการเติบโตของถั่งเช่า (อ้างแล้ว) ส่วนความเชื่อเรื่องการเอามาเพาะเลี้ยงเอง ก็ยังมีผลการทดลองที่หลากหลายว่าให้ผมเหมือนกันไหม อย่างน้อยทาง อย. ก็ไม่ยอมรับตัวถั่งเช่าสีทอง มองว่าเป็นแค่เห็ด หรือส่วนเดียวเมื่อเทียบกับยาถั่งเช่า (อย.เผย ถั่งเช่าสีทอง) เพาะเลี้ยง เป็นเห็ดราคนละชนิดกับเครื่องยาถั่งเช่าแท้ ผู้ป่วยไตควรปรึกษาหมอก่อนกิน (MGROnline. 11 กพ 19.)

ในด้านสุดท้าย เราจะพบว่า เราไม่ควรละเลยมุมมองด้านการเมืองของถั่งเช่าในภาพใหญ่ของ “รัฐเวชกรรมสมัยใหม่” ของไทย ที่ให้ความสำคัญกับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และผลิตบุคลากรด้านการแพทย์สมัยใหม่ และกดทับโลกของสมุนไพรท้องถิ่นพื้นบ้านให้เป็นรอง ด้วยเงื่อนไของค์ความรู้สมัยใหม่ และโครงสร้างกลไกรัฐมากมายที่ลดทอนความน่าเชื่อถือขององค์ความรู้ที่ “เป็นอื่น” ของความไม่เป็นโลกสมัยใหม่ และไม่เป็นอุตสาหกรรมของยาและความรู้

องค์ความรู้เรื่องสมุนไพร อย่างมากก็ถูกจัดให้เป็นสิ่ง “ท้องถิ่น” “พื้นบ้าน” พอมีสรรพคุณที่ต้องเทียบกับการแพทย์สมัยใหม่ ในการประเมิน และใช้มาตรฐานของการแพทย์สมัยใหม่เท่านั้น

ไม่ใช่ผมจะบอกว่าองค์ความรู้สมุนไพรนั้นจะต้องเหนือกว่า แต่ควรมองโลกคู่ขนานนี้ให้ซับซ้อนขึ้น เช่น แม้รัฐจะไม่ยอมรับ แต่สิ่งนี้สร้างมูลค่า และความเชื่อให้กับผู้คนในสังคม

ลองพิจารณาเทียบเคียงกับเรื่องของโหราศาสตร์สิครับ ทำไมรัฐไม่กดทับ ไม่ห้าม ไม่จัดระเบียบ ทำไมยังพร้อมจะมีรัฐพิธีจำนวนไม่น้อยที่สร้างความเป็นทางการให้กับเรื่องเหล่านี้ได้ หรือเปิดให้มีกิจกรรมเซ่นไหว้ไม่น้อยในสถานที่ราชการด้วยซ้ำ ไม่นับกระทรวงที่ดูแลเรื่องเวชกรรม

ในอีกด้านหนึ่งรัฐอาจจะยอมรับให้ขายได้ แต่ต้องมองแค่เป็นยาบำรุง ไม่ใช่ยา และต้องห้ามโฆษณาเกินจริง คำถามต่อก็คือ ความจริง/ข้อเท็จจริงนั้นจะต้องถูกวัดในมาตรฐานเดียวของรัฐเวชกรรมเท่านั้น

เรื่องเหล่านี้เป็นการเมืองแห่งความรู้ เป็นความสัมพันธ์ทางอำนาจที่ต้องลองพิจารณากันอีกมากมาย ในโลกที่การผลิตยาโดยอุตสาหกรรมข้ามชาติและในประเทศในด้านการผลิตยานั้นซับซ้อน เป็นความลับ มีการเจรจาต่อรองหลังประตูอีกมากมาย ขณะที่การเล่าเรื่องในโฆษณาของยาสมุนไพรที่คนนับถือ และอาจจะถึงขั้นเสพติดด้วยความเชื่อมั่นมากกว่าในแง่เคมี เต็มไปด้วยการเล่ากระบวนการอย่างละเอียด และเป็นโลกของการค้าขายเล่าเรื่องอย่างเสรี และมีความเป็นไปได้ในการแสดงความห่วงใยคนที่เรารักได้โดยไม่ต้องผ่านสถาบันความรู้กลาง เช่น เราคงไม่สามารถซื้อยาลดความดันในโทรทัศน์ให้กับพ่อแม่ที่แก่เฒ่าของเราได้ และเราคงไม่สามารถพาท่านไปหาหมอได้ทั้งโรงพยาบาลรัฐที่ใช้เวลานาน หรือโรงพยาบาลเอกชนที่แพง และไม่รู้ว่าการรักษาจะจบสิ้นเมื่อไหร่ เราไว้ใจระบบการรักษาได้ไหมว่าต้องจ่ายแค่ไหน

แต่การซื้อความห่วงใยสำเร็จรูปที่เห็นผลทันตาแบบนี้ทำไม่ได้ในระบบรัฐเวชกรรมที่ทำให้เราอยู่ภายใต้ระบบการดูแลของรัฐในนามของสวัสดิการที่ย่อมน้อย/ด้อยกว่าตลาดเสรีในนามของเอกชนที่รัฐดูแลได้น้อย แต่ยอมให้อยู่ได้มากกว่าการรักษากันเองในสังคมแบบที่เป็นอยู่

พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image