
ที่มา | มติชนออนไลน์ |
---|---|
ผู้เขียน | สุจิตต์ วงษ์เทศ |
เผยแพร่ |
ราวหลัง พ.ศ. 1500 จีนยกความสำคัญเป็นพิเศษบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยา ภาคกลาง ลงไปถึงแหลมมลายู เพราะมีเส้นทางข้ามคาบสมุทรที่เอื้อการค้าโลกของจีน ตั้งแต่แม่น้ำแม่กลองอยู่คาบสมุทรตอนบน กับแม่น้ำปัตตานีอยู่คาบสมุทรตอนล่าง
ระหว่างตอนบนกับตอนล่าง ยังมีเส้นทางข้ามคาบสมุทรอีกหลายแห่งเป็นช่วงๆ เช่น เส้นทางช่องสิงขร (จ. ประจวบคีรีขันธ์) ฯลฯ
ราวหลัง พ.ศ. 1700 จีนให้ความสำคัญกับดินแดนฟากตะวันตกลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีในเอกสารจีนระบุหลายครั้งชื่อ เจินหลี่ฟู่ อยู่ลุ่มน้ำท่าจีน ที่ต่อไปคือรัฐสุพรรณภูมิ หรือดินแดนของชาวสยาม ที่ใช้ภาษาไต-ไท เป็นภาษากลางทางการค้าภายใน

เจิ้งเหอ แม่ทัพขันที
จีนอุดหนุนเจ้านครอินทร์แห่งรัฐสุพรรณภูมิ ยกกําลังยึดครองอยุธยา ขับไล่กษัตริย์เชื้อสายละโว้ (ลพบุรี)
โดยให้เจิ้งเหอ แม่ทัพขันที “ซําปอกง” ยกขบวนสําเภาผ่านเข้ามาจากอ่าวไทย เจ้านครอินทร์ก็ได้เสวยราชย์ที่อยุธยา ระหว่าง พ.ศ. 1952-1967
นักวิชาการทางประวัติศาสตร์ของไทยจึงให้ความสนใจต่อการเดินทางของเจิ้งเหอ โดยเฉพาะการเดินทางครั้งที่ 2 ที่มายังอาณาจักรเสียนหลอ หรือกรุงศรีอยุธยา ว่าน่าจะมีส่วนกระทบถึงการเปลี่ยนแปลงที่สําคัญทางการเมืองของราชอาณาจักรสยามด้วย
เพราะปีที่เจิ้งเหอเดินทางมาถึงกรุงศรีอยุธยานั้น เป็นปีที่สมเด็จพระนครินทราธิราช หรือเจ้านครอินทร์ ได้ขึ้นเสวยราชสมบัติกรุงศรีอยุธยา โดยขุนนางทั้งหลายเป็นใจ ถอดสมเด็จพระรามราชาธิราชไปไว้ที่เมืองปทาคูจาม และเชิญเสด็จเจ้านครอินทร์จากสุพรรณภูมิเข้ามาเป็นกษัตริย์ราชวงศ์สุพรรณภูมิ ที่เสวยอํานาจสืบเนื่องกันต่อมาอย่างยั่งยืนโดยตลอดจนกรุงแตกเสียแก่พม่าเมื่อ พ.ศ. 2112
เจ้านครอินทร์ คือเจ้านายไทยที่มีความคุ้นเคยกับราชสําานักจีนที่ให้การรับรองคณะทูตของพระองค์ แม้ในขณะที่ราชบัลลังก์กรุงศรีอยุธยาจะตกอยู่ในอํานาจของราชวงศ์อื่น
เจ้านครอินทร์ คือเจ้านายไทย ผู้เคยเสด็จไปเป็นทูตยังราชสํานักจีนด้วยพระองค์เอง

เจ้านครอินทร์ เป็นผู้สืบเชื้อสายทางพระราชมารดาจากราชวงศ์สุโขทัย จนเกิดเป็นเรื่องบอกเล่าในลักษณะตํานานว่าเป็นพระร่วงที่ไปนําช่างทําถ้วยชามจากเมืองจีนมาทําที่สุโขทัย
ด้วยเหตุนี้เจ้านครอินทร์จึงมีความชอบธรรมที่จะขึ้นเสวยราชสมบัติกรุงศรีอยุธยาเป็นสมเด็จพระนครินทราธิราช นับเป็นความชอบธรรมแบบใหม่ที่พระเจ้าจักรพรรดิจีนผู้เป็นโอรสแห่งสวรรค์ได้พระราชทานมากับกองเรือรบของเจิ้งเหอ เข้ามาแทนที่ความชอบธรรมแบบเก่า ที่เทวาสมมติให้แก่กษัตริย์ราชวงศ์ละโว้-อโยธยา ผู้สถาปนาและครองราชสมบัติกรุงศรีอยุธยาแต่เดิม
(คัดจากคํานําเสนอ ของ พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ หนังสือ เจิ้งเหอ แม่ทัพขันที “ซําปอกง” ของ ปริวัฒน์ จันทร สํานักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งที่สอง พ.ศ. 2548)

ซําปอกง
ซําปอกง เป็นตํานานที่คนเชื้อสายจีนในบางประเทศของภูมิภาคอุษาคเนย์เชื่อถือและให้ความเคารพ ทั้งในฐานะที่มีความเกี่ยวข้องกับความเป็นมาของบรรพบุรุษของตน และทั้งในฐานะที่เกี่ยวข้องกับศาสนา เช่น ที่วัดอันชอลในกรุงจาการ์ตา อินโดนีเซีย ที่วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร ฝั่งธนบุรี วัดโสธรวรารามวรวิหาร ที่ฉะเชิงเทรา และที่วัดพนัญเชิง ที่อยุธยา
ตํานานของซําปอกงนั้นอิงอยู่กับประวัติศาสตร์ของการสํารวจทะเลของจีนในสมัยของจักรพรรดิหย่งเล่อแห่งราชวงศ์หมิง (พ.ศ. 1943-1967) พระองค์โปรดให้นายพลเรือเจิ้งเหอเป็นผู้บัญชาการ สํารวจเส้นทางเรือถึง 7 ครั้ง ในระยะเวลา 28 ปี ระหว่าง พ.ศ. 1948 จนถึง พ.ศ. 1976 แวะเยี่ยมประเทศต่างๆ ถึง 30 ประเทศ ครอบคลุมตั้งแต่อินโดนีเซีย ถึงเมือง เอเดน (ทางใต้ของอาระเบีย) จนจรดมาดากัสการ์ทางด้านตะวันออกของแอฟริกา ในหนังสือบางเล่มระบุว่าเจิ้งเหอได้แวะเข้ามาเมืองไทยในเดือนที่ 9 เมื่อ พ.ศ. 1953
กองเรือของนายพลเจิ้งเหอนั้น มีเรือถึง 62 ลํา มีทหารประจําการไปกับเรือรวมทั้งหมด 27,870 คน เรือลําที่ใหญ่ที่สุดยาว 140 เมตร และกว้างถึง 60 เมตร มีใบลําละ 12 ใบ ลูกเรือประจําลําละ 300 คน บรรทุกผู้โดยสารได้ลําละ 1,000 คน จัดได้ว่าเป็นกองเรือขนาดใหญ่มากที่สุดในโลกสมัยโบราณ เจิ้งเหอนั้นเป็นเชื้อชาติมองโกล พื้นเดิมอยู่ในแถบเอเชียกลาง และนับถือศาสนาอิสลาม ตัวท่านเองเป็นบุตรของหะยี (หัญจี) เชื้อสายของท่านถูกจีนกวาดต้อนเทครัวมาตั้งหลักแหล่งในยูนนานตั้งแต่ชั้นปู่ และมาถึงตัวท่านก็ได้เป็นขันทีเข้ารับราชการในพระจักรพรรดิจีน
จนท้ายสุดได้เป็นอัครขันที และเป็นนายทัพเรือด้วย ชนเชื้อสายจีนนิยมเรียกเจิ้งเหอและพระพุทธรูปหลักของทั้ง 3 วัดดังกล่าวข้างต้น ด้วยคําที่ถือว่าเป็นการยกย่องคือ ซําปอตั้วหลาง ซึ่งแปลว่า “ท่านผู้มีนามอันยิ่งใหญ่” หรือซําปอกง (ซําปอ แปลว่า ไตรรัตน์ และกง นั้นเรียกผู้ที่ทรงความรู้ คุณธรรม และสูงอายุ) ด้วยเหตุนี้ รัชกาลที่ 4 จึงพระราชทานนามให้กับพระพุทธรูปใหญ่ของวัดพนัญเชิง และวัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหารว่า พระพุทธไตรรัตนนายก
ในประเทศไทยมีการนับถือลัทธิซําปอกงทั้งที่วัดพนัญเชิง อยุธยา ที่วัดหลวงพ่อโสธรฉะเชิงเทรา และที่วัดกัลญาณมิตรวรมหาวิหาร ธนบุรี โดยที่วัดกัลญาณมิตรฯ นั้น พระประธานองค์ใหญ่ถูกสร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวตามแบบวัดพนัญเชิง ทั้งนี้น่าจะเป็นเพราะชุมชนรอบวัดกัลญาณมิตรฯ นั้นมีชนเชื้อสายจีนอาศัยตั้งบ้านเรือนอยู่มากจนเรียกว่ากุฎีจีน อีกทั้งรัชสมัยนี้ได้มีการติดต่อค้าขายกับจีนอย่างเป็นล่ำเป็นสัน และเกิดความ “นิยมจีน” ในหลายๆ ด้านด้วยกัน ทั้งสามวัดดังกล่าวข้างต้น มีเทศกาลใหญ่ประจําปี เรียกว่า “งานทิ้งกระจาด” จัดขึ้นในเดือน 7 ของปีปฏิทินจีน ซึ่งจะตรงกับประมาณเดือนสิงหาคม โดยชนเชื้อสายจีนเชื่อกันว่าเป็นการทําบุญทําทานให้กับผีที่ไม่มีญาติ ซึ่งได้รับการปลดปล่อยจากยมโลกปีละครั้ง เพื่อให้ได้รับบุญทานไปด้วย
(คัดจากหนังสือ อยุธยา ของ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ บรรณาธิการ มูลนิธิโตโยต้าประเทศไทย พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2546)
รัฐเจินหลี่ฟู่ ลุ่มน้ำท่าจีน เติบโตเป็นรัฐสุพรรณภูมิ
เจินหลี่ฟู่ (ชื่อในเอกสารจีน) มีพัฒนาการขึ้นเป็นรัฐอยู่บริเวณลุ่มน้ำท่าจีน ราวหลัง พ.ศ. 1700 สืบเนื่องจากรัฐบริเวณอู่ทอง (สุวรรณภูมิ) ที่เอกสารจีนเรียก จินหลิน (กิมหลิน)
ต่อไปข้างหน้า บริเวณลุ่มน้ำท่าจีนที่เอกสารจีนเรียกเจินหลี่ฟู่จะมีชื่อในเอกสารไทยว่า รัฐสุพรรณภูมิ มีศูนย์กลางอยู่เมืองสุพรรณบุรีมีขอบถึงเมืองแพรกศรีราชา (อ. สรรคบุรี จ. ชัยนาท) ลุ่มน้ำน้อย
ชื่อรัฐเจินหลี่ฟู่ ไม่มีกล่าวถึงในประวัติศาสตร์แห่งชาติของไทย

พุทธมหายาน
ราวหลัง พ.ศ. 1700 บ้านเมืองบริเวณลุ่มน้ำท่าจีน เกี่ยวข้องใกล้ชิดกับวัฒนธรรมขอมเมืองละโว้ (จ. ลพบุรี)
โดยมีชุมชนบ้านเมืองแห่งใหม่ นับถือศาสนาพุทธมหายานแบบขอม อยู่ที่เนินทางพระ (อ. สามชุก จ. สุพรรณบุรี) แล้วติดต่อค้าขายขึ้นไปถึงรัฐหริภุญชัย (จ. ลำพูน) ลุ่มน้ำปิง-วัง
เจินหลี่ฟู่ อยู่สุพรรณ
เจินหลี่ฟู่ เป็นชื่อในเอกสารจีน ซึ่งกล่าวถึงบ้านเมืองระดับรัฐแห่งหนึ่งบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยา ที่เติบโตขึ้นหลัง พ.ศ. 1600
นักวิชาการยังอธิบายไม่ได้ว่า เจินหลี่ฟู่ แปลว่าอะไร? หมายถึงอะไร?
ศ. โอ. ดับเบิลยู. วอลเตอร์ส (O. W. Wolters) แห่งมหาวิทยาลัยคอร์แนล สหรัฐ มีความเห็น (ในบทความวิชาการที่เขียนเมื่อ พ.ศ. 2503) ว่า เจินหลี่ฟู่อยู่แถวๆ สุพรรณบุรี ทางภาคตะวันตกของไทย
โดยพยายามถอดคำแปลของเจินหลี่ฟู่ ว่าน่าจะใกล้เคียงกับชื่อเมืองใดบ้าง?
“แล้วเสนอไว้ในเชิงอรรถท้ายบทว่าคำนี้ใกล้เคียงกับคำว่า สุพรรณบุรี”
[จากบทความเรื่อง แคว้นสุพรรณภูมิ ของ ศรีศักร วัลลิโภดม พิมพ์ในวารสารเมืองโบราณ ปีที่ 9 ฉบับที่ 2 (เมษายน-กรกฎาคม 2526) หน้า 4-11]
แพรกศรีราชา เมืองสำคัญของเจินหลี่ฟู่
ต่อมาเมื่อเร็วๆ นี้ อ. ศรีศักร วัลลิโภดม บอกว่า
ราวหลัง พ.ศ. 1700 ลงมา บรรดาบ้านเมืองสมัยทวารวดีที่เป็นรัฐภายในของลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนบน ได้รวมตัวกันเป็นรัฐที่ในจดหมายเหตุจีน สมัยราชวงศ์ซ่ง เรียกว่าเจินหลี่ฟู่ มีเมืองแพรกศรีราชาเป็นเมืองสำคัญ ตั้งอยู่บนฝั่งลำน้ำน้อย ในเขต อ. สรรคบุรี จ. ชัยนาท เป็นชุมทางการคมนาคมทางน้ำที่ผ่านไปออกทะเลอ่าวไทย ทั้งทางแม่น้ำเจ้าพระยา และแม่น้ำท่าจีน
[บทความเรื่อง แพรกศรีราชาถึงสรรคบุรี พัฒนาการของเมืองและรัฐภายในของลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนบน โดย ศรีศักร วัลลิโภดม วารสารเมืองโบราณ ปีที่ 40 ฉบับที่ 2 (เมษายน-มิถุนายน 2557) หน้า 27]
เจินหลี่ฟู่ ในเอกสารจีน
เจินหลี่ฟู่ มีในเอกสารจีนเท่านั้น วินัย พงศ์ศรีเพียร ร่วมกับ ประพฤทธิ์ ศุกลรัตนเมธี รวบรวมสรุปดังนี้
- รัฐนี้เป็นรัฐที่อยู่ชายฝั่งและอยู่ทางด้านตะวันตกเฉียงใต้ของกัมพูชา อาณาเขตของรัฐนี้ทางตะวันตกเฉียงใต้ติดกับเติงหลิวเหมย (นครศรีธรรมราช) ส่วนทางตะวันออกเฉียงใต้ติดกับปอซือหลาน แสดงว่ารัฐนี้มีอาณาเขตกว้างใหญ่พอสมควร
- เอกสารจีนเริ่มกล่าวถึงเจินหลี่ฟู่โดยย้อนหลังไปถึงปี ค.ศ. 1165 ว่ามีพ่อค้าใหญ่จากรัฐนี้ไปเสียชีวิตที่เมืองจีน
หลักฐานชั้นหลังที่กล่าวถึงการที่เจินหลี่ฟู่ส่งทูตไปจีนในระหว่าง ค.ศ. 1200-1205 ระบุว่ามีการติดต่อทางการค้าระหว่างสองประเทศ
และชาวประเทศเจินหลี่ฟู่นิยมแพรพรรณและเครื่องถ้วยจีน
ซึ่งแสดงว่าเมืองท่าของเจินหลี่ฟู่น่าจะเป็นเมืองท่าที่สำคัญแห่งหนึ่งในบริเวณอ่าวไทย
- เจินหลี่ฟู่ส่งทูตไปจีน 3 ครั้ง
ครั้งที่ 1 ไปถึงจีนวันที่ 23 กันยายน ค.ศ. 1200 เจ้าเมืองเจินหลี่ฟู่มีพระนามว่า หมอหลัวปากานอู้ติงเอินซือหลี่ฝังฮุย ซึ่งศาสตราจารย์วอลเตอร์สมีความเห็นว่าน่าจะหมายถึง กัมรเตง อัญศรีฝ้งฮุย แห่งเมืองหมอหลัวปา
ทั้งนี้ โดยเทียบกับสำนวนและวิธีเขียนของจีนในกรณีอื่นๆ เช่น กัมรเตง อัญ แห่งเพชรบุรี ในเอกสารสมัยราชวงศ์หยวน และ กษัตริย์เจินล่าแห่งปาสาณ ในเอกสารสมัยราชวงศ์หมิง
ครั้งที่ 2 ไปถึงจีนเมื่อวันที่ 29 กันยายน ค.ศ. 1202
ครั้งที่ 3 ไปถึงจีนเมื่อวันที่ 8 กันยายน ค.ศ. 1205 ระบุนามกษัตริย์ว่า ซีหลี่มาซีถัวหลัวป๋าหลัวฮง ซึ่ง ศาสตราจารย์ยอร์ช เซเดส์ คิดว่าตรงกับ ศรีมหีธรวรมัน ซึ่งเป็นพระนามกษัตริย์อย่างเขมร
การที่พระนามของกษัตริย์เปลี่ยนไป แสดงว่ากษัตริย์พระองค์ก่อนผู้ครองราชย์มาแต่ ค.ศ. 1180 ได้สิ้นพระชนม์แล้ว
- เอกสารจีนบอกอย่างชัดเจนว่าเจินหลี่ฟู่เป็นรัฐที่มีอาณาเขตกว้างขวาง เพราะเมื่อคณะทูตจะออกเดินทางไปจีนนั้นต้องออกเดินทางจากเมืองหลวงที่อยู่ลึกเข้าไปในแผ่นดิน หม่อหล่อปา (อ่านตามสำเนียงแต้จิ๋ว) ตั้งอยู่บน ‘ฝั่ง’ ซึ่งในที่นี้หมายถึงฝั่งแม่น้ำอย่างไม่ต้องสงสัย
- ————
- ลักษณะทางวัฒนธรรมของชาวประเทศเจินหลี่ฟู่ เป็นแบบพุทธเถรวาทอย่างแน่นอนซึ่งอาจถือได้ว่าเป็นการสืบเนื่องกับวัฒนธรรมพุทธหินยานของทวารวดีในลุ่มน้ำเจ้าพระยา
เรื่องราวของเจินหลี่ฟู่ในเอกสารประวัติศาสตร์จีนโบราณนั้นได้รับความสนใจจากนักประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้มานานแล้ว
เริ่มตั้งแต่ ศาสตราจารย์ฝางกั๋วอิ่ว ผู้เสนอบทความเรื่อง Notes on Chen-li-fu: A tributary state to China during the Sung dynasty ซึ่งพิมพ์ลงใน Journal of the South Seas Society ใน ค.ศ. 1947
จนถึง ศาสตราจารย์ O. W. Wolters เรื่อง Chen-li-fu: A State on the Gulf of Siam at the beginning of the 13th century ใน Journal of the Siam Society ใน ค.ศ. 1960
(จากหนังสือ ความยอกย้อนของประวัติศาสตร์ พิพิธนิพนธ์เชิดชูเกียรติ ศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล บรรณาธิการโดย วินัย พงศ์ศรีเพียร จัดพิมพ์เผยแพร่โดย คณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์ไทยฯ สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี พ.ศ. 2539 หน้า 239-254)
เนินทางพระ
เนินทางพระ ต. บ้านสระ อ. สามชุก จ. สุพรรณบุรี
เป็นพุทธสถานมหายาน ร่วมสมัยกับศาสนสถานที่พบในเขตเมืองไร่รถ (อ. ดอนเจดีย์ จ. สุพรรณบุรี), เมืองโกสินารายณ์ (อ. บ้านโป่ง จ. ราชบุรี), ปราสาทเมืองสิงห์ อ. เมือง จ. กาญจนบุรี, ปราสาทวัดกำแพงแลง (อ. เมือง จ. เพชรบุรี), วัดมหาธาตุ (อ. เมือง จ. ราชบุรี)
โบราณวัตถุเป็นลวดลายเครื่องประดับปูนปั้น และเทวรูปหินทราย
ปราสาทเนินทางพระ อยู่โดดๆกลางที่ราบลุ่ม ระหว่างลำน้ำท่าคอย ทางด้านตะวันตก กับแม่น้ำท่าจีน ทางด้านตะวันออก
ใกล้ๆกับศาสนสถานนี้มีทางน้ำไหลจากทางทิศตะวันตกผ่านไปทางตะวันออก ไปลงแม่น้ำท่าจีน ในเขต อ. สามชุก
บริเวณรอบๆเป็นทุ่งนา ไม่มีร่องรอยชุมชนที่เป็นเมืองมีคูน้ำคันดินล้อมรอบ
ปูนปั้น ทำเพื่อประดับสถาปัตยกรรมโดยตรง จึงเป็นของซึ่งสร้างขึ้นในเวลาเดียวกันกับตัวศาสนสถาน มีรูปแบบเป็นศิลปกรรมพื้นเมือง ซึ่งผสมกันระหว่างศิลปะแบบทวารวดี ซึ่งสืบเนื่องอยู่ในท้องถิ่นนี้ กับศิลปะขอมแบบบายน
หินทราย มีฝีมือสูง เป็นศิลปะแบบบายนโดยตรง ซึ่งเป็นของมาจากที่อื่นๆ เช่น ถ้าไม่มาจากกรุงกัมพูชาโดยตรงก็คงเป็นของที่ทำขึ้นที่เมืองละโว้ (ลพบุรี)
ปราสาทเนินทางพระนี้คงเป็นของพระราชา ซึ่งรับนับถือพระพุทธศาสนามหายานแบบกัมพูชา
[สรุปย่อจากบทความของ ศรีศักร วัลลิโภดม พิมพ์ใน เมืองโบราณ ปีที่ 9 ฉบับที่ 2 (เมษายน-กรกฎาคม พ.ศ. 2526) หน้า 46-51]
พรุงนี้อ่าน สุโขทัยไม่ใช่ราชธานีแห่งแรกของไทย