ทางวิบากแก้‘รธน.’

กระบวนการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 2560 คืบหน้าเป็นลำดับ กระบวนการในชั้น กมธ.พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญฯมีการลงมติในประเด็นแก้ไขมาตรา 256 เรียบร้อย รวมถึงเพิ่มเติมเนื้อหาใหม่ มาตรา 256/1 เปิดทางให้มีการจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญหรือ ส.ส.ร. มายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ วางโปรแกรมจะนำเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาในวาระ 2 ในวันที่ 24-25 กุมภาพันธ์

จากนั้นไปโหวตวาระ 3 ในการเปิดประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญราวกลางเดือนมีนาคม

กำลังมีคิวแทรกที่อาจส่งผลอย่างมีนัยสำคัญต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จากการประชุมรัฐสภา 9 กุมภาพันธ์ พิจารณาญัตติของ นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ขอให้รัฐสภามีมติส่งศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภาในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มีประเด็นปัญหาว่า การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญให้จัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญหรือ ส.ส.ร. ยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ อาจขัดต่อรัฐธรรมนูญ 2560

ขณะเขียนต้นฉบับชิ้นนี้จะยังไม่ทราบผลการลงมติก็ตาม แต่มั่นใจตีกินไปก่อนได้เลยว่ารัฐสภาจะโหวตเกินกึ่งหนึ่งให้ส่งญัตตินี้เข้าสู่การพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ

Advertisement

แม้จะไม่กระทบกระเทือนกระบวนการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่ดำเนินอยู่ในขณะนี้ เพราะยังสามารถเดินหน้าต่อไปได้

แต่นับว่าเป็นความสุ่มเสี่ยงในอนาคต

เมื่อญัตตินี้ถูกส่งถึงศาลรัฐธรรมนูญและรับไว้พิจารณานายไพบูลย์ประเมินความไปได้จะเกิดขึ้น 3 ทาง

หนึ่ง วินิจฉัยให้การร่างรัฐธรรมฉบับใหม่สามารถทำได้ แต่ต้องทำประชามติถามประชาชนก่อน

หนึ่ง วินิจฉัยให้การร่างรัฐธรรมฉบับใหม่สามารถทำได้ โดยเมื่อยกร่างเสร็จต้องนำไปนำประชามติสออบถามประชาชนอีกครั้ง

หนึ่ง วินิจฉัยให้การร่างรัฐธรรมฉบับใหม่ ทำไม่ได้อย่างเด็ดขาด

ไม่ว่าผลตีความจะออกมาอย่างไร ย่อมมีผลต่อเส้นทางแก้ไขรัฐธรรมแน่นอน ทั้งจากขั้นตอนที่เพิ่มขึ้น เวลาที่เพิ่มขึ้น จนถึงแท้งไปเลยก็ได้

แน่นอนท่าทีความเคลื่อนไหวตลอดมาของนายไพบูลย์ มีความชัดเจนไม่ต้องการให้มีรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ หรืออย่างมากก็รับได้เพียงแก้ในบางมาตรา แต่ความเห็นข้างต้นก็นับว่ามีรากฐานรองรับเช่นกัน

ด้านหนึ่งอ้างเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 256 มีจุดมุ่งหมายให้แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตราเท่านั้น ไม่ได้มุ่งหมายให้จัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ ทั้งไม่มีบทบัญญัติใดในรัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดให้ทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับได้

อีกด้านเป็นการอ้างอิงความเห็นคณะกรรมการกฤษฎีกาเกี่ยวกับการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับส่งถึงรัฐบาลว่า ควรพิจารณาคำวินิจฉัยศาลธรรมนูญเมื่อปี 2555 ที่ระบุการแก้ไขรัฐธรรมนูญควรทำเป็นรายมาตรา หากเป็นการยกร่างใหม่ทั้งฉบับควรจัดให้ออกเสียงประชามติจากประชาชนเสียก่อน

และคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญเมื่อปี 2556 ที่ระบุการแก้ไขที่มา ส.ว.ให้มาจากการเลือกตั้งเพียงทางเดียว เป็นการขัดรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้มีสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาทำหน้าที่ตรวจสอบถ่วงดุลกัน

จริงอยู่เป็นคำวินิจฉัยภายใต้บทบัญญัติรัฐธรรมนูญ 2550 แต่ก็ถือเป็นหนึ่งในบรรทัดฐานที่ถูกวางไว้ จึงละเลยไม่ได้เช่นกันที่ศาลรัฐธรรมนูญอาจนำมาประกอบการพิจารณาวินิจฉัยญัตติของนายไพบูลย์

การแก้ไขมาตรา 256 และเพิ่มเติมมาตรา 256/1 อาจเปิดทางให้ยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้

ญัตติของนายไพบูลย์ นิติตะวันครั้งนี้ ก็อาจสกัดเป้าหมายในการนี้ได้เช่นกัน

สัญญา รัตนสร้อย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image