สร้างเงื่อนไขตลอด

การสร้างเงื่อนไขของ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล และสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ทำให้ประชาชนที่รักประชาธิปไตยและความเป็นธรรมไม่พอใจมากขึ้นเรื่อยๆ ด้วย 2 เรื่องสำคัญ

หนึ่ง การแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญมาตรา 256 ให้มีการตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญไปจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

ย้อนไปเมื่อ 24 กันยายน ปีที่แล้ว แทนที่ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย จะลงมติรับหลักการเริ่มต้นนับ 1 เดินหน้าตามกระบวนการของรัฐสภา

กลับไปจับมือกับ ส.ว.โหวตตั้งคณะกรรมาธิการ ให้ศึกษาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเสียก่อน ใช้เวลา 30 วัน

Advertisement

ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านั้นสภาผู้แทนฯก็ตั้งคณะกรรมาธิการไปศึกษา

30 ตุลาคม ควรจะแล้วเสร็จ กลับต้องขยายเวลาออกไปอีก จนมาถึงปัจจุบันเกือบครึ่งปีแล้ว

นอกจากรัฐสภายังไม่ผ่านมาวาระ 3 ก็เกิดการเล่นเกมครั้งที่สอง ด้วยการลงมติตามข้อเสนอของ ไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ กับ สมชาย แสวงการ ส.ว. ให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยก่อนว่า การแก้ รธน.มาตรา 256 กระทำได้หรือไม่?

Advertisement

แม้พรรคประชาธิปัตย์ และภูมิใจไทย ลงคะแนนไปทางเดียวกับ ส.ส.ฝ่ายค้าน ซึ่งสวนทางกับพรรคพลังประชารัฐ และ ส.ว.

แต่เมื่อแพ้โหวตก็ยังกินอิ่มนอนหลับ รับเงินเดือนจากภาษีประชาชนเป็นปกติสุข ไม่มีอาการทุกข์ร้อนใดๆ ปรากฏให้เห็น

หนึ่ง การขัดขวางการอภิปรายไม่ไว้วางใจของพรรคร่วมฝ่ายค้านที่จะชำแหละ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และรัฐมนตรีอีก 9 คน ด้วยความพยายามจะให้แก้ไขข้อความในญัตติ

การตั้ง ส.ส.เป็นองครักษ์พิทักษ์ “บิ๊กตู่” และรัฐมนตรีคนอื่นๆ เอาไว้คอยทักท้วง ขัดขวาง ไม่ให้การซักฟอกของ ส.ส.ฝ่ายค้านดำเนินไปอย่างราบรื่น

ทั้ง 2 เรื่องนี้สะท้อนให้เห็นว่า รัฐสภาไม่ใช่เวทีแห่งการทำหน้าที่ของผู้แทนปวงชน ในการแก้รัฐธรรมนูญฉบับ คสช.ให้เกิดฉบับใหม่ที่เป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง

โดยผู้เป็นสมาชิกสภาร่างฯมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน

และไม่ใช่เวทีของสภาผู้แทนราษฎร (ฝ่ายค้าน) ในการทำหน้าที่ ควบคุม ตรวจสอบการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล

อย่าลืมว่าการอภิปรายไม่ไว้วางใจถือเป็น “เครื่องมือ” ที่มีความสำคัญสูงสุด

นี่เท่ากับว่า นอกจากรัฐบาล และกลไกฝ่ายนิติบัญญัติ ทั้ง ส.ว.ที่ “บิ๊กตู่” แต่งตั้งมากับมือ และพรรคร่วมรัฐบาล ไม่ได้คำนึงถึงข้อเรียกร้องของมวลชนภายนอกรัฐสภาที่ออกมารวมตัวเคลื่อนไหวขับไล่รัฐบาล

โดยเฉพาะภายนอกรัฐสภานั้น การถูกตั้งข้อหา การจับกุม การคุมขัง การไม่ได้รับการประกันตัว เป็นการเติมเชื้อไฟให้ลุกโชนยิ่งขึ้นหรือไม่?

เหตุการณ์เดินขบวนประท้วงของชาวเมียนมา ขับไล่ทหารที่ก่อรัฐประหาร ย่อมส่งผลสะเทือนมาถึงการเคลื่อนไหวในประเทศไทย

โดยเฉพาะท่าทีของ “ฝั่งตะวันตก” จะยกระดับมาตรการกดดันไทยให้เข้มข้นขึ้นไปพร้อมกับเมียนมาหรือไม่?!

สถานการณ์นับจากนี้อย่ากะพริบตาเป็นอันขาด!?!

ศุกร์ มังกร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image