ผู้แบกรับความเป็นชาติ โดย ปราปต์ บุนปาน

ทีมชาติไทยได้รับ 2 เหรียญทอง 2 เหรียญเงิน 2 เหรียญทองแดง จากการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่บราซิล

กีฬายกน้ำหนักนั้นกวาดไปถึง 4 เหรียญ จากเหรียญทองของ โสภิตา ธนสาร และ สุกัญญา ศรีสุราช, เหรียญเงินของ พิมศิริ ศิริแก้ว และเหรียญทองแดงของ สินธุ์เพชร กรวยทอง

ก่อนที่กีฬาเทควันโดจะบวกเพิ่มอีก 2 เหรียญ จากเหรียญเงินของ เทวินทร์ หาญปราบ และเหรียญทองแดงของ พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ

เท่ากับว่ายกน้ำหนักได้ขึ้นครองบัลลังก์เป็นชนิดกีฬา “อันดับหนึ่ง” ของทีมชาติไทยในสังเวียนโอลิมปิกอย่างเด็ดขาด หลังจากตีคู่กับมวยสากลสมัครเล่นมาตลอดการแข่งขัน 2-3 ครั้งล่าสุด

Advertisement

ยิ่งกว่านั้น ในโอลิมปิกเที่ยวนี้ ทีมชาติไทยยังยึดตำแหน่ง “เบอร์สอง” ในอันดับเหรียญรางวัลรวมของกีฬายกน้ำหนัก เป็นรอง “จีน” เพียงประเทศเดียว

น่าสนใจว่า ขณะที่เทวินทร์และพาณิภัคมีสถานะเป็นนิสิตของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 4 ฮีโร่นักกีฬายกน้ำหนักกลับเป็นผลผลิตของสถาบันการพลศึกษาประจำจังหวัดต่างๆ

พิมศิริจบการศึกษาจากวิทยาเขตชลบุรี เช่นเดียวกับสุกัญญาที่กำลังศึกษาอยู่ในวิทยาเขตเดียวกัน ส่วนโสภิตานั้นเรียนอยู่ที่วิทยาเขตกรุงเทพ และสินธุ์เพชรเรียนที่วิทยาเขตมหาสารคาม

Advertisement

ระหว่างชมการถ่ายทอดสดการแข่งขันยกน้ำหนักของนักกีฬาไทย ผมรู้สึกสะดุดใจกับคำกล่าวของผู้บรรยายหญิงท่านหนึ่ง ซึ่งตั้งข้อสังเกตไว้อย่างคมคายว่านักกีฬายกน้ำหนักนั้นมาแข่งขันเพื่อ “ความเป็นเลิศ” โดยเฉพาะ เพราะนี่ไม่ใช่กีฬาที่จะเล่นเพื่อ “ความสนุก”

ซึ่งน่าจะเป็นจริงตามนั้น เพราะการแข่งขันยกน้ำหนัก (ที่ไม่ใช่แค่การเล่นเวทเทรนนิ่ง) มิได้มีสถานะเป็นกิจกรรมสันทนาการ, มิใช่กีฬาที่คนชั้นสูง-ชั้นกลางแวะเวียนมาเล่นในเวลาว่าง, ไม่นำไปสู่คอนเน็กชั่นทางสังคม และไม่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจมากมายนัก

ตรงกันข้าม การเข้าโปรแกรมฟิตซ้อมอย่างเข้มงวด และการต้องควบคุมน้ำหนัก ตลอดจนการเจริญเติบโตของร่างกาย ของเหล่านักกีฬายกน้ำหนัก อาจถือเป็นการนำร่างกายของตนเองมาเป็นทุนก้อนสุดท้าย ซึ่งจะได้รับผลประโยชน์ตอบแทนสูงพอ ก็ต่อเมื่อมีเหรียญรางวัลระดับโลกมาแลกเปลี่ยน

ในสังคมตะวันตก การยกลูกเหล็กถูกมองเป็นกีฬาของ “ชนชั้นแรงงาน”

กระทั่งในยุคของการวางรากฐานให้แก่การแข่งขันกีฬาสมัยใหม่ ชนชั้นนำในแวดวงกีฬาโลกก็ยังมองการแข่งขันยกน้ำหนักว่าเป็นกีฬาที่มุ่งเน้นความสำคัญไปยังความแข็งแกร่งทางร่างกายเพียงองค์ประกอบเดียว

วิธีคิดเช่นนี้เป็นมรดกตกทอดมาถึงโอลิมปิก 2016 เพราะมีชาติมหาอำนาจตะวันตกไม่กี่ประเทศ ที่ได้รับเหรียญรางวัลจาก (หรือให้ความสำคัญกับ) กีฬายกน้ำหนัก

ผู้นำในตารางเหรียญรวมอย่างสหรัฐอเมริกาคว้าได้เพียง 1 เหรียญทองแดงจากกีฬาชนิดนี้เท่ากับญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ สองชาติเอเชียที่มีภาพลักษณ์ทันสมัย ก้าวหน้า ทัดเทียมตะวันตก

ทว่า อย่างน้อย การตัดสินผลการแข่งขันของกีฬาที่ถูกมองว่ามุ่งขายเพียงความแข็งแรง อีกทั้งปราศจากกฎ กติกา รูปเกมอันสลับซับซ้อน เช่น ยกน้ำหนัก ก็มีความเที่ยงธรรมและโปร่งใสกว่ามวยสากลสมัครเล่น ที่เป็นกีฬาสำหรับกลุ่มคนระดับล่างในสังคมและจำกัดน้ำหนักของผู้เข้าแข่งขันเหมือนๆ กัน

หากผลงานของนักกีฬาไทยในมหกรรมกีฬาโอลิมปิก จะถูกนับเป็น “ความภาคภูมิใจ” ประการหนึ่งของ “ชาติ”

ผู้ที่ต้องออกแรงแบกรับ “ความเป็นชาติ” ดังกล่าวไว้หนักหน่วงที่สุด ก็เห็นจะเป็นคณะนักกีฬายกน้ำหนัก ซึ่ง “โลว์โปรไฟล์” ในแง่ภาพลักษณ์-ชื่อเสียง และปราศจากความเป็น “ซุปเปอร์สตาร์” ก่อนโอลิมปิกจะเริ่มต้นขึ้น

แถมต้นทุนทางเศรษฐกิจ-สังคมอื่นๆ ก็มีไม่สูงนัก

จึงไม่ใช่เรื่องแปลก ที่ฮีโร่เหรียญทองยกน้ำหนักบางรายจะแสวงหาความมั่นคงให้ชีวิต ด้วยการเรียกร้องขอเข้ารับราชการในกองทัพ ซึ่งเป็นสถาบันที่แข็งแรงที่สุดของระบบราชการ

และเป็นสดมภ์หลักสำคัญ ซึ่งทำหน้าที่ประคับประคอง “ความเป็นชาติไทย” ในยุคปัจจุบัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image