มาถูกทาง

ในบรรดาโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจช่วงโควิดระบาด “เราชนะ” ที่เปิดประตูอ้าแขนรับกลุ่มไม่มีสมาร์ทโฟนน่าจะตอบโจทย์ได้ดีที่สุดว่ายังมีประชาชนอีกจำนวนมากที่รัฐเข้าไปไม่ถึง ไม่ต้องถามว่ามีจำนวนมากเท่าไหร่ แต่ให้ดูคนเหล่านี้ที่ต่างมารอกันแน่นหน้าธนาคารกรุงไทยทั่วประเทศ ก่อนจะต้องเพิ่มธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร มาช่วยรองรับจำนวนผู้ที่มาลงทะเบียนใช้สิทธิเหล่านี้

ความตั้งใจเดิม “เราชนะ” ไม่ได้มุ่งมาถึงถนนสายที่ไร้สมาร์ทโฟนด้วยซ้ำ แต่เมื่อมาช่วยดูแลโอบอุ้มคนเหล่านี้ ทำให้รัฐเริ่มตาสว่างกันมากขึ้น

ในวันที่ 19 มกราคมที่ผ่านมา อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ออกมากล่าวถึงโครงการ “เราชนะ” ที่จะไม่มีการแจกเงินสดให้ แต่รูปแบบจะใช้ร่วมกับร้านค้าที่เข้าร่วมกับมาตรการของรัฐ หวังให้เงินเกิดการหมุนเวียนไปหลายทอด และที่ห่วงคือกลัวประชาชนที่ได้สิทธิ “เราชนะ” จะเอาเงินสดไปเฉ่งหนี้นอกระบบ มาตรการนี้ รมว.การคลังยืนยันว่า ต้องการบรรเทาความเดือดร้อนโดยการลดค่าครองชีพให้กับประชาชน

คราวนี้ก็มาถึงเรื่อง “เราชนะ” หวังสนับสนุนให้สังคมไร้เงินสด

Advertisement

“ส่วนคนไม่มีโทรศัพท์สมาร์ทโฟนเชื่อว่าเป็นส่วนน้อย เพราะบางส่วนก็ถือสวัสดิการรัฐอยู่แล้ว แต่หากใครไม่มีก็ต้องขอรบกวน เพราะตอนนี้ราคาไม่แพงแล้ว และย้ำว่าคนที่เข้าร่วมโครงการเราชนะสามารถใช้สิทธิร่วมกับคนละครึ่งได้ ขณะเดียวกันร้านค้าที่รับเงินจากแอพพ์เป๋าตัง ก็สมัครร่วมเราชนะได้” นั่นเป็นคำกล่าวของ รมว.การคลังในครั้งนั้น

แต่ในที่สุด กระทรวงการคลังก็รับคำบัญชาจากนายกรัฐมนตรี ให้ดูแลผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ที่ไม่สามารถเข้าถึงมาตรการ “เราชนะ” ได้ ที่ไม่มีสมาร์ทโฟน จัดเป็นกลุ่มที่ต้องดูแลเป็นพิเศษ

เพราะการได้เห็นการตอบรับของกลุ่มประชาชนที่ไร้สมาร์ทโฟนนั่นเอง ทางกระทรวงการคลังจึงได้เอาภาพที่เห็นอยู่นี้ไปปรับปรุงการทบทวนสิทธิ-เปิดลงทะเบียน “บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ” รอบใหม่ที่จะมีขึ้นภายในปีนี้ รวมทั้งทำให้บัตรนี้ที่เราเรียกว่า “บัตรคนจน” มีประสิทธิภาพและตรงเป้ามากที่สุด

Advertisement

อย่างน้อยหลักเกณฑ์ที่จะพิจารณาหลักๆ คือ เรื่องของรายได้ จะต้องเป็นผู้มีรายได้น้อยตามเงื่อนไขที่กระทรวงการคลังกำหนด

กฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง บอกว่า จากการเปิดลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการ “เราชนะ” สำหรับประชาชนกลุ่มผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ หรือผู้ที่อยู่ในภาวะพึ่งพิง แสดงให้เห็นว่ามีประชาชนที่มีรายได้น้อยแต่เข้าไม่ถึงสิทธิบัตรสวัสดิการของรัฐยังตกหล่นอยู่จำนวนมาก จึงมองว่าควรมีการทบทวนสิทธิเกิดขึ้น

ขณะที่ตัวเลขผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐประมาณ 13.8 ล้านคน น.ส.กุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) บอกด้วยว่า จะมีการอัพเดตข้อมูลใหม่ทั้งหมด

ใครที่มีรายชื่อเดิมจะต้องถูกกลั่นกรองใหม่อีกครั้ง เพราะหลายรายเคยได้รับสิทธิบัตรสวัสดิการ แต่มีเคสที่ได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการแล้ว เงินเดือนเกินกว่า 1 แสนบาทต่อปี รวมทั้งหลายคนที่ต่างได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจในช่วงระบาดใหม่อย่างหนัก ขณะที่บางคนเริ่มมีรายได้เพิ่มมากขึ้น

ผอ.สศค.บอกว่า ถ้ากลุ่มที่ไม่ผ่านเกณฑ์แต่ยังเข้ามาสมัครลงทะเบียน ก็จะถูกคัดกรองออกไป

ที่น่าสนใจ กระทรวงการคลังจะดูเรื่องเกณฑ์รายได้ครัวเรือนมิใช่เกณฑ์เดิมที่ขอแค่เกณฑ์รายได้เป็นรายบุคคล จุดนี้มีช่องโหว่มากมาย บางครอบครัว พ่อบ้านทำงานนอกบ้านมีรายได้สูงดูแลได้ทั้งครอบครัว ส่วนภรรยาเข้าเกณฑ์เป็นผู้ไม่มีเงินได้บุคคลธรรมดา ก็ยังกดเข้ารับสิทธิ

คงต้องรอดูเกณฑ์รายได้กันต่อไปว่าจะให้สิทธิรายได้ครัวเรือนไม่เกินเท่าไหร่จึงจะมีสิทธิ

การเข้ามาดูแลกลุ่มที่ต้องการความช่วยเหลือพิเศษหรือที่อยู่ในภาวะพึ่งพิง จะช่วยทำให้รัฐบาลมองเห็นโครงสร้างของกลุ่มคนในประเทศไทยมากขึ้น อย่างน้อยก็ทำให้เห็นว่า คนไม่มีโทรศัพท์สมาร์ทโฟนไม่ได้มีส่วนน้อยอย่างที่รัฐมนตรีเข้าใจ

เสกสรรค์ กิตติทวีสิน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image