รอพร้างาม-กสทช.

เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ที่ประชุมวุฒิสภามีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม หรือร่าง “พ.ร.บ.กสทช.”

ก่อนจะลงมติวาระ 3 มีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.กสทช. ที่ กมธ.แก้ไขร่างของสภาผู้แทนราษฎร หลายประเด็น โดยเฉพาะเรื่องเวลาการสรรหากรรมการ กสทช.ชุดใหม่ ที่ร่างของสภาผู้แทนราษฎร ระบุให้ดำเนินการภายใน 15 วัน นับตั้งแต่ประกาศบังคับใช้ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว แต่ กมธ.แก้ว่า กรรมการ กสทช.ที่ยังไม่ครบวาระก่อนวันที่ร่าง พ.ร.บ.ใหม่ใช้บังคับ ให้มีวาระ 3 ปีนับแต่วันที่ได้รับแต่งตั้ง

แต่ที่ประชุมวุฒิสภาโหวตไม่เห็นด้วยกับร่างที่ กมธ.แก้ไข โดยให้เป็นไปตามร่างของสภาผู้แทนราษฎร

เท่ากับว่าต้องเริ่มสรรหากรรมการ กสทช.ใหม่ภายใน 15 วัน หลังร่าง พ.ร.บ.ฉบับใหม่บังคับใช้

Advertisement

จึงเกิดการทับซ้อนกัน เพราะขณะนี้การสรรหา กสทช.ชุดใหม่ ตาม พ.ร.บ.ฉบับปัจจุบันยังคาอยู่ในวุฒิสภา ซึ่งเมื่อ 8 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา มีการตั้ง กมธ.ตรวจสอบประวัติ ผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อ 14 คน ตามที่กรรมการสรรหาส่งมา โดยให้เวลา 15 วัน ซึ่งจะครบวันที่ 23 กุมภาพันธ์ ก่อนจะให้ ส.ว.ลงมติเลือกเหลือ 7 คน

แต่มีข่าวว่า กมธ.ตรวจสอบประวัติ จะเสนอที่ประชุมวุฒิสภา ขอยืดเวลาอีก 8 วัน เนื่องจากมีผู้ร้องเรียนและมีเอกสารหลักฐานจำนวนมาก

หากยืดเวลาออกไป ก็จะไม่ทันสมัยประชุมนี้ เพราะ 28 กุมภาพันธ์ เป็นวันสุดท้ายในสมัยประชุมนี้ จะเปิดสภาอีกครั้งก็ 22 พฤษภาคม

Advertisement

เท่ากับว่าการสรรหากรรมการ กสทช.ที่คาอยู่ต้องล้มไปโดยปริยาย เพราะร่าง พ.ร.บ.กสทช.ฉบับใหม่น่าจะมีผลบังคับใช้แล้ว และต้องสรรหากรรมการ กสทช.ตามกฎหมายใหม่ภายใน 15 วัน

ทั้งนี้ ร่าง พ.ร.บ.กสทช.ฉบับใหม่ มีการเปลี่ยนเรื่องคุณสมบัติผู้สมัครเป็นกรรมการ กสทช. 7 คน โดยกำหนดให้เป็นผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ด้านกิจการกระจายเสียง 1 คน ด้านกิจการโทรทัศน์ 1 คน ด้านกิจการโทรคมนาคม 1 คน ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค 1 คน ด้านการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชน 1 คน และด้านอื่นๆ ที่จะยังประโยชน์ต่อการปฏิบัติหน้าที่ของ กสทช. 2 คน

ต่างจาก พ.ร.บ.กสทช.ฉบับปัจจุบัน ที่ให้มี 7 ด้าน ด้านละ 1 คน คือ 1.กิจการกระจายเสียง 2.ด้านกิจการโทรทัศน์ 3.ด้านกิจการโทรคมนาคม 4.ด้านวิศวกรรม 5.ด้านกฎหมาย 6.ด้านเศรษฐศาสตร์ และ 7.ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค หรือส่งเสริมสิทธิและเสรีภาพของประชาชน

นอกจากนี้ ยังเปลี่ยนการลงมติคัดเลือกผู้ที่จะเป็นกรรมการ กสทช. จาก พ.ร.บ.ฉบับปัจจุบันให้ ส.ว.ลงคะแนนลับ โดยผู้ที่ได้คะแนนสูงสุดเป็นผู้ได้รับการคัดเลือก

แต่ร่าง พ.ร.บ.ฉบับใหม่ ระบุว่า ผู้ที่จะได้รับเลือกเป็นกรรมการ กสทช.ต้องได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภาด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภา

ดังนั้น หากมีการสรรหากรรมการ กสทช. ตามร่าง พ.ร.บ.ฉบับใหม่ จะช่วยยุติความไม่ชอบมาพากลจากการสรรหาที่ค้างคาอยู่เพราะมีความคลางแคลงใจกันมากว่าบางคนใน 14 คนที่ผ่านการคัดเลือกมีคุณสมบัติ ความรู้ ความเชี่ยวชาญในด้านนั้นๆ จริงหรือ

ที่สำคัญ ยังมีบางคนโยงใยกับค่าชดเชยคลื่น 2600 MHz ของ “อสมท” ที่เกี่ยวพันกับ กสทช. ก็ผ่านเข้ารอบ จนถูกฝ่ายค้านหยิบยกไปอภิปรายไม่ไว้วางใจที่ผ่านมา

นอกจากนี้กรรมการสรรหา 7 คนชุดใหม่ ก็ควรมีหน้าใหม่มาทำหน้าที่แทนหน้าเดิม ทางต้นสังกัดควรคัดเลือกผู้ที่เหมาะสม และมีความรู้เกี่ยวกับงานของ กสทช.บ้าง มาเป็นกรรมการสรรหา

ทั้งนี้ ทั้งนั้น แม้การสรรหากรรมการ กสทช.ตามร่าง พ.ร.บ.กสทช.ฉบับใหม่ จะล่าช้าไปบ้าง แต่โบราณว่าไว้จะได้พร้าเล่มงาม เพื่อช่วยถางทางประเทศไปสู่ยุคดิจิทัลอย่างมีศักยภาพ

วุฒิ สรา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image