6 ดาวฤกษ์ พปชร.-4 ส.ส.ก้าวไกล…ใครกันแน่ควรถูกประณาม

การเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ 10 รัฐมนตรี รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ปิดฉากลงไปหมาดๆ โดยภาพรวมแล้ว แม้ฝ่ายค้านจะทำหน้าที่ได้ดีกว่าครั้งก่อน แต่ผลการลงมติยังคงเป็นไปตามคาด ฝ่ายรัฐบาลได้รับคะแนนเสียงไว้วางใจมากกว่าไม่ไว้วางใจ

กระนั้นก็ตาม คะแนนไว้วางใจ ไม่ไว้วางใจ และงดออกเสียงที่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ ทำให้เกิดแรงกระเพื่อมทั้งภายในพรรคร่วมรัฐบาลและพรรคฝ่ายค้าน แฟนพันธุ์แท้การเมืองประชาธิปไตยแปลกปลอมกำลังติดตามต่อไปว่าจะนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงอะไรหรือไม่

จากการเกิดกลุ่มกบฏภายในลงคะแนนสวนทางไม่สยบยอมต่อมติพรรค กลุ่มแรกที่สร้างความฮือฮามากสุด เหตุเกิดในพลังประชารัฐ (พปชร.) แกนนำพรรครัฐบาล 6 ส.ส.หญิงล้วน สมญากลุ่มดาวฤกษ์ นำโดย นางสาววทันยา วงษ์โอภาสี ส.ส.บัญชีรายชื่อ งดออกเสียง ในรายของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เลขาธิการพรรคภูมิใจไทย จนได้ครองอันดับมี ส.ส.งดออกเสียงสูงสุด 12 คน ทำให้แกนนำพรรคภูมิใจไทยไม่พอใจเป็นอย่างมาก ขณะที่ นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งได้คะแนนไว้วางใจน้อยสุด 258 เสียง แต่งดออกเสียงแค่ 8 เสียง

แกนนำพรรคพลังประชารัฐต้องออกมาขอโทษต่อพรรคภูมิใจไทย และขอให้กลุ่มดาวฤกษ์เปิดแถลงขออภัย แสดงความรับผิดชอบอย่างเป็นทางการ แต่ก็ถูกปฏิเสธในวันแรก จนต่อมานางสาววันทยาได้เผยแพร่ความในใจว่า “หากเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดความไม่สบายใจภายในพรรคร่วมรัฐบาล เดียร์และเพื่อน ส.ส.ต้องขออภัย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ผู้บริหารพรรคและเพื่อนสมาชิก”

Advertisement

และย้ำต่อด้วยข้อความที่ว่า “ในการปฏิบัติตามจิตวิญญาณความเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอย่างดีที่สุด ยังเชื่อมั่นในการแสดงออกจากการพิจารณาด้วยหลักการและเหตุผล ในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรภายใต้ความเป็นประชาธิปไตย”

คำแถลงเหตุผลยืนยันหลักการในการตัดสินใจลงมติงดออกเสียง ซึ่งสะท้อนจากจดหมายน้อยนี้ เป็นไปด้วยความบริสุทธิ์ใจหรือมีวาระซ่อนเร้นส่วนตัวก็ตาม

เหตุที่ทำให้กลุ่มดาวฤกษ์กดปุ่มงดออกเสียง เพราะเห็นว่า การตอบชี้แจงคำกล่าวหาของพรรคฝ่ายค้านของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ยังไม่กระจ่างชัดเจน จนสามารถหักล้างข้อมูล เหตุผล คำอภิปรายได้อย่างหมดจด เป็นการตัดสินใจจากเนื้อหาสาระคำกล่าวหาและคำชี้แจงในเวทีการซักฟอกล้วนๆ

Advertisement

เหตุการณ์กบฏพลังประชารัฐดังกล่าวน่าเทียบเคียงกับกบฏในพรรคฝ่ายค้านกรณีพรรคก้าวไกล4 ส.ส. ได้แก่ นายคารม พลพรกลาง ส.ส.บัญชีรายชื่อ นพ.เอกภพ เพียรพิเศษ ส.ส.เชียงราย นายพีรเดช คำสมุทร ส.ส.เชียงราย นายขวัญเลิศ พานิชมาท ส.ส.ชลบุรี ลงคะแนนสวนมติพรรค โดยไว้วางใจนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ทำให้ได้คะแนนไว้วางใจสูงสุด 275 คะแนน ขณะที่ พลอ.ประยุทธ์ได้ 272 คะแนน พล.อ.ประวิตรได้ 274 คะแนน

หลังก่อกบฏ คำชี้แจงต่อสาธารณะที่เกิดขึ้นตามมาก็คือ เพราะรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้ที่มีน้ำใจ ตอบรับคำเชิญเดินทางไปร่วมกิจกรรมในจังหวัดที่ตัวเองเป็น ส.ส. กับเพราะบทบาทการทำหน้าที่ของพรรคที่ผ่านมาทำตัวเหมือนเด็ก หยิบยกประเด็นอะไรขึ้นมาล้วนแต่ทำให้มีเรื่อง มีชนชั้นในพรรค ไม่ให้บทบาทกับตนเองและกิจกรรมในการพัฒนาภาคอีสานเท่าที่ควร

คำอธิบายเหตุผลรองรับการตัดสินใจเป็นเรื่องผลประโยชน์ส่วนตัวแทบทั้งสิ้น ไม่พูดถึงเนื้อหา สาระ ความน่าเชื่อถือหรือไม่น่าเชื่อถือของคำอภิปราย การกล่าวหาของ ส.ส.ฝ่ายค้านด้วยกัน และคำชี้แจงของรัฐมนตรีผู้ถูกกล่าวหา หนักแน่น หักล้างข้อโจมตีได้อย่างหมดจดงดงาม แม้แต่น้อย

สองกรณี สองกบฏในสองพรรครัฐบาลหนึ่งกับฝ่ายค้านหนึ่งนี้ จึงสะท้อนชัดว่า กลุ่มใดน่าเห็นใจ น่าทำความเข้าใจ น่าชื่นชม ยกย่อง หรือน่าตำหนิ ประณามมากกว่ากัน

อย่างไรก็ตาม ข้ออ้างที่ ส.ส.กบฏนำมารองรับการแหกมติล้วนเป็นไปในลักษณะเดียวกัน อ้างเป็นเอกสิทธิ์ของ ส.ส.ซึ่งได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ใช้ดุลยพินิจได้อย่างอิสระไม่ขึ้นต่อมติพรคหรือคำสั่งการของผู้มีอิทธิพลภายในพรรค

แต่เหตุและผลตามบทบัญญัติกฎหมายสูงสุดยังคงไร้ความศักดิ์สิทธิ์อยู่เช่นเดิม ความเป็นจริงของเหตุการณ์แต่ละกรณีที่ถูกอภิปราย สำนึกแห่งความถูกต้อง และอุดมการณ์ ยังเป็นเรื่องของความฝัน พ่ายแพ้ต่อมารยาททางการเมือง มติพรรค เสถียรภาพของรัฐบาล และพรรคร่วมรัฐบาล สำคัญกว่า มาก่อนเสมอ

เหมือนๆ ทุกครั้งที่ผ่านมา เพราะหมายถึงโอกาสในการแสดงฝีไม้ลายมือบริหารจัดการตามนโยบายที่แถลงไว้ คะแนนนิยมทางการเมืองและผลประโยชน์ที่ได้จากการเป็นรัฐบาล ดีกว่าเป็นฝ่ายค้าน อดอยากปากแห้ง หน้าละห้อย

ปฏิรูปการเมือง การเมืองใหม่ที่เป็นธรรม จึงยังห่างไกลเต็มทีสำหรับสังคมไทย

สมหมาย ปาริจฉัตต์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image