คอนเสิร์ตสองวงคู่ขวัญ บีเอสโอและทีพีโอ ว่าด้วยแนวคิดเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ โดย บวรพงศ์ ศุภโสภณ

เยฟเกนี มราวินสกี (Yevgeny Mravinsky)

หลายครั้งที่ราวกับมีการนัดหมาย เมื่อวงบีเอสโอ (Bangkok Symphony Orchestra) และวงทีพีโอ (Thailand Philharmonic Orchestra) คู่แข่งกันกรายๆ ในทางดนตรี จัดคอนเสิร์ตในเวลาไล่เลี่ยและใกล้เคียงกันมาก เช่นเดียวกันกับในค่ำวันพฤหัสบดีที่ 11 สิงหาคม พ.ศ.2559 วงบีเอสโอจัดคอนเสิร์ตรายการ “Beethoven Gala” ณ หอประชุมใหญ่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย อำนวยเพลงโดย ชาร์ลส โอลิเวียริ มันโร (Charles Olivieri-Munroe) และในวันรุ่งขึ้น ศุกร์ที่ 12 สิงหาคม (และเสาร์ที่ 13) วงทีพีโอก็จัดคอนเสิร์ตรายการ “Scarano Meets Mahler” ที่หอแสดงดนตรี มหิดลสิทธาคาร อำนวยเพลงโดย อัลฟอนโซ สการาโน (Alfonso Scarano) เช่นเดียวกัน

และทั้งคู่ต่างก็มีความเหมือนกันในสามประการก็คือ ประการแรกนี่เป็นการบรรเลงภายใต้การอำนวยเพลงของวาทยกรที่เป็นที่ยอมรับกันของนักดนตรีในวงทั้งสองว่าน่าจะเป็นผู้อำนวยเพลงที่ดีที่สุด (เท่าที่พอจะหาได้) สำหรับพวกเขาทั้งสองวง

ความเหมือนในประการที่สองก็คือคอนเสิร์ตทั้งสองรายการที่ผ่านไปนั้นเป็นการบรรเลงที่อยู่ในมาตรฐานที่ดีมากที่สุดเท่าที่พวกเขาจะทำได้ทั้งคู่

และความเหมือนกันในประการสุดท้ายก็คือ ทั้งบีเอสโอและทีพีโอต่างก็มีผู้ชมเพียงประมาณเกินครึ่งโรงนิดหน่อยเหมือนๆ กัน

Advertisement

เราเคยมีความเชื่อกันอยู่ลึกๆ เสมอว่า วงทีพีโอเล่นไกลถึงศาลายา (30 กม.จากกรุงเทพฯ) จึงมีคนดูไม่เต็มโรง แต่มาในคอนเสิร์ตระยะหลังๆ มานี่ แม้บีเอสโอจะบรรเลงกันกลางใจเมืองอย่างศูนย์วัฒนธรรมฯ แต่ก็มีคนดูเพียงเกินครึ่งโรงนิดหน่อยเช่นเดียวกัน เรื่องนี้หากมองไปยังวงทีพีโอที่บรรเลงคอนเสิร์ตรายการเดียวกันซ้ำสองรอบก็อาจมีผู้ชมมากกว่าบีเอสโอด้วยซ้ำไปในบางรายการ แม้จะบรรเลงไกลจากกรุงเทพฯมากกว่า

เรื่องจำนวนผู้ชมคอนเสิร์ตจึงเป็นเรื่องที่อาจต้องมองข้ามไปบ้างในบางกรณี หากเรายังเชื่อมั่นในคุณค่า ในอุดมการณ์ทางดนตรีที่เรายึดมั่นอยู่ในอันที่จะเผยแพร่ในสิ่งที่เรียกว่าเป็นวัฒนธรรมอันดีงามในสภาพสังคมยุคไฮเทคในปัจจุบันที่มนุษย์มี “ของเล่น” ซึ่งดึงเวลา ดึงความสนใจให้เราใช้เวลาผ่านไปวันหนึ่งๆ ได้อย่างแทบจะไม่รู้สึกตัว

เรามาลองดูคอนเสิร์ตของวงบีเอสโอในค่ำวันที่ 11 สิงหาคมกันก่อน ซึ่งเป็นการนำเอาบทเพลงของเบโธเฟนมาบรรเลงทั้งรายการ ภายใต้การอำนวยเพลงโดย ชารล์ส โอลิเวียริ มันโร วาทยกรที่สามารถพูดได้ว่าถัดจากฮิโคทาโร ยาซากิ อดีตผู้อำนวยการดนตรีระดับตำนานคนหนึ่งของบีเอสโอแล้ว นี่คือวาทยกรที่สามารถปลุกศักยภาพของวงบีเอสโอให้กลับคืนมาได้อีกครั้ง

Advertisement

หากแต่ทั้งสองคนวิธีคิด-วิธีจัดการทางดนตรีที่แตกต่างกันจนแทบจะเป็นคนละขั้วทีเดียว

ในขณะที่ยาซากิใช้วิธีการบางอย่างที่ดูลึกลับราวกับการสะกดจิตนักดนตรีให้บรรเลงกันใน “ขณะนั้น” ได้ราวกับการด้นสด หรือราวกับเป็นการบรรเลงบทเพลงนั้นๆ เป็นครั้งแรกสุดบนเวที เป็นความสดใหม่แบบคาดไม่ถึงเดาไม่ถูก แต่โอลิเวียริ-มันโร กลับแสดงออกด้วยระบบระเบียบ ความแม่นยำ รูปทรงทางดนตรีที่กระชับมั่นคง และพลังทางดนตรี (ไม่ใช่พลังอารมณ์!) ที่สูงราวประจุไฟฟ้า

วาทยกรทั้งสองรูปแบบนี้ แม้จะแตกต่างกันอย่างสุดขั้ว หากแต่สามารถสร้างสิ่งที่เรียกว่า “ประสบการณ์ทางดนตรี” อันดี ได้ทั้งสำหรับนักดนตรีในวงและผู้ชมดนตรีของเขา

บทโหมโรง “The Consecration of the House” ของเบโธเฟน ที่เปิดการบรรเลงโดยงวงบีเอสโอแสดงลักษณะวิธีคิดทางดนตรีของโอลิเวียริ-มันโรได้ชัดเจน เขาเน้นเรื่อง เทคนิครูปทรงและองค์ประกอบทางดนตรีเป็นสำคัญ อาจพอจะกล่าวได้ว่าเขาเป็นวาทยกรในสกุล “วัตถุวิสัย” (Objective) ทางสายอาร์ทูโร ทอสกานินิ (Arturo Toscanini) หรือจอร์จ แซล (George Szell) ที่ไม่เน้น (และอาจไม่ไว้วางใจ) ในเรื่องปฏิภาณ แรงบันดาลใจในชั่วขณะนั้น หากแต่ใช้การทำองค์ประกอบทางดนตรีทุกอย่างให้แม่นยำกระจ่างชัด แล้วดนตรีก็จะแสดงความหมายและความงามออกมาด้วยตัวของมันเอง โดยศิลปินไม่ต้องไปเติมอารมณ์ ความรู้สึกส่วนตัวใดๆ ลงไปในตัวงาน

บทโหมโรงนี้จึงงดงามด้วยองค์ประกอบทางดนตรีอย่างแท้จริง ด้วยพลังอารมณ์ที่ไม่มากนัก แต่เน้นความชัดเจนในการเปล่งเสียง (Articulation) ประโยคดนตรีที่งดงาม สมดุล (Balance) ในทุกๆ แนวเสียง และที่น่าชื่นชมก็คือการไล่ล้อในแนวเสียงต่างๆ (Counterpoint) ที่แจ่มใสกระจ่างชัด ฟังดูไม่ผสมปนเป ราวกับเราได้มองเห็นลายเนื้อผ้าที่ถักทออย่างชัดเจน เมื่อวงสามารถบรรเลงได้ตามระบบระเบียบอันแม่นยำ

การเลือก บทเพลงเปียโนคอนแชร์โตหมายเลข 4, ผลงานลำดับที่ 58 ของเบโธเฟนมาบรรเลงในครั้งนี้ เป็นการผสมผสานความสำเร็จทางดนตรีในทุกองค์ประกอบ ทั้งความแม่นยำหนักแน่นของวาทยกร บทเพลงนี้ของเบโธเฟนแสดงลักษณะของบทกวี ความละเมียดละไมและความเป็นละคร (Drama) มากที่สุดในบรรดาเปียโนคอนแชร์โตทั้ง 5 บทของเขา

หากจะว่าไปแล้วบทเพลงนี้มีลักษณะแห่งสตรีเพศที่เด่นชัดเสมือนบรรดา “ซิมโฟนีเลขคู่” ของเขาอีกด้วย และประการสุดท้าย ศิลปินเดี่ยวเปียโนแห่งอาร์เจนตินา นาม “มาร์เซลา ฟิโอริลโล” (Marcela Fiorillo) แม้จะเป็นศิลปินที่อาจจะดู “โนเนม” ในสายตาแห่งดนตรีคลาสสิกเชิงพาณิชย์ หากแต่ในทางศิลปะแล้วการบรรเลงของเธอในครั้งนี้ แสดงความเป็นเลิศและศิลปะแห่งการตีความโดยแท้จริง

นี่เป็นการบรรเลงเปียโนคอนแชร์โตของเบโธเฟน ที่จะอยู่ในความทรงจำทางดนตรีดีๆ ไปอีกนาน

เธอพิสูจน์ให้เห็นว่าดนตรีไม่ใช่ศิลปะที่ตั้งอยู่โดดๆ การเข้าถึงและทำความเข้าใจในระดับขั้น “ตีความทางดนตรี” จำต้องอาศัยทั้งความรู้ ความคิดและรสนิยมอันดี ซึ่งทั้งหมดนั้นมาจากประสบการณ์ที่กลั่นกรองแล้ว มาผสมผสานกับความสามารถทางเทคนิคที่เสถียร มั่นคงเป็นพื้นฐาน มาร์เซลามิได้เรียนมาทางการบรรเลงเปียโนเพียงอย่างเดียว เธอเรียนวิชาการประพันธ์ดนตรี (Composition) มาอีกด้วยและยังเชี่ยวชาญทางด้านดนตรีเชมเบอร์มิวสิก

ทั้งหมดนี้เมื่อมารวมกันย่อมสร้างมาตรฐานทางดนตรีอันคู่ควรแก่คำว่า “ประสบการณ์ทางดนตรี” อย่างแท้จริง

เธอแสดงให้เห็นว่าผลงานของเบโธเฟนชิ้นนี้ ต้องใช้ “วุฒิภาวะทางดนตรี” ในระดับสูง ไม่ใช่บทเพลงที่จะมาโอ้อวดฝีมืออันร้อนแรงเพียงอย่างเดียวแบบที่เรียกกันว่า “Virtuoso Concerto” ใจความหลักทางดนตรี (Motif) ในท่อนแรกที่มีเพียง 4 พยางค์ เสมือนกับ 4 พยางค์ในซิมโฟนีหมายเลข 5 แต่ทว่าเป็น 4 พยางค์ที่ฟังดูอ่อนล้า ถอนใจ ราวกับจะขาดใจ

นี่ยังเป็นภาพรวมของบทเพลงทั้งหมดที่เน้นการอาศัยความละเมียดละไมและลุ่มลึกในการเข้าถึงและค้นหา

ใครที่พอจะรู้จักบทเพลงนี้มาบ้างก็พอจะทราบได้ว่า ท่อนที่สองในจังหวะช้าที่มีความยาวเพียงประมาณไม่ถึง 5 นาทีนั้น เป็นท่อนที่สุดยอดที่สุด ที่แสดงการสนทนากันราวกับศิลปะการละครอย่างแท้จริง

วงออเคสตราที่ตวาดอย่างดุดัน และเปียโนที่บรรเลงตอบกลับอย่างนุ่มนวล อ่อนโยนเสมือนการขอความปรานี ฟรันซ์ ลิซท์ (Franz Liszt) นักประพันธ์ดนตรีและพ่อมดแห่งเปียโนในศตวรรษที่ 19 เคยตีความท่อนนี้เอาไว้ว่า มันคือการบรรเลงดนตรีเพื่อเว้าวอนขอร้อง สัตว์ประหลาดที่เฝ้าด่านไม่ให้ ออร์เฟอุส (Orpheus) เดินทางผ่านไปหาภรรยา (Euridice) ในดินแดนสุขาวดี ซึ่งถ้าเรามองในมุมนี้แล้ว มาร์เซลาตีบทบาทแนวเดี่ยวเปียโนได้แตกกระจาย

เสียงเปียโนของเธออ่อนโยนละเมียดละไม ราวกับเพลงร้องเสมือนพิณทิพย์ของตัวละครออร์เฟอุสในละครอุปรากรดังที่ฟรันซ์ ลิซท์ เคยเปรียบเปรยไว้

สำหรับในท่อนสุดท้ายนั้น มาร์เซลาและวาทยกรแสดงให้เห็นว่าเขาทั้งคู่ใช้ลมหายใจเดียวกันตลอดในการบรรเลงดนตรี แม้จะไม่ได้เล่นเครื่องเป่าด้วยกันทั้งคู่ เขาแสดงให้เห็นว่าการแบ่งประโยคทางดนตรีที่แน่นอน งดงามและชัดเจนนั้น การสูดลมหายใจและแบ่งลมหายใจนั้นยังเป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างมาก นับได้ว่าในครั้งนี้เราได้ชมการแสดงของศิลปินกวีแห่งเปียโน ผู้มีประสบการณ์ ความคิดรอบด้านใช้สมดุลทางเทคนิคและด้านปรัชญาความคิดมาผสมผสานกันแสดงออกได้อย่างเป็นธรรมชาติ

ใครที่ได้ชมการแสดงในครั้งนี้ขอให้นับได้เลยว่านี่เป็นบทเรียนเรื่องดนตรีของเบโธเฟนที่ดีบทเรียนหนึ่ง

สำหรับซิมโฟนีหมายเลข 3 (Eroica) ของเบโธเฟนที่ปิดท้ายรายการนั้นยังคงเป็นอีกครั้งหนึ่งที่ผมต้องพูดว่า ผมไม่เห็นด้วยกับแนวทางการตีความเบโธเฟนแบบห้วนกระชับ และปราศจากเรื่อง “ความหมายระหว่างบรรทัด” โดยสิ้นเชิงของเขา นับแต่ซิมโฟนีหมายเลข 5 ของเขาในครั้งก่อน ซึ่งปราศจาก “เงาเสียง” ความคิดเรื่องการต่อสู้ชะตากรรมหูหนวกของเบโธเฟนตามที่เราคุ้นชินกันมาโดยสิ้นเชิง

มาในครั้งนี้เขาทำให้ เอรอยกาซิมโฟนีบทนี้กลายเป็นเพียงเสียงดนตรีที่มีความงดงาม หมดจด สวยด้วยสมดุลทางองค์ประกอบดนตรีล้วนๆ โดยไม่มีเงาเสียงทางความคิดเกี่ยวกับวีรบุรุษ หรือนโปเลียนใดๆ ทั้งสิ้น

เสมือนที่อาร์ทูโร ทอสกานินิ วาทยกรระดับตำนานในอดีตเคยกล่าวสรุปความคิดถึงซิมโฟนีบทนี้เอาไว้ว่า “ผมไม่เห็นว่ามันจะมีวีรบุรุษอะไรเลย ผมเห็นมีแต่ ‘Allegro con brio’ (เร็วอย่างองอาจสง่างาม)” ซึ่งการอำนวยเพลงของโอลิเวียริ มันโร ในครั้งนี้ ได้เดินมาตามแนวทางนี้อย่างชัดเจน คอร์ด 2 คอร์ดแรกที่เปิดการบรรเลงนั้นห้วนสั้นจนน่าจะเรียกเป็นภาษาดนตรีว่า “Staccatisismo” ได้ทีเดียว

แนวทำนองหลัก (Main Theme) ที่ดำเนินไปในจังหวะที่เร็วกระชับ ส่วนพัฒนาการ (Development) ที่ยังคงดุดันและตะบึงตึงตัง หากแต่ในการเชื่อมต่อ (Transition) ในแต่ละใจความทางดนตรีนั้นเขา “หยอด” ได้อย่างบรรจงงดงามทุกจุด รูปทรงทางดนตรีที่ชัดเจน

ในท่อนที่สองเขาไม่เน้นลักษณะเพลงเดินแห่ศพ (Funeral March) มากนัก จังหวะดนตรีดำเนินไปแบบปานกลางไม่อืดอาดยืดยาด สิ่งที่น่าสนใจมากก็คือเสียงกลองทิมปะนี (Timpani) ในท่อนนี้ ที่ตีได้แบบแหลมคม-ชัดเจน เป็นเสียงกลองทิมปะนีที่ดึงดูดความสนใจได้เป็นพิเศษที่เกิดขึ้นไม่บ่อยนัก ซึ่งนี่น่าจะมาจากการบอกกล่าว “อะไรบางอย่าง” จากโอลิเวียริ-มันโรนั่นเอง

กล่าวโดยสรุป ดนตรีของโอลิเวียริ-มันโรอาจฟังดูห้วนกระชับ สำหรับในบางด้านมันอาจขาดหายไปซึ่งความหมายรองทางดนตรี หรือแรงบันดาลใจอันลึกล้ำบางประการ หากแต่ดนตรีของเขาได้สอนเราถึงพลังทางดนตรีอันแรงกล้า ที่เปี่ยมไปด้วยสมดุล ความพอเหมาะ-พอดีทางองค์ประกอบศิลป์ และการควบคุม แม้เราจะไม่เห็นด้วยกับแนวทางดนตรีของเขาหากแต่โอลิเวียริ-มันโร สอนพวกเราให้ประจักษ์ถึงความหมายของคำ ว่า “รสนิยมอันดี” ทางดนตรีได้แน่นอน

ค่ำวันรุ่งขึ้น 12 สิงหาคม วงทีพีโอจัดการแสดงคอนเสิร์ต ณ หอแสดงดนตรี มหิดลสิทธาคาร โดยบทเพลงเอกของรายการคือ ซิมโฟนีหมายเลข 5 ของกุสตาฟ มาห์เลอร์ (Gustav Mahler) ซึ่งนี่คงเป็นการบรรเลงเป็นครั้งที่ 3 หรือ 4 แล้วภายในระยะเวลาการก่อตั้งวง 12 ปี ในขณะที่บีเอสโอก่อตั้งวงมา 34 ปีแล้ว แต่ยังไม่เคยบรรเลงผลงานใหญ่ๆ อย่างมาห์เลอร์ บรูคเนอร์ หรือริชาร์ด ชเตราส์ ใดๆ เลย

เรื่องนี้ทางบีเอสโอน่าจะพิจารณาปรับเป้าหมายทางดนตรีได้แล้ว อายุของวงที่ก่อตั้งมากกว่า 3 ทศวรรษ น่าจะปรับความทะเยอทยานทางดนตรีให้เลยขั้นเบโธเฟนหรือไชคอฟสกีได้แล้ว ทั้งนี้ก็เพื่อประสบการณ์อันดีทั้งสำหรับนักดนตรีและแฟนๆ เพลงของบีเอสโอนั่นเอง

เรื่องความยากทางเทคนิคดนตรีของซิมโฟนีบทนี้ของมาห์เลอร์ ไม่ต้องนำมาบรรยายให้เปลืองพื้นที่อีกต่อไป นี่คือหนึ่งในบทเพลงในระดับ “ที่สุดของที่สุด” โดยแท้จริงสำหรับวงออเคสตราทั่วโลก ที่จะพิสูจน์ถึงความสามารถเฉพาะตัวและเฉพาะกลุ่มของนักดนตรีในวง ความแข็งแกร่งของเบอร์กระดูกทางดนตรี และยังเลยไปถึงขั้นรสนิยมทางดนตรีและปรัชญาทางดนตรี สุดแล้วแต่ศักยภาพของวงออเคสตราและวาทยกรแต่ละวง ว่าศักยภาพของพวกเขาจะสามารถนำพาพวกเขาก้าวเดินไปถึง ณ จุดใด

นี่คือบทเพลงที่ทำเอาวงดนตรีและวาทยกร “ระดับโลก” มาตกม้าตายที่เมืองไทยมาแล้ว!

และการบรรเลงบทเพลงนี้มาแล้ว สองครั้ง (4 รอบ) โดยวงทีพีโอภายใต้การอำนวยเพลงของอัลฟอนโซ สการาโน ก็อยู่ในขั้นที่สามารถไปยืนอยู่ในเวทีระดับนานาชาติได้โดยไม่น่าอายใครเลย (ยิ่งถ้าเทียบกับ “ระดับโลก” ที่มาบรรเลง “แป้ก” ในเมืองไทยแล้วก็ยิ่งมั่นใจได้มากยิ่งขึ้น)

สำหรับในครั้งนี้ สการาโนสามารถทำให้กลุ่มเครื่องสายของวงทีพีโอยกระดับขึ้นมาอีกได้อย่างเป็นที่ประจักษ์ โดยเฉพาะในท่อนที่ 4 ที่บรรเลงด้วยกลุ่มเครื่องสายล้วนๆ นั้น งดงามจน “เกือบจะ” พ้นระดับความงามของเสียงแล้ว เกือบจะนำพาเราไปสู่ความรู้สึกในอีกมิติหนึ่งได้แล้ว

เสียดายมากกับเก้าอี้ว่างๆ ในการบรรเลงที่สูงด้วยคุณภาพของวงออเคสตราชั้นนำของบ้านเราทั้งสองวง การบรรเลงที่สามารถสร้างความทรงจำดีๆ ทางดนตรีที่จะให้เรานึกถึงไปได้อีกนาน

บทสรุปในเรื่องนี้ก็คือ “ระยะทางไม่ใช่อุปสรรคต่อความรัก” เพราะในเมื่อยังไม่รัก ไม่ศรัทธามากพอ เฉกเช่นบรรดาวงแบนรด์เนม-ระดับโลกทั้งหลาย ต่อให้บรรเลงกันอยู่กลางใจเมืองอย่างศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ก็ยังคงมีที่ว่างอยู่เกือบครึ่งโรงอยู่ดี หากเรามองภาพกว้างไปในระดับสากลนี่อาจไม่ใช่เรื่องแปลก ศิลปะทุกแขนงที่แสดงภูมิปัญญาระดับ “คลาสสิก” มักจะไม่สามารถยืนอยู่ได้ลำพังด้วยกลไกตลาดล้วนๆ หากแต่ยังคงต้องการผู้อุปถัมภ์ซึ่งต้องมั่งคั่งทั้งการเงินและมั่งคั่งด้วยรสนิยม ที่จะเล็งเห็นถึงความสำคัญในอันที่จะช่วยกันชุบเลี้ยงให้ศิลปะในระดับนี้ยืนหยัดอยู่ต่อไปเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญาของมนุษยชาติ

ก่อนผมบังเอิญได้ดูสารคดีชีวประวัติของเยฟเกนี มราวินสกี (Yevgeny Mravinsky) วาทยกรตำนานเกียรติยศ แห่งวงเลนินกราด ฟิลฮาร์โมนิก (Leningrad Philharmonic Orchestra) เขาเป็นผู้ขึ้นชื่อเลื่องลือ ถึงความมีมาตรฐานทางดนตรีที่สูงจนแทบจะผิดมนุษย์ อะไรๆ ที่นักดนตรีในวงฟังว่า “สมบูรณ์แบบ” แล้ว มราวินสกีจะยังคงไม่พอใจและปรับมาตรฐานนั้นให้สูงขึ้นไปอีกอย่างน้อย 1-3 เท่า ทั้งๆ ที่การแสดงของเขามีผู้ชมแน่นเอี้ยดทุกรอบจนถึงมีการยืนฟังคอนเสิร์ตของเขาอยู่เป็นประจำ

หากแต่เขากลับพูดกับคนรอบข้างอยู่เสมอๆ ว่า “ดนตรีควรบรรเลงเพื่อถวายแด่พระผู้เป็นเจ้าเบื้องบน มิใช่บรรเลงเพื่อให้มนุษย์ธรรมดาๆ ฟัง”

นี่อาจเป็นคำกล่าวที่ “รับไม่ได้” ของหลายคนที่ยังไม่เข้าใจในความคิดนี้

เขายังเน้นอีกเสมอว่า “ดนตรีดีๆ นั้น ไม่จำเป็นต้องมีผู้ฟังก็ได้” จนครั้งหนึ่งที่เคยมีการซ้อมใหญ่ของเขาสมบูรณ์มากจน นักดนตรีได้ให้การไว้ในสารคดีนี้ว่า “ราวกับนำพาเราไปสู่อีกโลกหนึ่ง” และเมื่อการซ้อมใหญ่ครั้งนั้นจบสิ้นลง มราวินสกีสั่งยกเลิกรอบการแสดงจริง โดยให้เหตุผลว่า “สิ่งที่ดีที่สุด สมบูรณ์ที่สุดได้เกิดขึ้นและผ่านพ้นไปแล้ว เราจะไม่สามารถทำอะไรแบบเดิมซ้ำได้เป็นครั้งที่สอง”

ใครจะเข้าใจความคิดต่อศิลปดนตรีของมราวินสกีได้แค่ไหนก็เป็นเรื่องบุญวาสนาของแต่ละคนอีกนั่นแหละ ผมเองเคยฟังผู้กำกับละครเวทีชั้นนำชาวไทยคนหนึ่งได้เคยกล่าวไว้ในเวทีสัมมนาทางวิชาการว่า “ผมยินดีและมีความสุขมากกว่าที่จะทุ่มเทสร้างและกำกับละครเวทีที่ดีที่สุดสักเรื่องหนึ่ง เพื่อให้คนดูที่มีความเข้าใจและเหลืออยู่เพียงคนเดียวในโรง ยังดีเสียกว่าที่จะไปกำกับละครน้ำเน่าไร้สาระที่มีผู้ชมแน่นโรงเสียอีก”

ผมคิดว่าเรื่องนี้มีคติสอนใจให้กับเราทุกๆ คนที่ต่างก็ยังคงทำงานกันในอาชีพที่แตกต่างกันไป หากแต่เราได้เคยค้นหานิยามความหมาย หรือแก่นแท้ในสิ่งที่เรากำลังทำกันอยู่หรือไม่ เช่นเดียวกันมีมิตรรักหลายคนเคยมาตักเตือนผมหลายครั้งว่า เขียนบทความเรื่องดนตรีคลาสสิกยาวๆ ไปทำไม? เรื่องดนตรีคลาสสิกไม่ค่อยมีคนสนใจอยู่แล้ว แล้วยังจะมาเขียนยืดยาวแบบนี้อีก ไม่มีใครทนอ่านได้จบหรอก

เท็จจริงแค่ไหนผมเองก็ไม่อาจทราบได้เพราะไม่อาจหยั่งรู้ถึงจำนวนผู้อ่านได้จริงๆ ว่ามีเท่าไหร่ หากแต่ทุกสิ่งที่ทำไปก็เพียงเพื่อสิ่งที่รักและศรัทธาเชื่อมั่นในคุณค่ามาตลอดชีวิตซึ่งก็คือดนตรีคลาสสิกนี่แหละ

และผมก็มีความสุขทุกครั้งที่แอบจินตนาการเอาไว้ว่า………อย่างน้อยที่สุดท่านที่กำลังอ่านบทความชิ้นนี้มาจนถึงบรรทัดนี้ ท่านก็คือ “คนหนึ่ง” ละ ที่ทนอ่านบทความผมได้ และเราก็น่าจะมีความเข้าใจซึ่งกันและกันเป็นอย่างดี โดยมีดนตรีคลาสสิกเป็นสิ่งที่เรารักและศรัทธาร่วมกัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image