คนตกสีที่อยู่อีกฝั่งหนึ่ง : ก่อนหน้านี้ เราเคยเป็นผู้ทรงสิทธิ

ในสัปดาห์ที่แล้ว มีไวรัลที่ทำให้รู้สึกสลดสะท้อนใจที่ถูกแชร์กันในโลกโซเชียล คือ ภาพของคู่คนชราตายายคู่หนึ่ง (ซึ่งภายหลังทราบว่าจริงๆ แล้วเป็นแม่ลูกกัน) นั่งป้อนข้าวให้กันระหว่างรอลงทะเบียนเยียวยา โดยผู้ถ่ายภาพที่มาระบุว่า ทั้งคู่ออกจากบ้านที่อยู่ห่างไกลออกไป 35 กิโลเมตร มารอที่หน้าธนาคารตั้งแต่เวลาตีสามโดยไม่มีเงินแม้สักบาท ด้วยหวังว่าจะได้รับเงินเจ็ดพันบาทจากโครงการ “เราชนะ”

ภาพดังกล่าวสร้างแรงสะเทือนใจกระเพื่อมไปพร้อมกับคำถามว่า นี่ตกลง “ใครชนะ” หรือ “เราแพ้”

นอกจากนี้ ก็ยังรวมถึงข่าวที่มีราษฎรที่ไปลงทะเบียนถูกข่มหมูขู่ตะคอกจากเจ้าหน้าที่ของธนาคาร ซึ่งกำลังทำงานแทนรัฐ ซึ่งปรากฏขึ้นต่างกรรมต่างวาระ

สิ่งสำคัญที่ทำให้คนทั่วไปส่วนใหญ่รู้สึกสะเทือนใจก็คือ ภาพนี้สะท้อนถึงสภาพความถดถอยของการเป็นผู้ทรงสิทธิของราษฎรในชาติประเทศนี้

Advertisement

ราษฎรนั้นเคยเป็น “ผู้ทรงสิทธิ” ในรัฐ ในชาติ ในประเทศนี้จริงหรือ คงต้องย้อนกลับไปสู่เมื่อครั้งที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 เพิ่งมีผลใช้บังคับ

แม้ว่าใจความของประโยคนั้นยังคงชัดเจนในเนื้อหาที่ว่า “สิ่งสำคัญที่สุดของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ (2540) คือการเปลี่ยนจากประชาชนที่เป็นวัตถุแห่งการใช้อำนาจรัฐ ให้กลายเป็นองค์ประธานแห่งสิทธิและอำนาจรัฐ” แต่น่าเสียดายที่ผมจำไม่ได้จริงๆ ว่านี่เป็นคำพูดของท่านใด

วัตถุแห่งการใช้อำนาจรัฐคืออะไร? แต่เดิม หรืออย่างน้อยก็ก่อนที่รัฐธรรมนูญปี 2540 จะใช้บังคับประชาชน หรือราษฎรนั้นจะมีสภาพเป็นเหมือนผู้ที่ไป “ร้องขอ” เพื่อให้หน่วยงานของรัฐ หรือข้าราชการทำอะไรสักอย่างให้ ร่องรอยของเรื่องนี้ปรากฏหลักฐานในภาษา ที่แม้จนปัจจุบัน การยื่นเรื่องเพื่อขอให้มีการพิจารณาทางปกครองจะอยู่ในรูปแบบของแบบฟอร์ม “คำร้อง”

กฎหมาย กฎ ระเบียบใดๆ ของหน่วยราชการนั้นเป็นเสมือน “ข้อห้าม” ที่ถ้าไม่มีกฎหมายกำหนดไว้ชัดแจ้งว่าทำได้ ก็จะถือว่า เราจะทำเรื่องนั้นไม่ได้ หรือถ้าไม่แน่ใจว่าเรื่องนี้ต้องขออนุญาตหรือไม่ ก็เป็นอันว่า ถ้าขืนทำไปโดยไม่ขออนุญาตเป็นมีเรื่องแน่ๆ และที่ร้ายกว่านั้นคือ ข้อห้าม หรือข้อปฏิบัติต่างๆ นานา ที่เจ้าหน้าที่ของรัฐกำหนดให้ประชาชนต้องทำ ต้องยื่น ต้องแสดง หลายเรื่องก็ไม่ใช่สิ่งที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย หรือแม้แต่กฎเกณฑ์ลำดับรองที่เป็นลายลักษณ์อักษรเสียด้วย แต่เป็นเพียง “แบบพิธี” หรือความเคยชินที่ทำกันจนเชื่อไปว่า มันต้องเป็นอย่างนั้น ซึ่งเจ้าหน้าที่จะกำหนดออกมาอย่างไรก็ได้ ทั้งนี้ เพื่อให้การทำงานของฝ่ายรัฐสะดวกง่ายดายขึ้น หรือ “ถูกจริต” มากขึ้น โดยไม่สนใจว่านั่น เป็นการสร้างขั้นตอนที่ไม่จำเป็นให้ประชาชนที่ไปติดต่อราชการหรือไม่

คนรุ่นปี 2520-2540 คงเคยได้ยินข้อกำหนดแปลกๆ เกี่ยวกับการตั้งชื่อลูก เช่น ชื่อจะต้องมีความหมายที่บัญญัติไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตสถาน ต้องเป็นภาษาไทย นามสกุลที่เปลี่ยนจากแซ่ต้องยาวเกิน 7 พยางค์ ฯลฯ เรื่องพวกนี้เราได้ยิน หรือถูกสั่งมา บางคนก็มีประสบการณ์จริงมาจากบนอำเภอ หรือสำนักงานเขตด้วยซ้ำ ทั้งๆ ที่ไอ้ที่กล่าวไปทั้งหมดนั้น ไม่มีบัญญัติไว้ในกฎหมายที่เกี่ยวข้อง คือ พระราชบัญญัติชื่อบุคคลเลย

สิ่งที่ทำให้ที่เขียนมาสองสามย่อหน้าข้างต้นกลายเป็นตำนานประเภท “แบบนี้มีด้วยเหรอ” ก็คือ การมาถึงของรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่เรียกกันว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่มีความก้าวหน้าในการรับรองสิทธิเสรีภาพของประชาชน และเป็นครั้งแรกที่มีการยอมรับในคุณค่าของ “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์” ในระดับรัฐธรรมนูญของไทย

รัฐธรรมนูญ 2540 มิได้เพียงรับรองสิทธิเสรีภาพไว้เป็นบทบัญญัติอันเป็นนามธรรม แต่ก็ยังสร้าง “เครื่องมือ” อันเป็นรูปธรรมในการทำให้สิทธิเสรีภาพเหล่านั้นได้รับการเคารพปฏิบัติ และมีสภาพบังคับต่อทางภาครัฐด้วย สิ่งสำคัญอย่างยิ่งคือ การสถาปนาให้มี “ศาลปกครอง” ซึ่งเป็นศาลในระบบกฎหมายมหาชน ซึ่งมีหน้าที่และอำนาจในการพิจารณาพิพากษาคดีที่เป็นข้อพิพาทในการใช้อำนาจทางปกครองของรัฐกับประชาชน และสร้างองค์กรอิสระที่มีหน้าที่ในการระงับข้อพิพาทโดยไม่ต้องใช้สิทธิทางศาล คือ ผู้ตรวจการแผ่นดิน (ของรัฐสภา) และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

ทั้งหมดนี้สอดรับกันพอดีกับการตรากฎหมาย ซึ่งถือเป็น “แม่บท” ของกฎหมายปกครองสำคัญสามฉบับ ได้แก่ กฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง กฎหมายว่าด้วยข้อมูลข่าวสารของทางราชการ และกฎหมายว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งกฎหมายทั้งสามฉบับนี้ได้ออกมาใช้บังคับในช่วง พ.ศ.2539-2540

นับแต่นั้นมา ประชาชนจึงมี “เครื่องมือ” ในการเรียกร้องสิทธิและตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐที่มีประสิทธิภาพและใช้ได้ผลจริง เรื่องหนึ่งที่ยังจำได้ไม่ลืม คือมีผู้มาตั้งกระทู้ในเว็บบอร์ดว่า ครอบครัวของเธอประสงค์จะตั้งชื่อลูกเป็นภาษาอังกฤษเพื่อเป็นที่ระลึกถึงผู้มีพระคุณท่านหนึ่ง แต่เมื่อไปแจ้งกับทางสำนักงานเขต ก็ได้รับคำปฏิเสธไม่รับแจ้งเกิดเด็กด้วยชื่อนี้ โดยอ้างว่า กฎหมายห้ามคนไทยมีชื่อเป็นภาษาต่างประเทศ

แน่นอนว่ากฎหมายนั้นไม่มีจริง ผมจึงแนะนำให้คุณแม่ของเด็กกลับไปที่สำนักงานเขตแห่งนั้น และขอเข้าพบผู้บังคับบัญชาของเจ้าหน้าที่ พร้อมบอกแจ้งต่อเขาว่า ยังคงประสงค์จะตั้งชื่อลูกของเธอตามนี้ หากคราวนี้ยังไม่รับแจ้งอีก จะดำเนินการตามวิถีทางเพื่อใช้สิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครอง นั่นทำให้เธอสามารถตั้งชื่อลูกได้สมตามเจตนารมณ์ ทั้งๆ ที่ไม่ควรเสียเวลาไปก่อนหน้านั้นตั้งวันหนึ่ง

นับเป็นจุดเริ่มต้นของยุคสมัยอันรุ่งเรืองของแวดวงการใช้และการศึกษากฎหมายมหาชนในประเทศไทย ที่จากเดิมเป็นเพียงกฎหมายเชิงทฤษฎีที่ไม่รู้จะเอาไปใช้จริงแค่ไหนนอกจากกฎหมายปกครองในเชิงการจัดการอำนาจหน้าที่ของรัฐ ไปสู่การเป็นกฎหมายที่ฟ้องร้องกันได้จริงและมีทุนทรัพย์กันหลักหลายล้านได้

เราได้เห็นกฎหมายที่เคยคุ้นกันจนเป็นวัฒนธรรม เช่น การให้หญิงที่สมรสแล้วต้องเปลี่ยนนามสกุลตามสามีเป็นอันยกเลิกไปเนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าเป็นกฎหมายที่ขัดต่อหลักความเท่าเทียมกันของชายหญิง จึงใช้บังคับไม่ได้ เช่นเดียวกับกฎหมายที่กำหนดขั้นตอนกระบวนการยิบย่อยลงไปถึงระดับการขายแป้งข้าวหมัก (ที่เอาไว้ทำข้าวหมาก) ก็ต้องได้รับอนุญาตในการขาย ก็เป็นอันขัดรัฐธรรมนูญเนื่องจากเป็นอุปสรรคต่อเสรีภาพในการประกอบอาชีพของผู้คน

สภาพเช่นว่านั้นทำให้ราษฎรทั้งหลายสัมผัสถึงความเป็นเจ้าของประเทศอย่างแท้จริง ประกอบกับการเมืองในสมัยนั้นทำให้พวกเราได้เห็นตัวอย่างกันชัดเจนว่า การที่พรรคการเมืองกำหนดนโยบายใดไว้แล้วไปขับเคลื่อนผลักดันนโยบายนั้นต่อเมื่อชนะการเลือกตั้ง มันสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงในเรื่องที่เราคิดว่าไม่มีวันเปลี่ยนได้จริง จนกระทั่งการไปสถานที่ราชการซึ่งเดิมเหมือนการไปเข้าพบเข้าเฝ้าพระเจ้าพระนาย กลายเป็นมีศูนย์บริการเบ็ดเสร็จจุดเดียว One stop service แบบเดียวกับติดต่องานกับเอกชน การติดต่อราชการที่เคยใช้เวลากันเป็นวันๆ เช่น การทำหนังสือเดินทางก็ใช้เวลาหลักชั่วโมง หรือสั้นกว่านั้นอีก งานใบอนุญาตที่เคยจ่ายครบจบเรื่อง เช่น การทำใบขับขี่ก็กลายเป็นระบบที่การจองคิว การอบรม การสอบต่างๆ มีหลักฐานบันทึกไว้ในคอมพิวเตอร์ แบบถ้าจะซิกแซกเหมือนสมัยก่อนก็ยากแบบที่เอาเวลาไปถอยรถให้จอดแนบทางเท้าภายในการบิดพวงมาลัย 7 ครั้งเสียยังมีประโยชน์กว่า

ความเปลี่ยนแปลงทั้งหมดข้างต้นนั้นเอง ได้เริ่มปรับเปลี่ยนกรอบคิดของประชาชนให้มีความรู้สึกสัมผัสได้ถึงความเป็นเจ้าของประเทศ และผู้ปฏิบัติหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐก็เริ่มปรับเปลี่ยนจาก “ข้าราชการ” ไปสู่การเป็น “เจ้าหน้าที่ของรัฐ” ก่อนที่ทุกอย่างจะสะดุดหยุดลงถดถอยกลับ นับแต่การรัฐประหารในปี พ.ศ.2549 เป็นต้นมา แต่จุดที่ทำให้ความเป็น “ผู้ทรงสิทธิ” ในฐานะเจ้าของประเทศของประชาชนหล่นร่วงลงไปถึงจุดที่เราได้เห็นราษฎรต้องไปกราบกรานร้องขอความช่วยเหลือจากรัฐกันอีกครั้งใน พ.ศ.นี้ คือการรัฐประหารในปี พ.ศ.2557 ซึ่งนำพาเอายุคแห่ง “รัฐราชการ” กลับมาอีกครั้ง

ข้าราชการค่อยๆ กลับมาเป็นเจ้าคนนายคน เช่นเดียวกับความรับผิดชอบต่อประชาชนลดต่ำลงอย่างน่าใจหาย เราได้เห็นข้าราชการทุกระดับใช้อำนาจไปล้นพ้นสุดขอบเท่าที่แต่ละคนจะทำได้ เราได้เห็นการแก้ตัวของเจ้าหน้าที่ของรัฐแบบข้างๆ คูๆ ตั้งแต่เรื่องแหวนแม่ นาฬิกายืมเพื่อน ไปจนขวดวิสกี้บนโต๊ะในที่ทำงานอันเป็นสถานที่ราชการนั้นเป็นขวดน้ำปลา

เราได้เห็นเจ้าหน้าที่ของรัฐโยนความผิดพลาดของตนและพรรคพวกใส่ประชาชนเสียดื้อๆ เช่น เรื่อง “เบี้ย
คนชรา” ที่เป็นดราม่าชวนปวดใจเมื่อช่วงปลายเดือนที่แล้ว ที่เมื่อปรากฏว่าได้ตรวจสอบข้อมูลของฐานข้อมูลของทางราชการที่เพิ่งจะ “คุยกันได้” หน่วยงานผู้ควบคุม “กระเป๋าเงิน” ของรัฐ ก็พบว่า มีคนชราจำนวนมากที่ได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุนี้ไปโดยไม่มีสิทธิ เช่นอาจจะได้รับ หรือเคยได้รับเงินประเภทเบี้ยหวัดบำนาญตกทอดจากสิทธิของบุตรหลาน หน่วยงานของรัฐก็ทำการส่งหนังสือไปเรียกคืนเงินที่จ่ายกันมาร่วมสิบปีนั้นคืนทั้งหมดพร้อมดอกเบี้ยจากคุณตาคุณยายเหล่านั้น บางรายย้อนหลังกันเป็นสิบๆ ปี เป็นเงินหลายหมื่นถึงหลักแสนบาท ซึ่งคุณตาคุณยายที่มีภาระต้องชำระคืนรัฐนี้ส่วนใหญ่ก็มีสภาพที่ไม่ค่อยดีเท่าไรแล้ว บางท่านก็เป็นผู้ป่วยติดเตียง

แม้ที่จริงแล้วมันก็ยังมีกฎเกณฑ์ หรือกระบวนการในการเรียกคืนเงินนั้น โดยพิจารณาถึงความสุจริตของผู้รับ ซึ่งปรากฏทั้งในกฎหมายแพ่งว่าด้วยลาภมิควรได้ หรือกฎหมายปกครองเกี่ยวกับการเพิกถอนคำสั่งทางปกครองที่ให้ประโยชน์ต่อผู้รับ แต่หน่วยงานของรัฐก็เลือกที่จะหว่านแหเรียกไปก่อน แล้วให้ผู้ที่ได้รับเงินไปค่อยมาโต้แย้ง หรือใช้สิทธิทางศาล

หรือไม่ต้องว่ากันเรื่องกฎหมาย หรืออะไรก็ได้ ในความรู้สึกทางมนุษยธรรมของประชาชนโดยทั่วไปก็รู้สึกว่ามันโหดร้ายเกินไป

แต่นั่นแหละ ต้นตอของมัน คือ ทัศนคติที่ว่าประชาชนคือ ผู้ต้องร้องขอ และเมื่อไปร้องขอการสงเคราะห์จากรัฐ ก็ต้องดิ้นรนขวนขวายเอง ความสะดวกสบายก็เป็นสิ่งที่ผู้ร้องขอจะต้องสละ ทรรศนะและกรอบคิดว่าที่ประชาชนไปร้องขอ ดังนั้นจะให้ไม่ให้อย่างไรก็ได้ มันจึงแตกต่างจากยุคที่ประชาชนเป็นเจ้าของสิทธิ เป็นประธานแห่งสิทธิ ที่รัฐมีหน้าที่จะต้องจัดให้สมประโยชน์

นี่คือความเสียหายระยะยาวที่จะดำเนินอยู่ต่อไปภายใต้ระบอบอันไม่เป็นประชาธิปไตย ซึ่งสืบทอดอำนาจมาจากรัฐประหารนั้นได้ทิ้งเศษซากมลพิษเอาไว้

กล้า สมุทวณิช

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image