ว่าด้วยการคานอำนาจทางการเมืองของสหรัฐอเมริกา

มีท่านผู้อ่านที่เคารพหลายท่านโทรศัพท์มาสั่งให้ผู้เขียนเขียนเรื่องการคานอำนาจทางการเมืองของสหรัฐอเมริกาแบบง่ายๆ เห็นชัดๆ มีตัวอย่างให้ด้วย เพราะไม่ค่อยเข้าใจเรื่องการคานอำนาจทางการเมืองในเมืองไทยเลย จึงอยากอ่านแบบอย่างการคานอำนาจทางการเมืองของสหรัฐอเมริกาดูสักหน่อย ทำให้ผู้เขียนต้องไปค้นหาตัวอย่างง่ายๆ ชัดๆ มานำเสนอดูนะครับ

ใน พ.ศ.2527 ที่ลานหน้าศูนย์การประชุมของนครดัลลัส มลรัฐเท็กซัส นายเกรเกอรี่ ลี จอห์นสัน ได้นำธงชาติอเมริกันมาเผาเพื่อเป็นการประท้วงการประชุมเพื่อคัดเลือกตัวแทนของพรรครีพับลิกันไปชิงชัยในตำแหน่งประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกาที่ดำเนินอยู่ในศูนย์การประชุมแห่งนครดัลลัสในเวลานั้น

นายเกรเกอรี่ ลี จอห์นสันจึงถูกตำรวจจับในข้อหาว่าการเผาธงชาตินั้นเป็นการก่อให้เกิดภยันตรายต่อสาธารณชนทั่วไป ซึ่งต้องสู้ในศาลของมลรัฐเท็กซัสแล้วก็นำเรื่องอุทธรณ์ไปยังศาลสหรัฐ ต่อกินเวลาร่วม 6 ปี

ในที่สุดศาลฎีกาแห่งสหรัฐอเมริกา ซึ่งทำหน้าที่เป็นศาลรัฐธรรมนูญด้วยได้พิพากษาเป็นเด็ดขาดใน พ.ศ.2532 ว่าการเผาธงชาตินั้นเป็นการแสดงออกถึงสิทธิในการพูดเพื่อแสดงความคิดเห็นในรูปแบบของสัญลักษณ์ ซึ่งเป็นสิทธิอันชอบธรรมของประชาชนชาวอเมริกาทุกคนโดยรัฐธรรมนูญมาตราที่ 1 ของบทแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ซึ่งใช้บังคับเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม ค.ศ.1791 (พ.ศ.2334)

Advertisement

นายจอห์นสันจึงไม่มีความผิดเนื่องจากการเผาธงชาติก็ไม่ใช่การก่อให้เกิดภยันตรายต่อสาธารณชนโดยทั่วไปแต่อย่างใด บทแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาตรา 1 เนื้อความว่าอย่างนี้ครับ “รัฐสภาจะบัญญัติกฎหมายเกี่ยวกับการสถาปนาศาสนาประจำชาติ หรือห้ามการปฏิบัติตามพิธีกรรมทางศาสนาโดยเสรี หรือตัดทอนเสรีภาพในการพูด หรือการพิมพ์โฆษณา หรือสิทธิของประชาชนที่จะร่วมชุมนุมกันโดยสงบ และการยื่นเรื่องราวร้องทุกข์ต่อรัฐบาลไม่ได้”

ท่านผู้อ่านเชื่อไหมครับว่า รัฐสภาของสหรัฐอเมริกาได้โต้ตอบศาลฎีกาสหรัฐด้วยการออกกฎหมายอีกฉบับหนึ่ง โดยเฉพาะเพื่อที่จะให้ถือว่าการเผาธงชาตินั้นเป็นความผิดทางอาญามีโทษจำคุก ซึ่งกฎหมายผ่านทั้งสภาผู้แทนราษฎรกับวุฒิสภา และ ประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน ได้ลงนามประกาศเป็นกฎหมายใช้บังคับทั่วประเทศ แต่มีคนนำกฎหมายฉบับนี้ขึ้นฟ้องต่อศาลฎีกาสหรัฐว่ากฎหมายฉบับนี้ขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญ

ซึ่งศาลฎีกาสหรัฐได้พิจารณาแล้วพิพากษาว่า กฎหมายเรื่องการทำลายธงชาติแล้วมีความผิดทาง
อาญานั้นขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญจริง คือ ขัดกับเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นตามบทแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาตราที่ 1 นั่นเอง ดังนั้นกฎหมายเรื่องธงชาตินี้ จึงใช้บังคับไม่ได้ สรุปก็คือ กฎหมายฉบับนี้ต้องตกไปเมื่อ พ.ศ.2533

เหตุผลที่ศาลฎีกาอ้างไว้ในคำพิพากษาว่ากฎหมายเกี่ยวกับธงชาตินี้ขัดกับรัฐธรรมนูญ ไม่สามารถใช้บังคับได้ก็คือ “หลักการพื้นฐานของบทแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาตรา 1 นั้นก็คือ รัฐบาลไม่สามารถห้ามการแสดงออก ซึ่งความคิดเห็นของผู้คนได้ด้วยเพียงเพราะว่าสังคมส่วนใหญ่เห็นว่าความคิดนั้นก้าวร้าวและขัดแย้ง”

ครับ! เรื่องนี้เป็นการชี้ชัดลงไปว่าหลักการของการปกครองสหรัฐอเมริกาคือ “มนุษย์สำคัญกว่าวัตถุ” และปรากฏการณ์นี้ได้พิสูจน์ถึงหลักการคานอำนาจระหว่างอำนาจอธิปไตยอันมี อำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร อำนาจตุลาการ โดยที่อำนาจตุลาการสามารถลบล้างกฎหมายที่ฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารต่างเห็นดีเห็นงามออกมาใช้บังคับประชาชนแล้วได้

หลักการคานอำนาจของสหรัฐอเมริกามาจากความเชื่อที่ว่า “Power corrupts, absolute power corrupts absolutely—อำนาจทำให้ทุจริต, อำนาจเด็ดขาดทำให้ทุจริตได้อย่างเด็ดขาด”

ดังนั้น ตั้งแต่ไหนแต่ไรมาแล้วคนอเมริกันทั่วไปจะระแวงคนที่มีอำนาจอยู่ตลอดเวลา แม้แต่ตำแหน่งประธานาธิบดีนั้นก็จะไม่ยอมให้บุคคลคนเดียวกันดำรงตำแหน่งอยู่เกินกว่า 2 สมัยหรือ 8 ปี เนื่องจากไม่ไว้ใจว่าประธานาธิบดีที่อยู่ในอำนาจนานเกินไปจะเกิดเมาหรือหลงอำนาจขึ้นมาอาจจะพยายามตั้งตัวเป็นผู้เผด็จการขึ้นมาได้

การคานอำนาจของอำนาจอธิปไตยทั้งสามของสหรัฐอเมริกาสามารถอธิบายคร่าวๆ ดังนี้ คือ อำนาจนิติบัญญัตินั้นประชาชนเลือก โดยตรงแบ่งรัฐสภาเป็น 2 สภา สภาผู้แทนราษฎรนั้นต้องเลือกตั้งทุก 2 ปี ใช้จำนวนประชากรเป็นเกณฑ์ในการแบ่งจำนวนผู้แทนฯ เช่น มลรัฐแคลิฟอร์เนียมีผู้แทนราษฎร 52 คน เพราะมีประชากรมาก ส่วนมลรัฐมอนตานามีผู้แทนเพียง 1 คน เพราะมีประชากรน้อย เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วมลรัฐใหญ่ที่มีประชากรมากก็จะได้เปรียบมลรัฐเล็ก

วิธีการคานอำนาจในฝ่ายนิติบัญญัติก็คือ ให้มีวุฒิสภาที่ทุกมลรัฐมีตัวแทนมลรัฐละ 2 คนเท่ากันและกฎหมายทุกฉบับจะผ่านได้ก็ต้องด้วยความเห็นชอบของทั้งสองสภา นอกจากนี้ วุฒิสมาชิกจะดำรงตำแหน่งกันวาระละ 6 ปี

อำนาจบริหารก็มีประธานาธิบดีที่ประชาชนเลือกตั้ง อยู่ในวาระละ 4 ปี ประธานาธิบดีเป็นทั้งประมุขของประเทศและหัวหน้าฝ่ายบริหารมีอำนาจที่คานกับฝ่ายนิติบัญญัติได้ โดยการไม่ยอมลงนามในกฎหมายที่ผ่านโดยนิติบัญญัติ ซึ่งก็จะเป็นผลให้กฎหมายนั้นต้องเอากลับไปพิจารณาใหม่อีก ซึ่งส่วนใหญ่ก็มักจะตกไป

แต่อย่างไรก็ตาม ตำแหน่งสำคัญๆ ของฝ่ายบริหารจะแต่งตั้งได้ เช่น คณะรัฐมนตรี และทูต หรือนายทหารระดับนายพลจะต้องได้รับการรับรองจากวุฒิสภา

ที่น่าสนใจคือ อำนาจตุลาการที่ประธานาธิบดีแต่งตั้งผู้พิพากษาแต่ต้องได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภา เมื่อผู้พิพากษาได้ตำแหน่งแล้วก็จะไม่มีวาระ อยู่กันจนตายไปเลย ดังนั้นจึงไม่ต้องเกรงใจหรือเกรงกลัวใครอีกต่อไป มีอิสระเต็มที่

แต่อำนาจนิติบัญญัติก็มีทีเด็ดที่จะจัดการฝ่ายบริหารและตุลาการได้ในขั้นสุดท้ายก็คือ การอิมพีชเมนต์ที่ท่านผู้อ่านคงทราบเรื่องกันไปแล้วที่อดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่โดนอิมพีชเมนต์ถึง
2 ครั้งในเทอมเดียวเป็นอย่างดีแล้วนะครับ

โกวิท วงศ์สุรวัฒน์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image