‘บิ๊กตู่’ VS. ‘สี จิ้นผิง’

อาจเป็นข่าวโฆษณาชวนเชื่อของระบอบคอมมิวนิสต์สมัยใหม่ก็ได้ เมื่อเห็นภาพของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน ถ่ายทอดสดไปยังคนจีน 1,400 ล้านคน ประกาศชัยชนะอย่างสมบูรณ์ในการขจัดความยากจนเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

ย้อนกลับไปวันที่ 17 ตุลาคม ปีที่แล้ว เป็นวันครบรอบ 7 ปี ของ “วันบรรเทาความยากจนแห่งชาติ” (National Poverty Relief Day) ซึ่งรัฐบาลจีนยังคงยืนยันว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ว่าจะขจัดความยากจนให้หมดไปในปี 2020 นั้นต้องเกิดขึ้นจริง

“สี จิ้นผิง” ประกาศว่า “จีนได้รับชัยชนะอย่างสมบูรณ์ในการต่อสู้กับความยากจน ซึ่งเป็นเหมือนโรคร้ายเรื้อรังที่คอยกัดกินสังคม”

เมื่อ 8 ปีที่แล้ว จีนมีคนยากจนราว 99 ล้านคน จนกระทั่งปี 2019 เหลือเพียง 5.51 ล้านคน และในปี 2020 “คนจีนทุกคน” หลุดพ้นจากความยากจนแล้ว

Advertisement

การหลุดพ้นจากความยากจนในบริบทของจีนนั้นไม่ได้วัดค่าที่ “เม็ดเงิน” ที่แต่ละคนมี เพราะมีมาตรฐานในการวัดหลักๆ คือ “คุณภาพชีวิตพื้นฐานของประชาชน” ต้องดี ประกอบด้วย ต้องมีอาหารเพียงพอ ต้องมีเสื้อผ้าสวมใส่เพียงพอ ทุกคนต้องเข้าถึงการศึกษาขั้นพื้นฐานได้ ทุกคนต้องเข้าถึงการให้บริการทางการแพทย์ ทุกคนต้องมีบ้านพักที่ปลอดภัย และทุกคนต้องมีน้ำสะอาดดื่ม

รายงานของซินหัวระบุว่า หลายคนสงสัยว่าจีน “ขจัดความยากจน” ได้อย่างไรนั้น

1.ให้ความสำคัญกับการพัฒนาภาคการเกษตร-พื้นที่ชนบท เป็นอันดับแรก จีนเน้นยกระดับคุณภาพ ประสิทธิภาพ และความสามารถในการแข่งขันภาคเกษตรกรรม เริ่มแผนพัฒนาชนบท ใช้เทคโนโลยีช่วยกระตุ้นผลผลิตการเกษตร

Advertisement

2.ย้ายที่อยู่อาศัย มีประชาชนราว 10 ล้านคน ที่ลงทะเบียนว่ามีชีวิตที่ยากจน ได้ถูกย้ายออกจากพื้นที่ที่ไม่มีโรงพยาบาลชุมชน และใน 90% ของคนจำนวนนี้ต้องมีสมาชิกครอบครัวอย่างน้อย 1 คน ที่มีงานทำ

3.ส่งเสริมการสร้างงาน-ฝึกอาชีพ มากกว่า 90% ของผู้ที่ลงทะเบียนว่าเป็นผู้ยากจน จะได้รับการส่งเสริมให้ได้รับงานทำ และการฝึกอาชีพ มากกว่า 2 ใน 3 หลุดพ้นจากความยากจน จากการเดินทางไปทำงานต่างถิ่น หรือในอุตสาหกรรมที่พัฒนาแล้ว

4.ใช้ออนไลน์เป็นสื่อกลางค้าขาย มีการนำเอาช่องทาง “ออนไลน์” มาเป็นสื่อกลางการค้าขายสินค้าของชุมชน โดยพบว่ามีสินค้ามากกว่า 116,000 ชนิด ที่ถูกจำหน่ายผ่านออนไลน์ สร้างเม็ดเงินให้ชุมชนได้มากกว่า 1.7 แสนล้านหยวน หรือเกือบ 8.6 แสนล้านบาท

5.สร้างโรงพยาบาลชุมชน-มีแพทย์ประจำ สร้าง “โรงพยาบาลชุมชน” ในทุกพื้นที่ที่ยังถูกระบุว่ายากจน คือกว่า 832 เขต และในแต่ละหมู่บ้านจะต้องมีศูนย์การแพทย์ และคลินิก พร้อมอุปกรณ์การแพทย์ครบครัน รวมถึงแพทย์ที่มีใบประกอบวิชาชีพด้วย

และ 6.สร้างความมั่นคงทางสังคม กล่าวคือ คนจนทุกคนจะต้องได้รับความมั่นคงทางสังคม คือ ได้รับการสอดส่อง และให้ความช่วยเหลือในด้านต่างๆ เพื่อไม่ให้พวกเขาต้องกลับไปสู่ความยากจนอีก

ข้ามมาที่ “ประเทศไทย” ภายใต้ระบอบเผด็จการทหารตั้งแต่ปี 2557 คาบเกี่ยวประชาธิปไตยแบบครึ่งๆ กลางๆ มีคนชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ครองอำนาจบริหารประเทศมานานเกือบๆ 8 ปี

ปรากฏว่า ธนาคารโลกออกรายงานความเหลื่อมล้ำในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เมื่อปีที่แล้ว พบว่าตัวเลขประชากรไทยที่อยู่ใต้เส้นความยากจนเพิ่มขึ้นจาก 7.2% ระหว่างปี 2558-2561 ผ่านมา 3 ปี ปัจจุบันตัวเลขเพิ่มขึ้นมาเป็น 9.8% ซึ่งคิดเป็นหัวแล้วมีคนยากคนจนอยู่ในปัจจุบันมากกว่า 6.7 ล้านคน จากที่เคยมีแค่ 4.8 ล้านคน

ตัวเลขนี้ทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศเดียวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่อัตราความยากจนเพิ่มสูงขึ้นขนาดนี้ในช่วงหลังปี 2543

แม้ประเทศไทยจะมีการเติบโตทางเศรษฐกิจบ้าง แต่แนวโน้มความยากจนล่าสุดแสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจในระดับครัวเรือนก็ยังอยู่ในสภาพเปราะบางและอ่อนแอ อัตราการเติบโตไทยต่ำกว่าประเทศกำลังพัฒนาขนาดใหญ่อื่นๆ ในเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก ไทยมีจีดีพีแค่ 2.7% ถือว่าต่ำสุดในภูมิภาค การส่งออกได้รับผล
กระทบจากเศรษฐกิจโลกที่อ่อนตัวลง และโรคระบาดโควิด-19 ทำให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวหดตัว

เมื่อเปรียบเทียบ “สี จิ้นผิง-บิ๊กตู่” ภายใต้ระยะเวลาการบริหารประเทศเกือบ 8 ปีแทบจะขึ้นครองอำนาจไล่เลี่ยกัน จีนประกาศชัยชนะความยากจน ในขณะที่ประเทศไทยมีคนจนเพิ่มขึ้นกว่า 1.9 ล้านคน

อาจเป็นเพราะดวงเมืองหรือเคราะห์กรรมใดที่กำหนดให้ประเทศต้องมีผู้นำแบบนี้ …

โกนจา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image