จีนกับรัฐประหารในพม่า

ราวหนึ่งเดือนหลังเกิดรัฐประหารในพม่า สถานการณ์ในประเทศไม่สู้ดีนัก กลุ่มผู้ชุมนุมประท้วงยังออกมาเดินขบวนต่อต้านรัฐประหารอย่างต่อเนื่อง และเกิดการปราบปรามผู้ชุมนุมอย่างรุนแรงในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา จนทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 18 ราย แหล่งข่าวหลายแหล่งกล่าวว่า ตั้งแต่รัฐประหารอาจมีผู้เสียชีวิตไปแล้วเกือบ 30 ราย ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่ถูกยิงโดยกองกำลังของทหารและตำรวจที่เข้าควบคุมฝูงชน และใช้ความรุนแรงเพื่อสลายการชุมนุมตามเมืองน้อยใหญ่ทั่วประเทศ นอกจากกลุ่มผู้ชุมนุมจะเรียกร้องให้ปล่อยตัวด่อ ออง ซาน ซูจี ผู้นำพรรคเอ็นแอลดีที่ปัจจุบันยังถูกควบคุมตัวอยู่ที่กรุงเนปยีดอ และเพิ่งจะปรากฏตัวในคลิปวิดีโอสั้นๆ ระหว่างให้การในศาลผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ หลังจากเธอถูกกล่าวหาว่ามีวิทยุสื่อสารผิดกฎหมายไว้ครอบครอง และสร้างความกลัวและความตื่นตระหนก จนทำให้ประชาชนออกมาเดินขบวนประท้วงเป็นจำนวนมาก ข้อกล่าวหาดังกล่าวมีโทษจำคุกถึง 3 ปี หากเธอถูกตัดสินให้มีความผิดจริง ก็อาจถูกแบนไม่ให้ลงสมัครในการเลือกตั้งครั้งต่อไป

ความลักลั่นย้อนแย้งในกระบวนการยุติธรรมของพม่าทำให้ประชาชนไม่เชื่อมั่นว่าศาลจะตัดสินคดีอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรม ในการประท้วงครั้งนี้ หลักใหญ่ของการประท้วงนอกจากจะเป็นการประณามรัฐประหารของกองทัพแล้ว ยังอยู่ที่การเรียกร้องให้ปล่อยตัวด่อ ออง ซาน ซูจี เราจะเห็นข้อความจากการประท้วงที่ชาวพม่าพยายามสื่อไปถึงนานาชาติให้กดดันกองทัพเพื่อพาประเทศกลับไปสู่ความสงบโดยเร็ว ที่ผ่านมาเราเห็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศอินโดนีเซีย เรทโน มาร์ซูดี เดินทางมาพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศพม่า นายวุนนะ หม่อง ลวิน ที่กรุงเทพฯ แต่เดิมมาร์ซูดีจะต้องไปหารือกับตัวแทนคณะรัฐประหารพม่าที่เนปยีดอ แต่ได้ยกเลิกการเดินทางและพบรัฐมนตรีของพม่าที่กรุงเทพฯแทน นอกจากอินโดนีเซียที่พยายามผลักดันให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศชาติในอาเซียนมาพูดคุยเพื่อหาทางออกจากรัฐประหารในพม่า ก็ยังมีมาเลเซียและสิงคโปร์ที่เรียกร้องให้กองทัพพม่าปล่อยตัวด่อ ออง ซาน ซูจี และสนับสนุนให้อาเซียนเป็นตัวกลางเพื่อนำพลเอกอาวุโส มิน อ่อง ลาย มาสู่โต๊ะพูดคุยกับด่อ ออง ซาน ซูจี ให้ได้

ผู้เขียนเชื่อว่าความพยายามเจรจาของอาเซียนอาจไม่เป็นผล เพราะก่อนหน้านี้กองทัพเคยส่งคนไปเจรจากับตัวแทนพรรคเอ็นแอลดีแล้วหลายครั้ง แต่อ้างว่าข้อเสนอให้นับคะแนนการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2020 ใหม่ไม่ได้รับการตอบสนองใดๆ จากผู้นำระดับสูงเอ็นแอลดี กองทัพจึงมีความจำเป็นต้องรักษาความสงบมั่นคงโดยการล้มรัฐบาลเอ็นแอลดีให้ได้ นอกจากอาเซียน ชาวพม่าก็คาดหวังว่าองค์กรระหว่างประเทศอย่างสหประชาชาติจะกดดันรัฐบาลทหารเพิ่มขึ้น แต่ในกรณีนี้ ผู้เขียนมองว่าแม้จะมีการกดดันหรือประณามความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพม่า แต่เมื่อรัฐประหารเกิดขึ้นแล้ว รัฐบาลพม่าไม่มีทางปล่อยมือ และจะไม่ยอมให้พรรคเอ็นแอลดีกลับเข้าไปเป็นรัฐบาลอีก หรือที่เลวร้ายที่สุด รัฐบาลทหารอาจจะพิจารณา “แช่แข็งประเทศ”

นอกจากองค์กรระหว่างประเทศอย่างอาเซียนและสหประชาชาติแล้ว ท่าทีของจีนยังเป็นประเด็นที่นักวิเคราะห์การเมืองพม่าให้ความสนใจ ที่ผ่านมาจีนไม่ได้ประณามรัฐประหารออกหน้า และก็ไม่ได้สนับสนุนกองทัพพม่าอย่างเต็มตัว แต่ทุกวันนี้กระแสสังคมภายในพม่ามุ่งมาที่การโจมตีจีนว่าจีนอาจอยู่เบื้องหลังรัฐประหารครั้งนี้ก็ได้ มีทฤษฎีสมคบคิดที่ว่าจีนส่งผู้เชี่ยวชาญด้านไอทีมาช่วยกองทัพพม่าสร้างไฟร์วอลล์เพื่อปิดกั้นการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตของประชาชน ข่าวลือเกิดขึ้นเมื่อมีประชาชนโพสต์ไฟลต์บินลึกลับจากคุนหมิงทางตอนใต้ของจีนมาสนามบินย่างกุ้ง หรือมีเฟคนิวส์ออกมาหลายครั้งว่าจีนมีบทบาทในรัฐประหาร บทบาทและท่าทีของจีนระหว่างรัฐประหารและหลังจากนี้เป็นประเด็นที่ให้ถกเถียงต่อได้อีกมาก คนส่วนใหญ่มองว่าจีนน่าจะพึงพอใจที่เกิดรัฐประหารในพม่า เพราะจะทำให้รัฐบาลที่ปักกิ่งผลักดันการลงทุนของตนในพม่าได้ง่ายขึ้น แต่ในความเป็นจริง กองทัพพม่าแสดงออกชัดเจนว่าไม่ชื่นชอบจีน โครงการเมกะโปรเจ็กต์การสร้างเขื่อนมยิตโซน ที่รัฐบาลจีน (ผ่านบริษัท China Power Investment) เทเงินมหาศาลลงทุนร่วมกับรัฐบาลพม่า ก็ถูกแขวนดื้อๆ มาตั้งแต่ปี 2011 ในยุคของประธานาธิบดีเต็ง เส่ง

Advertisement

กองทัพพม่านั้นมีเป้าหมายชัดเจนเรื่องการรักษาอำนาจอธิปไตย ซึ่งถือเป็น “วาระหลักแห่งชาติ” 3 ข้อ นอกเหนือไปจากการป้องกันไม่ให้สหภาพแตกสลาย และส่งเสริมความสมัครสมานสามัคคีในชาติ ดังปรากฏในหน้า 1 ของหนังสือพิมพ์ New Light of Myanmar มาตลอดยุครัฐบาลทหารจนถึงปี 2012 กองทัพพม่าจึงมองจีนและประเทศมหาอำนาจอื่นๆ ทั้งสหรัฐอเมริกา หรือแม้แต่อินเดีย ด้วยความหวาดระแวง แท้จริงแล้ว จีนน่าจะเป็นประเทศที่เสียประโยชน์ที่สุดจากรัฐประหารครั้งนี้ เพราะตั้งแต่รัฐบาลเอ็นแอลดีเข้ามาในต้นปี 2016 จีนพยายามเข้าหารัฐบาลพลเรือนมากขึ้น และพยายามประชาสัมพันธ์ว่าตนมาในฐานะ
มหามิตรของพม่า จึงไม่น่าแปลกใจที่จีนจะเป็นประเทศแรกๆ ที่ออกมาแสดงความ “ไม่สบายใจ” ที่เกิดรัฐประหารขึ้นในพม่า และเอกอัครราชทูตจีนประจำพม่ายังออกมาปฏิเสธข้อกล่าวหาทั้งหมดที่ว่าจีนสนับสนุนกองทัพให้รัฐประหารด้วย

ผู้เขียนเคยเขียนบทความที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์พม่า-จีนไว้หลายตอนในชื่อ “พม่ากับปักกิ่ง:ความสัมพันธ์ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้” เพื่ออธิบายกรอบความสัมพันธ์แบบถ้อยทีถ้อยอาศัย และจีนก็ต้องการแสดงว่าตนเป็น “พี่ใหญ่” ที่คอยให้ความช่วยเหลือพม่าได้เมื่อพม่าต้องการ นับตั้งแต่การประท้วงครั้งใหญ่ในพม่าในปี 1988 จีนยังคอยสนับสนุนพม่าอย่างต่อเนื่อง แต่เมื่อจีนเริ่มขึ้นมามีบทบาทในเวทีการเมืองโลก และเริ่มเข้าไปลงทุนในพม่าเพิ่มขึ้น พลเอกอาวุโส มิน อ่อง ลาย อาจมีความรู้สึกไม่ดีกับจีนเป็นการส่วนตัว จีนค้าอาวุธให้กองทัพพม่า รวมทั้งกองกำลังติดอาวุธของกลุ่มชาติพันธุ์ เป็นอันดับ 1 ในปี 2009 มิน อ่อง ลาย เคยนำกองทัพพม่าไปขับดันกลุ่มกบฏชาวจีนที่อยู่แถบชายแดนพม่า-จีน ให้กลับเข้าไปในเขตจีน ผู้นำกลุ่มกบฏมาเปิดเผยในภายหลังว่ารัฐบาลปักกิ่งให้การหนุนหลังกองกำลังของเขาอยู่เพื่อโจมตีกองทัพพม่า ในประเด็นนี้ ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ออกมาปฏิเสธว่ารัฐบาลปักกิ่งไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการยุยงปลุกปั่นให้กองกำลังดังกล่าวเข้าไปโจมตีกองทัพพม่า อีกประเด็นหนึ่งที่ทำให้ผู้นำกองทัพไม่พอใจจีนเป็นพิเศษก็เพราะจีนเป็นมิตรที่ดีกับพรรคเอ็นแอลดี ภายในรัฐบาลเอ็นแอลดี นโยบายเศรษฐกิจหลักของพรรคคือส่งเสริมการลงทุนกับบริษัทจากจีนมากกว่าบริษัทจากประเทศตะวันตก

จากการวิเคราะห์ของทิโมธี แมคลอคลิน (Timothy McLaughlin) ยังมีอีกหนึ่งปัญหาที่สร้างความตึงเครียดระหว่างเอ็นแอลดี จีน และกองทัพพม่า คือสถานการณ์ในเหมืองหยกและป่าไม้ในรัฐกะฉิ่น ตลอดจนข้อพิพาทด้านดินแดนกับจีนที่ขยายพื้นที่ปลูกกล้วยเข้ามาในพม่าเหนือ ชาวกะฉิ่นในพื้นที่รู้สึกเหมือนเอ็นแอลดี “กำลังขายประเทศ” ให้กับจีน เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชนในพม่า โดยเฉพาะที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ ไม่ได้ชื่นชอบนโยบายของเอ็นแอลดีและออง ซาน ซูจี นัก

Advertisement

แต่ท่ามกลางวิกฤตที่ประชาชนพม่ากำลังเผชิญอยู่ทุกวันนี้ เราจะเห็นกลุ่มชาติพันธุ์ หรือแม้แต่กองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ ออกมาแสดงพลังและสนับสนุนประชาชนที่ออกมาประท้วงต่อต้านรัฐประหาร เป็นภาพที่หาได้ยาก และหวังว่าสถานการณ์ที่เลวร้ายนี้จะจบลงในเร็ววัน แม้แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์จะริบหรี่เต็มทีก็ตาม

ลลิตา หาญวงษ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image