คนแก่ที่ยากจนในสิงคโปร์

เคยเขียนเรื่อง “สิงคโปร์ รวยก่อนแก่” ไปเมื่อ 2 ปีก่อน วันนี้ต้องกลับมามองอีกมุมหนึ่งเพราะเพิ่งนึกได้ว่าจริงๆแล้วในสิงคโปร์แม้จะร่ำรวยปานใด (มี GDP (ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ) ต่อคน 1.75 ล้านบาทต่อปี เฉลี่ยเดือนละ 1.5 แสนบาทต่อคน) ก็ยังมีคนลอดตะแกรงเป็นผู้ยากจนอยู่จำนวนหนึ่งและคนจนเหล่านั้นส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ

เรื่องคนแก่ยากจนในสิงคโปร์นั้นความจริงมีคนสิงคโปร์ทั้งนักวิชาการ นักการเมืองและประชาชนพูดถึงกันมานานพอสมควรแล้ว ปัจจุบันในปี 2563 สิงคโปร์มีประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไปประมาณ 6 แสนคนคิดเป็นร้อยละ 15.2 ของประชากรสิงคโปร์ (ไม่รวมสัญชาติอื่น 4.03 ล้านคน) มีสัดส่วนผู้สูงอายุ (65 ปี+) ที่ยังทำงานอยู่เกือบร้อยละ 30 โดยมีแนวโน้มเพิ่มจากร้อยละ 11 ในปี 2543 เป็น 18 ในปี 2553 จนเป็นร้อยละ 29 ในปี 2563 และเป็นความจริงที่ว่าในสิงคโปร์จากอดีตถึงปัจจุบันยังมีผู้สูงอายุเดินคุ้ยเขี่ยถังขยะหาเศษขยะไปขาย หรือเก็บรวบรวมลังกระดาษใช้แล้ว ขวดพลาสติกหรือกระป๋องเครื่องดื่มไปขายหาเศษเงินประทังชีวิต ที่ดีขึ้นมาหน่อยคือเดินขายทิชชูตามสถานีรถไฟฟ้าหรือ รับจ้างเก็บกวาดหรือล้างชามตามศูนย์อาหารตามสั่ง ผู้สูงอายุบางคนถูกเข้าใจว่าเป็นขอทานทั้งที่ในสิงคโปร์ไม่มีขอทานเพราะมีกฎหมายคนอนาถา (Destitute Persons Act) ที่มีโทษปรับไม่เกิน 3 พันเหรียญหรือ จำคุกไม่เกิน 2 ปี

นอกจากภาพชีวิตดังกล่าวยังมีข้อมูลเชิงวิชาการหรือกึ่งวิชาการที่มีผู้นำเสนอทางสื่อหรือแม้กระทั่งในปาฐกถาทางการเมืองที่หยิบยกปัญหาผู้สูงอายุยากจนในสิงคโปร์มาเปิดเผย

ในปี 2558 ผศ.อึ้ง ก็อก โฮ แห่งสถาบันนโยบายสาธารณะลี กวน ยิว เปิดเผยตัวเลขว่าอัตราความยากจนในผู้สูงอายุเพิ่มจากร้อยละ 13 ในปี 2538 เป็นร้อยละ 28 ในปี 2548 และ ร้อยละ 41 ในปี 2554 และในปี 2555 มีรายงาน (Borgen project 2562) ว่าความยากจนในสิงคโปร์เพิ่มขึ้นร้อยละ 43 ในช่วงปี 2555-2558 โดยความยากจนดังกล่าวพบในผู้สูงอายุมากที่สุดโดยเพิ่มขึ้นร้อยละ 74 ในช่วงเวลาเดียวกัน

Advertisement

สิงคโปร์ไม่มีการกำหนดเส้นความยากจน จึงต้องดูจากสภาพอื่นๆ เช่นรายงานของ Borgen project ให้ข้อมูลที่สนใจเกี่ยวกับคนจนในสิงคโปร์ว่า ประการแรก ปัจจุบันมีคนสิงคโปร์ไม่ต่ำกว่า 4 แสนคนมีชีวิตอยู่ด้วยเงิน 5 เหรียญสิงคโปร์หรือประมาณ 110 บาทต่อวัน (เมื่อเทียบกับค่าครองชีพที่สูงลิบลิ่ว เงินจำนวนดังกล่าวซื้อมาม่าได้ไม่กี่ชาม ในขณะที่การศึกษาวิจัยผู้สูงอายุโดย รศ.เตียวยู่เยน และ ผศ.อึ้ง ก็อก โฮ (2562) พบว่าผู้สูงอายุ (65 ปี+) และอยู่ตามลำพังต้องมีค่าใช้จ่ายขั้นต่ำ (Basic needs) เดือนละ 1,379 เหรียญสิงคโปร์หรือประมาณ 3 หมื่นบาท ประการที่สอง จากการสำรวจพบว่าร้อยละ 20 ของครัวเรือนสิงคโปร์มีรายได้เฉลี่ยเดือนละ 2,235 เหรียญสิงคโปร์หรือประมาณ 5 หมื่นบาทหรือเฉลี่ยคนละ 1.2 หมื่นบาทต่อเดือน ประการที่สาม ข้อมูลของกระทรวงกำลังคน (2559)รายงานว่า หนึ่งในสี่ของผู้สูงอายุ (65 ปี+) ที่ทำงานมีรายได้น้อยกว่าเดือนละ 1,000 เหรียญหรือ 2.2 หมื่นบาท ประการที่สี่ การสำรวจของการเคหะสิงคโปร์ (Housing Development Board: HDB) พบว่า 1 ใน 3 ของผู้อยู่อาศัยในแฟลตขนาด 1 หรือ 2 ห้องนอนไม่มีรายได้ และการศึกษาของ Ipsos (สำนักวิจัยตลาดอิสระ 2557) พบว่าร้อยละ 62 คนสิงคโปร์บอกว่าไม่พึงพอใจกับฐานะทางเศรษฐกิจของตน ประการที่ห้า สิงคโปร์มีความเหลื่อมล้ำของรายได้สูง คือประเภทรวยกระจุก จนกระจาย ซึ่งในรายงานของ Credit Suisse พบว่าหนึ่งในสี่ของความร่ำรวยในสิงคโปร์อยู่กับคนรวยเพียงร้อยละ 1 ของประเทศ ประการที่หก EIU (Economic Intelligence Unit) รายงานว่าสิงคโปร์เป็นประเทศที่ค่าครองชีพแพงที่สุดในโลกติดต่อกัน 4 ปีนับตั้งแต่ปี 2560 และในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาราคาสินค้าและบริการสูงขึ้นร้อยละ 13 ทำให้เกิดคนจนเพิ่มขึ้นมากเพราะรายได้ไม่พอใช้ และประการที่เจ็ด มีการสำรวจ
ในปี 2562 พบว่คนสิงคโปร์ร้อยละ 55 ไม่มีการเตรียมตัวสำหรับตอนแก่ในแง่ของสุขภาพ ความเป็นอยู่และด้านการเงิน ซึ่งน่าจะเป็นเหตุที่อธิบายว่าทำไมสัดส่วนผู้สูงอายุที่ทำงานเพิ่มขึ้น (Hirschman 2020)

ครั้งหนึ่งเคยมีผู้กล่าวว่า คนจนในสิงคโปร์ส่วนใหญ่ถูกซุกไว้ (Tom Benner 2013) ส่วนหนึ่งเนื่องจากรัฐมีการจัดที่อยู่อาศัยให้ในราคาที่พอรับได้ซึ่งหมายความว่ายังมีที่ซุกหัวนอนสำหรับคนจนที่ทำงานและผู้สูงอายุ (ร้อยละ 80 ของประชาชนสิงคโปร์อยู่ใน HBD flat ของการเคหะฯ) จึงทำให้มีความรู้สึกว่าความยากจนและการไร้ที่อยู่อาศัยเป็นเรื่องเล็กๆ

คนแก่ผู้ยากจนห้ามขอทานเพราะผิดกฎหมาย หางานทำไม่ได้ (เพราะความชรา) จึงต้องเดินขายทิชชู เก็บกล่องสินค้าใช้แล้ว หรือกระป๋องเครื่องดื่มเพื่อแลกกับเงินจำนวนเล็กน้อย ฯลฯ ดังนั้น ไม่มีใครมองเห็นคนจนเพราะบางคนก็บอกว่าพวกนี้น่าจะไปหางานทำ มีผู้สูงอายุที่ยากจนบางคนที่ญาติๆ ยุให้หางานทำเพื่อฆ่าเวลา ทำให้มีคนถามว่าในประเทศที่ถ้าผู้สูงอายุมีความปลอดภัยและมั่นคงและมีทรัพยากรพอที่จะเข้าร่วมกิจกรรมของชุมชนหรือการเรียนรู้อะไรใหม่ๆเขาจะไปเก็บขยะฆ่าเวลาทำไม

Advertisement

รัฐบาลสิงคโปร์ดูจะไม่ปลื้มกับคนจนเท่าใดนัก เมื่อประมาณ 10 ปีมาแล้ว Al Jazeera (อัลญะซีเราะฮ์) เครือข่ายสื่อข่าวอาหรับ ทำข่าวคนไร้บ้านที่ถูกไล่จากถนนตามนโยบายรัฐบาล ผลคือมีรัฐมนตรีกระทรวงพัฒนาชุมชน เยาวชนและกีฬาออกมาตำหนิและได้ปิดช่องทีวี Al Jazeera English (AJE) เรียบร้อย นอกจากนั้น รัฐบาลสิงคโปร์ (รมต.กระทรวงพัฒนาสังคมและครอบครัว และ นายกรัฐมนตรี ลี เซียน ลุง 2546) แถลงว่าไม่เชื่อเรื่องเส้นความยากจนที่เป็นทางการโดยให้เหตุผลว่าเส้นความยากจนไม่มีประโยชน์เพราะทำให้รัฐมัวแต่พะวงกับคนที่อยู่ใต้เส้นความยากจนจนลืมคนอื่นที่อาจมีความเดือดร้อนไม่น้อยกว่ากัน นอกจากนั้น ยังบอกว่าสิงคโปร์เลยจุดที่จะใช้ประโยชน์จากเส้นความยากจนแล้วเพราะคน
จนในสิงคโปร์มีหลายมิติจึงต้องการการดูแลที่มากกว่าเส้นความยากจน

ก็จริงที่รัฐบาลสิงคโปร์มีมาตรการแก้ปัญหาความยากจนหลายโครงการ อาทิ กระทรวงพัฒนาสังคมและครอบครัวที่ดำเนินการโครงการ ComCare ที่ให้ความช่วยเหลือครอบครัวผู้รายได้น้อยทั้งระยะสั้นและระยะยาว การช่วยเหลือบุตร และความต้องการทางการเงินอย่างเร่งด่วน มีสภาพัฒนาชุมชนที่ให้ความช่วยเหลือในชุมชนในหลายรูปแบบ มีกระทรวงกำลังคนที่มีโครงการการสนับสนุนสีเงิน (Silver Support Scheme) ที่ให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้สูงอายุรายได้น้อยที่ไม่มีครอบครัวดูแล มีกระทรวงสาธารณสุขมีโครงการ MediFund (กองทุนทางการแพทย์)เพื่อช่วยครอบครัวชำระค่ารักษาพยาบาลในกรณีที่เงินช่วยเหลือและเงินช่วยเหลือด้านสุขภาพอื่นๆ จากภาครัฐไม่พอเพียง มีสภาบริการสังคมแห่งชาติที่เป็นผู้ประสานงานองค์กรสวัสดิการอาสาเอกชนกว่า 450 แห่งเพื่อให้บริการทางสังคม นอกจากนั้นแล้วคนสิงคโปร์ทุกคนยังถูกบังคับให้สมทบเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพกลาง (Central Provident Fund: CPF) เพื่อเก็บเงินไว้ใช้ยามชรา

แต่ปัจจุบันสิงคโปร์กลับมีอัตราความยากจนของผู้สูงอายุที่ทำงานเพิ่มสูงขึ้นในขณะที่มีคำถามว่าทำไมจำนวนผู้สูงอายุที่ทำงานจึงเพิ่มขึ้นและทำไมผู้สูงอายุจึงจำเป็นต้องทำงานวันละหลายชั่วโมงโดยได้ค่าจ้างในระดับต่ำทั้งๆ ที่รัฐบาลมีโครงการให้ความช่วยเหลืออยู่มากมายหลายโครงการแล้ว

พฤฒพลัง หรือชาญชรา (Active ageing) คงไม่ใช่เหตุผลสำหรับผู้สูงอายุที่ยากจนในสิงคโปร์

ดร.อเล็กซานเดอร์ คาลาช ผู้เชี่ยวชาญนโยบายผู้สูงอายุขององค์การอนามัยโลก บอกว่า คงไม่ใช่เหตุผลด้านพฤฒพลัง เพราะถ้าต้องทำงานที่ไม่มีคุณค่า ไม่ได้ทำงานด้วยความสุข ไม่มีศักดิ์ศรีและต้องทำงานจนตายคางานคงไม่ใช่พฤฒพลัง (Jeraldinephneah 2017)

แต่ก็มีคนคิดต่าง โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่ทำงานบางคน

“ในสิงคโปร์ ถ้าไม่มีเงิน อยู่ได้ไง” ชายอายุ 69 ปีที่ทำงานตลอดวันเป็นคนเก็บกวาดในศูนย์ร้านอาหารตามสั่งข้างถนนบอก แต่เขาว่าเขาปฏิเสธเงินสวัสดิการสังคมและชอบที่จะทำงานเลี้ยงตัวเองจนกว่าจะทำไม่ไหว ซึ่งนักสังคมสงเคราะห์ได้พบความคิดเช่นนี้จำนวนไม่น้อยในหมู่ผู้สูงอายุที่ทำงาน “คนที่เดินเก็บลังกระดาษใช้แล้ว เขารู้สึกว่าเขาเข้มแข็งและภูมิใจเมื่อเขาสามารถหาเงินได้ด้วยน้ำพักน้ำแรงของตนแม้จะเป็นจำนวนเล็กน้อยประมาณ 2-5 เหรียญ (40-100 บาท)ต่อวัน แล้วเราเป็นใครที่จะไปห้ามเขา”

บางคนไม่ต้องการเป็นภาระของลูกหลานเช่นหญิงชราอายุ 85 ปีคนหนึ่ง ที่เก็บกวาดทำความสะอาดในศูนย์อาหารตามสั่งข้างถนนตั้งแต่บ่าย 3 โมงถึง 5 ทุ่ม “ฉันมีลูกหลาน แต่ไม่อยากขอตังค์เขาใช้”

ชายชราอีกคนหนึ่งอายุ 85 ปี มีอาชีพเข็นรถขายไอติมและไม่เคยคิดจะพึ่งสวัสดิการรัฐ เขามีลูกหลาน 5 คนแต่ไม่ได้อยู่ด้วยกัน เขาขายไอติมมา 20 ปีแล้ว ยังชีพอยู่ด้วยรายได้เดือนละประมาณ 2 หมื่นบาทจากการขายไอติมและสวัสดิการผู้สูงอายุจำนวนเล็กน้อย “ผมจะขายไอติมไปจนตาย” “การได้ออกไปนอกบ้านดีกว่านั่งๆ นอนๆ ดูทีวีแล้วก็เจ็บป่วย”

ลี กวน ยิว อดีตผู้นำของสิงคโปร์พูดเมื่อ 10 ปีมาแล้วว่า “คนสิงคโปร์จะมีสุขภาพดีขึ้นและมีความสุขมากขึ้นถ้าสามารถทำงานให้นานเท่าที่จะนานได้ เราไม่ควรมีอายุเกษียณสำหรับคนทำงาน”

แต่ว่าท่านผู้นำลืมบอกว่าให้ทำงานอะไร จะได้ไม่เจ็บ ไม่จนและเหมาะกับสังขารและพื้นความรู้และทักษะของคนชรา

สราวุธ ไพฑูรย์พงษ์
[email protected]

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image