ว่าด้วยคุณธรรม จริยธรรม และประมวลจรรยาบรรณ โดย โกวิท วงศ์สุรวัฒน์

โกวิท วงศ์สุรวัฒน์(แฟ้มภาพ)

เรื่องคุณธรรม จริยธรรมนี่นะครับมีที่มาจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 มาตรา 77 บัญญัติให้รัฐจัดทำมาตรฐานทางคุณธรรมและจริยธรรมของข้าราชการและพนักงานหรือลูกจ้างอื่นของรัฐเพื่อป้องกันการทุจริตและประพฤติมิชอบและเสริมสร้างประสิทธิภาพในการปฏิบัติหน้าที่ ผู้เขียนจำได้ว่าเริ่มเป็นที่นิยมพูดถึงอ้างถึงกันมากจนสังเกตได้ภายหลังการรัฐประหาร พ.ศ.2549 ซึ่งในระยะแรกๆ ก็มักจะมีการอภิปรายกันว่าคุณธรรม จริยธรรมนี้แปลว่าอะไรกันแน่ เนื่องจากคุณธรรม จริยธรรมเป็นภาษาบาลีเมื่อเปิดพจนานุกรมดูหลายๆ ฉบับ ก็ล้วนแล้วแต่แปลในทำนองเดียวกันคือเกี่ยวกับความดีทั้งนั้น

ครั้นถามว่า ความดีคืออะไร? ก็มีคำตอบหลากหลายเนื่องจากมีมาตรฐานของความดีมากมายหลายมาตรฐาน จนตกลงกันไม่ได้ว่าคุณธรรม จริยธรรมคืออะไรกันแน่

ผู้เขียนบังเอิญโชคดีได้พบระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติ พ.ศ.2550 จากราชกิจจานุเบกษา หน้า 1 เล่ม 124 ตอนพิเศษ 88 ง วันที่ 25 กรกฎาคม 2550 ได้คำนิยามของคุณธรรม จริยธรรมไว้ดังนี้

“คุณธรรม” หมายความว่าสิ่งที่มีคุณค่า มีประโยชน์ เป็นความดีงาม เป็นมโนธรรม เป็นเครื่องประคับประคองใจให้เกลียดชั่ว กลัวบาป ใฝ่ความดี เป็นเครื่องกระตุ้นผลักดันให้เกิดความรู้สึกรับผิดชอบ เกิดจิตสำนึกที่ดีมีความสงบเย็นภายใน และเป็นสิ่งที่ต้องปลูกฝังโดยเฉพาะเพื่อให้เกิดขึ้นและเหมาะสมกับความต้องการในสังคมไทย

Advertisement

“จริยธรรม” หมายความว่า กรอบหรือแนวทางอันดีงามที่พึงปฏิบัติซึ่งกำหนดไว้สำหรับสังคม เพื่อให้เกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อยงดงาม ความสงบร่มเย็นเป็นสุข ความรักสามัคคี ความอบอุ่น มั่นคงปลอดภัยในการดำรงชีวิต

คราวนี้ลองมาเปรียบเทียบกับคุณธรรม จริยธรรมตามแบบสากล โดยเริ่มจากคุณธรรม คือ virtue มีความหมายตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานว่า “สภาพคุณงามความดี” เป็นลักษณะหรือคุณสมบัติทางบวกที่ถือกันว่าดีงามทางศีลธรรม ส่วนที่อยู่ตรงข้ามกับคุณธรรม คือ ความชั่วร้าย (vice)

สำหรับจริยธรรมหมายถึง การแยกสิ่งถูกจากผิด ดีจากเลว มาจากคำ 2 คำ คือ จริยกับธรรม ซึ่งแปลตามศัพท์ คือ จริยะ แปลว่ากิริยาที่ควรประพฤติ คำว่า ธรรม แปลว่า คุณความดี คำสั่งสอนในคุณธรรม จริยธรรมของทั้งศาสนา จริยธรรมจึงแปลว่า กฎเกณฑ์แห่งความประพฤติ หรือหลักที่เป็นแนวทางแห่งความประพฤติปฏิบัตินั่นเอง

สรุปจากคำนิยามของคุณธรรม จริยธรรมทั้งจากระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีและจากคำนิยามสากลแล้วก็ยังวนเวียนอยู่กับความดีงามอยู่นั่นเอง ซึ่งเรื่องความดีกับความงามนี้ทางวิชาการเขาศึกษากันในวิชาปรัชญา (Philosophy) โดยสาขาเกี่ยวกับความดีคือวิชาจริยศาสตร์ (Ethics) ส่วนสาขาที่เกี่ยวกับความงามคือวิชาสุนทรียศาสตร์ (Aesthetic) ซึ่งก็แตกต่างกันหลายสำนักเหลือเกินเพราะในทางวิชาการแล้วหากจะอ้างอะไรแล้วต้องแน่ใจว่าพูดกันและเข้าใจกันในเรื่องเดียวกันนั่นเอง

อีทีนี้หากจะเอาศาสนามาเป็นบรรทัดฐานก็ต้องมาพิจารณากันว่าใช้มาตรฐานของศาสนาไหนหรือนิกายใดอีกเพราะเรื่องความดี ความงามนี้ขนาดศาสนาพุทธนิกายทางเถรวาทในประเทศไทยเราก็เห็นสอนขัดแย้งกันอยู่มากมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการปฏิบัติตนของนักบวช เรื่องการรับเงิน เรื่องการแสดงอิทธิปาฏิหาริย์ ทัศนคติเกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศ คำสอนเกี่ยวกับบาปบุญนรกสวรรค์ต่างๆ ซึ่งก็สร้างความวุ่นวายปั่นป่วนเลอะเทอะอย่างที่เห็นกันอยู่

ดังนั้น จึงไม่มีทางเลือกนอกจากจะต้องมีการตกลงทำประมวลจรรยาบรรณ (Code of conduct) ของคนแต่ละอาชีพขึ้นมาเพื่อความชัดเจนว่าต้องทำอะไรและอะไรทำไม่ได้ซึ่งจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ของกรีซยุคโบราณ ได้อ้างถึงประมวลจรรยาบรรณของอาชีพการแพทย์ที่เก่าแก่ที่สุดไว้เรียกว่า “คำสัตย์สาบาน ฮิปโพเครติสทีส (Hippocrates oath)” โดยหลักแล้วกล่าวคือ

1.เน้นประโยชน์ของผู้ป่วยสูงสุด (beneficence)

2.สิ่งที่จะทำต้องเน้นระวังไม่ให้ผู้ป่วยได้รับอันตรายใดๆ เพิ่มมากขึ้น (Non-maleficence)

3.ผู้ป่วยมีสิทธิอันชอบธรรมที่จะรู้สาเหตุและอาการป่วยของตัวผู้ป่วยเองและเลือกวิธีรักษาตามความเหมาะสม (Autonomy)

4.การรักษาต้องอาศัยความบริสุทธิ์ยุติธรรมไปตามสมมุติฐานโรคของผู้ป่วยแต่ละคนอย่างแท้จริง (Justice)

5.ทั้งผู้รักษาหรือผู้ดูแลพยาบาลและคนไข้ต่างมีเกียรติและสมควรได้รับการปฏิบัติต่อกันอย่างมีเกียรติ (dignity)

6.แพทย์และพยาบาลต้องไม่ปิดอาการป่วยต่อผู้ป่วย และควรให้ผู้ป่วยรับรู้ความหนักเบาของอาการป่วยตามความจริง แต่ทั้งนี้ ต้องดูความเหมาะสมอย่างอื่นประกอบ เช่น สภาพจิตผู้ป่วยด้วย (Truthfulness and Honesty)

ครับ ! ที่เขียนมายืดยาวก็เพียงเพื่อจะชี้ให้เห็นว่าการอ้างแต่คุณธรรมและจริยธรรมนั้น เป็นการอ้างที่กว้างและหลวมจนเกินไปแทบจะไม่มีประโยชน์อะไรเลย เพราะไม่มีหลักอะไรที่จะจับยึดได้เลย ควรที่จะใช้ประมวลจรรยาบรรณของคนแต่ละอาชีพดีกว่า อาทิ ครูอาจารย์ที่ดีต้องปฏิบัติตามประมวลจริยธรรมของครูอาจารย์ หรือทหารที่ดีก็ควรปฏิบัติตามประมวลจรรยาบรรณของทหาร เป็นต้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image