ภาพเรียกน้ำตา โดย ชุมฉันท์ ชำนิประศาสน์

ภาพและคลิป เด็กชายออมราน ดักนีช เด็กชายวัย 5 ขวบ เหยื่อสงครามกลางเมืองในซีเรียที่แพร่สะพัดไปทั่วโลกตั้งแต่สัปดาห์ก่อน ยังคงเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจถึงวันนี้ เพราะสร้างผลกระทบทางอารมณ์อย่างยิ่งยวด

สื่อมวลชนตะวันตก เช่น เอเอฟพี สำนักข่าวท็อปทรีของโลก สัญชาติฝรั่งเศส เปรียบเทียบอิทธิพลของภาพนี้ว่าใกล้เคียงกับภาพร่าง เด็กชายไอลาน เคอร์ดี ผู้อพยพจากซีเรียที่พยายามเดินทางเข้ายุโรปถูกซัดมาเกยหาด จบชีวิตพร้อมแม่และพี่ชาย เมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว

นิวยอร์กไทม์สของอเมริกา มีบทวิเคราะห์ว่าทำไมภาพๆ นี้จึงสะกดอารมณ์ผู้คนอย่างกว้างขวาง มากกว่าภาพสงครามสะเทือนใจภาพอื่นๆ

ด้านผู้ประกาศข่าวสาวของซีเอ็นเอ็นอ่านข่าวนี้ด้วยเสียงสั่นเครือและน้ำตาคลอ จนกลายเป็นคลิปแพร่หลายไปด้วย

Advertisement

ส่วนสื่อจีนตั้งข้อสังเกตว่าอาจเป็นแผนโฆษณาชวนเชื่อของชาติตะวันตก เพราะดูจากภาพเจ้าหน้าที่กู้ภัยไม่ได้ทำหน้าที่อย่างเร่งด่วน แต่กลับตั้งกล้องบันทึกภาพของเด็กชาย อีกทั้งผู้บันทึกเหตุการณ์ คือกลุ่มที่มีความใกล้ชิดกับกองทัพอังกฤษ เป็นต้น

โดยทั่วไปแล้วคนมองภาพเด็กชายออมรานด้วยความสะเทือนใจ เพราะเด็กหน้าตาเลอะไปด้วยฝุ่นและเลือด มีอาการมึนงงเหมือนทำอะไรไม่ถูกแม้แต่จะร้องไห้

สายตาของเด็กชายออมรานเป็นตัวแทนของผู้บริสุทธิ์ที่ตั้งคำถามว่า สงครามที่ยืดเยื้อมาถึงปีที่ 5 มีเด็กเสียชีวิตแล้วเกือบ 15,000 ราย จากผู้เสียชีวิตรวม 290,000 รายนี้ เพียงพอหรือยัง หยุดได้หรือยัง และจะมีใครช่วยให้มันหยุดได้หรือไม่

Advertisement

กรณีนี้แสดงให้เห็นว่า มุมมองของคนที่มีต่อภาพข่าวนั้นแตกต่างกันไปตามประสบการณ์ การรับรู้ข้อมูลข่าวสาร และความอ่อนไหวทางจิตใจ

มีภาพหรือคลิปข่าวหลายเรื่องทำให้หลายๆ คนน้ำตารื้น เพราะรู้สึกได้ถึงอารมณ์ของคนในเหตุการณ์

เช่น ไม่นานมานี้มีภาพของแม่และน้องสาวของ ไผ่ ดาวดิน คุกเข่าร่ำไห้ขวางรถเจ้าหน้าที่เรือนจำ ที่ อ.ภูเขียว เพื่อขอให้ไผ่ได้เซ็นมอบฉันทะเพื่อลงทะเบียนเรียนแทน

ภาพจดหมายของแม่ค้าพริกแกง 1 ในผู้ต้องหาคดีอั้งยี่ เขียนจากค่ายทหารถึงลูกสาววัย 12 ปี ขอให้ลูกใช้ชีวิตไปตามปกติในยามที่แม่อยู่ด้วยไม่ได้

หรือหากย้อนไปไกลกว่านั้น มีภาพของ แม่น้องเกด พยาบาลอาสา ที่สูญเสียลูกสาวภายในเขตอภัยทานของวัด ในเหตุการณ์สลายการชุมนุม เมื่อปี 2553

อย่างไรก็ตาม อาจมีคนอีกกลุ่มที่มองภาพเหล่านี้ด้วยสายตาเฉยเมย ไม่ใส่ใจ ไม่มีความรู้สึกใดๆ หรืออาจถึงขั้นซ้ำเติม เพราะด้วยความเชื่อ การรับฟังข้อมูล และทัศนคตินั้นอยู่ตรงกันข้ามกับฝ่ายที่สะเทือนใจ

เป็นลักษณะเดียวกับคนที่ตั้งคำถามว่าภาพของเด็กชายออมรานเป็นการจัดฉากหรือไม่

แน่นอนว่าไม่จำเป็นที่เราจะต้องน้ำตาคลอทุกครั้งที่เห็นภาพสะเทือนใจ แต่ความเห็นอกเห็นใจระหว่างเพื่อนมนุษย์ การรับรู้ถึงความรู้สึกทุกข์ร้อนของผู้อื่นนั้นควรมี

เพื่อจะนำไปสู่ความเมตตาต่อกัน แทนที่จะเกลียดชังหรือดูดายกัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image