การถดถอยของเสรีภาพและประชาธิปไตยของโลกและของไทย2020

รายงานล่าสุด Freedom in the World 2020 ขององค์กร Freedom House ที่ทำการวัดประเมินประชาธิปไตยมาหลายทศวรรษ มีมิติที่น่าสนใจอยู่หลายประการ

โดยภาพรวมของรายงานแล้ว แม้ว่าตัวรายงานจะมีชื่อว่าเป็นการวัดประเมินเสรีภาพ แต่ก็เป็นที่ยอมรับในวงกว้างว่าตัวชี้วัดเรื่องเสรีภาพขององค์กรนี้เป็นการชี้วัดระดับประชาธิปไตยของโลกผ่านการเก็บข้อมูลรายประเทศในแต่ละปี

เวลารายงาน Freedom in the World ออกมาแต่ละปี เราจะพิจารณาประเด็นสำคัญอยู่สักสามส่วน หนึ่งคือภาพรวมของสถานการณ์ประชาธิปไตยในระดับโลก ส่วนที่สองคือการไฮไลต์ถึงประเทศที่เป็นกรณีศึกษาทั้งในด้านบวกหรือลบของการเพิ่มขึ้น หรือถดถอยของประชาธิปไตยในโลก และส่วนที่สามก็คือเรื่องของรายงานในรายละเอียดของแต่ละประเทศโดยพิจารณาทั้งในภาพรวมและคะแนนในแต่ละส่วน

ภาพรวมของสถานการณ์ประชาธิปไตยในโลก : ในปีที่ผ่านมาข้อสรุปของทีมงานของ Freedom House ตั้งประเด็นไว้ว่าปี 2020 เป็นปีที่ “ประชาธิปไตยอยู่ภายใต้การปิดล้อม หรือโจมตีอย่างหนัก” (Democracy under Siege) กล่าวคือโดยภาพรวมแล้ว ประชาธิปไตยในโลกนั้นถดถอยและเปราะบางลง เมื่อเทียบกับขั้วตรงข้ามของระบอบนี้นั่นคือ ระบอบเผด็จการ ทั้งนี้เมื่อย้อนกลับไปดูแล้วพบว่าสถานการณ์ประชาธิปไตยในปีนี้ถอยหลังกลับสู่ระดับเดียวกับในปี 2549 กันทีเดียว กล่าวคือประชากรในโลกเกือบร้อยละ 75 อาศัยอยู่ในประเทศที่ประชาธิปไตยตกต่ำลงในรอบปีที่ผ่านมา และมีประชากรเพียงแค่ร้อยละ 20 ของโลกที่อยู่ในประเทศที่มีระดับประชาธิปไตยที่มีเสรีภาพ

Advertisement

สถานการณ์ที่กลายเป็นประเด็นท้าทายต่อประชาธิปไตยในปีที่ผ่านมา ก็จะมีประเด็นเรื่องของการแพร่ระบาดของโควิด ที่ทำให้ระดับของเสรีภาพของประชาชนลดลง และในหลายประเทศมีการแทรกแซงจากหน่วยงาน เช่น กองทัพเข้ามาบริหารจัดการด้านการสาธารณสุข นอกจากนี้ก็ยังมีเรื่องของการปราบปรามผู้ชุมนุมประท้วงที่เข้มข้นขึ้นทั่วโลก

ความเห็นของ Freedom House ต่อสถานการณ์ประชาธิปไตยในโลกอีกประการหนึ่งที่น่าสนใจก็คือ มักจะมีคนใช้คำอธิบายที่ผิดๆ ว่าประชาธิปไตยนั้นตกต่ำลงเพราะประชาธิปไตยนั้นไม่สามารถแก้ปัญหาสิ่งที่ประชาชนต้องการได้ แต่ Freedom House ชี้ว่าประชาธิปไตยในโลกนี้ตกต่ำลงเพราะว่าบรรดาประเทศที่เป็นตัวอย่างที่ดีในด้านประชาธิปไตยไม่พยายามที่จะปกป้องประชาธิปไตยเอาไว้ต่างหาก โดยเฉพาะการสนับสนุนประเทศที่ประชาธิปไตยกำลังตกต่ำ และกลุ่มที่กำลังปกป้องประชาธิปไตยเอาไว้ เรื่องนี้เห็นได้ชัดในกรณีของการถดถอยของการเป็นผู้นำโลกของสหรัฐอเมริกา

นอกจากนี้ในรายงานยังชี้ว่าสมดุลทางอำนาจในระดับนานาชาตินั้นมีความเปลี่ยนแปลง จีนนั้นมีบทบาทในการส่งออกและสนับสนุนกระบวนการไม่เป็นประชาธิปไตยในโลก รวมทั้งยังเป็นตัวอย่างของการใช้ระบอบการปกครองแบบของตัวเองในการปกปิดข้อมูลการแพร่ระบาดของไวรัสที่มาจากประเทศของตนด้วย

Advertisement

แม้ว่าประชาธิปไตยในภาพรวมของโลกจะอยู่ในภาวะถดถอย แต่ในหลายๆ ที่ในโลกนั้นประชาธิปไตยก็ยังตั้งมั่น และฟื้นสภาพกลับมาได้อย่างรวดเร็ว เช่น กรณีของมาลาวี ที่มีการคัดค้านผลการเลือกตั้งเป็นผลสำเร็จ และในท้ายที่สุดผู้นำฝ่ายค้านก็ได้รับชัยชนะในการจัดการเลือกตั้งใหม่ หรือกรณีไต้หวัน ที่รัฐบาลประชาธิปไตยสามารถบริหารจัดการสถานการณ์โควิดได้เป็นอย่างดี และได้รับการเลือกตั้งกลับมาอีกครั้งหนึ่ง

ประเทศไทยในฐานะหนึ่งในตัวอย่างสำคัญของการถดถอยของประชาธิปไตยโลก
: ประเทศไทยได้รับการกล่าวถึงเป็นพิเศษในปีนี้ ในกลุ่มของประเทศที่ประชาธิปไตยถดถอย ไล่มาตั้งแต่ อินเดีย ที่สถานะตกจากประเทศที่มีเสรีภาพมาสู่ประเทศกึ่งเสรีภาพอันเนื่องมาจากรัฐบาลชาตินิยมฮินดูและพันธมิตรปกครองประเทศโดยการยกระดับความรุนแรงและนโยบายที่มีอคติต่อประชาชนชาวมุสลิม รวมไปถึงการปราบปราม ปิดกั้นความคิดเห็นที่ขัดแย้งกับรัฐบาลจากสื่อ นักวิชาการ กลุ่มประชาสังคม และผู้ประท้วง นอกจากนั้นก็มีคาซัคสถาน ที่สถานะหล่นจากกึ่งประชาธิปไตยเป็นไม่มีเสรีภาพ จากการเลือกตั้งที่มีปัญหา รวมไปถึงความรุนแรงที่เกิดขึ้น ขณะที่ประเทศอื่นๆ ที่สถานะประชาธิปไตยถดถอยลง ก็ยังมี มาลี เปรู และซิมบับเว

ส่วนกรณีของประเทศไทยซึ่งได้รับเกียรติในการกล่าวถึงสถานการณ์ของการถดถอยของประชาธิปไตย ก็เกิดขึ้นจากการยุบพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งได้รับความนิยมมากในการเลือกตั้งเมื่อ พ.ศ.2562 รวมไปถึงเรื่องของการปราบปราบผู้ประท้วงที่นำโดยนักศึกษาที่ต้องการการปฏิรูปประชาธิปไตยโดยรัฐบาลซึ่งถูกมองว่าเป็นรัฐบาลที่ถูกครอบงำโดยกองทัพ

การถดถอยของประชาธิปไตยในประเทศไทยนั้นมีความสำคัญยิ่ง เนื่องจากประเทศไทยก้าวออกจากการปกครองแบบคณะรัฐประหารเมื่อมีการเลือกตั้ง ดังนั้นการที่ประเทศไทยถดถอยจากประชาธิปไตยแม้จะมีกระบวนการเลือกตั้ง (ที่ไม่ยอมให้มีผู้สังเกตการณ์เลือกตั้งนานาชาติได้รับอนุญาตให้เข้ามา) จึงสะท้อนปัญหาภายในประเทศของไทยเอง โดยเฉพาะการจัดวางสถาบันทางการเมืองภายในประเทศ (institutional arrangement) มากกว่าสถานการณ์ด้านอื่นๆ เช่น การแทรกแซงจากต่างชาติ หรือเฉพาะเรื่องของการบริหารจัดการโควิด

เกิดอะไรขึ้นกับการถดถอยของระดับของเสรีภาพและประชาธิปไตยในประเทศไทย? : การถดถอยของเสรีภาพในประเทศไทยเป็นเรื่องที่น่าตกใจมากจากการวัดผลคะแนนของ Freedom House คือได้คะแนนเพียง 30 จาก 100 ทำให้ตกจากสถานะกึ่งเสรีในปีที่แล้ว (32/100)

ในการวัดประเมินประชาธิปไตยด้วยมิติเรื่องของเสรีภาพในรายงาน Freedom in the World ของ Freedom House นั้น จะมีตัวแปลอยู่ 2 ตัวหลัก คือ สิทธิทางการเมือง (Political Rights) (40/100) และเสรีภาพของพลเมือง (Civil Liberties) (60/100) กล่าวในภาพกว้างจะพบว่าในการให้น้ำหนักของการวัดประเมินมิติเสรีภาพในประชาธิปไตยนั้น เสรีภาพของพลเมืองจะถูกจัดวางน้ำหนักมากกว่าเพียงเรื่องของสิทธิทางการเมือง

โดยภาพรวมแล้ว ประเทศไทยได้คะแนนสิทธิทางการเมืองเพียง 5 จาก 40 และคะแนนเสรีภาพของพลเมืองที่ 25/60 กล่าวโดยสรุปแล้ว การเปลี่ยนผ่านของประเทศจากระบอบรัฐประหารมาสู่รัฐบาลกึ่งเลือกตั้งและถูกครอบงำโดยกองทัพเมื่อสองปีก่อนนำไปสู่การถดถอยลงของประชาธิปไตย และความกังวลใจต่อเรื่องบางเรื่องในสังคมจนนำไปสู่การชุมนุมประท้วงที่ใหญ่ที่สุดในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา และระบอบที่ปกครองประเทศก็ตอบโต้ต่อการชุมนุมด้วยยุทธวิธีเดิมๆ ที่ใช้กันโดยระบอบเผด็จการ ซึ่งหมายรวมไปถึงเรื่องของการจับกุมโดยอำเภอใจ การข่มขู่ การใช้กฎหมายบางประการที่เป็นที่ตั้งคำถามในสังคม และการล่วงละเมิดบรรดานักกิจกรรม นอกจากนี้เสรีภาพของสื่อยังถูกจำกัด กระบวนการยุติธรรมไม่ได้รับการให้หลักประกัน และมีการปกป้อง/นิรโทษกรรมต่ออาชญากรรมที่มีต่อบรรดานักกิจกรรม

ลำดับเหตุการณ์ที่ถูกใส่เอาไว้ในรายงานของ Freedom House มีอยู่ 4 ประการหลัก คือ การระบาดของโควิดในช่วงต้นปี การยุบพรรคอนาคตใหม่ในเดือนกุมภาพันธ์ การเริ่มต้นการชุมนุมใหญ่ของนักศึกษาในเดือนกรกฎาคม และการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงในเดือนตุลาคม ที่ห้ามการชุมนุมเกินห้าคน และเริ่มมีการปราบปรามผู้ชุมนุม รวมทั้งเริ่มมีการฟ้องร้องคดีที่มีการละเว้นการฟ้องในเรื่องนี้มาพักใหญ่ในเดือนพฤศจิกายนเป็นต้นมาที่ทำให้กลุ่มต่างๆ ที่รณรงค์เรื่องสิทธิมนุษยชนเริ่มแสดงความกังวลต่อการแสดงออกทางการเมืองในประเทศไทย

เมื่อมาดูรายละเอียดของตัวชี้วัดทางด้านสิทธิทางการเมือง ที่คะแนนรวมของเรามีเพียง 5 จาก 40 คะแนน เราจะพบรายละเอียดก็คือ

1.สิทธิทางการเมือง : กระบวนการการเลือกตั้ง :

1.1 หัวหน้ารัฐบาลไม่ได้มาจากการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ยุติธรรม (0/4) : ประเด็นตรงนี้ค่อนข้างละเอียดอ่อน แต่สิ่งที่รายงานนี้มีความเข้าใจก็คือ เขาไม่ได้พูดถึงประมุขของประเทศแบบที่เราเข้าใจ แต่เขามุ่งหมายจะพูดถึงตัวนายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้ารัฐบาล เพราะพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะหัวหน้ารัฐบาลนั้นมาจากคณะรัฐประหารเดิม และแม้ว่าจะได้รับการสนับสนุนจากพรรคพลังประชารัฐ แต่พลังประชารัฐก็มีเสียงเพียง 155 จาก 500 เสียงในสภา และอีก 249 เสียง เป็นเสียงจากวุฒิสมาชิกที่พลเอกประยุทธ์แต่งตั้งมาเมื่อสมัยเป็นหัวหน้าคณะรัฐประหาร

1.2 สมาชิกสภานิติบัญญัติไม่ได้มาจากการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ยุติธรรม (0/4) : ตัวชี้วัดของ Freedom House คือบทบาทของคณะกรรมการการเลือกตั้งที่มีที่มาจากการแต่งตั้งของคณะรัฐประหารเอง และการทำงานของ กกต. ที่ประกาศสูตรและผลการเลือกตั้งล่าช้า รวมไปถึงการจำกัดการเข้าตรวจสอบของคณะตรวจสอบการเลือกตั้งนานาชาติ ส่วนในประเทศและระดับภูมิภาคที่ได้เข้าตรวจสอบก็ถูกจำกัดการเข้าถึงและติดตามอย่างใกล้ชิด

1.3 กฎหมายและกรอบกติการการเลือกตั้งไม่เป็นธรรมและกรรมการการเลือกตั้งไม่เป็นกลาง (0/4) : กรอบกติกาการเลือกตั้งถูกออกแบบมาให้พรรคการเมืองขนาดใหญ่ไม่ได้รับเสียงข้างมาก และไม่สามารถตั้งรัฐบาลที่มีเสถียรภาพทางการเมือง และเสียงวุฒิสมาชิก 250 เสียง ทำให้วุฒิสภามีอำนาจในการเลือกนายกรัฐมนตรี กกต.ถูกเลือกโดยคณะรัฐประหาร และถูกวิจารณ์ในเรื่องการทำงานมาโดยตลอดในแง่ของความเป็นอิสระและความเต็มใจในการเข้าไปดูแลการเลือกตั้ง การประกาศสูตรการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการที่ล่าช้ายังมีผลทำให้คะแนนที่พรรคเพื่อไทยและอนาคตใหม่ถูกย้ายไปยังพรรคขนาดเล็กๆ ที่สุดท้ายหันไปสนับสนุนพรรคพลังประชารัฐและวุฒิสภาในการโหวตเอาพลเอกประยุทธ์กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรี

2.ความเป็นพหุนิยมทางการเมืองและการมีส่วนร่วม (Political Pluralism and Participation) :

2.1) ประชาชนมีสิทธิในการจัดตั้งพรรคการเมืองที่แตกต่าง หรือกลุ่มทางการเมืองที่สามารถเข้ามาแข่งขันทางการเมืองได้น้อย ทั้งยังเต็มไปด้วยอุปสรรคในการก่อตั้งพรรคการเมืองและกลุ่มทางการเมืองที่แข่งขันกับกลุ่มอำนาจหลักทางการเมืองได้น้อยมาก (¼) ก่อนที่จะมีการเลือกตั้งเมื่อ 2519 นั้น พรรคการเมืองถูกแบนภายใต้ระบอบรัฐประหาร และเพิ่งจะยอมให้มีการกลับมาทำกิจกรรมได้ไม่นานก่อนการเลือกตั้ง และหลังจากการเลือกตั้งได้ไม่นานโดยเฉพาะภายหลังความมสำเร็จของพรรคการเมืองใหม่อย่างอนาคตใหม่ นายธนาธร หัวหน้าพรรคก็ถูกฟ้องร้องดำเนินคดีมากมาย ที่เกี่ยวข้องกับข้อหาเป็นภัยต่อระบอบการปกครอง ต่อมาก็ถูกถอนสิทธิการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสุดท้ายพรรคอนาคตใหม่ก็ถูกยุบลงในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ด้วยข้อหาการให้พรรคยืมเงิน ซึ่งผลจากการตัดสินนี้มีส่วนทำให้เกิดการชุมนุมของเยาวชนในการต่อต้านรัฐบาลมาตลอดทั้งปี

นอกจากนี้แล้ว การยุบพรรคไทยรักษาชาติ ก็มีส่วนทำให้คะแนนในข้อนี้ตกต่ำลงเป็นอย่างมาก

2.2 ฝ่ายค้านไม่มีโอกาสที่เป็นจริงในการเพิ่มการสนับสนุนหรืออำนาจผ่านการเลือกตั้งได้เลย (0/4) : พรรคอนาคตใหม่และเพื่อไทยแม้จะมีคะแนนรวมกันถึง 245 คะแนน (พรรคอันดับหนึ่งและสาม) ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้เพราะมีข้อจำกัดจากการครองอำนาจของกองทัพในสภา การยุบพรรคอนาคตใหม่และตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรค 10 ปี ทำให้บางส่วนที่เหลือไปตั้งพรรคที่เล็กลง

2.3 ประชาชนไม่มีสิทธิทางการเมืองในการเลือก มีการแทรกแซงจากอำนาจกระบวนการประชาธิปไตยอยู่บ่อยครั้ง (0/4) : โดยเฉพาะในช่วงก่อนการเลือกตั้งไม่นานนัก

2.4 ประชาชนทุกภาคส่วนมีสิทธิทางการเมืองและโอกาสในการเลือกตั้งน้อยมาก เมื่อพิจารณาจากมุมของชาติพันธุ์ ความแตกต่างด้านสีผิว ศาสนา เพศสภาวะ การข้ามเพศ และกลุ่มอื่นๆ (¼) : รายงานเน้นไปที่เรื่องของกลุ่มชาติพันธุ์ และประชาชนชาวมุสลิมที่เจอกับประสาบการณ์ทางการเมืองแบบที่เป็นชายขอบ อีกทั้งแรงงานต่างด้าวชาวเมียนมา กัมพูชา และลาว ซึ่งไม่ได้รับสิทธิทางการเมือง และสิทธิความเป็นพลเมือง จำนวนผู้หญิงในตำแหน่งทางการเมือง รวมทั้งเพศทางเลือกที่ยังได้รับสิทธิทางกฎหมายน้อยมาก

 

3.การทำหน้าที่ของรัฐบาล (Functioning of Government) :

3.1 ไม่มีหัวหน้ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งที่เสรีและตัวแทนประชาชนที่ทำหน้าที่นิติบัญญัติกำหนดนโยบายของรัฐบาล (0/4) คะแนนส่วนนี้หายไป เพราะการดำรงอยู่ของวุฒิสมาชิกที่มาจากการแต่งตั้งของคณะรัฐประหาร รวมทั้งกิจการสาธารณะบางอย่างนั้นถูกกำหนดโดยไม่ผ่านกลไกรัฐสภาโดยเฉพาะกิจกรรมในกองทัพ

3.2 การปกป้องการคอร์รัปชั่นที่เข้มแข็งและมีประสิทธิภาพมีในระดับที่ต่ำมาก (¼) : การทำหน้าที่ของ ป.ป.ช. มีการตั้งคำถามเป็นอย่างมาก รวมทั้งการออกกฎหมายในช่วงรัฐประหารที่เกี่ยวกับเรื่องการต่อต้านคอร์รัปชั่นก็มีความคลุมเครือ และมีการตั้งคำถามกับกิจการภายในของกองทัพที่ไม่ได้รับการตรวจสอบจากสาธารณะ

3.3 รัฐบาลบริหารราชการแผ่นดินอย่างเปิดกว้างและโปร่งใสในระดับที่ต่ำมาก (¼) : คะแนนที่ยังเหลืออยู่นิดหนึ่งนั้นมาจากการที่มีการเลือกตั้ง แต่ก็ไม่ได้ชี้เลยว่ารัฐบาลนั้นบริหารงานภายใต้การตรวจสอบจากตัวแทนของประชาชน

ในส่วนของเสรีภาพของพลเมือง ซึ่งเป็นส่วนใหญ่ของตัวชี้วัดส่วนที่สองและมีคะแนนเป็นสัดส่วนสูงที่สุดจะพบว่า

4. เสรีภาพในการแสดงออก และเสรีภาพในการนับถือความเชื่อต่างๆ

4.1 สื่อมีความเสรีและอิสระน้อยมาก (¼) : รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งยังคงไว้ซึ่งกฎหมายหลายอย่างที่ออกโดยคณะรัฐประหารซึ่งจำกัดสื่อไม่ให้มีความเสรีและเป็นอิสระ อีกทั้งยังมีคดีหมิ่นประมาทที่จำกัดสิทธิเสรีภาพสื่อ รวมไปถึงการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินห้ามเสนอข่าวโควิดซึ่งหลายข่าวนั้นก็เป็นข่าวที่ไม่ผิด แต่ไม่ตรงกับข้อมูลทางราชการ อีกทั้งยังมีเรื่องของการที่ทวิตเตอร์ปิดบัญชีไอโอจำนวนมาก และมีการดำเนินคดีนักข่าว และปิดสถานีข่าว 4 แห่ง

4.2 ประชาชนมีเสรีภาพในการนับถือและไม่นับถือศาสนาและความเชื่อทั้งในสาธารณะและพื้นที่ส่วนตัวเป็นอย่างมาก (¼) : แม้ว่าจะไม่มีการห้ามนับถือศาสนาและความเชื่อในประเทศไทย แต่ความขัดแย้งทางภาคใต้ และการมีกฎระเบียบบางอย่างที่ให้การสนับสนุนพุทธศาสนาเป็นพิเศษยังส่งผลทำให้ประเทศไทยถูกตัดคะแนนส่วนนี้ไปนิดหน่อย

4.3 เสรีภาพทางวิชาการและระบบการศึกษาของไทยไม่ค่อยจะเป็นอิสระจากการปลุกระดมทางการเมืองอย่างเป็นระบบ (¼) : เสรีภาพทางวิชาการถูกจำกัด และตัวชี้วัดสำคัญก็คือการยกเลิกงานสัมมนาในมหาวิทยาลัยในหลายๆ ครั้ง และยังถูกดำเนินคดีทางกฎหมายแม้กิจกรรมเหล่านั้นจะจัดในรั้วมหาวิทยาลัย รัฐบาลใช้ยุทธวิธีที่กดขี่ในการจัดการกับนักวิชาการที่มีทรรศนะที่ไม่ตรงกับรัฐบาลในหลายประเด็นที่ละเอียดอ่อน นับตั้งแต่การทำรัฐประหารเมื่อหลายปีก่อนมีการลี้ภัยของนักวิชาการและนักกิจกรรมจำนวนไม่น้อย ระบบการศึกษาของไทยยังเน้นการเชื่อฟังต่อรัฐและเริ่มกลายเป็นเป้าหมายของการชุมนุมประท้วงของบรรดานักเรียนในระดับมัธยม

4.4 ประชาชนมีเสรีภาพในการแสดงออกซึ่งความคิดเห็นส่วนตัวในเรื่องทางการเมืองและหัวข้อที่มีความละเอียดอ่อนในระดับที่ต่ำมากเพราะยังหวาดกลัวต่อการสะกดรอยติดตามเฝ้าระวังและการแก้แค้น (¼) : กฎหมายและการนำกฎหมายหลายประการมาดำเนินคดีทางการเมืองที่ละเอียดอ่อนยังถูกนำกลับมาใช้และมีการฟ้องร้องดำเนินคดีในคดีที่มีความละเอียดอ่อนทางการเมืองแล้วจำนวนมาก

5.สิทธิในการรวมตัว

5.1 สิทธิในการรวมกลุ่มมีในระดับต่ำมาก (¼) : ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิดการรวมตัวถูกห้ามโดยกฎหมาย พ.ร.ก.ฉุกเฉินของรัฐบาล และบางครั้งมีการนำเอาเงื่อนไขเรื่องสุขภาวะมาปิดกั้นการชุมนุมต่อต้านรัฐบาล

5.2 เสรีภาพขององค์กรสิทธิมนุษยชนและการตรวจสอบการทำงานของรัฐมีในระดับต่ำมาก (¼) : แม้ว่าประชาสังคมในไทยจะมีจำนวนมาก แต่กลุ่มที่เคลื่อนไหวผลักดันทางการเมืองจะเจอข้อจำกัดมากมาย รวมไปถึงถูกดำเนินคดีโดยรัฐ และถูกก่อกวนจากฝ่ายขวา นอกจากนี้ยังมีกลุ่มสิ่งแวดล้อมก็โดยการกดดันจากรัฐ และอาจถูกทำให้หายตัวไปอย่างกรณีของผู้นำกลุ่มอนุรักษ์ชาวกะเหรี่ยง

5.3 เสรีภาพในการรวมตัวกันของแรงงานนั้นมีในระดับปานกลาง (2/4) : แม้ว่าแรงงานจะมีเสรีภาพในการรวมตัวและจัดตั้งสหภาพ แต่ข้าราชการและแรงงานที่ไม่เป็นทางการ/ในระบบไม่สามารถรวมตัวได้ตามกรอบกฎหมาย

6.หลักนิติธรรม : (Rule of Law)

6.1 ปัญหาขององค์กรตุลาการฯ (¼)  Freedom House ให้ความเห็นว่ามีความเกี่ยวข้องทางการเมือง นอกจากนี้องค์กรอย่างศาลรัฐธรรมนูญก็ถูกวิจารณ์ว่ามีอำนาจมาก  รวมทั้งยังไม่สามารถถูกตรวจสอบได้ นอกจากนี้คดีที่มีผู้พิพากษายิงตัวตายในศาลซึ่งเกี่ยวข้องกับเรื่องราวการดำเนินคดีในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภายใต้ยังถูกนับรวมไว้ในรายงานฉบับนี้ด้วย

6.2 กระบวนการยุติธรรมไม่ค่อยมีผลต่อการดำเนินคดี (¼)) : ตัวอย่างสำคัญคือการกักตัวผู้คนโดยยังไม่มีการตั้งข้อหาได้ใน 7 วันในช่วงศาลทหาร และมีการดำเนินคดีที่ละเอียดอ่อนที่อาจพ้นจากกรอบของกระบวนการยุติธรรมปกติ ยังรวมไปถึงการเพิ่มอำนาจให้ กอ.รมน.มากขึ้น

6.3 การป้องกันการใช้กำลังที่ไม่มีความชอบธรรมและเสรีภาพจากสงครามและการก่อการร้ายอยู่ในระดับต่ำ (¼) : ประเด็นอยู่ตรงที่การปลอดจากความความผิดของกองทัพและตำรวจมีมากในสังคมไทย ทำให้การซ้อมทรมานมีขึ้นได้ และการคงกรอบกฎหมายและกองกำลังจำนวนมากในภาคใต้ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการก่อการร้ายและสงครามได้ในบางส่วนของประเทศ พลเรือนเองก็ยังเสี่ยงต่อการก่อการร้ายในพื้นที่นั้นเช่นกัน และหัวข้อนี้ยังหมายรวมไปที่การหายตัวไปของนักกิจกรรมไทยที่ลี้ภัยในต่างแดน

6.4 ประชากรไทยได้รับการปฏิบัติจากกฎหมาย นโยบาย และการปฏิบัติการจริงอย่างเท่าเทียมกันในระดับปานกลาง (2/4) : ปัญหาที่ยังเผชิญดูจะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในภาคเหนือโดยเฉพาะกรณีกลุ่มชาติพันธุ์ ที่ยังไม่ได้รับสิทธิพลเมืองไทย กลุ่มเพศทางเลือก กลุ่มสตรี และการที่ไทยไม่ลงนามในข้อตกลงเรื่องผู้ลี้ภัย ซึ่งส่งผลต่อชีวิตของบรรดาผู้ลี้ภัยจากประเทศรอบบ้านที่เข้ามาในประเทศไทย รวมทั้งการที่ประชากรแรงงานต่างด้าวได้รับผลกระทบจากโควิดเป็นอย่างมากและไม่ได้รับการดูแลในแบบเดียวกับประชาชนไทย

 

7.สิทธิของปัจเจกบุคคลและอิสระส่วนตัว (Personal Autonomy and Individual Rights):

7.1 เสรีภาพในการเดินทาง การย้ายภูมิลำเนา การจ้างงาน และการศึกษา มีในระดับสูงในสังคมไทย(¼) : ที่ถูกตัดคะแนนเป็นเพราะช่วงของการแพร่ระบาดของโควิดที่มีมาตรการการห้ามเดินทาง

7.2 สิทธิในการเป็นเจ้าของทรัพย์สินและไม่ถูกแทรกแซงจากรัฐและผู้ที่ไม่ใช่รัฐมีในระดับปานกลาง (2/4) : ที่ถูกลดคะแนนเพราะเรื่องของความล่าช้าของระบบราชการ บรรดาฝ่ายความมั่นคง และกลุ่มอาชญากรรม นอกจากนั้นยังเป็นเรื่องของผลกระทบจากการตัดสินใจของรัฐ สมัยรัฐประหารที่มีต่อทรัพยากรของชาติที่ยังเป็นคดีความมาจนถึงวันนี้

7.3 ประชาชนมีเสรีภาพทางสังคมในเรื่องของการเลือกคู่ครอง ขนาดครอบครัว การปกป้องจากความรุนแรงในครอบครัว และการควบคุมในเรื่องการแต่งกายอยู่ในระดับสูง (¼) : คะแนนที่ถูกลดลงก็คือเรื่องของการที่ผู้หญิงยังตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงในครอบครัว

7.4 บุคคลมีความเท่าเทียมในโอกาสและมีเสรีภาพจากการกดขี่ทางเศรษฐกิจในระดับปานกลาง (2/4) : คะแนนที่ถูกหักมาจากกรณีการขูดรีดและการลักลอบค้ามนุษย์กับแรงงานต่างด้าวจากเมียนมา กัมพูชา และลาว แม้ว่ารัฐบาลจะพยายามที่จะปรับปรุงเรื่องนี้เพิ่มขึ้นแล้ว แต่กระนั้นก็ตามการที่บริษัทที่ละเมิดสิทธิแรงงานและสิทธิมนุษยชนเหล่านี้ยังใช้การฟ้องร้องดำเนินคดีกับผู้ที่ต่อสู้ในเรื่องนี้ก็ถูกนับว่าเป็นส่วนที่ลดคะแนนด้านนี้ของประเทศไทยลง

ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ผมคิดว่าบางข้อนั้น Freedom House ก็ออกจะให้คะแนนแบบเข้มงวดมาก แต่กระนั้นก็ตามผลสะเทือนจากคะแนนที่ตกลงย่อมจะส่งผลต่อภาพลักษณ์ของประเทศในเวทีโลกและการตัดสินใจลงทุนจากต่างชาติอยู่ไม่น้อย เพราะรายงานของ Freedom House มีความน่าเชื่อถืออยู่ในระดับสูง และอาจจะมีความน่าเชื่อถือกว่าคำแก้ตัวหรือคำชี้แจงของรัฐบาลไทย แต่กระนั้นก็ตามผลคะแนนในปีนี้ยิ่งทำให้เรามองเห็นอนาคตของประเทศไทยในเรื่องประชาธิปไตยและภาพลักษณ์ในเวทีโลกที่ตกต่ำลงถึงขั้นเปลี่ยนสถานะเป็นประเทศที่เป็นไม่มีเสรีภาพ แม้ว่ากลไกที่เป็นทางการจะดูเป็นประชาธิปไตยก็ตาม

พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image