สกัด ส.ส.ร. …เกมต่อท่ออำนาจ

ศาลรัฐธรรมนูญนัดฟังคำวินิจฉัย วันที่ 11 มีนาคมนี้ กรณีหนึ่ง ส.ว.กับ หนึ่ง ส.ส. องครักษ์ผู้พิทักษ์ความถูกต้อง (ฮา) ยื่นให้ตัดสินว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐสภาโดยมีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) มาทำหน้าที่ยกร่าง เท่ากับเป็นการร่างใหม่ทั้งฉบับ เข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญ 2560 สามารถกระทำได้หรือไม่

ผมเขียนความเห็นนี้ก่อนวันที่ศาลจะตัดสิน ประมวลจากเสียงวิพากษ์วิจารณ์คาดการณ์แนวโน้มที่จะออกมาว่าน่าจะทำไม่ได้ โดยอ้างเหตุผลของนักวิชาการอดีตกรรมการร่างรัฐธรรมนูญที่ชี้ว่า รัฐธรรมนูญ 2560 ไม่ได้บัญญัติให้รัฐสภาไปมอบอำนาจให้ใคร กลุ่มไหนมาแก้รัฐธรรมนูญ แต่เป็นอำนาจหน้าที่ ความรับผิดชอบของสมาชิกรัฐสภาต้องแก้ไขด้วยตัวเอง

ใครที่ไหนที่ว่านี้ เป็นที่เข้าใจได้ว่า ก็คือ สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ นั่นเอง

ความเห็นของนักวิชาการดังกล่าว ทำให้เกิดข้อโต้แย้งในเชิงหลักการทางกฎหมายระหว่าง 2 หลักการได้แก่ กฎหมายไม่ได้บัญญัติให้ทำได้ จึงห้ามทำ กับกฎหมายไม่ได้ห้ามให้ทำ ย่อมทำได้

Advertisement

การทำหน้าที่ของรัฐสภาแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยมี ส.ส.ร.ควรยึดหลักการไหนเป็นหลักมากกว่า

นอกจากนั้นยังมีข้อถกเถียงว่าด้วยขอบเขตอำนาจระหว่างศาลรัฐธรรมนูญกับรัฐสภาอีกว่า ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจตัดสินการปฏิบัติหน้าที่ของรัฐสภาได้เพื่อเป็นการถ่วงดุลอำนาจฝ่ายนิติบัญญัติ ขณะที่ความเห็นอีกฝั่งหนึ่งมองว่า ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจ เพราะจะเข้าข่ายแทรกแซง หรือก้าวล่วงอำนาจหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติ

การที่ศาลรัฐธรรมนูญรับเรื่องไว้พิจารณา แสดงว่าศาลเห็นว่าตัวเองมีอำนาจ ตามกฎหมาย

Advertisement

ผลการตัดสินจะออกมาอย่างไร เป็นไปตามการคาดการณ์หรือไม่ก็ตาม สิ่งที่ทุกฝ่ายกังวลคือจะส่งผลต่อสถานการณ์ถึงระดับไหน ทำให้ความขัดแย้งในสังคมร้อนแรงยิ่งขึ้นอีกหรือไม่

จากประเด็นความเห็นของนักกฎหมายที่อ้างว่า รัฐธรรมนูญไม่ได้บัญญัติให้รัฐสภาไปมอบอำนาจให้ใคร คนอื่น กลุ่มอื่น มายกร่างรัฐธรรมนูญ

หากย้อนกลับไปพิจารณาถึงมติกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เห็นชอบให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยมีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญจากการเลือกตั้งของประชาชนทั่วประเทศมาทำหน้าที่

รัฐสภามีมติรับหลักการดังกล่าวก็เท่ากับว่า เป็นการคืนอำนาจกลับไปให้ประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยโดยตรงอีกครั้งหนึ่ง ที่จะเลือกใครขึ้นมาเป็นตัวแทนยกร่างรัฐธรรมนูญ

ฉะนั้น ส.ส.ร.จึงมีที่มาที่ไป ไม่ใช่ใครแปลกปลอมมาจากไหน ไม่ได้ผุดมาจากกระบอกไม้ไผ่ แต่ผ่านการตัดสินจากประชาชน มีความเชื่อมโยงกับประชาชน จึงมีความชอบธรรมโดยสมบูรณ์ในฐานะตัวแทนคนส่วนใหญ่

ไม่ว่า การยกร่างรัฐธรรมนูญของ ส.ส.ร.จะปรากฏโฉมออกมาอย่างไร สุดท้ายแล้วก็ต้องผ่านการลงประชามติจากประชาชนผู้มีสิทธิลงคะแนนอยู่ดี

หากยกร่างเลยเถิด เลยธง ตามที่ผู้เสนอเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาเป็นห่วงกังวล หรือจินตนาการไปไกลว่า ส.ส.ร.จะตกเป็นเหยื่อฝ่ายโน้นฝ่ายนี้ ประชาชนคนกลางๆ ในสังคมอีกมากมายย่อมตัดสินได้เองว่าจะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญใหม่ที่ ส.ส.ร.ยกร่างขึ้นมา หรืออีกด้านหนึ่งหาก ส.ส.ร.ร่างรัฐธรรมนูญใหม่อวยประโยชน์ให้กับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เอารัดเอาเปรียบอีกฝ่ายหนึ่ง เช่นมีอำนาจแต่งตั้งร้อยอรหันต์มาทำหน้าที่ไม้ค้ำยันรองรับบัลลังก์อำนาจของตนเป็นหลัก ผู้คนย่อมตัดสินได้ว่าสมควรจะผ่าน หรือคว่ำการลงประชามติ ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับประจบสอพลอ ต่อท่ออำนาจ มากกว่า

รวมกระทั่งข้อวิตกที่ว่า ส.ส.ร.จะเป็นเครื่องมือของผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่นและพรรคการเมือง มีการซื้อเสียงในการเลือกตั้ง ได้คนที่ไม่มีคุณสมบัติเหมาะสมมาทำหน้าที่

ประเด็นทำนองนี้ก็เป็นเช่นเดียวกันกับการเลือกตั้ง ส.ส.ทุกครั้ง เกิดปัญหาข้อปริวิตกโต้แย้งต่างๆ มากมาย ทั้งการซื้อเสียง การครอบงำของพรรคการเมือง ผลเลือกตั้งปรากฏออกมาอย่างไร ล้วนเป็นการตัดสินใจของพี่น้องประชาชนทั้งสิ้น เป็นเสียงส่วนใหญ่ที่ต้องเคารพ เมื่อครบวาระก็ต้องเป็นไป คืนอำนาจกลับไปให้ประชาชนเลือกกันใหม่ จะเอาคนเดิม ห่วยแตกให้กลับเข้ามาอีกครั้งให้ช้ำใจอีกหรือไม่

หากผู้ลงคะแนนเสียงตัดสินใจพลาด เลือกคนผิด ก็ต้องรับผลแห่งการตัดสินใจของตน และสรุปบทเรียนในคราวต่อไป เป็นกระบวนการประชาธิปไตยปกติ ซึ่งไม่ต้องการการจินตนาการไปไกลเพื่อรักษาอำนาจและผลประโยชน์แห่งตนไว้ จนเกิดปัญหาความขัดแย้งตามมามากมาย

ผลการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญจะทำให้การประชุมลงมติร่างรัฐธรรมนูญวาระสามวันที่ 17 มีนาคมนี้ เกิดขึ้นหรือต้องหยุดลง นั่นเท่ากับสิ่งที่รัฐสภาดำเนินการมาทั้งหมด กลายเป็นศูนย์

จะเป็นสิ่งชี้ชัดว่านโยบายรัฐบาลที่แถลงไว้ข้อ 12 การสนับสนุนให้มีการศึกษา การรับฟังความเห็นของประชาชนและการดำเนินการเพื่อแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะในส่วนที่ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ในที่สุดก็ไม่ต่างไปจากน้ำยาบ้วนปาก อมแล้วบ้วนทิ้งไป ก็แค่นั้นเอง

คอยดูกันต่อไปว่า หากสถานการณ์เป็นเช่นนี้ พรรคประชาธิปัตย์และภูมิใจไทย จะกำหนดท่าทีอย่างไร กับนโยบายที่หาเสียงไว้และเป็นเงื่อนไขหนึ่งของการร่วมรัฐบาล

สมหมาย ปาริจฉัตต์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image